xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตู้ปณ.50รัฐสภา รับฟังความคิดเห็น แนวทางปฏิรูปสื่อฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบุญเลิศ คชายุทธเดช โฆษกกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ และ นายนิมิต สิทธิไตรย์ กรรมาธิการฯ ร่วมกันแถลงข่าว ไม่เห็นด้วยกับการที่มีสปช.บางส่วน ยื่นคำขอแก้ไขให้ตัดข้อความ“สวัสดิการ”ออกจากร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคท้าย รวมทั้งองค์กรวิชาชีพหนังสือพิมพ์ และวิทยุโทรทัศน์ 4 แห่ง ก็เสนอให้ตัดเช่นกัน ซึ่งพวกตนเห็นว่า ในร่างรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวมีความเหมาะสม และควรเพิ่มคำว่า "สวัสดิภาพ" เข้าไปด้วย ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การออกกฎหมายจัดตั้ง "สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ" มากำกับจริยธรรมสื่อ อันเป็นการเปิดมิติใหม่ของการก้าวไปสู่การปฏิรูปสื่อในทุกมิติ เพื่อเป็นการรับฟังความเห็นของคนทำสื่อทุกประเภทและทั้งประเทศ จึงเปิดตู้ ปณ.50 ปณฝ. รัฐสภา กทม. 10304 เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอจากคนทำสื่อ ว่าต้องการอย่างไร
นายบุญเลิศกล่าวว่า ข้อความเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อในร่างรัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้ เป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อฯ ที่ได้ประชุมกันมาหลายครั้ง ได้แลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์อย่างถี่ถ้วน รอบคอบ กระทั่งกรรมาธิการยกร่างฯได้ใส่ข้อความในมาตรา 49วรรคท้าย
"ให้มีกฎหมายว่าด้วยองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งประกอบด้วยบุคคลในวิชาชีพสื่อมวลชน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งผู้แทนองค์การเอกชนและผู้บริโภค เพื่อปกป้องเสรีภาพ และความเป็นอิสระของสื่อมวลชนตามมาตรา 48 ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานแห่งวิชาชีพ พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพตามมาตรา 48 และคุ้มครองสวัสดิการของบุคคลตามวรรคหนึ่ง และวรรคสอง" นายบุญเลิศกล่าว
นายบุญเลิศ กล่าวต่อว่า ปรากฏว่า สปช. ส่วนหนึ่งและองค์กรวิชาชีพสื่อด้านนักข่าว และด้านสภาวิชาชีพ ของหนังสือ พิมพ์ และวิทยุโทรทัศน์เสนอให้ตัด "สวัสดิการ" ออกไป จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ เนื่องจากเป็นสาระสำคัญของการปฏิรูปสื่อ จึงควรจะรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสื่อจากคนทำสื่อทั่วประเทศซึ่งมิใช่มีแต่สื่อที่อยู่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น ดังนั้นขอให้คนทำสื่อทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุภาครัฐ วิทยุชุมชน วิทยุออนไลน์ ทีวีสาธารณะ ทีวีดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี ทีวีดิจิตอล ผู้สื่อข่าวพิเศษ ฯลฯ เขียนบอกเล่าสภาพการดำเนินชีวิต และความเป็นอยู่ในฐานะเป็นสื่อ สวัสดิภาพและสวัสดิการค่าตอบแทน ที่ได้รับหรือไม่รับ และอะไรบ้างที่อยากให้เกิดขึ้น เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ การกำกับด้านจริยธรรม โดยกลไกสภาวิชาชีพที่จะมีในส่วนกลางและเชื่อมโยงกับในส่วนภูมิภาค ต่างจังหวัด ควรจะเป็นแบบไหน อย่างไร ถึงจะเกิดประสิทธิภาพ โดยขอให้คนทำสื่อ เขียนบอกเล่าความเห็น และให้เสนอแนะมาที่ ตู้ ปณ. 50 ปณฝ. รัฐสภา กทม. 10305 ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.58 จากนั้นจะนำผลมาแถลงต่อสาธารณะให้ได้รับทราบต่อไป
ด้านนายนิมิต กล่าวว่า จากการรับฟังความเห็นของคนทำสื่อจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ สุรินทร์ ยโสธร เมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา รวมทั้งสื่อที่มาร่วมสัมมนาที่ จ.เชียงใหม่ สงขลา ต่างเห็นว่า เรื่องสวัสดิภาพและสวัสดิการ ของคนทำสื่อ ควรจะได้รับการคุ้มครอง และส่งเสริมเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จ หรือล้มเหลวในการกำกับด้านจริยธรรมในยุคปฏิรูปสื่อครั้งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น