xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าสมรภูมิTV Digitalคราบเลือดและรอยน้ำตา (ตอน1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังจากที่ครบ 1 ปีมาแล้วทีวีดิจิตอลของไทยเริ่มเข้าสู่ช่วงไฮไลท์ เมื่อผู้ประกอบการต้องจ่ายเงินค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอลงวดที่ 2 และ เป็นประเด็นว่า ผลประกอบการของแต่ละค่ายไม่สู้ดีกันนัก ถึงขั้นมีบางช่องไม่จ่าย เรื่องราวน่าติดตามอย่างยิ่ง

ก่อนหน้านี้ช่วงที่ทีวีดิจิตอลมาใหม่ๆ “iBiz insight” เคยวิเคราะห์ว่า ท้ายที่สุดแล้วจะเห็นการล้มระเนระนาด ตายกันเป็นเบือ 1 ปีผ่านมาเป็นมากกว่าที่คิดไว้ มันเป็นสัจธรรม คือ อยู่ๆเมื่อเปิดสมรภูมิจากเดิมที่มีไม่กี่ช่อง กลายเป็น 20 กว่าช่อง จะเอาเม็ดเงินโฆษณามาจากไหนที่จะไปหล่อเลี้ยง กระอักเลือดทุกรายทั้งยักษ์ใหญ่ยักษ์เล็ก ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการ วันนี้จะพูดถึงภาพใหญ่ด้วย

กล่าวคือ นอกเหนือจากผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่ได้ไลเซ่นต์ไป 20 กว่าราย คาดว่า บรรดาผู้ที่ผลิตคอนเทนท์ก็อยู่ในสภาวะเริ่มมีปัญหา จะได้เห็นกันภายในไตรมาสที่ 3 ที่ 4 ที่จะถึงนี้ วงการอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทย จะมีข่าวในแง่ลบมากขึ้นๆ เรื่องของการไม่มีเงินจ่ายค่าใบอนุญาตเป็นแค่เบื้องต้น

ความล้มเหลวใน 1 ปีที่ผ่านมาจริงๆไม่ใช่ว่าผู้ประกอบการทำร้ายตัวเอง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ก็มีความผิดอีกหลายส่วน

ขณะที่เรื่องการจ่ายงวด ควรทราบว่า ตอนประมูลไป 24 ช่อง จะแยกเป็น 4 หมวดรายการ คือกลุ่มที่เป็น HD กลุ่มที่เป็น SD กลุ่มข่าว และ กลุ่มเด็ก ทั้งหมดคิดเป็นเม็ดเงิน50,862 ล้านบาท แต่กสทช.กำหนดให้แบ่งการจ่าย เนื่องจากสัมปทาน 15 ปี

ในช่วงการแบ่งจ่ายยังแบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ การกำหนดราคาขั้นต่ำของแต่ละช่อง , ประเภทช่องไว้ อย่างเช่น HD กำหนดราคาขั้นต่ำไว้ 1,510 ล้าน แล้วก็ SD เขากำหนดไว้ 380 ล้าน แล้วก็ช่อง อื่นๆ เขาก็กำหนดราคาขั้นต่ำไว้ ทว่า ช่วงที่ประมูลจริงๆแต่ละรายก็ใส่เงินแข่งขันกันใหญ่ จึงทำให้ราคาพุ่งเกินราคาขั้นต่ำ เช่น HD ตั้งไว้ประมาณ 1,510 แต่ไปจบที่ 3,000 ล้าน และ SD 380 กว่าล้าน

ทั้งนี้ การกำหนดการจ่ายไว้เดิม ปีที่ 1 จ่าย 50% หรือ 750ล้าน ปีที่ 2 จะต้องจ่ายอีก 30% ปีที่ 3 อีก 20% และ ปีสุดท้ายคือปีที่ 4 เท่ากับ 10% หลังจากการประมูลมีการเสนอราคาสูงเกินกว่าราคาขั้นต่ำไปมาก เช่น 3,000 ล้านบาท กสทช.ก็ให้แบ่งชำระ6 ปี จาก 4 ปี โดย ปีแรกและปีที่ 2 จ่าย 30% แล้วก็ปีที่ 3 - 6 อีก 20% ซึ่งหากดูตามนี้ 6 ปีจ่ายครบเรื่องก็จบ ไม่ต้องจ่ายค่าต๋งอะไรอีกให้กับ กสทช. เวลาที่เหลือก็คือกำไร เพราะ ไม่มีค่าสัมปทานแล้ว อยู่ไปอีก 15 ปี ซึ่งเป็นกติกาที่เขียนแบบประหลาดๆโดยเอื้อให้เกิดการใส่เงินก้อนใหญ่กันลงมาแข่งกันตั้งแต่ต้น

จะเห็นว่า ปีที่ 1 ปีที่ 2 หนักมาก เพราะปีที่ 1 ต้องจ่ายขั้นต่ำ 700 กว่าล้านสำหรับ HD ไปแล้ว และ ต้องจ่ายขั้นต่ำปีที่ 1 กับปีที่ 2 อีก30% ของ 1,500 คือ 500 กว่าล้าน เท่ากับต้องจ่าย 1 ปีร่วม 1,000 ล้าน เฉพาะ HD เพราะฉะนั้น ปีที่ 1 ยังเป็นฮันนีมูนพีเรียด ทุกคนมีความฝันว่าโฆษณาเม็ดเงินจะเข้ามาอย่างนั้นอย่างนี้ ทุกคนก็จ่ายไม่มีใครอิดออด เพราะ เพิ่งประมูลมาหมาดๆจะมาชักดาบอะไรกันตั้งแต่แรก

ขณะนี้ผ่านไป 1 ปี ทุกคนรู้ว่า ชะตากรรมลำบากแล้ว 1 ปีที่ผ่านมา เม็ดเงินโฆษณาแทบไม่เข้าโดยเงินโฆษณายังอยู่ในช่องของที่เรียกอนาล็อกกันอยู่ มิหนำซ้ำผ่านไป 1 ปี ทีวีดิจิตอลก็ยังคงเป็นอนาล็อกอยู่เหมือนเดิม ความรู้สึกของคนดูแค่รู้สึกว่าช่องเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้มีความรู้สึกว่ามันคือดิจิตอล HD คมชัดอะไร เพราะว่า เสาทั้งหลายที่แจกคูปองไปไม่ถึงมือคน แล้วที่ประหลาดกว่านั้น ขนาดแจกเป็นคูปองไป ยังไม่มีใครไปแลกเลย จนเวลานี้กำลังทยอยหมดอายุกันไปในเดือนมิถุนายนนี้

ทุกวันนี้พฤติกรรมคนดู เขาดูบนแพทฟอร์มดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี ซึ่งเจ้าของแพทฟอร์มได้เอาช่องเหล่านี้ใส่เข้าไปบริการของเขาเพื่อให้บริการลูกค้า แม้ว่า กสทช.จะกำหนดตัวเลขช่องประหลาดกระโดดไป-มา ถึงขั้นบางช่องต้องไปซื้อเลขช่อง ยอมจ่ายเพิ่มให้เจ้าของแพทฟอร์ม แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ HD มันก็ไม่ HD จริง ยกตัวอย่าง ดูผ่านทรู ช่อง HD มี 7 ช่อง เวลามันเข้าไปที่แพทฟอร์มทรู ถามว่า ทรูจะยอมเสียแบนด์วิธในการที่จะทำให้ภาพมันคมชัดเป็น HD จริงๆหรือไม่ ทั้งนี้แพทฟอร์มของทรูเองก็มี HD ของตัวเองอยู่ไม่รู้ตั้งกี่ช่อง เพราะฉะนั้น เขากินแบนด์วิธมหาศาลอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นช่องพวกนี้เขาก็แค่เอายัดเข้ามาเพื่อให้เต็มเท่านั้น จึงมีสภาพไม่แตกต่างอะไรกับที่ดูทีวีดาวเทียมปกติ

ขณะเดียวกัน คนไทยก็ไม่มีวิสัยที่ขยันที่จะไปแลกคูปอง ก็คือ ความรู้สึกก็ดูได้นี่นา ทำไมต้องไปเปลี่ยนกล่องอะไรวุ่นวาย เพราะ ยุ่งยาก นี่จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมคูปองของกสทช.ถึงล้มเหลว

กสทช. เอง ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจกันว่า ภายในบอร์ดเองก็ขัดแย้ง กล่าวคือ ขออนุมัติงบประมาณไป 60 กว่าล้านโดยบอกว่า จะนำมาใช้เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้คนไปเปลี่ยนเป็นกล่องเอาคูปองไปแลก แต่ปรากฏว่า 1 ปีผ่านไป งบ 60 กว่าล้านยังไม่ได้ขยับอะไร ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ทำให้ผู้ประกอบการที่อุตส่าห์ประมูลแบบใส่เงินจำนวนมากกว่า 50,000 กว่าล้านก็หงุดหงิด

ไม่นับรวม ระบบโครงข่าย ที่เรียกว่า มักซ์ ทาง กสทช. บอกว่า ระบบโครงข่ายให้มีโครงข่ายหลักๆ 4 โครงข่าย มีกองทัพบกช่อง 5 , อสมท. กรมประชาสัมพันธ์ และไทยพีบีเอส ความหมายของโครงข่ายหลัก คือ พวกที่ตั้งเสาอากาศสูงๆ ที่สมัยก่อนที่เราเห็นกัน จากนั้นพวกผู้ประกอบการพวกนี้ต้องไปเช่าโครงข่ายพวกนี้ อนุมัติไป 4 โครงข่าย แต่ทำไปทำมาพังไป 2 อีก 2 ก็ทำลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ คือไทยพีบีเอส กับ ช่อง 5 ส่วนช่อง 9 กับกรมประชาสัมพันธ์ มิหนำซ้ำ กรมประชาสัมพันธ์ยังไม่ได้ประมูลผู้ที่จะมาติดตั้งโครงข่าย หรือ ประมูลแล้วก็มีปัญหาโดนโยกย้าย

ขณะเดียวกัน อสมท. ก็กำลังจะประมูลอะไรกันแต่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเช่า ไปๆ มาๆ สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ผู้ประกอบการ 24 ราย เวลาตัดสินใจจะต้องเลือกว่าจะเข้าโครงข่ายไหน ใครที่ดันไปแจ็คพอตเลือกตัวผิด เลือกโครงข่ายผิดก็มีปัญหาการรับชมกันไป
เพราะฉะนั้นความรู้สึกของคนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา รู้สึกแค่ว่าทีวีมันเยอะขึ้น แต่ในแง่ของการรับรู้ว่าเป็นดิจิตอลแทบไม่มีใครรู้สึกเท่าไหร่

ส่วนเรื่องคูปองก็เป็นประเด็นว่าคนดันไม่เอาไปแลกกล่อง โอกาสเกิดของทีวิดิจิตอลมันก็ยิ่งลดน้อยถอยลง ขณะเดียวกันโทรทัศน์รุ่นใหม่ที่เป็นดิจิตอลแล้ว เวลาเราซื้อไปก็ต้องไปพึ่งเสาอากาศ ซึ่งก็ยังมีปัญหาเรื่องของมักซ์อยู่ เพราะฉะนั้นโดยสรุปแล้ว กสทช. ก็มีส่วนผิดในหลายๆ เรื่องที่ทำให้การขยายการรับชมทีวีดิจิตอลแบบดิจิตอลจริงๆ

ในตอนหน้าจะวิเคราะห์เรื่องเรทติ้งทีวีว่าสะท้อนอะไรบ้าง โปรดติดตาม..ฉบับพรุ่งนี้

**หมายเหตุ : เรียบเรียงจากรายการ iBiz Insight ท่านผู้อ่านสามารถติดตามรับชมรายการได้ 3 ช่องทาง คือ ทางสถานีข่าว News1 ทุกวันจันทร์, อังคาร, พุธ เวลา 11.30-12.00 น. ทางช่องซูเปอร์บันเทิง True Vision ช่อง 71 เวลา 15.30-16.00 น. และทางเว็บไซต์ www.ibizchannel.comและwww.manager.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น