xs
xsm
sm
md
lg

สปช.เปิดฟังความเห็นคนทำข่าว เน้นสร้างสื่อท้องถิ่นเข้มแข็ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อสารมวลชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสื่อท้องถิ่นเวทีแรกที่จังหวัดอุบลราชธานี หลังการหารือเกิดปฏิญญาอุบลราชธานี จัดตั้งสภาองค์กรวิชาชีพสื่อหลายระดับ เพื่อการกำกับดูแลตนเอง ดันตั้งกองทุนสื่อดี รวมเครือข่ายสร้างสื่อให้เข้มแข็งปลอดการเมืองแทรกแซง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมพิมานทิพย์ชั้น 7 ศูนย์ศิลปวัฒนธรมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี รศ.จุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นเรื่องการปฏิรูปสื่อเพื่อพัฒนากลไกกำกับดูแลด้านจริยธรรม การยกระดับมาตรฐานและระบบสวัสดิการของผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อ

ถือเป็นการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของสื่อท้องถิ่นเป็นครั้งแรกในส่วนภูมิภาค มีตัวแทนสื่อมวลชนท้องถิ่นจากจังหวัดมุกดาหาร ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี กว่า 100 คน เข้าร่วมแสดงความเห็น เพื่อให้เกิดแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนจัดตั้งกลุ่ม หรือองค์กรกำกับดูแล และให้ความคุ้มครองอย่างเหมาะสมแก่สื่อในส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น

โดยผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนท้องถิ่นได้สะท้อนปัญหา และเสนอแนะตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งระดับจังหวัด และระดับภูมิภาคใช้กำกับดูแลกันด้านจริยธรรม โดยสภาวิชาชีพสื่อมวลชนระดับจังหวัด และระดับภูมิภาค จะมีระบบบริหารองค์กรเชื่อมโยงกับสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติที่ส่วนกลาง

จัดให้มีกองทุนสนับสนุนการบริหารงาน และพัฒนาศักยภาพสื่อมวลชนท้องถิ่น เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพอย่างซื่อสัตย์ และเสียสละ สื่อมวลชนท้องถิ่นควรได้รับหลักประกันความมั่นคงด้านสวัสดิการ สวัสดิภาพในการทำงานเช่นวิชาชีพอื่น รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพด้านความรู้และทักษะด้านสื่อสารมวลชน เพื่อให้เป็นสื่อมวลชนมืออาชีพอย่างแท้จริง

สื่อมวลชนท้องถิ่นอีสานตอนล่าง ต้องมีความปรองดองสมานฉันท์ โดยยึดถือปัญหาของประชาชนในพื้นที่ และของชุมชนเป็นเป้าหมายร่วมในการทำงาน หลังการสัมมนามีการทำเป็นปฏิญญาอุบลราชธานี เพื่อจัดกิจกรรม และใช้ขับเคลื่อนผ่านสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่ละจังหวัดต่อไป

ด้าน ศาสตราจารย์กิตติคุณสุกัญญา ทองมีอาคม รองประธานกรรมาธิการคนที่หนึ่ง กล่าวว่า ข้อเสนอการปฏิรูปสื่อของคณะกรรมาธิการฯ เน้นสร้างหลักสิทธิเสรีภาพ และหน้าที่ของสื่อบนความรับผิดชิอบต่อสังคม การสร้างกลไก เพื่อการกำกับดูแลกันเองของสื่อ

รวมทั้งจะมีองค์กรภาคประชาชนเข้าร่วมตรวจสอบการทำหน้าที่ของสื่อ และสร้างกระบวนการป้องกันการแทรกแซงสื่อ เพราะที่ผ่านมา อาจถูกจองจำด้วยโซ่ตรวนจากรัฐและทุน

นอกจากนั้น จะมีมาตรการที่จะตรวจสอบและกำกับการโฆษณาของหน่วยงานภาครัฐ และจะมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการของสื่อสารมวลชน เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เหมือนผู้ประกอบอาชีพอื่นด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น