xs
xsm
sm
md
lg

สมรภูมิ TV Digital คราบเลือดและรอยน้ำตา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้(27พ.ค.) บริษัท ไทยทีวี จำกัด โดย นายภิญโญ มั่นรู้ธรรม ผอ.ช่องไทยทีวี นายโดม เจริญยศ  เจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และ นายสุชาติ ชมกุล  ทีมที่ปรึกษาทนายความ ร่วมชี้แจงทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยยืนยันว่าจะยุติการออกอากาศช่องทีวีดิจิตอลทั้งช่อง 15 และ 17 และไม่จ่ายเงินค่าใบอนุญาตประกอบกิจการที่ค้างอยู่
หลังจากที่ครบ 1 ปีมาแล้วทีวีดิจิตอลของไทยเริ่มเข้าสู่ช่วงไฮไลต์ เมื่อผู้ประกอบการต้องจ่ายเงินค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอลงวดที่ 2 และเป็นประเด็นว่าผลประกอบการของแต่ละค่ายไม่สู้ดีกันนัก ถึงขั้นมีบางช่องไม่จ่าย เรื่องราวน่าติดตามอย่างยิ่ง

ก่อนหน้านี้ช่วงที่ทีวีดิจิตอลมาใหม่ๆ “iBiz insight” เคยวิเคราะห์ว่า ท้ายที่สุดแล้วจะเห็นการล้มระเนระนาด ตายกันเป็นเบือ 1 ปีผ่านมาเป็นมากกว่าที่คิดไว้ มันเป็นสัจธรรม คือ จู่ๆ เมื่อเปิดสมรภูมิจากเดิมที่มีไม่กี่ช่อง กลายเป็น 20 กว่าช่อง จะเอาเม็ดเงินโฆษณามาจากไหนที่จะไปหล่อเลี้ยง กระอักเลือดทุกรายทั้งยักษ์ใหญ่ยักษ์เล็ก ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการ วันนี้จะพูดถึงภาพใหญ่ด้วย

กล่าวคือ นอกเหนือจากผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่ได้ไลเซนส์ไป 20 กว่าราย คาดว่า บรรดาผู้ที่ผลิตคอนเทนต์ก็อยู่ในสภาวะเริ่มมีปัญหา จะได้เห็นกันภายในไตรมาสที่ 3 ที่ 4 ที่จะถึงนี้ วงการอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทยจะมีข่าวในแง่ลบมากขึ้นๆ เรื่องของการไม่มีเงินจ่ายค่าใบอนุญาตเป็นแค่เบื้องต้น

ความล้มเหลวใน 1 ปีที่ผ่านมาจริงๆ ไม่ใช่ว่าผู้ประกอบการทำร้ายตัวเอง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ก็มีความผิดอีกหลายส่วน ขณะที่เรื่องการจ่ายงวด ควรทราบว่า ตอนประมูลไป 24 ช่อง จะแยกเป็น 4 หมวดรายการ คือ กลุ่มที่เป็น HD กลุ่มที่เป็น SD กลุ่มข่าว และกลุ่มเด็ก ทั้งหมดคิดเป็นเม็ดเงิน 50,862 ล้านบาท แต่ กสทช.กำหนดให้แบ่งการจ่าย เนื่องจากสัมปทาน 15 ปี

ในช่วงการแบ่งจ่ายยังแบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ การกำหนดราคาขั้นต่ำของแต่ละช่อง, ประเภทช่องไว้ อย่างเช่น HD กำหนดราคาขั้นต่ำไว้ 1,510 ล้านบาท แล้วก็ SD เขากำหนดไว้ 380 ล้านบาท แล้วก็ช่องอื่นๆ เขาก็กำหนดราคาขั้นต่ำไว้ ทว่า ช่วงที่ประมูลจริงๆ แต่ละรายก็ใส่เงินแข่งขันกันใหญ่ จึงทำให้ราคาพุ่งเกินราคาขั้นต่ำ เช่น HD ตั้งไว้ประมาณ 1,510 ล้านบาท แต่ไปจบที่ 3,000 ล้านบาท และ SD 380 กว่าล้านบาท

ทั้งนี้ การกำหนดการจ่ายไว้เดิม ปีที่ 1 จ่าย 50% หรือ 750 ล้านบาท ปีที่ 2 จะต้องจ่ายอีก 30% ปีที่ 3 อีก 20% และปีสุดท้ายคือปีที่ 4 เท่ากับ 10%

หลังจากการประมูลมีการเสนอราคาสูงเกินกว่าราคาขั้นต่ำไปมาก เช่น 3,000 ล้านบาท กสทช.ก็ให้แบ่งชำระ 6 ปี จาก 4 ปี โดยปีแรกและปีที่ 2 จ่าย 30% แล้วก็ปีที่ 3-6 อีก 20% ซึ่งหากดูตามนี้ 6 ปีจ่ายครบเรื่องก็จบ ไม่ต้องจ่ายค่าต๋งอะไรอีกให้ กสทช. เวลาที่เหลือก็คือกำไรเพราะไม่มีค่าสัมปทานแล้ว อยู่ไปอีก 15 ปี ซึ่งเป็นกติกาที่เขียนแบบประหลาดๆโดยเอื้อให้เกิดการใส่เงินก้อนใหญ่กันลงมาแข่งกันตั้งแต่ต้น

จะเห็นว่า ปีที่ 1 ปีที่ 2 หนักมาก เพราะปีที่ 1 ต้องจ่ายขั้นต่ำ 700 กว่าล้านบาทสำหรับ HD ไปแล้ว และต้องจ่ายขั้นต่ำปีที่ 1 กับปีที่ 2 อีก 30% ของ 1,500 ล้านบาท คือ 500 กว่าล้านบาท เท่ากับต้องจ่าย 1 ปีร่วม 1,000 ล้านบาท เฉพาะ HD เพราะฉะนั้น ปีที่ 1 ยังเป็นฮันนีมูนพีเรียด ทุกคนมีความฝันว่าโฆษณาเม็ดเงินจะเข้ามาอย่างนั้นอย่างนี้ ทุกคนก็จ่ายไม่มีใครอิดออด เพราะเพิ่งประมูลมาหมาดๆ จะมาชักดาบอะไรกันตั้งแต่แรก

ขณะนี้ผ่านไป 1 ปี ทุกคนรู้ว่าชะตากรรมลำบากแล้ว 1 ปีที่ผ่านมาเม็ดเงินโฆษณาแทบไม่เข้า โดยเงินโฆษณายังอยู่ในช่องของที่เรียกแอนะล็อกกันอยู่ มิหนำซ้ำผ่านไป 1 ปีทีวีดิจิตอลก็ยังคงเป็นแอนะล็อกอยู่เหมือนเดิม ความรู้สึกของคนดูแค่รู้สึกว่าช่องเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้มีความรู้สึกว่ามันคือดิจิตอล HD คมชัดอะไร เพราะว่าเสาทั้งหลายที่แจกคูปองไปไม่ถึงมือคน แล้วที่ประหลาดกว่านั้น ขนาดแจกเป็นคูปองไปยังไม่มีใครไปแลกเลย จนเวลานี้กำลังทยอยหมดอายุกันไปในเดือนมิถุนายนนี้

ทุกวันนี้ พฤติกรรมคนดูเขาดูบนแพลตฟอร์มดาวเทียม เคเบิลทีวี ซึ่งเจ้าของแพลตฟอร์มได้เอาช่องเหล่านี้ใส่เข้าไปบริการของเขาเพื่อให้บริการลูกค้า แม้ว่า กสทช.จะกำหนดตัวเลขช่องประหลาดกระโดดไป-มา ถึงขั้นบางช่องต้องไปซื้อเลขช่อง ยอมจ่ายเพิ่มให้เจ้าของแพลตฟอร์ม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ HD มันก็ไม่ HD จริง ยกตัวอย่าง ดูผ่านทรู ช่อง HD มี 7 ช่อง เวลามันเข้าไปที่แพลตฟอร์มทรู ถามว่าทรูจะยอมเสียแบนด์วิดท์ในการที่จะทำให้ภาพมันคมชัดเป็น HD จริงๆ หรือไม่ ทั้งนี้ แพลตฟอร์มของทรูเองก็มี HD ของตัวเองอยู่ไม่รู้ตั้งกี่ช่อง เพราะฉะนั้นเขากินแบนด์วิดท์มหาศาลอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นช่องพวกนี้เขาก็แค่เอายัดเข้ามาเพื่อให้เต็มเท่านั้น จึงมีสภาพไม่แตกต่างอะไรจากที่ดูทีวีดาวเทียมปกติ

ขณะเดียวกัน คนไทยก็ไม่มีวิสัยที่ขยันจะไปแลกคูปอง ก็คือ ความรู้สึกก็ดูได้นี่นา ทำไมต้องไปเปลี่ยนกล่องอะไรวุ่นวาย เพราะยุ่งยาก นี่จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมคูปองของ กสทช.ถึงล้มเหลว

กสทช.เองก็เป็นเรื่องที่เข้าใจกันว่าภายในบอร์ดเองก็ขัดแย้ง กล่าวคือ ขออนุมัติงบประมาณไป 60 กว่าล้านบาท โดยบอกว่าจะนำมาใช้เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้คนไปเปลี่ยนเป็นกล่องเอาคูปองไปแลก แต่ปรากฏว่า 1 ปีผ่านไปงบ 60 กว่าล้านบาทยังไม่ได้ขยับอะไร ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ทำให้ผู้ประกอบการที่อุตส่าห์ประมูลแบบใส่เงินจำนวนมากกว่า 50,000 กว่าล้านบาทก็หงุดหงิด

ไม่นับรวม ระบบโครงข่าย ที่เรียกว่า มักซ์ ทาง กสทช.บอกว่าระบบโครงข่ายให้มีโครงข่ายหลักๆ 4 โครงข่าย มีกองทัพบกช่อง 5, อสมท, กรมประชาสัมพันธ์ และไทยพีบีเอส ความหมายของโครงข่ายหลักคือ พวกที่ตั้งเสาอากาศสูงๆ ที่สมัยก่อนที่เราเห็นกัน จากนั้นพวกผู้ประกอบการพวกนี้ต้องไปเช่าโครงข่ายพวกนี้ อนุมัติไป 4 โครงข่าย แต่ทำไปทำมาพังไป 2 อีก 2 ก็ทำลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ คือไทยพีบีเอส กับช่อง 5 ส่วนช่อง 9 กับกรมประชาสัมพันธ์ มิหนำซ้ำกรมประชาสัมพันธ์ยังไม่ได้ประมูลผู้ที่จะมาติดตั้งโครงข่าย หรือประมูลแล้วก็มีปัญหาโดนโยกย้าย

ขณะเดียวกัน อสมท ก็กำลังจะประมูลอะไรกันแต่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเช่า ไปๆ มาๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้ประกอบการ 24 รายเวลาตัดสินใจจะต้องเลือกว่าจะเข้าโครงข่ายไหน ใครที่ดันไปแจ็กพอตเลือกตัวผิด เลือกโครงข่ายผิดก็มีปัญหาการรับชมกันไป

เพราะฉะนั้น ความรู้สึกของคนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา รู้สึกแค่ว่าทีวีมันเยอะขึ้น แต่ในแง่ของการรับรู้ว่าเป็นดิจิตอลแทบไม่มีใครรู้สึกเท่าไหร่

ส่วนเรื่องคูปองก็เป็นประเด็นว่าคนดันไม่เอาไปแลกกล่อง โอกาสเกิดของทีวิดิจิตอลมันก็ยิ่งลดน้อยถอยลง ขณะเดียวกันโทรทัศน์รุ่นใหม่ที่เป็นดิจิตอลแล้ว เวลาเราซื้อไปก็ต้องไปพึ่งเสาอากาศ ซึ่งก็ยังมีปัญหาเรื่องของมักซ์อยู่ เพราะฉะนั้นโดยสรุปแล้ว กสทช.ก็มีส่วนผิดในหลายๆ เรื่องที่ทำให้การขยายการรับชมทีวีดิจิตอลแบบดิจิตอลจริงๆ

สรุปว่าภาพที่เห็นชัดๆ ของทีวิดิจิตอลถูกวาดหวังว่าจะเข้ามาแชร์เค้กจากทีวีแอนะล็อกเดิม ซึ่งถ้าดูตัวเลขปรากฏว่าลดลงทั้งช่อง 3, 7 ไม่ต้องไปนับช่อง 9 ช่อง 5 ไทยพีบีเอส หรือช่อง 11 ที่กำลังจะร่วงไปแล้ว แต่จาก 24 ช่องก็มีแค่ เวิร์คพ้อยท์ อาร์เอสที่โผล่ขึ้นมาเป็นคู่เทียบ ส่วนที่เหลือดูเรตติ้งกันจริงๆ แค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์

เพราะฉะนั้น เม็ดเงินโฆษณาที่กระจายไปใน 24 ช่อง ยังกระจุกอยู่ที่ตัวละครหลักๆ ในช่องแอนะล็อกเก่า หรือว่าพวกที่เป็นทีวีดิจิตอลที่เชื่อมกับแอนะล็อกเก่า อย่างเช่น ช่อง 7 ช่อง 3 ส่วนช่อง 5 ช่อง 9 ถึงแม้ว่าในแง่ของเรตติ้งจะลดลง แต่ว่าเม็ดเงินโฆษณาก็ยังไปที่ที่พวกนี้อยู่พอสมควร เพราะว่าพวกที่เป็นดิจิตอลไลน์ใหม่ทั้งหลายไม่ว่าจะเวิร์คพอยท์, อาร์เอส, วัน, แกรมมี่, โมโน ถึงแม้เรตติ้งจะดูไม่น่าเกลียด พอมีนัยบ้าง แต่ในแง่เม็ดเงินที่เข้าไปคิดเป็นต่อนาทีก็ขายกันไม่คุ้มเลย เหมือนเผาเงินทิ้ง

นี่คือภาพแรกที่มาเปิดให้เห็นว่า 1 ปีที่ผ่านมาทีวีดิจิตอลไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของสัญญาณ หรือว่าจะเป็นในแง่ของรายได้ รวมไปถึงเม็ดเงินโฆษณา

หากมาดู ผลประกอบการ เกือบทุกรายเจอขาดทุน ตัวอย่างเช่น News network ขาดทุนไปในไตรมาส 1 173% ขาดทุนเพิ่มขึ้น 126.3% RS ที่ว่าเรตติ้งดี แต่ขาดทุน 41.55 ล้านบาท จากที่กำไรก็โดนไป 817% Mono ขาดทุนไป 68 ล้านบาทจากที่กำไร 43 ล้านบาท ก็โดนไป 257% Workpoint โดนไป 381% จากขาดทุน 2 ล้านบาทมาเป็นขาดทุน 11 ล้านบาท เวิร์คพอยท์ถือว่าเรตติ้งดีก็ยังขาดทุน ส่วน GMM ดีกว่าหน่อยที่ผ่านมาขาดทุน 791 ล้านบาท แต่ว่าไตรมาส 1 ที่ผ่านมากำไร 376 ล้านบาท ช่อง 3 จากที่เคยกำไร 1,148 ล้านบาทจากไตรมาส 1 ที่ผ่านมา กำไรลดเหลือ 743.94 ล้านบาท ก็ลดไป 35% อสมท ก็ยังมีกำไรแต่ลดน้อยลงมากจากเดิม 197 ล้านบาทไตรมาส 1 ปี 57 ปี 58 เหลือแค่ 27 ล้านบาท ลดลงไป 86%

อัมรินทร์พริ้นติ้งจากที่เคยกำไร 4.18 ล้านบาท มาไตรมาส 1 ปี 58 ขาดทุน 117 ล้านบาท เรียกง่ายๆ ว่าผลประกอบการลดลงถึง 2,902% Nation จากที่กำไร 2.95 ล้าน บาท มาไตรมาส 1 ปี 58 13.89% กำไรได้อยู่ 3.36 ล้านบาท

ทั้งหมดนี้เป็นภาพรวม แต่เอาจริงๆ อ้างอิงไม่ได้ เพราะว่าในแง่ของบริษัทส่วนใหญ่ก็มีบริษัทลูก บริษัทแม่ มันผ่องในเรื่องเลขกำไรขาดทุน ได้โยกอยู่ได้มากพอสมควร แต่ถ้าเราดูก็จะเห็นภาพเลยว่า ลดทั้งนั้น มีบวกอยู่แค่ GMM และ Nation จากในตลาดหลักทรัพย์ กำไร 13% กำไรเพิ่มล้าน คุณเป็นกลุ่มเนชั่น บรอดแคสติ้งนี่แต่คุณมีธุรกิจคุณร่วมๆ อยู่ร้อยล้าน ถ้าคิดในแง่ของ asset กำไรคุณ 2-3 ล้าน ถ้าเป็นธุรกิจนี่ถือว่าขาดทุนนะเพราะมันไม่นำเม็ดเงินใส่เข้าไปและให้ผลตอบแทนที่แย่ และทุกกลุ่มเป็นเหมือนกันหมด จากที่เอาเม็ดเงินใส่ลงไปและสิ่งที่ได้กลับมามันไม่คุ้ม ห่างไกลมากเลยจากความสำเร็จ

เพราฉะนั้น ถ้าว่าจริงๆ พูดอย่างตรงไปตรงมาว่า เจ๊งทุกราย และนี่ยังไม่ได้นับกรณีที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ว่าจะเป็น ไทยรัฐ PPTV ThaiTV VOICE ฯลฯ ไม่รู้ว่า สาหัสแค่ไหน บางรายที่ประมูล HD ไปเป็นกลุ่มที่น่าสงสารที่สุด เพราะใส่เงิน 3,200 กว่าล้าน และจ่ายงวดแรกไปแล้ว หรือคนละพันกว่าล้าน เฉพาะค่าสัมปทาน อย่างอัมรินทร์ที่ได้ HD ขาดทุน 117 ล้าน ที่ขาดทุนแค่นี้เพราะได้ค่าพริ้นติ้งเพิ่ม ค่าสื่อ เพราะข้ามสื่อมาทำ HD ด้วยรู้ว่าสื่อสิ่งพิมพ์กำลังแย่ เม็ดเงินที่มาลงทุน จ่ายค่าสัมปทาน ค่าประมูล การตั้งสตูดิโอ ค่าคน ค่าคอนเทนต์ ถ้าไม่มีค่าสิ่งพิมพ์มาช่วยจะขาดทุนมหาศาลขนาดไหน

ตอนนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์มาเป็นสื่อดิจิตอล เพราะฉะนั้นอัมรินทร์เลือกที่จะซื้ออนาคต ถ้าสื่อนี้รุ่งขึ้นมาก็โอเค แต่เขาไปเลือกประมูล HD ซึ่งทุนเลยสูงขึ้นมา หรือดูกรณีอย่าง PPTV ใส่เงินไปมากขนาดนั้นในแง่เรตติ้งที่ออกมาไม่มากก็ต้วมเตี้ยมอยู่กลางๆ ตาราง โดยแทบไม่ได้รายได้จากโฆษณา

ถ้าเราดูแชร์ภาพรวม จะเห็นว่า ช่อง 7 ช่อง 3 ยังมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันอยู่ 17.3% ของคนดู 26 ช่อง ซึ่งนับช่อง 5 ไทยพีบีเอส กรมประชาสัมพันธ์ที่ไม่ได้ประมูลมาด้วย 26 ช่องรวมๆ กัน ครึ่งกว่า 63 ต่อ 34% ยังอยู่ที่ช่อง 7 และช่อง 3 นี่คือเรตติ้งของเดือนเมษาฯ ล่าสุดเลยปี 2558 ทั้งประเทศ 2 ช่องนี้ยังครองส่วนแบ่งตลาดอยู่เท่ากับ 65% ในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 68% ความหมายคือ อีก 24 ช่องในส่วนที่เหลืออีก 35%

ดังนั้น ตัวเลขของเวิร์คพอยท์ที่บอกว่าขึ้นมาอย่างมีนัยได้ 8% ช่อง 8 RS ได้มา 4% MONO 3.5% MCOT เหลือแชร์อยู่ที่ 2.86% ช่อง 5 1.81% ไทยพีบีเอส 1.2% งบใส่ลงไปปีละ 2,000 ล้านบาท เงินภาษีเรามากมายแต่มีแชร์อยู่ในทีวี 1.72% ไทยรัฐเป็นหน้าใหม่ที่บอกว่าโอเค เป็นช่อง HD เหมือนกันได้มา 1.4% TRUE4U 1.3% คือพอพ้นจาก MCOT ช่อง 5 มา ไทยพีบีเอสมาแล้วจากนั้นลงมาก็พวกหน้าใหม่ทั้งหลาย แชร์สูงสุดคือ ไทยรัฐ 1.42% และช่องโลก้า 0.16% ถ้านับเป็นจำนวนคนดูได้ ถ้าถามว่าถ้าคุณเป็นคนลงโฆษณา มีเดียแพลนคุณจะเอาลงอันไหน คำถามที่ได้ไม่พ้นช่อง 3 ช่อง 7

ในแง่มีเดียมีตัวเลือกมากขึ้น คือ ถ้าพ้นมาจากช่อง 3 ช่อง 7 นะ 6 ช่อง เวิร์คพอยท์ ช่อง 8 โมโน one mcot ช่อง 5 นี่เฉพาะพวกวาไรตี เพราะว่ามีละคร เกมโชว์ ตลก เวิร์คพอยท์ก็ย้ายคอนเทนต์ทุกอย่างมาอยู่ที่ช่องตัวเองหมด ช่องก็มองว่าเวิร์คพอยท์มันเริ่มมาแรง เพราะฉะนั้นเราจะสลัดมันทิ้ง พูดกันตรงๆ ว่ายังได้เม็ดเงินจากการที่เป็นโปรดักต์เฮาส์ทำในช่องอื่นในฟรีทีวีช่องอื่น และก็มาช่วยรายจ่ายของช่องตัวเอง

เวิร์คพอยท์วางกลยุทธ์โดยเอารายการดังๆ เช่น ชิงร้อยชิงล้าน ให้ยังอยู่ที่ช่อง 3 แต่เขาขายโฆษณาได้นาทีละ 2-3 แสนบาท ถ้ามาอยู่เวิร์คพอยท์ก็ขายได้แค่หลักหมื่น รายได้จากตรงนั้นมาช่วยตรงนี้อยู่ แต่ทีนี้ถ้าช่อง 3 บอกว่า เราจะให้มาอยู่ทำไม เพราะในที่สุดก็จะแข็งแรงขึ้นงั้นถีบทิ้งดีกว่าหาโปรแกรมอื่นมาใส่ก็ได้ อีกหน่อยก็ต้องอพยพมาอยู่ที่ช่องตัวเอง

พอเข้าสู่ปีที่ 2 ผู้ประกอบการที่อยู่ในแวดวงดิจิตอล ต้องคิดว่าจุดขายของตัวเองคืออะไร บางคน 1 ปีที่ผ่านมายังหาจุดขายของตัวเองไม่ได้เลย ตอนแรกๆ แต่ละช่องก็วางจุดขายของตัวเองไว้ พอเริ่มทำไปเรื่อยๆ มันกินเนื้อและเรตติ้งก็ไม่มา ยกตัวอย่างเช่น ไทยรัฐทีวี ประมูล SD แต่ดันวางคาแรกเตอร์ตัวเองเป็นช่องข่าว ทุ่มทุนสร้างมหาศาล ดูเรตติ้งที่ขยับขึ้นมาก็ดูน่าพอใจในระดับหนึ่ง แต่มันเทียบกับเม็ดเงินที่ใส่ไปไม่ได้ หรือ PPTV ตอนแรกวางตัวเป็นไฮเอนด์ ก็เอาซีรีส์เกาหลี หรือซีรีส์ฝรั่งมา แต่เรตติ้งมันไม่มา สุดท้ายเอามวย เอาละครไทย เอาบอลเยอรมนีมาลงเพื่อดึงเรตติ้ง แล้วตกลงจุดเด่นมันคืออะไรกันแน่?

อะไรก็ตาม อย่างน้อยก็ต้องเอาเรตติ้งไว้ก่อน เจ้ติ๋ม ทีวีพูล ไทยทีวีนี่ยอมรับสภาพเลยว่าพลาดที่ประมูลมา 2 ช่อง กลายเป็นว่าคนที่ลงเงินไปทั้งหมดทั้งมวลขามันเริ่มสั่น ถ้าย้อนอดีตได้คงไม่มีใครประมูล สิ่งที่เราเริ่มเห็นปรากฏการณ์พวกผู้ผลิต หรือคอนเทนต์โพรวายเดอร์ ซึ่งไม่ได้เข้มแข็งพอป้อนช่องต่างๆ หลายๆ รายก็เริ่มออกอาการ เพราะผู้ประกอบการตอนที่ไปประมูลยังไม่มีสถานีเลย พอถึงเวลาประมูลได้มาก็ต้องเร่งออกอากาศต้องยอมจ้าง พอผ่านมา 1 ปีผู้ประกอบการทั้งหลายคิดว่าไม่น่าไปจ้างทำเองดีกว่า ตอนนี้ทุกคนก็เริ่มทำเองอย่างรายการข่าวเห็นชัดเลย

ดังนั้น จากนี้ไปทุกคนจะลดต้นทุน การจะลดต้นทุน คนเจ็บอันดับ 1 เลยคือพวกคอนเทนต์โพรวายเดอร์ เรียกได้ว่าสวรรค์ล่มสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการทั้ง 24 ราย คอนเทนต์โพรวายเดอร์ และแม้แต่บุคลากร ในไตรมาสที่ 3-4 ของปีนี้เราจะเห็นอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทยมีน้ำตา แล้วในที่สุดคนที่ในอดีตไปประมูล ไปปักธงเพื่อจะแย่งชิงสัมปทาน และคิดว่ามันจะมีค่าในอนาคต อาจจะมีคนมาซื้อช่องเรา ถ้าคุณไม่สามารถจะสร้างมูลค่าช่องขึ้นมาได้ ถามว่า ใครจะมาซื้อ

ในช่วงครึ่งหลังของปี จะเห็นรอยเลือด และคราบน้ำตา จะมี Lay-off คนบริษัทคอนเทนต์โดนสอย จะมีบางช่องไม่ไหวแล้วจ้า จะมีการฟ้องร้อง กสทช.ก็เจอของแข็งแน่ เพราะในเมื่อต้องจ่ายรอบ 2 หลายเจ้าก็ทำท่าถอยๆ ละ จะไปฟ้องไล่บี้ กสทช.ยังไงอีกเรื่องหนึ่ง

สุดท้ายเลยคือ จากอุตสาหกรรมนี้ที่มันจะมีปัญหาจะส่งผลไปถึงเศรษฐกิจพอสมควร

**หมายเหตุ : เรียบเรียงจากรายการ iBiz Insight ท่านผู้อ่านสามารถติดตามรับชมรายการได้ 3 ช่องทาง คือ ทางสถานีข่าว News1 ทุกวันจันทร์, อังคาร, พุธ เวลา 11.30-12.00 น. ทางช่องซูเปอร์บันเทิง True Vision ช่อง 71 เวลา 15.30-16.00 น. และทางเว็บไซต์ www.ibizchannel.com และ www.manager.co.th




กำลังโหลดความคิดเห็น