“วัลลี” ตำนานชีวิตลูกยอดกตัญญู ยอมให้อภัย ถอนฟ้องรายการ “ชิงร้อยชิงล้าน” ในข้อหาหมิ่นประมาทไปเรียบร้อย จากกรณีหยิบเอาชีวประวัติเธอมาล้อเลียนปู้ยี่ปู้ยำจนไม่เหลือชิ้นดี ส่งให้ครอบครัวต้องพบเจอเสียงหัวเราะเย้ยหยันไม่เว้นวัน เช่นเดียวกับรายการทีวีอีก 2 แห่งที่แปลงชีวิตเศร้าของเธอมาขายแลกเงินโดยไม่ได้รับอนุญาต
นี่คงเป็นหนึ่งในไม่กี่ครั้งที่การตอบกลับของ “เหยื่อเสียงหัวเราะ” ส่งพลังสะเทือนไปถึงเจ้าของทุนได้ และน่าจะช่วยให้รายการทีวีกลับมาตั้งคำถามกับ “มุกตลกไม่สร้างสรรค์” ของตัวเองเสียที!!
ขอร้องทีวี...เลิกหากินกับ “วัลลี” เถอะ!
(ล้อเลียนรุนแรงจนเหยื่อทนไม่ไหว)
“บางรายการเล่นต่อเนื่องเป็นอาทิตย์ ครูพูดว่าทำไมทำกับบุพการีแบบนี้ คำขอโทษร้อยพันคำที่ให้เรามันแทนความรู้สึกตรงนี้ไม่ได้ ชาวบ้านบางคนพูดแรง ทำไมต้องหากินอย่างนี้ (ร้องไห้)”
“วัลลี บุญเส็ง” หรือที่หลายคนเรียกกันว่า “วัลลี ยอดกตัญญู” เผยความรู้สึกที่ถูกรายการทีวีถึง 3 รายการล้อเลียนเรื่องราวชีวิตของเธอจนถูกชาวบ้านมองอย่างตำหนิว่า ขายเรื่องราวชีวิตของตัวเองให้สื่อทีวี ยอมหากินจากพ่อแม่เพื่อให้ได้เงินตอบแทน ทั้งที่ความจริงแล้ว ไม่เคยมีผู้ผลิตรายใดมาขออนุญาตเธอเลยแม้แต่ครั้งเดียว
หากผลกระทบทางจิตใจครั้งนี้ส่งถึงแค่เพียงตัวเธอคนเดียว คงไม่ใช่เรื่องหนักหนาอะไร ยังพอทนรับได้ แต่การเย้ยหยันผ่านมุกตลกของรายการทีวีกลับทำให้ลูกๆ ของเธอถูกเพื่อนๆ ล้อ สามีและคนในครอบครัวต้องแบกรับเสียงหัวเราะเยาะอยู่ไม่เว้นวัน จึงตัดสินใจฟ้องร้องเสียเลย
ยังดีที่ทางผู้ผลิตรายการ “ชิงร้อยชิงล้าน” สำนึกถึงผลกระทบตรงนี้ จึงเกิดการเจรจาขอโทษขอโพยกันให้จบเรื่องไป โดยล่าสุด “ตุ๊กกี้-สุดารัตน์ บุตรพรม” ก็ถึงกับเข้ามากราบขอขมาด้วยตนเอง พร้อมโพสต์อินสตาแกรมรับผิด จึงช่วยกู้ศักดิ์ศรีบางส่วนของเหยื่อกลับมาได้บ้าง ผู้ถูกพาดพิงจึงตัดสินใจถอนฟ้อง เหลือไว้แค่เพียงกรณีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ยังคงปล่อยให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อไป และบรรทัดต่อจากนี้คือ
“จุดประสงค์ที่ไปแจ้งความคือ เพื่อให้หยุดอยู่แค่ 3 รายการนี้ค่ะ อย่าให้มีรายการที่ 4 เพราะเกินจะรับได้แล้วถึงได้ยอมออกสื่อ ยอมเป็นข่าว ชีวิตเราไม่ตลก ไม่ยินยอมให้ไปทำตลกด้วย โดยเฉพาะที่ย้ำทุกครั้งว่า แม่เราไม่ใช่สิ่งที่คุณจะมาล้อเล่น ไม่มีสิทธิ์จะมายุ่งกับแม่ คุณไม่ต้องมาขอโทษเรา คุณไปขอโทษกับแม่
บางรายการจับแม่ซึ่งนอนป่วย เดินข้าม กระทืบ จับเหวี่ยง และร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ต้องมีคือมุกป้อนข้าว คนในรายการดูแล้วนั่งหัวเราะ สิ่งที่แสดงออกมาเหมือนแม่เราปัญญาอ่อน คนเป็นอัมพาตแล้ว เขาเสียไปนานแล้ว จะช้ำใจมั้ย? รู้ว่าเป็นการแสดงแต่มันคือชีวิตเรา อยากย้อนถามว่าถ้าเป็นแม่คุณ คุณรับได้มั้ย? สมัยก่อนไม่มี Youtube โมโหก็ไม่รู้ทำยังไง โกรธเราก็จบ ก็ปล่อยไป จนวันนึง ลูกสาวอายุ 15 บอกว่าแม่ไปดู Youtube บ้างนะ ก็เลยเจอ 3 รายการ ลูกสาวเขาบอกว่าโดนมาเยอะ ลูกชายบอกว่ารู้มานานแล้วแต่ไม่กล้าบอก เพราะถ้าแม่เห็น แม่ก็นั่งร้องไห้ สามีก็รู้แต่ไม่มีใครบอกเพราะกลัวเสียใจ
ที่ลูกสาวมาพูดเพราะเพื่อนชอบส่งไลน์รูปตลกมาให้ คิดว่าน่าจะเลิกได้แล้ว เพื่อนแซวก็แชร์ส่งกันไป ลูกเขาอาย เสียความรู้สึก เหมือนแม่โดนล้อเลียน เขาก็อดทน แต่ก็ยังมีอีกเรื่อยๆ ไม่เลิกซักทีเลยต้องพูด คนมองว่ารายการเขาเล่นไปตั้งนานทำไมเพิ่งออกมาโวยวาย บอกเลยว่าเพิ่งเห็น! อยากอยู่กับลูกสามีแบบสงบไม่อยากเป็นข่าว บอกลูกว่าจะเปลี่ยนชื่อแล้วแจ้งสื่อว่าปิดตำนานวัลลี จะได้เลิกเล่นตลกซะที
คนที่เขาไปแสดงไม่ได้มีความเคารพแม่เราเลยมุ่งแค่ธุรกิจ ฮา ตลกอย่างเดียว ความรู้สึกตรงนี้ใครไม่โดนไม่เข้าใจหรอก เป็นเรื่องความรู้สึก เป็นเรื่องจิตใจ บางทีเพื่อนเจอเล่นกันในคาเฟ่ โอ้โห ยิ่งร้ายแรง เป็นมุกตลกเลย มันก็เจ็บปวดไม่จบไม่สิ้น ถ้าวันนี้คนไทยจะลืมชื่อวัลลีไปเลยจะเป็นสิ่งที่ดีมาก ทุกวันนี้ท้อแท้มากกับพฤติกรรมของสื่อที่เห็นแก่ตัว ไม่นึกถึงสิทธิเสรีภาพและจิตใจของคน วัลลีเป็นชีวิตจริงไม่ใช่นิยาย ถ้าทำอะไรให้มีมนุษยธรรมบ้าง จะไม่อนุญาตให้ใครเอาไปทำอีกแล้ว”
ผู้ผลิตทำเป็นมั้ย? “ตลกสร้างสรรค์”
(ตุ๊กกี้ขอขมา ผู้เสียหายยอมให้อภัย ถอนฟ้อง)
“ถ้าคุณเป็นตลกมืออาชีพจริง มันไม่ตันไม่ตายหรอกค่ะ ยังมีมุกเล่นได้อีกเยอะ” ผศ.ดร.พรทิพย์ เย็นจะบก รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คนไทยคนเดียวที่ได้ทุน Unesco ไปศึกษาด้านรู้เท่าทันสื่อ บอกเอาไว้เลยว่ามุกตลกที่อยู่ในรายการทีวีทุกวันนี้มันไม่สร้างสรรค์เอาเสียเลย!
“ตลกยังไงก็ได้ให้ “สร้างสรรค์” ไม่ใช่ตลกยังไงก็ได้ให้ขายได้ ที่ผ่านมาเคยเห็นมุกตลกเอาเท้าลูบหน้ากันในทีวี หรือเอาพระมาเป็นตัวตลก ถามว่ามันสมควรมั้ย เพราะพระคือบุคคลที่ควรเคารพบูชา พระพูดคำหยาบก็ผิดแล้ว แต่พอเอามาแสดงแบบนั้น เด็กที่ดูรายการพวกนี้ก็จะแยกไม่ออกอีกต่อไปว่าขอบเขตตรงไหนที่เหมาะหรือไม่เหมาะ โดยเฉพาะเด็กยุคใหม่ที่อายุต่ำกว่า 18 เขาไม่น่าจะทันยุคของคุณวัลลีแล้วค่ะ ก็เลยรับรู้เรื่องราวไปตามที่ถูกนำเสนอในรายการแบบนั้นแหละ
คำว่า “สร้างสรรค์” คือการออกนอกกรอบนะคะ ต้องนำไปสู่สิ่งที่ดี แต่ถ้าทำให้คนอื่นเดือดร้อนเมื่อไหร่ก็ถือว่าไม่สร้างสรรค์แล้ว ถือว่าเป็นหน้าที่ของคนทำรายการที่ต้องหาคำตอบว่าทำยังไงให้ตลกแบบมีรสนิยม ถามว่ารายการทีวีทุกวันนี้ คุณอยากจะทำร้ายสังคมหรือจะมอบสิ่งดีๆ ให้สังคม แม้จะเป็นเรื่องบันเทิงก็ตาม ยังไม่ต้องพูดถึงว่ากฎหมายเอาผิดเรื่องแบบนี้ยังไงบ้างมั้ยก็ได้ค่ะ แค่วัดจากคุณธรรมจริยธรรม การสำนึก ความรับผิดชอบ การให้เกียรติกันก็พอแล้ว เป็นสิ่งที่คนทำสื่อต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลา แต่รายการตลกที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ มันไม่ช่วยให้เกิดความบันเทิงที่สร้างสรรค์ แต่กลับเป็นความบันเทิงที่มาจากอารมณ์เจ็บปวดของคนอื่นมากกว่า”
โดยทั่วไปแล้ว “มุกตลก” ที่ใช้เล่นกันอยู่ในโลกนี้จะมีอยู่ 3 แบบคือ 1.ตลกล้อเลียน 2.ตลกลามก (Dirty Joke) เป็นเรื่องตลกทางเพศทั้งหลาย และ 3.ตลกโอเวอร์ แต่งตัวหรือทำอะไรให้ดูเกินจริง ถ้าริจะทำรายการตลกโปกฮาก็ต้องศึกษาให้มาก และที่สำคัญต้องมีความละเอียดอ่อนมากพอต่อ “ระดับความขำ” ไม่อย่างนั้น จะได้รับผลตอบรับแบบซวยบรรลัย อย่างที่ ผศ.ดร.มล.วิฏราธร จิรประวัติ อดีตอาจารย์ประจำ สาขาวิชาการโฆษณา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์เอาไว้
“แม้แต่คนในสังคมวัฒนธรรมเดียวกัน เล่นมุกตลกมุกเดียวกัน ยังมีคนที่ขำและไม่ขำ ยกตัวอย่างโฆษณาสมัยก่อนที่สินค้าบางตัวจะชอบเล่นกับอะไรที่กินแล้วสูง มีคนแสดงเป็นคนเตี้ยมาก ทำอะไรก็ดูตลกไปหมด ซึ่งครูก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เตี้ยนะ เป็นตลกแบบดาร์กๆ คนเตี้ยมาเห็นโฆษณาตัวนี้แล้วเขาไม่ขำนะ หรือโฆษณายาลดความอ้วนที่ทำให้คนอ้วนดูแย่มาก คนอ้วนดูก็ไม่ขำเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะทำเรื่องอะไรก็ตามก็จะต้องมีกลุ่มคนที่รับมุกและกลุ่มที่ Sensitive ต้องเข้าใจว่าคุณไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่ถูกล้อเลียนเหล่านั้นไงคะ
เคสวัลลีนี้ถือเป็นกรณีศึกษาเลยนะ เพราะตั้งแต่เกิดมาแล้วมีรายการตลก ยังไม่เคยมีใครเจออะไรแบบนี้ เป็นเพราะเรื่องที่หยิบมามันคือชีวิตของคนคนนึงจริงๆ มีคนที่ชื่อวัลลีอยู่จริงๆ แต่ถ้ารายการเดียวกันนี้เล่นเรื่องสมมติกัน ก็ไม่มีใครเขาว่าอะไรหรอก คือเมื่อไหร่ก็ตามที่มีบุคคลที่ระบุได้ว่าทุกคนในสังคมนั้นรู้ว่าเขาคือใคร ความละเอียดอ่อนในการนำเสนอเรื่องนี้ยิ่งจะต้องมาก เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นทอล์กโชว์ ภาพวาด หรือรายการทีวี ถ้าจะเอ่ยชื่อพาดพิงถึงใครแล้ว ยังไงก็ต้องไปขออนุญาตหรือถามเจ้าตัวเขาก่อน เมื่อไหร่ก็ตามที่เรื่องแบบนี้ถูกนำเสนอสู่คนจำนวนมาก (Mass Communication) มันจะส่งผลกระทบในวงกว้างมากๆ
เพราะฉะนั้น ต้องระวังเรื่องระดับของการล้อเลียนให้ดีๆ เราไม่ได้บอกว่าห้ามล้อเลียนไปซะหมดทุกอย่าง แต่ถ้าจะทำต้องละเอียดอ่อนบ้างพอสมควร เพราะถ้าไม่ละเอียดอ่อนกับมันเลย คุณก็จะเจอผลสะท้อนกลับทางสังคมรุนแรงแบบนี้แหละ จะทำอะไรก็ต้องระวังให้มากๆ มันจะมีกลุ่มคนที่ Sensitive เสมอในสังคมโลกนี้ เพราะระดับของการรับได้-ไม่ได้ ระดับของความขำของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน
เหมือนกับปัญหาภาพการ์ตูนล้อเลียนที่เพิ่งเกิดขึ้นที่ฝรั่งเศส คนวาดการ์ตูนเอาภาพของพระมูฮัมหมัดมาล้อเลียน ฝั่งคนทำก็ขำ อ้างว่าเป็น Freedom of speech (เสรีภาพในการสื่อสาร) แต่จริงๆ แล้วถ้าเสรีภาพนั้นไปกระทบคนอื่น ไปกระทบคนมุสลิมอีกไม่รู้เท่าไหร่ แถมยังส่งผลให้คนมาฆ่ากันเพราะการ์ตูนล้อเลียนแบบนี้มันเหมาะมั้ย คือถึงจะมีเสรีภาพมากมายขนาดไหน ยังไงก็ต้องอยู่ในกรอบของความเหมาะสม รับผิดชอบ และยิ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่เรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับชาติ, ศาสน์, กษัตริย์ ผลสะท้อนที่ตอบกลับมามันจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นไปอีก ทำให้เกิดสงครามล้างโลกกันได้เลย”
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @tukky66
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754
ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- “วัลลี” ร่ำไห้! เสียใจถูกตราหน้าขายชีวิตแม่แลกเงิน ด้าน “ตุ๊กกี้” รุดกราบขอขมา
- ถึงขั้นงง! “เสี่ยตา” ตอบไม่ตรงคำถาม กรณี “วัลลี” จ่อฟ้อง