xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ปฏิรูปสื่อฯ ค้านตัดคำว่า “สวัสดิการ” ยันสำคัญปฏิรูป-เปิดตู้ ปณ.50 ฟังความเห็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(แฟ้มภาพ)
กมธ.ปฏิรูปสื่อฯ แถลงไม่เห็นด้วย สปช.บางคน-4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ยื่นให้ตัดคำว่า “สวัสดิการ” ยันเหมาะแล้ว เพื่อปูทางออกกฎหมายตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มากำกับจริยธรรมสื่อ ย้ำเป็นสาระสำคัญปฏิรูปสื่อ พร้อมเปิดตู้ ปณ.50 รับฟังความเห็น ให้สื่อเสนอแนะมา

วันนี้ (3 มิ.ย.) นายบุญเลิศ คชายุทธเดช โฆษกกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ และนายนิมิต สิทธิไตรย์ กรรมาธิการฯ ร่วมกันแถลงข่าว ไม่เห็นด้วยกับการที่มี สปช.บางส่วนยื่นคำขอแก้ไขให้ตัดข้อความ “สวัสดิการ” ออกจากร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคท้าย รวมทั้งองค์กรวิชาชีพหนังสือพิมพ์และวิทยุโทรทัศน์ 4 แห่งก็เสนอให้ตัดเช่นกัน ซึ่งพวกตนเห็นว่า ในร่างรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวมีความเหมาะสม และควรเพิ่มคำว่า “สวัสดิภาพ”เข้าไปด้วย ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การออกกฎหมายจัดตั้ง “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” มากำกับจริยธรรมสื่อ อันเป็นการเปิดมิติใหม่ของการก้าวไปสู่การปฏิรูปสื่อในทุกมิติ เพื่อเป็นการรับฟังความเห็นของคนทำสื่อทุกประเภทและทั้งประเทศ จึงเปิดตู้ ปณ.50 ปณฝ. รัฐสภา กทม. 10305 เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอจากคนทำสื่อว่าต้องการอย่างไร

โดยนายบุญเลิศกล่าวว่า ข้อความเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อในร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้เป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อฯที่ได้ประชุมกันมาหลายครั้ง ได้แลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์อย่างถี่ถ้วน รอบคอบ กระทั่งกรรมาธิการยกร่างฯ ได้ใส่ข้อความในมาตรา 49 วรรคท้าย

“ให้มีกฎหมายว่าด้วยองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนซึ่งประกอบด้วยบุคคลในวิชาชีพสื่อมวลชนและผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งผู้แทนองค์การเอกชนและผู้บริโภค เพื่อปกป้องเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชนตามมาตรา 48 ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพ พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพตามมาตรา 48 และคุ้มครองสวัสดิการของบุคคลตามวรรคหนึ่ง และวรรคสอง” นายบุญเลิศกล่าว

นายบุญเลิศกล่าวต่อว่า ปรากฏว่า สปช.ส่วนหนึ่งและองค์กรวิชาชีพสื่อด้านนักข่าวและด้านสภาวิชาชีพของหนังสือพิมพ์ และวิทยุโทรทัศน์ เสนอให้ตัด “สวัสดิการ” ออกไป จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ เนื่องจากเป็นสาระสำคัญของการปฏิรูปสื่อ จึงควรจะรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสื่อจากคนทำสื่อทั่วประเทศซึ่งมิใช่มีแต่สื่อที่อยู่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น ดังนั้น ขอให้คนทำสื่อทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุภาครัฐ วิทยุชุมชน วิทยุออนไลน์ ทีวีสาธารณะ ทีวีดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี ทีวีดิจิตอล ผู้สื่อข่าวพิเศษ ฯลฯ เขียนบอกเล่าสภาพการดำเนินชีวิตและความเป็นอยู่ในฐานะเป็นสื่อ สวัสดิภาพและสวัสดิการค่าตอบแทน ที่ได้รับหรือไม่รับและอะไรบ้างที่อยากให้เกิดขึ้น เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ การกำกับด้านจริยธรรมโดยกลไกสภาวิชาชีพที่จะมีในส่วนกลางและเชื่อมโยงกับในส่วนภูมิภาค ต่างจังหวัด ควรจะเป็นแบบไหน อย่างไร ถึงจะเกิดประสิทธิภาพ โดยขอให้คนทำสื่อ เขียนบอกเล่าความเห็นและให้เสนอแนะมาที่ ตู้ ปณ.50 ปณฝ. รัฐสภา กทม. 10305 ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2558จากนั้นจะนำผลมาแถลงต่อสาธารณะให้ได้รับทราบต่อไป

ด้านนายนิมิตกล่าวว่า จากการรับฟังความเห็นของคนทำสื่อจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ สุรินทร์ ยโสธร เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รวมทั้งสื่อที่มาร่วมสัมมนาที่เชียงใหม่ สงขลา ต่างเห็นว่าเรื่องสวัสดิภาพและสวัสดิการของคนทำสื่อควรจะได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวในการกำกับด้านจริยธรรมในยุคปฏิรูปสื่อครั้งนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น