xs
xsm
sm
md
lg

นิด้าโพล เผย ส่วนใหญ่ประชามติให้ รธน.ผ่าน เพื่อชาติเดินหน้า มั่นใจในคณะทำงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โพลนิด้า สำรวจเรื่อง การทำประชามติร่าง รธน. 58 ปชช. ส่วนใหญ่มองว่าเป็นการเปิดโอกาสแสดงความเห็นตาม ปชต. รองลงมามองว่าทำให้ รธน. มีความชอบธรรมมากขึ้น ขณะส่วนมากพร้อมลงประชามติให้ รธน. ผ่าน เหตุ ต้องการเห็นชาติเดินหน้าในทางที่ดี เชื่อมั่นคณะทำงานต่างๆ

วันนี้ (17 พ.ค.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ 2558” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 12 - 13 พฤษภาคม 2558 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการทำประชามติ และ การลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นด้วยวิธีแบบเป็นระบบ (tematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4

จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อข้อเสนอการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.28 ระบุว่า เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตย รองลงมา ร้อยละ 34.80 ระบุว่า ทำให้รัฐธรรมนูญมีความชอบธรรมมากขึ้นเพราะผ่านความเห็นชอบจากประชาชน ร้อยละ 21.20 ระบุว่า รัฐบาลควรดำเนินการให้มั่นใจก่อนว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญก่อนนำไปทำประชามติ ร้อยละ 9.36 ระบุว่า ช่วยปกป้องรัฐธรรมนูญไม่ให้ถูกแก้ไขได้ง่ายตามอำเภอใจของฝ่ายการเมืองในอนาคต ร้อยละ 8.80 ระบุว่า เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง และเสียเวลา ร้อยละ 5.84 ระบุว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญได้รับการเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่จะแสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่ต้องการระบบการเมืองแบบเดิมที่เคยเป็นมา ร้อยละ 5.76 ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญหลายประเด็นมีความสลับซับซ้อนมากไม่เหมาะจะนำไปทำประชามติ ร้อยละ 5.68 ระบุว่า จะได้เพียงประชามติที่จอมปลอมเท่านั้น เพราะคนจำนวนมากจะตัดสินใจตามอารมณ์ ไม่มีการวิเคราะห์เนื้อหาของรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ร้อยละ 5.36 ระบุว่า ไม่ได้เป็นหลักประกันว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ถูกฉีกอีกในอนาคต ร้อยละ 2.80 ระบุว่า ทำให้บ้านเมืองแตกแยกเป็นสองฝ่าย และขัดกับแนวทางปรองดองของรัฐบาล ร้อยละ 2.00 ระบุว่า เป็นวิธีที่ดีกว่าการที่รัฐบาล คสช. กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญและ สปช. ผูกขาดการร่างรัฐธรรมนูญโดยประชาชนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ร้อยละ 1.20 ระบุว่า พรรคการเมืองต้องการทำประชามติเพราะต้องการล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และร้อยละ 17.28 ไม่ระบุ

ขณะที่เมื่อถามว่าการตัดสินใจของประชาชน หากวันนี้มีการลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.96 ระบุว่า ลงมติเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 2558 เพราะต้องการเห็นประเทศชาติบ้านเมืองพัฒนาไปข้างหน้า มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี อีกทั้งมีความเชื่อมั่นในการบริหารงาน การทำงานของคณะทำงานต่างๆ รองลงมา ร้อยละ 17.84 ระบุว่า ไปใช้สิทธิไม่แสดงความเห็น (Vote No) เพราะ ประชาชนยังขาดความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ร้อยละ 13.92 ระบุว่า ลงมติไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 2558 เพราะยังมีบางมาตราที่เห็นว่าควรได้รับการแก้ไข หรือเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนักการเมือง อีกทั้งยังมีรัฐบาลเป็นผู้ควบคุมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ จึงยังมีความเคลือบแคลงใจอยู่ ร้อยละ 11.36 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ ขอศึกษาเนื้อหาสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญก่อน ร้อยละ 11.28 ระบุว่า ไม่ไปใช้สิทธิ เพราะ ติดธุระ ต้องทำงาน เบื่อการเมือง ไม่ทราบถึงรายละเอียดร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และ ร้อยละ 2.64 ไม่ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น