xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตรื่นรมย์...ศศิน เฉลิมลาภ กับอีกด้านของตัวตนที่คนไม่รู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ไอ้พวกนักอนุรักษ์”
ปฏิเสธได้ยากว่า เมื่อเอ่ยชื่อผู้ชายคนนี้ นี่คือภาพที่ผุดขึ้นในความคิดของผู้คน
มันชัดเจนถึงขนาดที่ว่าเขาสามารถหยิบเอาไปตั้งเป็นชื่อหนังสือได้เลย

“ศศิน เฉลิมลาภ” เป็นใครและมีบทบาทแบบไหนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คงไม่จำเป็นต้องอธิบายให้มากความ เพราะนอกจากบทบาทของการเป็นเลขานุการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ตลอดระยะเวลานานกว่าสิบปี สถานะของการเป็นแกนนำต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ก็เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ทำให้ชื่อของเค้าปรากฏต่อสาธารณะอย่างกว้างขว้าง

จากชายหนุ่มผู้สวมเสื้อคลุมของการเป็นครูบาอาจารย์ สู่เส้นทางนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เรารับรู้เกี่ยวกับผู้ชายคนนี้ตลอดหลายปีที่ผ่าน จึงเป็นเรื่องของงาน งาน งาน และก็งาน ภาพจำเกี่ยวกับเขาคนนี้ที่ทุกคนคุ้นเคย ก็ไม่เลยไปไหนไกลกว่าเรื่องป่าไม้ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และอาจรวมไปถึงสิทธิมนุษยชนในบางห้วงขณะ
แต่ใช่หรือไม่ว่า ชีวิตคนหนึ่งคน แท้จริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่...

อาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นครั้งแรกๆ ที่บทสนทนาไม่ได้ออกสตาร์ทจากเรื่องป่า เรื่องเขื่อน หรือสิทธิมนุษยชน แต่กำหนดจุดเริ่มต้นที่ความสนใจอีกด้านของผู้ชายคนนี้
อาจไม่มีเรื่องป่า อาจไม่ได้สนทนากันเรื่องเขื่อน
แต่เราก็เชื่อว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้มีส่วนไม่มากก็น้อยในการบ่มเพาะบุคคลผู้นี้ให้ย่างก้าวสู่วิถีที่บางจังหวะสนทนา เขาใช้คำว่า “พึงกระทำ”...




• จากภาพลักษณ์ของนักเคลื่อนไหวซึ่งดูจะหนักไปทางซีเรียสจริงจังค่อนข้างมาก คุณมีช่วงเวลาแบบว่า ชักปลั๊กหรือถอดปลั๊กความคิดออกจากเรื่องเหล่านี้บ้างหรือเปล่า
อันนี้ต้องถามคนรอบๆ ตัวนะ แต่จริงๆ ผมเป็นคนสนุกสนานตั้งแต่เด็กๆ แล้วล่ะ แล้วตอนเรียนหนังสือก็เป็นคนทำกิจกรรมนักศึกษา กิจกรรมนำสรรค์ฟรุ้งฟริ้งอะไรอย่างงี้ แบบเป็นพวกขาฮา เป็นตัวทะลึ่งสัปดนคนหนึ่งของจุฬาฯ สมัยโน้น ไม่รู้ว่าเป็นมือหนึ่งหรือเปล่านะ แต่ไม่เป็นรองใครนะเรื่องทะลึ่ง สัปดน เฮฮา ก็เรื่องประสาเด็กน่ะครับ เรื่องสองแง่สองง่าม ซึ่งผมก็จะเป็นคนฮาๆ ปล่อยมุกตลอด แต่ในขณะเดียวกันก็ทำกิจกรรม ครุ่นคิดอะไรมาตลอด โดยแบ็กกราวนด์ผมจะโตมาแบบนี้

• ถามถึงทุกวันนี้ มีการหาความบันเทิงให้แก่ตัวเองอย่างไรบ้าง
ก็ไปเที่ยวบ้าง...แต่พออยู่มูลนิธิสืบฯ มากว่าสิบปี บางทีมันไม่มีวันหยุดตลอดสี่ห้าเดือน เมื่อก่อนเราจะถามตัวเองว่า เฮ้ย ทำได้ไงวะ แต่ในที่สุด มันก็กลายเป็นเรื่องปกติที่หลายๆ เดือนไม่มีวันที่ไม่ทำงานเลย แต่ตอนเย็นๆ ก็ไม่มีอะไรที่ต้องมานั่งซีเรียสนะ ก็เฮฮากับพรรคพวกที่ไปทำงานด้วยกัน ส่วนใหญ่ก็กินเหล้า แล้วตอนกินเหล้าก็คุยเรื่องงานอีกแหละ (หัวเราะ) คุยเรื่องที่กำลังทำอยู่ อาจจะคุยเรื่องอื่นๆ บ้าง แต่ส่วนใหญ่ ห้าหกสิบเปอร์เซ็นต์ จะเป็นเรื่องงาน

• เบื่อหน่ายบ้างหรือเปล่าที่ต้องวนเวียนอยู่กับเรื่องเหล่านี้แทบจะทุกตารางวาของชีวิต
ผมไม่ค่อยเบื่อนะ จริงๆ เรามีเรื่องอื่นที่อยากจะคุย อย่างเช่น อยากคุยเรื่องหนังสือ หนัง บทกวี เรื่องปรัชญา แต่ก็จะมีบางคนที่คุยเรื่องพวกนี้กับเรารู้เรื่อง คุยเรื่องความรู้รอบตัว กีฬาฟุตบอลผมก็ดูนะ ผมก็เชียร์นิวคาสเซิล แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครเชียร์เท่าไหร่

• ชอบอะไรในทีมฟุตบอลนิวคาสเซิล
อันนี้ค่อนข้างซีเรียสนะ เพราะว่าเราอ่านสตาร์ซ้อกเกอร์ยุคแรกๆ สักสามสิบปีที่แล้ว เราก็ไปอ่านเจอว่าเมืองนิวคาสเซิลเป็นเมืองของชนชั้นกรรมาชีพ เมืองกรรมกร แล้วมีฟุตบอลทีมนิวคาสเซิล...ถ้าไม่มีทีมนี้ ทั้งเมืองก็จะไม่มีชีวิตชีวาเลย มีเรื่องเดียวที่นอกจากการไปแบกหามที่ท่าเรืออุตสาหกรรม ดังนั้น เราต้องเชียร์นิวคาสเซิล เพราะสมัยของผมมันต้องโปรชนชั้นกรรมาชีพ (หัวเราะ) แต่ว่าไม่ใช่เหตุผลเดียวหรอก เพราะตอนนั้น นิวคาสเซิลมันมีเควิน คีแกน มีปีเตอร์ เบียร์ดสลีย์ มี พอล แกสคอยน์ มีเกล็น ฮอดเดิล นี่คืออยู่ในนิวคาสเซิลทั้งหมดเลย แต่จริงๆ ผมก็ไม่ใช่คนดูฟุตบอลอะไรเยอะแยะนะ

• เมื่อสักครู่บอกว่า เวลาอยู่กับเพื่อนๆ ก็คุยเรื่องอื่นๆ เช่นเรื่องอะไรบ้าง
ก็จะมีเรื่องความหลัง คุยกัน ก็จะเข้าใจกันในโลกทัศน์บางเรื่อง เพราะเพื่อนพวกนี้ทั้งหมด ก็เป็นเพื่อนที่เรียนหนังสือมาด้วยกัน

• ดูพวกรายการทีวีบ้างหรือเปล่า
ดูน้อย เพราะในความรู้สึกของเรา คิดว่ามันไม่ค่อยมีอะไรให้ดู ไม่ค่อยสนุกกับการดูทีวีเท่าไหร่ แต่เมื่อเด็กๆ ก็ดูปกตินะ ดูไอ้มดแดง อุลตร้าแมนก็ดู หรืออย่างเดี๋ยวนี้ ชิงร้อยชิงล้านเปิดมาเจอ ก็ดูนะ อย่างเดอะ วอยซ์ เปิดเจอก็ดู ไม่ได้ซีเรียสอะไร

• นึกว่าจะดูแต่พวกรายการอย่างเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิกหรือส่องโลกธรรมชาติอะไรแบบนั้น
ไม่มี ไม่มีให้ดู ผมไม่ค่อยมีเคเบิลทีวีให้ดู ผมมีทีวีเครื่องแรกก็อายุสักสามสิบได้ คือถ้าแม่ไม่ซื้อให้ เราก็คงไม่ซื้อมั้งทีวีน่ะ เมื่อก่อนอยู่หอพัก ไม่มีทีวี จนอายุจะสามสิบ คือมีเพื่อนคนหนึ่งมาอยู่ด้วยแล้วเขาเอาทีวีเก่ามาดูด้วยก็ถึงได้ดู จนกระทั่งแม่ซื้อให้ เพราะเห็นห้องเราไม่มีทีวี ซื้อมาให้จากอยุธยาเลย คือไม่ได้นึกว่าจะซื้อทีวีเลยอ่ะ

• ไม่เคยมีความคิดว่าอยากจะได้ของอะไรพวกนี้เลย?
ผมฟังเพลงนะ ผมอยากมีวิทยุเทป แต่ก็ไม่มี ผมมีม้วนเทป แต่ผมไม่มีวิทยุเทปหรือเครื่องเล่น กระทั่งพี่สาวเอามาให้

• เพลงที่ชอบที่ฟัง มีเพลงของใครบ้าง เห็นว่าคุณซึมซับอุดมการณ์บางอย่างมาจากวงคาราวาน
คือผมก็ไม่รู้ว่าคาราวานมีเพลงอะไรบ้างนะตอนโน้น เพราะผมโตมากับเพลงรอยัลสไปรท์ ผมชอบเพลง “เจงกิสข่าน” อะไรอย่างงี้ ในขณะเดียวกันก็มีแกรนด์เอ็กซ์ แต่ผมชอบรอยัลสไปรท์มากกว่า แต่ก็ไม่ถึงกับว่าชอบอะไรมาก นอกจากนั้นก็มี ดอน สอนระเบียบ เพราะดอน สอนระเบียบ เขาจะร้องเพลงแปลงมาจากจีน “กระบี่ไร้เทียมทาน” (หัวเราะ) มีเศรษฐา ศิระฉายา แต่ก็อย่างว่า ตอนที่ผมโตมา มันเป็นยุคที่นักศึกษากำลังเข้าป่า ยุคสิบสี่ตุลา เราก็ได้ยินเพลงคนกับควาย จากวัยรุ่นที่บ้านญาติเขาร้องกัน โตขึ้นมา เราจะเห็นอารมณ์ของจิ๊กโก๋หรือบุปผาชน เราโตมากับยุคเจ็ดศูนย์ (1970’s) บ๊อบ ไดแลน หรือว่า โจน บาเอซ (หัวเราะ) แต่เราไม่รู้จักอะไรมากหรอก เรารู้แค่ว่าเขาต้องนุ่งกางเกงขาบาน พี่สาวผมเขาก็โตมากับยุคนั้น ไม่ได้เป็นสายอุดมการณ์ แต่เขาก็จะร้องเพลงดอนน่า ดอนน่า ของโจน บาเอซ คือเราจะอยู่ในยุคของอารมณ์ยุคเจ็ดศูนย์

• พูดถึงคาราวาน ประทับจิตประทับใจอะไรในวงนี้
เราไม่รู้นะตอนนั้นว่ามันคืออะไร อะไรวะคาราวาน เรามารู้จักเพลงเพื่อชีวิตจริงๆ ตอนไปค่ายลูกเสือแล้วตอนนั้นมีอาจารย์คนหนึ่ง แก่ๆ หัวล้าน ขี้เมา แล้วเพื่อนที่ไปค่ายด้วยกัน มันก็พร้อมใจกันร้องเพลงลุงขี้เมาล้อเลียนอาจารย์ท่านนี้ แต่เราฟังแล้วก็รู้สึกว่า เอ๊ย ทำไมมันเพราะอ่ะ มันโหยหวน มันกินใจ ทำไมก็ไม่รู้ แต่เราก็เหมือนค้นพบว่า เอ้อ เราชอบเพลงสไตล์นี้แหละ แล้วพอกลับมาบ้าน เราเห็นเขาโฆษณาเพลงชุดสิบสองปีคาราวานแล้วมีเพลง “คืนรัง” เฮ้ย เราอยากฟัง เรารู้สึกว่าเราชอบอะไรที่มันขรึมขลังอะไรอย่างนี้ เราก็เลยไปตาม คาราวานมันคืออะไร แล้วก็ เอ้ย เราชอบแบบนี้ว่ะ ตอนนั้นบอกตัวเองเลยว่า ต้องคาราวาน

แล้วช่วงนั้น ทีวีมันจะมีมิวสิกวิดีโอฉายตอนเย็นๆ เรากลับจากโรงเรียนก็ต้องรีบมาดู เพราะมันไม่มีอินเทอร์เน็ตหรือยูทูปเหมือนยุคนี้ ก็ต้องอาศัยดูจากทีวี เราก็เริ่มตามเพลงคาราวาน อยากไปซื้อเทปคาราวาน แต่ว่าเราไม่มีตังค์ เมื่อก่อนราคาเทปม้วนละประมาณห้าหกสิบบาท เราได้ตังค์ไปกินข้าววันละสิบห้าหรือยี่สิบบาท มันก็ซื้อไม่ได้อ่ะ เก็บเงินกว่าจะได้ครบซื้อเทปม้วนนึง โอ้โห มันเป็นเรื่องใหญ่มากเลยนะ จนในที่สุด พอเราเริ่มเข้ามหา’ลัย เราได้ตังค์เยอะขึ้น เราเข้า กทม. ก็เริ่มสะสมเทปคาราวานได้ หลังๆ มันก็มีตังค์แหละ ม.6 ได้เงินไปกินข้าวเยอะขึ้น ก็จะแบ่งไว้ สะสมไปซื้อเทปคาราวาน แต่จำได้ว่ามันไม่มีเครื่องเล่นนะ (หัวเราะ)

• ฟังคาราวานตอนนั้นแล้วรู้สึกนึกคิดยังไง
ฟังแล้วก็แบบว่า...กูจะปฏิวัติ (เน้นเสียง และหัวเราะ)

• ปัจจุบันเปลี่ยนแนวเพลงไปฟังแนวอื่นไหม
ไม่ๆๆ ไอ้เพลงพวกนี้มันฝังใจ...

• นอกจากความขรึมขลัง เราชอบอะไรในคาราวานอีก
มันฟังไม่รู้เรื่องดี (ยิ้ม) ดนตรีเมโลดี้เพราะ แต่ฟังไม่รู้ว่าคืออะไร อย่างเพลง “ใกล้ตาไกลตีน” ผมจำได้เลยว่า วันรับน้องปีหนึ่ง ผมเข้ามหาวิทยาลัยปีสามศูนย์ คือตอนนั้นพี่หงาดังน้อยกว่านี้อีกน่ะ (หงา-สุรชัย จันทิมาธร) พี่หงาเป็นศิลปินตกยุคแล้วออกมาจากป่า แล้วแกเป็นอัลเทอร์เนทีฟมาก ต้องเป็นสายทางเลือกหรือว่าฮาร์ดคอร์จัดๆ ถึงจะฟัง แต่เราฟังมาตั้งแต่มอหก ตอนนั้นพี่หงาก็ใกล้จะออกชุดสุดท้ายแล้วล่ะ แล้ววันนั้นที่เป็นวันรับน้อง มีคนเชิญพี่หงามาเล่นกีตาร์ร้องเพลง ก็มีคนตะโกนขอเพลง “ใกล้ตาไกลตีน” ซึ่งปรากฏว่าพี่หงาแกร้องไม่ได้ เพราะตอนนั้นถือว่าอยู่ในช่วงสิบห้าปีคาราวาน ใกล้จะแยกกันแล้ว แล้วเพลงเก่าๆ ก็ร้องไม่ได้แล้วล่ะ จำไม่ได้ ร้องไปถึงท่อนกลางแล้วจำไม่ได้ แต่ปรากฏว่าพวกพี่ๆ ที่เขาเป็นพี่ค่ายน่ะ เขาร้องขึ้นมาช่วยพี่หงาในหอประชุม แล้วพี่หงาก็ร้องต่อไปจนได้ อันนั้นเป็นความประทับใจเลยที่จำได้ชัดๆ เราก็ชอบเพลงนั้นมาแต่นั้น

แล้วจากนั้นก็มานั่งฟัง ฟังแล้วก็คิดว่า เอ๊ย มันอะไรวะนี่ เพลงมันหมายถึงอะไร มันไม่เข้าใจดีว่ะ ถ้าเราไม่เข้าใจแล้วฟังแล้วชอบ มันก็คงเท่ดี (หัวเราะ) เท่ไง เท่ตรงที่มันต้องตีความ ต้องมานั่งนึกว่าเนื้อเพลงมันหมายถึงอะไร ก็เพิ่งมารู้ตอนหลังว่า อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นสัญลักษณ์

• จากเรื่องเพลง ขยับไปเรื่องหนังสือ คุณชอบอ่านหนังสือแนวไหน
ผมโตมากับการอ่านหนังสือนิยายกำลังจีนภายในนะ อ่านตามพี่สาว อย่างช่วงปิดเทอม ประมาณ ป.หก ผมอ่านหมดร้านเช่าเลย ผมอ่านจนไม่มีอะไรจะอ่าน

• มีตัวละครในนิยายจีนกำลังภายในตัวไหนที่เราชอบเป็นพิเศษ
ผมชอบเล็กเซียวหงส์

• เล็กเซียวหงส์ นี่ชมชอบการผจญภัยและเรื่องราวท้าทาย?
โอ้โห แน่นอนครับ แล้วกวนตีนด้วย กวนตีน (หัวเราะ) แต่หลังๆ มา ชอบ “ไม่มีน้ำตาวีรบุรุษ” นี่ชอบมาก มังกรหยกอะไรก็อ่าน แต่เรื่องใหม่ๆ ที่เขาอ่านกันอย่าง “มังกรคู่สู้สิบทิศ” ผมก็ไม่ได้อ่านนะ หรือแปดเทพอสูรมังกรฟ้า ผมก็ดูหนัง ไม่ได้อ่านหนังสือ อย่างเรื่องของ “เต็งพ้ง” ผมก็ชอบ (เต็งพ้ง ตัวละครในนิยายเรื่อง “อินทรีผงาดฟ้า” ของโกวเล้ง) ก็อ่านในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐสมัยโน้น แล้วช่วงนั้นมันมีปฏิวัติน่ะ เขาไม่ค่อยมีข่าวอะไรลง ไทยรัฐก็เอาเรื่องของเต็งพ้งมาลง แล้วก็มีนิยายโป๊ๆ หน่อย ของก้องหล้า สุรไกร ผมก็ชอบ อ่านแต่เด็กเลย บู๊ๆ โป๊ๆ อย่างก้องหล้านี่เขาเรียกว่าบู๊สะบัด บู๊แหลก โป๊สะบัดด้วย (ยิ้ม) แล้วพ่อแม่เขาก็จะไม่รู้ไง เพราะเขาคิดว่าเราอ่านหนังสือพิมพ์ แต่ความจริงคือ... (หัวเราะ)

• พูดถึงนิยายจีน หลงรักอะไรในวรรรกรรมแขนงนี้
บู๊เฮี้ยบ มันเป็นเรื่องของคุณธรรม เรื่องของความเป็นแมน เกิดมาเป็นผู้ชาย...พูดแบบนี้จะมีประเด็นเจ็นเดอร์ (Gender : เพศสภาพ) มั้ย (หัวเราะ) ...คือมันจะพูดถึงว่า เกิดมาเป็นผู้ชาย มันควรจะทำอะไร เรื่องที่พึงกระทำก็ต้องกระทำ อะไรแบบนี้

• เล็กเซียวหงส์นี่ กระทำเรื่องที่พึงกระทำอย่างไร
คือเขาเป็นนักสืบสวน คลี่คลายเรื่องซับซ้อนในวงพวกนักเลง มันคือความเจ้าเล่ห์เพทุบายแสนกล เรื่องที่มันเกี่ยวกับวิญญูชนจอมปลอมอะไรแบบนั้น แล้วคนพวกนั้นจะเป็นเพื่อนของเล็กเซี่ยวหงส์หมด สุดท้ายก็ฉีกหน้ากาก ด้วยความเป็นมิตรนะ (หัวเราะ) จริงๆ ก็ชอบชอลิ้วเฮียงนะ มันเท่ แต่เราก็ชอบสไตล์เล็กเซี่ยวหงส์มากกว่า

• นิยายจีนกำลังภายใน มันคล้ายๆ โลกของอุดมคติ?
ใช่ๆๆ มันเหมือนแบบนั้น โลกของอุดมคติ แต่ว่ามันเป็นยุทธศาสตร์นะ หลายๆ เรื่องมันเป็นเชิงยุทธศาสตร์ อย่างเรื่อง “ไม่มีน้ำตาวีรบุรุษ” มันก็เป็นเรื่องของคุณธรรมน้ำมิตรระหว่างผู้ชาย สหาย และเรื่องที่พึงกระทำ แต่ขณะเดียวกัน มันเป็นประเด็นยุทธศาสตร์การรบพุ่งระหว่างสองค่าย แล้วก็มีตัวแปรตัวหนึ่ง คือภาวะผันแปรจากอารมณ์ความรู้สึกของคนหนุ่มที่ก็คิดแบบคนหนุ่ม

• จากนิยายจีนกำลังภายใน มีแนวไหนอีกไหมที่ชอบ
ถ้าเป็นนิตยสาร ผมก็จะอ่านตั้งแต่ “ชาวกรุง” มาจนถึง “ฟ้าเมืองไทย” เพราะที่บ้านผมอ่าน แต่พอโตๆ หน่อย เราก็อยากอ่านหนังสือปรัชญา อย่างเช่น “มนุษย์ที่แท้” (จวงจื่อ) นั่นก็อ่านตั้งแต่อยู่ ป.6 แล้วมั้ง คือเราจะอ่านอะไรก็ตามที่อ่านไม่รู้เรื่องเยอะหน่อย ผมอ่านคาลิล ยิบราน แต่ที่ตามอ่านจริงๆ ก็คือ งานเขียนของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ทุกเล่มเลย ก็ค่อนข้างซีเรียส อย่างงานของอาจารย์เสกสรรค์ก็จะทำให้เรา...โดยเฉพาะเล่ม “เพลงเอกภพ” มันทำให้เรารู้สึกว่าเข้ามาอยู่ในโลกนี้แล้วก็ไปเสพอารมณ์หม่นเศร้าของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล มาเยอะ ไม่ใช่แต่งตัวเลียนแบบนะ นี่มันค่อยๆ มาเอง แต่เคยมีคนบอกว่าผีเสกสรรค์เข้าสิงอยู่ช่วงหนึ่ง อะไรแบบนี้ แต่พอหลังๆ ช่วงสิบกว่าปีมานี่ ผมอ่านหนังสือน้อยนะ ผมไม่มีเวลา

• งานของ คาลิล ยิบราน เป็นยังไงในความคิดของคุณ
คือผมเริ่มอ่าน “ทรายกับฟองคลื่น” ตั้งแต่เรียนปีหนึ่งปีสองแล้วนะ แต่อ่านไม่รู้เรื่องเลย อ่านไปงงไป แต่บังเอิญว่ามีคนที่เขาชอบปรัชญา เรียนปริญญาโทอยู่ เขาเป็นคนอ่านพวกหนังสือแปล เราก็ได้คุยกับเขา ทำให้เข้าใจมากขึ้น

• ดูเหมือนจะชอบสิ่งที่ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่องเยอะนะครับ
อืมมม...มันจะรู้แบบเจ็ดสิบแปดสิบเปอร์เซ็นต์ไง (ยิ้ม) เมื่อก่อนนี่หลงใหลมากเลยนะ มีอยู่ครั้งหนึ่ง...“พี่ตั้ว ศรัณยู” แกไปแสดงที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมสานแสงอรุณ เชื่อมั้ยว่าแกจำปรัชญาชีวิตได้ทั้งเล่มน่ะ แกไม่ต้องอ่านบท แต่พูดได้ทั้งเล่มเลย ซึ่งตอนนั้นเราก็กำลังอ่านเล่มนั้นอยู่พอดี

• “ปรัชญาชีวิต” ของคาลิล ยิบราน นี่พูดเรื่องอะไรครับ
ก็เป็นเรื่องของวิธีคิด อย่างเช่น ความรักคืออะไร หรือแบบ...ท่านจงกินขนมปังด้วยกัน แต่อย่ากินก้อนเดียวกัน จงอยู่แบบสายพิณ คืออยู่คนละสาย แต่เป็นทำนองสอดประสานกัน ไม่จำเป็นต้องรวมเป็นอันเดียว อย่างคุณจะมีความรัก คุณก็อยู่อย่างเสาที่ค้ำโบสถ์วิหารไว้ แต่ไม่ใช่เป็นเสาเดียวกัน...อะไรอย่างนี้ มันเป็นเรื่องของวิธีคิด หรือแม้แต่การพูดถึงลูก คาริลก็จะบอกว่า “เขามาทางเธอ แต่ไม่ได้มาจากเธอ” คือมันไม่ใช่ของเราอ่ะ มันก็เหมือนกับปรัชญาตะวันออกนั่นแหละ

• แล้วไปเริ่มอ่านเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ตอนไหน
อาจารย์เสกก็มีการพลัดพรากกันไปช่วงหนึ่งนะ เพราะเรารู้สึกว่าแกฮาร์ดคอร์เกินไป คือผมเป็นเด็กเนิร์ดน่ะ ไม่ได้เป็นเฮฟวี่ ผมเรียนวิทยาศาสตร์ เนิร์ดๆ หน่อย แต่ว่าก็ไม่ได้เนิร์ดมาก เพราะว่าไม่มีตังค์แต่งตัว สมัยผมมันก็ต้องแต่งแบบโดมอนกับแปคซิโน ซึ่งมันแพงมาก แล้ววันหนึ่งเราก็พบว่ามันมีอีกแนวหนึ่ง คือแนวพี่หงา คาราวาน ซึ่งมันไม่ต้องแพงน่ะ ขาดๆ หน่อย อย่างผมก็นุ่งกางเกงขาก๊วย เสื้อยืด สะพายย่ามได้ แต่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์นะ เป็นรุ่นถัดมา เรียกว่ารุ่นขาก๊วยเบ่งบาน ดังนั้น เราเป็นเด็กเนิร์ดแล้วเรารู้สึกว่าเสกสรรค์เขาไกลไปในตอนนั้น อีกอย่างเราไม่ชอบตกปลา ซึ่งอาจารย์เสกเขาชอบมาก แต่พอเราไปอ่าน “มหาวิทยาลัยชีวิต” มันก็เกิดการหลงใหลในตัวหนังสือ ในการใช้คำของเขา เราก็เลยตามอ่าน ซึ่งตอนนั้นก็มี “เดินป่าเสาะหาชีวิตจริง” “ดอกไผ่” และ “เร่ร่อนหาปลา” “เพลงน้ำระบำคลื่น”

• พูดกันอย่างถึงที่สุด คุณชอบงานช่วงไหนของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล มากที่สุด
ชอบ “เพลงเอกภพ” ช่วงที่แกพีกสุดๆ ของการเดินทาง ก่อนจะเปลี่ยนมาสนใจเรื่องศาสนาปรัชญา เพราะว่าผมเดินทางไง ผมเรียนธรณีวิทยา ผมก็มีโอกาสเดินทางเยอะ ตอนผมเรียนหนังสือ ผมเดินทางเยอะมาก

• เดินทางเพื่ออะไรในตอนนั้น
เพื่อเรียนหนังสือ คือเรียนธรณีวิทยา พอขึ้นปีสอง ผมก็จะได้ออกภาคสนาม รอนแรมไปกับเพื่อนในคลาส เพื่อนเรียนด้วยกันก็มีแค่เก้าคนเอง นั่งรถตู้ไปคันเดียว เป็นชีวิตที่มันรู้สึกว่ามีความสุขมากอ่ะ มีอาจารย์ไปด้วยคนหนึ่งกับคนขับรถ ก็ไปดูหินดูธรรมชาติ แต่มันเป็นวิชาการนะ แล้วพอปิดเทอมใหญ่ ผมก็ต้องไปออกฟีลด์ประมาณเดือนนึง เดือนหนึ่งก็คือเดินป่ากันสองคน เดินสำรวจหิน ถูกปล่อยเข้าไปในป่า แล้วก็เดินกับบัดดี้สองคน ชีวิตมันอิสระมากเลยน่ะ คุณต้องกำหนดเส้นทางชีวิตของตนเอง ตอนเช้าอาจารย์เขาจะปล่อยคุณไว้ตรงที่คุณกำหนด แล้วตอนเย็นก็ต้องนัดหมายเวลาว่าจะไปเจอตรงจุดไหน เพราะอาจารย์จะใช้รถคันเดียวตระเวนรับ แต่ถ้าพลาด คุณก็ต้องหาทางกลับเอาเอง เพราะอาจารย์จะไม่สามารถมาหาคุณเจอได้ เนื่องจากตอนนั้นไม่มีมือถือ ชีวิตมันก็เหมือนการผจญภัย ทำอย่างนี้สองสามปี กระทั่งปีสี่ ผมก็ทำโปรเจกต์ ไปสำรวจหินอะไรของผมคนเดียว ผมจะมีประสบการณ์ของการอยู่คนเดียวเยอะ

• ชอบไปไหนมาไหนคนเดียว?
ชอบๆๆ อย่างเมื่อก่อนไปดูฟุตบอล ก็ไปนั่งดูคนเดียวในร้านส้มตำ แต่ว่ามันจะมีคนเยอะ เราก็ไปดูคนด้วย แต่ตอนหลังมีแฟน ก็ไปกับแฟนเยอะหน่อย แต่ว่าการไปไหนมาไหนคนเดียว มันก็ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้วนะ สมัยเรียนหนังสือ ออกภาคสนาม ก็เดินทางคนเดียวบ่อยๆ รับงานสำรวจ หาเงินใช้ มันก็เป็นโอกาสในการผจญภัยคนเดียว ตั้งแต่เรียนจบ อาจารย์เขาหางานมาให้ ให้ไปเชียงราย ให้ไปสำรวจ แล้วก็มีเรากับโลกนี้เท่านั้น อะไรเงี้ย หรือว่าตอนออกภาคสนามที่เขาสามร้อยยอด อายุ 21-22 เดินอยู่สามร้อยยอดคนเดียวในวันธรรมดาที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเลย ไปคนเดียว เดินอยู่ในทะเล น้ำท่วม ความจริงก็ไม่ต้องลำบากขนาดนั้นก็ได้นะ แต่เราทำตัวให้ลำบากเองอยู่บ่อยๆ

• คิดว่าชีวิตตัวเองลำบากไหมที่ผ่านมา
โอ๊ยย..อิสระดี เราก็ผ่านมันมาด้วยการนั่งกินเหล้าคนเดียวอะไรอย่างงี้ มีเหล้าแบนนึงก็กินไปให้มันหลับ ไม่มีทีวี อย่าลืมว่าผมไม่มีทีวี (หัวเราะ)

• การอยู่คนเดียว ชอบไปไหนมาไหนคนเดียว มันให้อะไรแก่ชีวิตเราบ้าง
ไม่รู้เหมือนกัน แต่จริงๆ ผมเป็นเด็กเนิร์ด ผมเคยกลัวโน่นกลัวนี่ การที่เราชอบเดินทางไปไหนมาไหนคนเดียว มันก็อาจจะเป็นการที่เราอยากจะบอกกับตัวเองว่าเราทำได้ เรากล้าหาญ เราไม่ได้ไปบอกคนอื่นหรอก แต่เราก็ทำตัวให้อยู่ได้ในภาวะที่อยู่คนเดียว เมื่อก่อน ผมจะอยู่ที่ตึกเก่าๆ ที่จุฬาฯ นั่นเป็นชีวิตผมเลยนะ ตึกธรณีวิทยามันไม่มีใครอยู่ ผมก็จะหาเรื่องค้างที่นั่น จริงๆ เขาไม่ให้ค้าง แต่ผมอาศัยอ้างอาจารย์ที่ปรึกษาว่ายังทำแล็บค้างอยู่ แล้วผมก็จะค้างอยู่นั่นในตึก 4 ชั้น ฝนตกๆ เราจะอยู่แบบนั้นบ่อยๆ แต่ก็กลัวเหมือนกันนะ ไม่ใช่ไม่กลัว กลัวทั้งผีกลัวทั้งนั่นทั้งนี่ กลัวสารพัดสารเพ

• ทำไมเลือกเรียนธรณีวิทยาครับ หรือว่าบังเอิญสอบติด
ไม่ใช่ (หัวเราะ) คือผมไม่รู้จะเรียนอะไร อยากเรียนวิทยาศาสตร์ แต่เพราะเป็นเด็กบ้านนอกก็รู้แค่ว่าเป็นวิทยาศาสตร์ แผนกวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ได้รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ไอ้แผนกดีๆ เขาก็ต้องมีเกรดดีๆ เขาใช้เกรดแข่งกัน เราก็เลยคิดว่า ธรณีฯ มันไม่มีคนเรียน รุ่นก่อนผมมีสองคนเอง ก่อนนั้นมีสามคน เราก็คิดว่ารุ่นกูต้องมีกูคนเดียวแน่ๆ ดังนั้น อาจารย์ต้องไม่รีไทร์กูแน่ๆ (หัวเราะ) แต่ปรากฏว่ารุ่นผมเป็นรุ่นที่มีคนเรียนเยอะสุด คือเก้าคน และที่สำคัญ ผมชอบด้านนี้อยู่แล้วด้วย เพราะก่อนนี้ผมอยากเรียนโบราณคดี ผมสนใจเรื่องลึกลับ ผมอยากเรียนเรื่องอียิปต์แบบเป็นผู้ค้นพบทวีปแอตแลนติส แล้วผมก็บ้าหนังสือ “ต่วย’ตูน พิเศษ” ชอบเรื่องลึกลับ ชอบเรื่องโบราณคดีมากกว่า แต่มันไม่มีโอกาสไปสอบ เพราะมาติดโควตาวิทยาศาสตร์ แต่เราก็ชอบวิทยาศาสตร์นะ ก็เลยเอาๆๆ

จริงๆ ผมชอบวิทยาศาสตร์ทางทะเลนะ เหมือนอาจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เพียงแต่ผมไม่ชอบเรื่องฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ผมเป็นคนใจอ่อน เพราะเรียนพวกนั้นมันต้องจับปลาจับอะไรมาดอง ผมชอบสิ่งแวดล้อม แต่ผมไม่อยากทำอะไรแบบนั้น อย่างเรียนชีวะอะไรนั้น มันก็ต้องเอาหนูมาหักคอ ในชีวิตผมเคยฆ่ากบแค่ตัวเดียวเพื่อเรียนรู้กบ ผมก็เลยไม่ชอบ

• ก็เลยเรียนเรื่องหินดีกว่า?
(ยิ้ม) ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาเรียนเพื่อไปทำเหมืองแร่ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรียนธรณีวิทยา เขาเรียนไปทำไม เราแค่นึกภาพว่าใส่เสื้อที่มีสองกระเป๋าแบบอินเดียน่า โจนส์...แล้วโดยไม่รู้ตัว คุณสืบ นาคะเสถียร ก็แต่งตัวแบบนั้น เสื้อเชิ้ตสองกระเป๋า ผมจะชอบแบบนี้ อินเดียน่า โจนส์ นั่นแหละ เป็นนักโบราณคดี

• นอกจากเดินป่า ดูธรรมชาติ คุณเดินห้างหรือศูนย์การค้าบ้างหรือเปล่า
เดิ๊นนน...ผมชอบเดินด้วยซ้ำ แต่เดินแบบพวกบิ๊กซี โลตัสอ่ะ พอมันมีบิ๊กซี โลตัส มันเป็นอะไรที่ชอบเลยล่ะ เพราะเมื่อก่อน มันเดินไม่ได้ รุ่นผมเขาจะเดินเซ็นทรัล ชิดลม วังบูรพา แล้วมันบ้าอะไรไม่รู้ (เน้นเสียง) ของมันแพงขนาดนั้น คืองงกับราคามันมากอ่ะ ผมเป็นคนอยุธยาน่ะ ได้เงินวันละยี่สิบบาท ตอนนั้นเซ็นทรัล ลาดพร้าว เปิดใหม่ๆ ผมก็ไปเรียนพิเศษ แล้วเวลาไปเรียนพิเศษ ผมก็จะมีเงินประมาณห้าสิบบาท ตอนมอสาม นั่งรถตู้มาจากอยุธยาก็สิบแปดบาท นั่งรถเมล์อีกหกสลึง กินก๋วยเตี๋ยวอีกชามนึง ก็หมดพอดี แต่เราก็จะแวะเดินห้างนิดหน่อยก่อนไปขึ้นรถที่หมอชิต ถ้ามีตังค์เหลือสองบาทจะไปหยอดตู้เกมที่เมอร์รี่คิงส์ (หัวเราะ)

คือของห้างมันแพง เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เราหรอก แต่ก็ชอบไปเดิน เรามันเด็กบ้านนอก ก็ไปเดินเล่น แอร์เย็นดี (ยิ้ม) เปิดหูเปิดตา แต่เราก็ไม่เคยซื้อของห้างเลย เพราะมันซื้อไม่ได้ ยกเว้นยางลบ ดินสอ หรือบางทีอาจจะมีเสื้อยืดที่เขาเซล อย่างเข้าเรียนปีหนึ่ง มันจะมีห้างโรบินสันอยู่ใกล้ๆ ผมยังจำได้เลย ไปเดินเจอเสื้อเชิ้ตตัวละร้อยบาท ดีใจมาก ซื้อใส่เลย ใส่เป็นสิบปี แต่พอมีบิ๊กซี โลตัส ราคามันไม่ค่อยแพงเท่าไหร่ มีให้เลือกเยอะ เราก็ซื้อได้

• ทุกวันนี้ยังเดินห้างอยู่ไหม
น้อยละ หลังๆ ไม่รู้จะเดินไปซื้ออะไร และเราก็เริ่มรู้สึกอยากได้อะไรน้อยลงทุกทีมาหลายปีแล้วล่ะ เพราะมีหมดแล้ว แก่แล้ว

• ไปเดินห้าง ดูหนังบ้างหรือเปล่าครับ
ดูๆๆ (เน้นเสียง)

• มีหนังแนวไหนบ้างที่ชอบดู
ดูหมดทุกแนว แล้วเมื่อก่อนโน้น ผมดูที่โรงแม็คเคนน่าและเอเธนส์ แล้วราคาตั๋วมันแค่ยี่สิบบาท เป็นความบันเทิงที่พอซื้อได้ ตอนเรียนจุฬาฯ ก็มีแฟน ตอนอยู่ปีสามปีสี่ ก็ชวนกันไปดูหนังอ่ะ มีแฟนก็ต้องไปดูหนัง พาไปดูก็ต้องเลี้ยงเขาด้วย ยี่สิบบาท (ยิ้ม) คือก็ดูทั้งหนังดังและหนังนอกกระแส นอกกระแสก็ต้องดูที่สยาม หนังแปลกๆ จะมา แต่ก็ตอนเรียนปริญญาโทแล้วล่ะที่เริ่มดูหนังอินดี้

• มีหนังเรื่องไหนที่ชอบมากๆ ถึงขนาดว่าเป็นหนังในดวงใจ
โลคัล ฮีโร่ (Local Hero) ผมดูตั้งสามรอบ ชอบมาก เอ้อ หนังบ้าอะไรไม่รู้ กินใจชิบหาย ดูก็ไม่ค่อยรู้เรื่องหรอกนะว่าจริงๆ มันหมายถึงอะไร (ยิ้ม) แต่ชอบมาก ตาเฒ่าคนหนึ่ง มีคนมาขอซื้อชายหาดแกไง แกก็เอากระป๋องใส่ทรายมาแล้วก็บอกว่า แกขายในราคาเท่าเม็ดทรายในกระป๋องนี่แหละ ถ้าคุณนับเม็ดทรายได้ แกถึงจะขาย ซึ่งปรากฏว่าไม่มีใครกล้านับ และจริงๆ แกบอกว่ามันไม่กี่เม็ดหรอก นับเป็นเงินก็ไม่กี่บาท (หัวเราะ)

• เพราะอะไรถึงชอบโลคัล ฮีโร่
โอ๊ย...มันเหมือนกรณีพวกนี้เลยล่ะ มาบตาพุด หรือบ่อนอกบ้านกรูด เหมือนเป๊ะเลยล่ะ คือถอดชุมชนออกไปทั้งชุมชน เอาอุตสาหกรรมเติมเข้ามา แต่ว่ามันหยุดได้ อย่างในหนัง ตาลุงคนนี้แกมีบ้านและหาดทรายของแก แกไม่ขาย คนอื่นๆ ทั้งหมู่บ้านดีใจกันนะ คือจะรวยกันละ แต่ลุงคนนี้ไม่ยอมขาย ก็จบเลย

• หนังเรื่องล่าสุดที่ดูคือเรื่องอะไร
ล่าสุดเหรอ เนี่ยยยย...โคตรมันเลย อีควอไลเซอร์ (Equalizer) ดูในโรงหนังด้วย ดูจบแล้วเดินออกมา “โอ้โห มันส์เชี่ย” ก็เป็นเรื่องที่ผู้ชายพึงกระทำอีกนั่นแหละ แต่ก่อนหน้านี้ ผมกำลังอินกับซิน ซิตี้ ภาคสอง ผมอินมาก มันมันส์มาก อย่างภาคแรกผมถือว่าเป็นหนังในดวงใจผมเรื่องหนึ่งเลยนะ โอ้โห ทำได้ไง มันส์มาก ภาคสองออกมา ผมก็ไม่ผิดหวัง โอ้โห สุดยอด

• ชอบอะไรในซิน ซิตี้
มันก็เป็นเรื่องด้านมืดของมนุษย์นั่นแหละ แต่ในด้านมืดนั้น คุณในฐานะที่มีความเป็นมนุษย์ คุณเลือกจะทำอะไร เลือกได้ เป็นโอกาสที่คุณจะเลือกแล้วอ่ะ

• ดูหนังรักๆ โรแมนติกหรือเปล่า
ตอนนี้ผมกำลังรอดู “บีฟอร์ มิดไนต์” อยู่ มันเริ่มมาตั้งแต่ “บีฟอร์ ซันไรส์” สมัยที่ผมเรียนอยู่ปีสี่มั้ง แล้วพอผ่านอีกเก้าปี มันมี “บีฟอร์ ซันเซต” ตอนนี้ก็รอแผ่น บีฟอร์ มิดไนต์ อยู่

• คิดยังไงกับเหตุการณ์ในหนัง แบบว่าพบกันบนรถไฟ แล้วก็เกิดเป็นรักไม่ลืมเลือน
อืมม..มันก็เป็นเรื่องที่แบบว่าบางที คนรุ่นผมถึงจะเข้าใจ เพราะเด็กรุ่นนี้อาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ขอเบอร์มือถือ เมื่อก่อนมันไม่มีไง ไม่มีเรื่องโทรศัพท์เรื่องอะไร มันต้องนัดหมายกัน เพราะมันเชื่อว่า ถ้ามันเป็นคู่แท้ มันก็ต้องเจอกันอีก ก็ใช้วิธีนัดว่า ปีหน้าวันนี้มาเจอกันที่นี่

• ฟังดูโรแมนติก
โอ้ แจ๋ว มันเป็นหนังพูด พูดกันทั้งเรื่อง เป็นการปะทะกันระหว่างสองวิธีคิดแบบผู้ชายเป็นอเมริกันแล้วผู้หญิงเป็นยุโรป ซึ่งหนังก็ใช้วิธีคิดของสองภูมิภาคนี้มาปะทะกัน อย่างผู้หญิงเขาก็เชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิด ที่อเมริกันเขาไม่เชื่อ เป็นการแสวงหาในเรื่องที่เป็นเรื่องภายใน

• แล้วอย่างพวกหนังฮีโร่ล่ะครับ ดูหรือเปล่า
ซิน ซิตี้ ก็ฮีโร่นะ นอกจากซิน ซิตี้ ก็จะมีอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่อง “วอทช์เม็น” ฮีโร่หน้ากากโต้งๆ เลยล่ะ มันเกือบๆ จะเป็นแอนตี้ฮีโร่มั้ย ก็ไม่เชิงนะ ดาร์กมาก วอทช์เม็นนี่ดาร์กกว่าซิน ซิตี้ เยอะ

• ดิ อเวนเจอร์ ดูไหม
ไม่ได้ดูอ่ะ แต่อย่าง “ดาย ฮาร์ด” ผมดูทุกภาคนะ หนังดังๆ อะไรที่คนเขาดูกัน อย่างแฮร์รี่ พอตเตอร์ ผมก็ดู ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ ก็ดูครบ ฮอบบิทอีกเรื่องนี่กำลังรอคอยเลย

• หนังฮีโร่ก็ชอบดู แล้วคิดอย่างไรกับการที่หลายคนมองว่าคุณก็คือฮีโร่คนหนึ่ง
อู๊ยยย...ผมว่ามันไม่ค่อยเวิร์กเท่าไหร่อ่ะ ผมแค่ทำงาน ผมไม่ได้ออกไปต่อสู้ทางการเมืองเหมือนกับใครหลายๆ คน ผมว่ามันไม่ใช่น่ะ แล้วงานที่เราทำตอนนี้ มันใช้คำว่าฮีโร่ไม่ได้หรอก ผมคิดนะว่าความลำบากแบบนี้มันไม่ใช่อารมณ์อุดมคติเหมือนคนทำงานแรงงานเด็ก คนทำงานโรคเอดส์ คนทำงานแรงงานข้ามชาติ พวกนั้นสิถึงจะเจ๋ง (เน้นเสียง) ซึ่งผมทำไม่ได้ เรื่องเด็กเร่ร่อนหรืองานเชิงสร้างบ้านแปงเมือง ให้ผมไปทำ ผมก็ทำไม่ได้ แต่มีคนไปทำ ผมก็นับถือพวกเขามาก แล้วทุกวันนี้ ผมก็ทำในสิ่งที่เกือบจะอยู่ฟากตรงข้ามกับประชาชนด้วยซ้ำไป

• ตรงข้ามอย่างไร
คือยุคแห่งการทำงานอนุรักษ์ก่อนยุคสามศูนย์ (ปี พ.ศ. 2530) เศรษฐกิจมันดี คนก็จะนึกถึงสิ่งแวดล้อม ก็จะมีประเด็นห้ามเบียดเบียนสิ่งแวดล้อม มันเป็นเชิงปรัชญา เชิงสปิริตของยุคสมัย แต่พอถึงปีสี่ศูนย์ วงการอนุรักษ์ก็แตก เราก็อยู่ฝ่ายหนึ่งซึ่งไม่ใช่พวกราชการ แล้วปีสี่ศูนย์ เศรษฐกิจมันตก มันก็กลับไปสู่ยุคที่แบบว่าไม่ใช่ยุคสีเขียวแล้ว มันมีกรณีของบ่อนอกบ้านกรูดที่เป็นเรื่องของสิทธิชุมชนกับทุน ไม่ใช่เรื่องสิ่งแวดล้อมสีเขียวแล้ว ส่วนมูลนิธิสืบฯ ก็เป็นองค์กรหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนของยุคปฏิวัติเขียวที่มันยังมีอยู่ แล้วช่วงที่ผมเข้ามาเมื่อราวๆ สิบปีก่อน ก็ถือว่าเป็นยุคที่มูลนิธิสืบตกต่ำแล้วอ่ะ ไม่ใช่ของเล่นที่...น่าเล่น ผมก็ค่อยๆ เข้ามาเก็บของเหลือๆ รวบรวมกันทำ

• มันน่าเศร้าไหมแบบนี้
ไม่ๆๆ (ตอบเร็ว) ไม่เลย เพราะเราก็ต้องเข้าใจมันว่า มูลนิธิสืบฯ มันเกิดมาพร้อมๆ กับมูลนิธิเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่มีอยู่เยอะแยะ เพราะเรื่อง “สีเขียว” มันเป็นกระแสโลก มีการประชุมสิ่งแวดล้อมโลกที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล มันมีกรีนพีซ โลกทั้งโลกตื่นตัวเรื่องสีเขียว ในอังกฤษแม่น้ำเทมส์ก็เน่า แต่ปรากฏว่าเขาก็สามารถฟื้นขึ้นมาได้ อะไรอย่างนี้ เพราะโลกมันเป็นกระแสแบบนั้น

คือจริงๆ คนที่จะมาคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม มันต้องหลุดพ้นไปจากปัญหาเรื่องปากท้องไปแล้ว ซึ่งยุคสามศูนย์ ประเทศเรามีฟองสบู่ แล้วสี่ศูนย์ ฟองสบู่ก็แตก แล้วมีเรื่องไอเอ็มเอฟเข้ามาพอดี ผมคิดว่าเรื่องทุนมันเข้ามากระทบกับชุมชน มันก็เกิดกรณีบ่อนอกบ้านกรูด ท่อก๊าซ เกิดนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมันก็ทำให้ประเทศไทยฟื้นฟูขึ้นมาล่ะ แต่มันก็เริ่มมีผลกระทบกับชุมชนเยอะ พอปีสองห้าสี่แปดมาจนถึงปีนี้ เราก็ไม่เคยพูดเรื่องอื่นเลย นอกจากเรื่องการเมือง เด็กที่เกิดในยุคนี้ก็จะไม่มีอุดมคติแบบอื่นเลย หรือไม่มีเลย

• ยังมีอะไรที่อยากทำอีกไหมนับจากนี้
คือต้องบอกว่า ผมมาทำงานที่มูลนิธิสืบฯ ครบสิบสองปีปีหน้า ที่ผมมาช่วยบริหาร เมื่อก่อนนั้น มันก็เป็นมูลนิธิที่ไม่อะไรมากไง ผมก็มานั่งทบทวนและปรับให้มีระบบขึ้น เพราะเขาไม่เคยมีผู้บริหารเต็มเวลามาก่อน มูลนิธิก็แทบจะล่มแล้วล่ะในเชิงของการทำงานจริง ผมก็เข้ามาปรับ ก็ได้อะไรขึ้นมา ผลลัพธ์มันก็รักษาป่าได้จริงจากโครงการที่เราทำหลายโครงการ แต่ตอนนี้ มูลนิธิเริ่มมีชื่อเสียง เริ่มมีคนเอาไปใช้ เช่น การจัดทำที่ดิน ชื่อเสียงของมูลนิธิก็กลับมาตั้งแต่ที่ผมเดินเรื่องแม่วงก์

สิ่งที่ต้องทำต่อ ก็คือรักษามูลนิธิให้ยั่งยืน เพราะองค์กรอนุรักษ์ส่วนกลางของประเทศไทยเดี๋ยวนี้ก็ที่ทำงานจริงๆ แทบไม่มีเหลือ ดังนั้น ก่อนที่ผมจะแก่กว่านี้ต้องทำมูลนิธิมีฐานด้านรายได้ที่สามารถจะทำให้คนทำงานอยู่ได้จริงๆ ซึ่งมันยังไม่เคยมีองค์กรไหนทำได้ นอกจากป่อเต็กตึ๊ง นี่คือสิ่งที่อยากทำในตอนหลังๆ นี้ แล้วถึงวันนั้น ผมก็คงต้องเปลี่ยนบทไปทำอะไรสักอย่าง อีกสี่ปีข้างหน้าก็ห้าสิบแล้ว

• อะไรสักอย่างที่ว่าอยากจะทำ คืออะไรครับ
คงจะทำงานศิลปะ ผมก็วาดรูป เราก็อยู่กับสิ่งเหล่านี้มาตลอด และชีวิตเราก็คบหากับพวกศิลปินนะส่วนใหญ่ บางที ผมก็อยากเล่นดนตรีในแบบของผมบ้าง แต่เล่นไม่เป็นไง

• เครื่องดนตรีที่เล่นได้ คือ...
ก็เล่นกีตาร์ได้เจ็ดคอร์ดมาตั้งแต่อายุสิบแปด ได้เท่านั้นมาสามสิบกว่าปีแล้วอ่ะ (หัวเราะ) ไม่น่าจะพัฒนาได้มากกว่านี้หรอก แต่ก็อยากเล่นไปตามเรื่อง หรือแจมกับพวกนักดนตรีอาชีพได้ แล้วก็อยากทำงานศิลปะ ดำรงชีพด้วยการเขียนหนังสือ ได้ค่าเรื่องมากินข้าวกินเหล้า แบบเนี้ย อยากจะมีชีวิตจากรายได้แบบนั้น

• สมถะ?
ก็มันไม่เห็นมีอะไร แล้วบังเอิญผมไม่มีภาระอะไร หนึ่ง ไม่มีลูก สอง ที่บ้านไม่มีหนี้มีสิน พ่อแม่ไม่ต้องเลี้ยงดู พ่อตายแล้ว ส่วนแม่ก็อยู่ของเขาได้ ผมก็มีเมียคนเดียว ไม่มีหนี้ไม่มีสิน แล้วก็ไม่อยากได้อะไรแล้ว บ้านก็มี คือมันมีหมดแล้ว มีบ้านเล็กๆ รถก็ไม่ได้มีกิเลสอยากจะเปลี่ยนมัน ถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยนก็พอจะมีเงินเปลี่ยนน่ะ ถ้ามันจำเป็นต้องใช้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร

• ชอบวาดรูป มีสะสมงานศิลปะอะไรไหม
จริงๆ ผมเพิ่งโละๆๆ ไปหลายเรื่องเลย เมื่อก่อนก็เก็บโน่นสะสมนี่อะไรเยอะเหมือนกันนะ แต่ว่าเดี๋ยวนี้ก็แทบจะไม่มีอะไรเป็นของสะสมแล้วล่ะ มีหนังสือเยอะหน่อย ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้คิดว่าเป็นของสะสมอะไรหรอก ทิ้งวันนี้ก็ได้ ไม่มีอะไร (หัวเราะ) ขี้เกียจสะสมแล้ว

• ฟังๆ ดูเหมือนจะปล่อยวางไปแล้วนะครับ
คือก่อนหน้านี้สักปีสองปี ผมเคยคิดว่า โดยศักยภาพ โดยความสามารถที่มีอยู่ จริงๆ แล้วก็ไม่รังเกียจนะถ้าจะไปทำงานใหญ่สักชิ้น เพราะเราก็โตแล้ว ยกตัวอย่างเช่น การเป็น ส.ว. หรือกรรมการระดับชาติ เช่นกรรมการสิทธิมนุษยชน อย่างเมื่อก่อน ผมคิดว่าผมอาจจะเป็นกรรมการสิ่งแวดล้อมสักช่วงหนึ่ง เพราะว่าประสบการณ์ห้าหกปีที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ผมรู้สึกว่าผมสามารถใช้กลไกนั้นช่วยคนได้ ตรวจสอบเคสมาตั้งแต่สามสี่ร้อยเคส เขียนรายงานช่วยคนก็เยอะแยะ เรื่องทรัพยากรสิ่งแวดล้อม แต่พอมาดูช่วงหลังๆ ผมไม่อยากเข้าไปทำแล้ว

หรืออย่าง ส.ว. ผมว่าผมก็เป็นได้นะ แล้วสิ่งที่เรามีอยู่ ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้คนได้เหมือนกัน ศักยภาพวันนี้ก็เป็นได้ เพราะเรารู้ว่าจะต้องเข้าไปทำอะไร รู้กลไก รู้อะไรทั้งหมด ก็เลยคิดว่าถ้ามูลนิธิสืบมั่นคง ผมก็อาจจะไปทำงานในระดับนั้นสักสี่ห้าปี แล้วก็ค่อยไปวาดรูป แต่วันนี้ อารมณ์มันไม่ค่อยให้ อยากไปวาดรูปอย่างเดียวแล้ว

• มองว่าอะไรที่มันเปลี่ยนแปลงเราให้เป็นแบบนั้น
อายุมั้งครับ กับสภาพบ้านเมืองมันไม่มีความหวัง มันต้องมีองค์ประกอบหลายๆ อย่างไง มันต้องมีทีม มันต้องมีบรรยากาศให้เราทำได้ เดี๋ยวนี้มันไม่มีเวทีที่ผมสนใจ เวทีการเมืองผมไม่สนใจอยู่แล้ว ดังนั้น ผมทำมูลนิธิฯ ให้ดี แล้วผมก็คงถึงเวลาปลีกวิเวก เพราะผมไม่มีภาระ เงินทองก็ไม่ต้องมีเยอะ

• โลกยุคนี้มันน่าสิ้นหวังขนาดนั้นเลยหรือครับ
ก็มันไม่มีความหวังกับชีวิตในอุดมคติหรือในสังคม อุดมคติของนักอุดมคติคือการสร้างสังคมที่ดีกว่า ก็โถมตัวลงไปสร้าง แต่เดี๋ยวนี้มันไม่มีทาง โลกมันก็เป็นไปในทางที่ต่ำลง และก็ไม่ได้มีแรงบันดาลใจในเรื่องอุดมคติ มันเป็นเมืองที่แห้งแล้ง...แห้งแล้งความดี ความงาม ความจริง มันไม่อยู่ในภาวะที่เราจะต้องโถมตัวไปสู้กับอะไรอีกแล้ว ซึ่งก็เหมือนกับ “ดอนกิโฆเต้” ที่สุดท้ายก็หาศัตรูไม่เจอ มันไม่มีเวทีที่ใช่สำหรับคนอย่างดอนกิโฆเต้อีกต่อไปแล้ว อุดมคติในแบบของเรามันไม่มีเวทีอีกต่อไปแล้ว......
วรรณกรรมคลาสสิกระดับเพชรเม็ดงามอีกหนึ่งเรื่องของโลก สะท้อนความใฝ่ฝันและอุดมคติอันงดงาม
เรื่อง : กมลพร วรกุล, อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ

กำลังโหลดความคิดเห็น