xs
xsm
sm
md
lg

เปิดทำเหมืองแร่โปแตช เย้ยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รายงานการเมือง

จากการยอวาทีในการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “บวรศักดิ์” และ คณะ มีการพูดถึง “สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ” ไว้อย่างสวยหรู ถึงขนาดทำเป็นจุลสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์วาดฝันไว้อย่างสวยงามว่า “สร้างพลเมืองเป็นใหญ่”

ในขณะที่กำลังมีการดำเนินนโยบายตรงกันข้ามกับสิ่งที่รัฐธรรมนูญเขียนอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง “การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรมและการคุ้มครองสิทธิชุมชน”

นับตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ เข้าบริหารประเทศนอกจากมีการออกประทานบัตร (ทำเหมืองแร่) โครงการเหมืองแร่โปแตชให้กับ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ที่มหาเศรษฐรอันดับหนึ่งของไทยถือหุ้นใหญ่เป็นรายที่สองรองจากกระทรวงการคลังภายใน 7 เดือน หลังการรอคอยมายาวนานเกือบ 30 ปีแล้ว

ยังมีการพิจารณาเพื่อออกประทานบัตร (ทำเหมืองแร่) อีก 2 โครงการ คือ โครงการเหมืองแร่โปแตชที่ อำเภอเมือง และอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26,446 ไร่ ในพื้นที่ ตำบลหนองไผ่ ตำบลหนองขอนกว้าง อำเภอเมือง ตำบลนาม่วง ตำบลห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี

โดยมีความพยายามที่จะดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2527 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้น ได้ลงนามในสัญญาให้สิทธิสำรวจแร่โปแตชแก่บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) และต่อมาได้ยื่นขอประทานบัตรในวันที่ 27 พ.ค. 2546 (ยุคทักษิณ) แต่ถูกคัดค้านจากราษฎรและเอ็นจีโอยืดเยื้อจนมีการร้องเรียนต่อเนื่องในหลายรัฐบาล

กระทั่งในรัฐบาลอภิสิทธิ์ ปี 2553 ได้มีการออกมติ ครม. ตีกลับ พ.ร.บ.แร่ เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 67 ว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองสิทธิชุมชน ก่อนจะออกมติครม.วันที่ 8 ก.พ. 2554 ชะลอการขยายพื้นที่ใหม่ หรือการออกประทานบัตรจนกว่าจะได้ข้อสรุปความคุ้มค่าและผลกระทบสิ่งแวดล้อมและประชาชน

ที่น่าสนใจคือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบโครงการผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในวันที่ 20 มกราคม 2557 ยุค ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำรัฐประหารถีบยิ่งลักษณ์ลงจากอำนาจกำลังจะมาสานต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยอาจลืมคำนึงถึงผลกระทบต่อชาวบ้าน โดยอ้างรายได้ว่าผลประโยชน์ที่รัฐจะได้ ตลอดโครงการ 25 ปี ประกอบด้วย ค่าภาคหลวง 7% เป็นเงิน 28,768.67 ล้านบาท ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษแก่รัฐรวม 8,476.5 ล้านบาท เงินกองทุน 5,461 ล้านบาท รวม 42,7062 ล้านบาท

ดูแล้วเหมือนจะเยอะแต่ถ้าคิดอย่างละเอียดจะพบว่าการขุดทรัพยากรธรรมชาติที่ยกให้เอกชนยาวนาน 25 ปี กับผลตอบแทนที่ได้รับกลับมา 42,706.62 ล้านบาทนั้น เฉลี่ยแล้วรัฐได้ผลตอบแทนเพียงแค่ปีละ 1,708.2648 ล้านบาท เท่านั้น

แต่ผลกระทบที่จะเกิดต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะจัดการได้อย่างเรียบร้อยไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนตามที่กล่าวอ้างมีมากมายมหาศาล อาทิ

1) ผลกระทบต่อเกษตรกรรมและวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นจากการขยายตัวของดินเค็มจากกองเกลือ 2) ผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษขณะทำ เหมือง ฝุ่นเกลือ ฯลฯ และคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่จะเปลี่ยนไปในระยะยาว 3) ความเสี่ยงจากดินทรุด เหมืองถล่ม อุบัติเหตุจากการทำเหมือง

4) ความเสี่ยงจากการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 5) ความเสี่ยงของชุมชนจากกฎหมายรองรับการทำเหมืองใต้ดินที่อยู่ลึกเกิน 100 เมตร โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของที่ดิน 6) ความเสี่ยงจากการทิ้งกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ บริษัท APPC หรือบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด นั้น มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด คือ “บริษัท สินแร่ เหมืองไทย จำกัด” โดยลงทุนเป็นเงิน 74,999,200 บาท คิดเป็น 74.999 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และยังมีบริษัท ไวดีเมียร์ จำกัด ร่วมลงทุน 15 ล้าน ครอบครองหุ้น 15% จากทุนจดทะเบียนทั้งหมด 100 ล้านบาท

เหตุผลที่ยกสองบริษัทนี้ขึ้นมาเป็นตัวอย่างเพราะทั้งสองบริษัทเป็นของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นจะพบว่า อีตาเลียนไทย คือเจ้าของที่แท้จริงของบริษัทเอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด เพราะครอบครองหุ้นจากสองบริษัท คือ บริษัท สินแร่ เหมืองไทย จำกัด กับ บริษัทไวดีเมียร์ จำกัด รวม 89% จากทุนจดทะเบียนทั้งหมด 100 ล้านบาท

โดยหลังจากที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีการอนุมัติอาชญาบัตรให้สำรวจแร่ เพื่อรอการออกประทานบัตร (ทำเหมืองแร่) ทำให้หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัท อิตาเลียนไทย พุ่งสูงขึ้นเกือบ 40%

ส่วนอีกโครงการหนึ่งที่จ่อรอรับประทานบัตรเหมืองแร่โปแตช คือ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ครอบคลุมเนื้อที่ 9,005 ไร่ ประกอบด้วย ตำบลหนองบัวตะเกียด ตำบลหนองไทร ตำบลโนนเมืองพัฒนา อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมาโดยมีการยื่นขอประทานบัตรตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2555 (ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์) และผ่านรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมในวันที่ 4 มีนาคม 2557 ซึ่งอยู่ในยุคยิ่งลักษณ์เช่นเดียวกัน แต่ที่น่าแปลกประหลาดคือเมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มาสานต่อกลับไม่มีการดำเนินการตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม โดยการรับฟังความเห็นดำเนินการตาม พ.ร.บ.แร่ (ฉบับที่ 5) มาตรา 88/7 ที่ให้อำนาจรัฐมนตรีเป็นผู้วินิจฉัยให้ได้ข้อยุติเรื่องการรับฟังความเห็นชาวบ้านแทน

โดยผลประโยชน์ที่รัฐคาดว่าจะได้รับตลอดโครงการประกอบด้วย ค่าภาคหลวง 7 % เป็นเงิน 1,700.65 ล้านบาท ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษแก่รัฐรวม 207.9 ล้านบาท และเงินกองทุน 366 ล้านบาท รวม 25 ปี รัฐได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นเงิน 2,274.55 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 90.982 ล้านบาทเท่านั้น

หากมีการออกประทานบัตรเหมืองแร่โปแตชอีกสองแห่งรวมเป็นสามแห่ง ต่อให้รัฐธรรมนูญใหม่เขียนคุ้มครองสิทธิชุมชนไว้สวยหรูแค่ไหนก็ไม่มีความหมาย เพราะดำเนินการก่อนที่รัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งความจริงแล้วน่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้

ซึ่งการคุ้มครองสิทธิชุมชนมีการกำหนดไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 40 และต่อยอดให้เข้มข้นขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 50 รวมใช้มาแล้ว 17 ปี ก่อนที่จะมีการฉีกรัฐธรรมนูญปี 50 จึงถือเป็นประเพณีการปกครองที่รัฐบาลต้องดำเนินการตามแนวทางของมาตรา 67 แห่งรัฐธรรมนูญปี 50 ไม่ใช่ใช้ พ.ร.บ.แร่ ฉบับที่ 5 มาชี้แจงโครงการและใช้อำนาจรัฐมนตรีเป็นผู้หาข้อยุติในการรับฟังความเห็นประชาชน ดังเช่นที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ดำเนินการอยู่ในขณะนี้

ดังนั้น บรรดาสิทธิชุมชนที่ได้รับความคุ้มครองมากมายในร่างรัฐธรรมนูญของบวรศักดิ์ จะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง เพราะกว่าจะมีผลบังคับใช้ ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศก็คงถูกสัมปทานไปก่อน

ไม่ทราบว่า กรรมาธิการยกร่างฯเห็นความจริงข้อนี้บ้างหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น