xs
xsm
sm
md
lg

โพลเห็นด้วยส.ว.เลือกตั้งจว.ละ1คน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"นิด้าโพล" เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง ที่มา ส.ว. ตามร่างรัฐธรรมนูญ 2558 โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20–21 พ.ค.ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,252 ตัวอย่าง เกี่ยวกับที่มาส.ว. ตามร่างรัฐธรรมนูญ 2558
จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มี ส.ว. มาจากการเลือกกันเองของอดีตปลัดกระทรวง และอดีตข้าราชการ ฝ่ายทหารที่เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือผู้บัญชาการ เหล่าทัพ ประเภทละไม่เกินสิบคน (มาตรา 121 (1)) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.35 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะควรมาจากการเลือกของประชาชน ขณะที่ร้อยละ 43.77 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะเชื่อว่าบุคคลเหล่านั้น เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มากด้วยประสบการณ์อยู่แล้ว และ ร้อยละ 2.88 ไม่ระบุ ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้มีส.ว. ที่มาจากผู้แทนสภาวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพ หรืออาชีพที่มีกฎหมายจัดตั้ง ซึ่งเลือกกันเอง จำนวนไม่เกินสิบห้าคน (มาตรา 121 (2)) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.99 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มากด้วยประสบการณ์อยู่แล้ว ขณะที่ ร้อยละ 42.97 ไม่เห็นด้วย เพราะอาจมีการเล่นพรรคเล่นพวกกันเกิดขึ้น และ ร้อยละ 3.04 ไม่ระบุ ไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีส.ว. ที่มาจากผู้แทนองค์กรด้านเกษตรกรรม ด้านแรงงาน ด้านวิชาการ ด้านชุมชน และด้านท้องถิ่น ซึ่งเลือกกันเอง จำนวนไม่เกินสามสิบคน (มาตรา 121 (3)) พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.34 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนระดับล่าง สามารถรับรู้ปัญหา และเข้าถึงประชาชนได้ดี น่าจะสามารถช่วยพัฒนาประเทศได้ รองลงมา ร้อยละ 36.50 ไม่เห็นด้วย เพราะควรเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมี ส่วนร่วมในการเลือกด้วย และร้อยละ 2.16 ไม่ระบุ ไม่แน่ใจ
ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มี ส.ว. ที่มาจากการสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรม ด้านต่างๆ (เช่น ด้านการเมือง เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และสังคม เป็นต้น) จำนวนห้าสิบแปดคน (มาตรา 121 (4)) พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.07 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ น่าจะสามารถช่วยพัฒนาประเทศได้ ขณะที่ร้อยละ 38.18 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะจำนวน ส.ว. กลุ่มนี้มีมากเกินไป และควรเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการเลือกด้วย และร้อยละ 3.75 ไม่ระบุ ไม่แน่ใจ
ความคิดเห็นของประชาชน ที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีส.ว. มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละหนึ่งคน โดยเป็นการเลือกจากรายชื่อที่ได้รับการคัดกรองมาแล้วจากคณะกรรมการกลั่นกรอง (มาตรา 121 (5)) พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.03 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เป็นการเลือกโดยตรงจากประชาชน (แม้ว่าจะต้องเลือกจากรายชื่อที่ได้รับการคัดกรองมาแล้ว) ถือว่ามีความโปร่งใสมากกว่าการเลือกกันเอง รองลงมา ร้อยละ 16.69 ไม่เห็นด้วย เพราะ อาจเกิดการซื้อสิทธิขายเสียงและอาจเกิดความไม่โปร่งใส และ ร้อยละ 1.28 ไม่ระบุ ไม่แน่ใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น