xs
xsm
sm
md
lg

โพลหนุนร่างรธน. แนะแก้บางส่วน ยอมรับนายกฯคนนอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (3 พ.ค.) กรุงเทพโพล โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,102 คน เรื่อง “รัฐธรรมนูญ กับการปฏิรูปประเทศ”พบว่า
ประชาชนร้อยละ 37.6 เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่อยากให้มีการแก้ไขในบางส่วน รองลงมา ร้อยละ 23.7 ระบุว่าเห็นด้วยทั้งฉบับ มีเพียงร้อยละ 9.2 เท่านั้น ที่ระบุว่าไม่เห็นด้วย ที่เหลือร้อยละ 29.5 ไม่แน่ใจ
สำหรับประเด็นที่ประชาชนอยากให้มีการแก้ไขมากที่สุดในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ ประเด็นที่มาของส.ว. ที่อยากให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด (ร้อยละ 25.0) รองลงมาคือ ประเด็นที่มาของนายกฯ ว่า ควรมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น (ร้อยละ 17.1) และ การกำหนดบทลงโทษนักการเมืองที่คอร์รัปชันให้หนัก (ร้อยละ 11.6)
เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการมีนายกฯ คนนอกได้ แต่ต้องได้รับเสียงโหวตจากในสภา 2 ใน 3 พบว่า ประชาชน ร้อยละ 48.0 ระบุว่า เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 44.5 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ที่เหลือร้อยละ 7.5 ไม่แน่ใจ
ส่วนความมั่นใจที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่าจะช่วยให้รัฐบาลชุดต่อไปสามารถปฏิรูปประเทศได้สำเร็จหรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 59.6 ระบุว่าไม่มั่นใจ ขณะที่ ร้อยละ 40.4 ระบุว่ามั่นใจ
เมื่อถามว่า"ความสำเร็จของการปฏิรูปประเทศ ขึ้นอยู่กับปัจจัยใดมากกว่ากัน ระหว่างผู้นำประเทศ กับความสมบูรณ์แบบของรัฐธรรมนูญ" ประชาชนร้อยละ 50.4 ระบุว่า ผู้นำประเทศสำคัญกว่า ขณะที่ ร้อยละ 40.8 ระบุว่า ความสมบูรณ์แบบของรัฐธรรมนูญสำคัญกว่า และ ร้อยละ 8.8 ไม่แน่ใจ
นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 72.8 เห็นว่า รัฐธรรมนูญจำเป็นต้องบัญญัติให้มี คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปฯ เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ในการปฏิรูปประเทศ ขณะที่ ร้อยละ 17.8 เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการดังกล่าว ที่เหลือ ร้อยละ 9.4 ไม่แน่ใจ
สำหรับประเด็นการเลื่อนเลือกตั้งออกไปจากโรดแมปเดิม ประชาชน ร้อยละ 59.7 คิดว่า จะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือจากต่างประเทศ ขณะที่ร้อยละ 33.9 คิดว่า ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ ที่เหลือร้อยละ 6.4 ไม่แน่ใจ

**นายกฯต้องมาจากการเลือกของสภาฯ

ขณะที่ศูนย์สำรวจความคิดเห็น"นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง"นายกรัฐมนตรีตามร่างรัฐธรรมนูญ 2558"
จากการสำรวจ ความคิดเห็นของประชาชน ต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ที่ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 172) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.40 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะเชื่อมั่นและไว้วางใจในตัวส.ส. ซึ่งเป็นตัวแทนที่ประชาชนได้เลือกเข้ามา ดูเป็นระบบ ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และรวดเร็ว ขณะที่ร้อยละ 36.64 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ต้องการให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง และอาจมีการเล่นพรรคเล่นพวกเกิดขึ้นในการเลือกของสภาผู้แทนราษฎร และ ร้อยละ 3.96 ไม่ระบุ/ ไม่แน่ใจ/ ขึ้นอยู่กับรัฐบาล
ส่วนความคิดเห็นของประชาชน ต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ที่เปิดโอกาสให้มีนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้มาจากส.ส. (นายกฯคนนอก) แต่ต้องได้รับเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวน ส.ส. (มาตรา 172) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.98 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะไม่มีประสบการณ์เพียงพอในการบริหารประเทศ นายกฯที่มาจากส.ส. น่าจะมีประสบการณ์ และทำงานได้ดีกว่า ควรมาจากการเลือกตั้งน่าจะดีกว่า
ขณะที่ ร้อยละ 45.76 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะเป็นช่องทางเลือกอีกช่องทางหนึ่ง ในการสรรหานายกรัฐมนตรี ควรเปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามาบริหารประเทศบ้าง ซึ่งน่าจะทำงานได้ดีกว่านายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และ ร้อยละ 6.26 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ/ขึ้นอยู่กับรัฐบาล
เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจเมื่อ เดือนธันวาคม ปี 2557 ที่มีผู้ไม่เห็นด้วยร้อยละ 63.36 และ ผู้ที่เห็นด้วย ร้อยละ 34.58 แสดงให้เห็นว่า สัดส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วย มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่สัดส่วนของผู้ที่เห็นด้วย เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้อธิบายให้ประชาชนได้เข้าใจถึงความจำเป็น ที่ต้องเปิดช่องไว้สำหรับนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจาก ส.ส.
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ที่กำหนดให้นายกฯ อาจเสนอขอความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร และหากได้รับความไว้วางใจ สภาก็จะถูกตัดสิทธิในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีไปโดยอัตโนมัติ ตลอดสมัยประชุม (มาตรา 181) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.19 ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นการลดอำนาจ และบทบาทหน้าที่ของสภาฯ มากจนเกินไป อาจทำให้เกิดช่องโหว่ในการตรวจสอบการทำงาน ควรเปิดอภิปรายเป็นระยะ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบข้อมูลการทำงานของรัฐบาล
ขณะที่ร้อยละ 31.64 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ จะได้ไม่ต้องเปิดการอภิปรายหลายรอบ ลดค่าใช้จ่าย เวลา และความวุ่นวายที่เกิดจากการกระทบกระทั่งกันในสภาฯ และ ร้อยละ 21.17 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ/ขึ้นอยู่กับรัฐบาล
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ที่ให้ปลัดกระทรวง ทำหน้าที่รัฐมนตรี และคัดเลือกกันเอง เพื่อหาบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ระหว่างที่มีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง (มาตรา 184) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.58 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ไม่เป็นประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรีควรมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น หากมีการเลือกกันเอง กังวลว่าจะเกิดความไม่โปร่งใส เลือกแต่พรรคพวกของตนเองเข้ามา
ขณะที่ ร้อยละ 43.62 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะบางครั้ง มีเหตุจำเป็นต้องหานายกรัฐมนตรี ในช่วงรอยต่อรัฐบาลหรือเกิดช่องว่างทางการเมือง เพื่อให้สามารถทำงานหรือสานงานต่อไปได้อย่างราบรื่น และค่อนข้างไว้วางใจในตัวปลัดกระทรวง ว่าจะสามารถคัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถและเหมาะสมเข้ามาทำงานได้เป็นอย่างดี และร้อยละ 8.80 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ/ขึ้นอยู่กับรัฐบาล
เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจเมื่อเดือน กรกฎาคม และ ธันวาคม ปี 2557 พบว่า มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยร้อยละ 25.10 และ ร้อยละ 47.25 ตามลำดับ ในขณะที่ผู้ที่เห็นด้วย อยู่ที่ ร้อยละ 66.00 และ ร้อยละ 46.05 ตามลำดับ จากผลสำรวจที่พบว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รัฐมนตรี และคัดเลือกกันเองเพื่อหาบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ระหว่างที่มีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง มีสัดส่วนแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ อาจเกิดจากความรู้สึกของประชาชนจำนวนหนึ่งที่มองว่าการเข้าถึงปลัดกระทรวงเพื่อร้องเรียนปัญหาต่างๆ นั้นยากกว่าการร้องเรียนต่อรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีที่เป็นนักการเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น