‘หม่อมอุ๋ย’ ยืนยันไม่นำคลื่น 1800 MHz ของดีแทคที่ว่างอยู่มาประมูลรวมกัน เหตุต้องการนำคลื่นที่ว่าง และเจรจากันเรียบร้อยมาประมูลเท่านั้น ย้ำเจรจาคลื่น 2600 MHz ต่อกรมประชาสัมพันธ์ และ อสมท เรียบร้อยแล้ว หาก กสทช.ดำเนินการเรื่องชดเชยเรียบร้อยก็พร้อมประมูลได้
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยถึงผลการประชุมของคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ว่า ในส่วนของการประมูล 4G ที่มีประเด็นในการนำคลื่นความถี่ 1800 MHz ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ที่ว่างอยู่ 25 MHz มาให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประมูลพร้อมกันกับคลื่น 1800 MHz ที่หมดสัญญาสัมปทานไปแล้วที่ กสทช.กำหนดว่าจะประมูลในเดือน พ.ย.นั้น ที่ประชุมไม่เห็นด้วย เพราะต้องการให้การประมูลจัดสรรในคลื่นที่ว่างอยู่ และมีความชัดเจนซึ่งเรื่องนี้ต้องเป็นอำนาจของ กสทช.ที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย ส่วนความคืบหน้าเรื่องการเจรจาขอคลื่น 2600 MHz คืนจากกรมประชาสัมพันธ์ และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) นั้น ทั้ง 2 หน่วยงานยินยอมคืนคลื่นเพื่อนำมาประมูลแล้ว แต่จะสามารถประมูลได้เมื่อไหร่นั้นต้องอยู่ที่ กสทช.จะสามารถเจรจาเงื่อนไขในการชดเชยเสร็จเมื่อไหร่ จึงค่อยนำมาจัดประมูล
‘ที่ประชุมก็มีการเสนอให้นำคลื่นที่ดีแทคถือครองอยู่ และไม่ได้ใช้งานว่าควรนำมาประมูลพร้อมกัน แต่ผมต้องยืนยันว่า หากอะไรที่ยังมีปัญหา หรือเจรจากันไม่เรียบร้อยเราก็ต้องยึดประมูลในคลื่นที่ว่าง และพร้อมเท่านั้น ซึ่งอำนาจการจัดประมูลต้องขึ้นอยู่กับ กสทช.เพราะมีหน้าที่ตามกฎหมายชัดเจน’
ด้านแหล่งข่าวจากบอร์ดดีอี กล่าวว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า ดีแทค และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ตกลงจะนำคลื่นดังกล่าวแบ่งให้ 5MHz เพื่อมาประมูลรวมกันเท่านั้น แต่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ไม่เห็นด้วยในสิ่งที่ยังไม่ได้ข้อสรุปพร้อมบอกให้เป็นหน้าที่ของ กสทช.ในการดำเนินการประมูลกับคลื่นที่ว่างอยู่เท่านั้น
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาความคืบหน้าในเรื่องดาต้าเซ็นเตอร์แห่งชาติ ซึ่งขณะนี้ได้สำรวจสถานภาพศูนย์ข้อมูลภาครัฐจำนวน 300 หน่วยงาน มีหน่วยงานที่ตอบกลับแบบสำรวจแล้ว 83 หน่วยงาน มีจำนวนศูนย์ข้อมูลรวม 143 แห่ง ซึ่งมีอายุเกิน 7 ปี จำนวน 96 แห่ง หรือคิดเป็น 67% และต้องใช้งบประมาณในการบริหารจัดการสูงถึง 6,714 ล้านบาทต่อปี โดยขณะนี้มีเอกชนที่สนใจลงทุนในโครงการดังกล่าวแล้ว 6-7 บริษัท คาดว่าอีก 2เดือนจะได้ข้อสรุปว่าจะสร้างศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์กี่แห่ง
อีกทั้งยังมีเรื่องการติดตามการดำเนินงานของคณะทำงานการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ประกอบด้วย โครงการการเรียนการสอนทางไกลตามโรงเรียนชายขอบโดยจะทดลองโครงการกับโรงเรียน 10 แห่ง โครงการพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ โครงการสอนครูและนักเรียนผ่านอินเทอร์เน็ตโดยจะคัดครู 80 คน ที่เก่งวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ จัดการสอนผ่านอินเทอร์เน็ตให้ครู และนักเรียนได้เรียนพร้อมกัน โดยโครงการนี้ต้องเพิ่มโครงข่ายบรอดแบนด์ให้แก่โรงเรียนอีก 5,000 แห่ง จึงอนุมัติงบ 1,710 ล้านบาท โดยมอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้ เพิ่มเติมจากแต่เดิมที่มีโรงเรียนที่มีโครงข่ายบรอดแบนด์เข้าถึงแล้ว 10,000 แห่ง ทำให้โครงการนี้สามารถทำให้โรงเรียนทั้ง 15,000 แห่ง เข้าถึงการเรียนการสอนดังกล่าวได้