xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองของการ “ไม่รับ” และ “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้มีความหมายซับซ้อนแฝงอยู่ภายในเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่เรื่องง่ายๆดังที่มีการรณรงค์ว่า ก่อนตัดสินใจรับหรือไม่รับร่าง รธน. ควรอ่าน ทำความเข้าใจเนื้อหา และพิจารณาข้อดีข้อเสียให้ชัดเจน จากนั้นจึงตัดสินใจโดยใช้เหตุผลว่า “รับ” หรือ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ

ผมคิดว่าการใช้ “เหตุผล” ที่เชื่อมโยงกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญเป็นเพียงปัจจัยเล็ก ๆ และจำกัดอยู่ในกลุ่มคนจำนวนน้อยเท่านั้น หากแต่มีคนจำนวนมากใช้ “ชุด”ของเหตุผลแบบอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด และยังใช้ “การตีความ” เชื่อมโยงกับผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นจากการลงประชามติอีกด้วย

กลุ่มที่ประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่า “ไม่รับ” หรือ “รับ” ร่างรัฐธรรมล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่มีบทบาททางการเมืองมาก่อนและเป็นที่รู้จักของผู้คนในสังคมเกือบทั้งสิ้น มีทั้งนักการเมือง นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางสังคม และองค์การภาคประชาชน แต่ละกลุ่มมีเหตุผลและการตีความผลลัพธ์เหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้าง ตามความเข้าใจของตนเอง

ชุดเหตุผลหลักของกลุ่มที่ไม่รับประการแรกคือ การอ้างว่าที่มาของการร่างรัฐธรรมนูญไม่ชอบธรรม เพราะเป็นการร่างโดยกลุ่มบุคคลที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นมา ตรรกะของกลุ่มนี้คือเมื่อที่มาของร่างรัฐธรรมนูญไม่ชอบธรรมเสียแล้ว ไม่ว่าเนื้อหาดีอย่างไรก็จะไม่รับอย่างเด็ดขาด กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักการเมืองสังกัดพรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่มเสื้อแดง และนักวิชาการบางคน

ผมว่าไม่แปลกอะไรที่คนกลุ่มนี้จะใช้เหตุผลเรื่อง “ที่มา” ของการร่างเป็นหลักในการตัดสินใจ เพราะคสช. ทำให้พวกเขาหมดอำนาจรัฐ พวกเขาจึงต้องอาศัยเวทีการลงประชามติเป็นที่แสดงออกทางการเมืองเพื่อตอบโต้ คสช. ความหมายของการ “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ของกลุ่มนี้คือ การสั่นคลอนและท้าทายความชอบธรรมอำนาจการเมืองของรัฐบาลและคสช.นั่นเอง ส่วนการ “รับร่างรัฐธรรมนูญ” คือ การทำให้รัฐบาลและ คสช. มีความชอบธรรมมากขึ้น ซึ่งพวกเขาประเมินว่าเป็นเรื่องที่ไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อบทบาทและสถานภาพทางการเมืองของพวกเขาในอนาคต

ประการที่สอง เป็นชุดเหตุผลที่เริ่มพิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญบ้าง โดยมองว่าร่างรัฐธรรมนูญ “ตั้งโจทย์ผิดว่านักการเมืองคือปัญหา ส่วนข้าราชการคือผู้พิทักษ์และแก้ไข” เนื้อหาจึงมีลักษณะลิดรอนอำนาจนักการเมือง และให้อำนาจข้าราชการ องค์การอิสระและวุฒิสมาชิกมากเกินไปทั้งที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน กลุ่มผู้ใช้เหตุผลแบบนี้คือนักการเมืองบางส่วนของพรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทย

นักการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทยต่างออกมาวิจารณ์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญว่า มีอคติกับนักการเมือง และอวดอ้างว่าพวกตนใกล้ชิดประชาชน เข้าใจประชาชน แก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของประชาชนดีกว่าข้าราชการและองค์กรอิสระ เพราะพวกเขาคิดว่าตนเองคือตัวแทนของประชาชน

ดูเหมือนว่านักการเมืองส่วนใหญ่จะค่อยไม่ตระหนักและยอมรับว่า ความขัดแย้งทางการเมืองและความเสียหายของประเทศนับสิบปีที่ผ่านมา ปัจจัยหลักเกิดจากการบริหารประเทศผิดพลาดและการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมของพวกเขา ยังคงคิดแบบเดิม ๆ ว่าเมื่อพวกเขาชนะการเลือกตั้ง เท่ากับเป็นตัวแทนประชาชน และต้องสามารถใช้อำนาจได้อย่างเต็มที่

นักการเมืองเกือบทั้งหมดคิดว่าหากรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติ จะทำให้พวกเขาตกอยู่ภายใต้การควบคุมขององค์กรอิสระและวุฒิสมาชิกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งมีอำนาจจำกัดไม่อาจสั่งการให้ข้าราชการกระทำในสิ่งที่พวกเขาปรารถนาได้ดังในอดีต หากต้องเจอกับสภาพนี้ในอนาคตย่อมไม่ใช่สิ่งที่น่าพึงปรารถนาสำหรับพวกเขา

แต่หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติก็จะทำให้พวกเขายังพอมีโอกาสใช้อิทธิพลทางสังคมและมวลชน กดดันคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่และ คสช. ให้ร่างตามความประสงค์ของพวกเขาได้ คือให้พวกเขามีอำนาจมาก ๆ และมีกลไกการตรวจสอบน้อย ๆ พวกเขาลืมไปว่าบริบทสังคมการเมืองในยุคปัจจุบันแตกต่างจากยุคพ.ศ. ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐ อย่างสิ้นเชิง

ในอดีตผู้ร่างรัฐธรรมนูญและประชาชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นตัวแทนอย่างง่าย ๆ ว่า ผู้ชนะการเลือกตั้ง เท่ากับเป็นตัวแทนประชาชน ที่จะต้องใช้อำนาจอย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมตามความต้องการของประชาชนอย่างมีเหตุมีผล แต่ประสบการณ์จริงตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากได้รับบทเรียนและตระหนักว่าความเข้าใจแบบเดิมไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยแต่อย่างใด

ดังนั้นการที่นักการเมืองจะหมุนโลกพลิกสังคมให้ย้อนกลับไปเหมือนยี่สิบปีที่แล้ว ย่อมเป็นไปได้ยาก เรียกได้ว่า วันแห่งการเสพและการใช้อำนาจในนามประชาชนของนักการเมือง ไม่มีทางที่จะเหมือนเดิมอีกต่อไป ไม่ว่าพวกเขาจะพยายามสักเพียงใดก็ตาม

เหตุผลชุดที่สามของการไม่รับ เป็นเหตุผลที่มองว่าเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับแนวคิดการกระจายอำนาจสู่ชุมชนและท้องถิ่น ให้อำนาจราชการและกลุ่มทุนมาก อีกทั้งลดการมีส่วนร่วมและหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนลงไปมากเมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ เหตุผลชุดนี้เป็นความคิดของกลุ่มองค์กรภาคประชาชนและนักวิชาการบางส่วน

ในความเห็นของผม ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ลดอำนาจ สิทธิ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกระบวนการทางการเมืองจริง ทั้งในแง่ของการตรวจสอบการบริหารของนักการเมืองและหน่วยงานราชการ ขณะเดียวกันก็กลับไปเพิ่มอำนาจให้แก่ข้าราชการเกษียณผ่านองค์กรอิสระทั้งหลาย เรียกว่าพื้นที่ทางอำนาจ สิทธิ และการมีส่วนร่วมของประชาชนถูกจำกัดให้แคบลงอย่างมากเมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ เช่น การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำโครงการขนาดใหญ่และการทำสนธิสัญญากับต่างชาติในเรื่องที่มีผลกระทบกับอาณาเขตของประเทศ และผลกระทบด้านอื่น ๆ ล้วนแล้วแต่มีน้อยกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆอย่างเห็นได้ชัด

นี่เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ภาคประชาชนและนักวิชาการบางส่วนประกาศไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และพวกเขาคาดหวังว่า หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็จะผลักดันให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีเนื้อหาขยายสิทธิและการมีส่วนร่วมทางการเมืองประชาชนให้มากกว่านี้

สำหรับชุดเหตุผลอีกประการของการไม่รับร่างคือ การมองว่าร่างรัฐธรรมนูญยังมีความเข้มข้นในการปราบปรามทุจริตไม่เพียงพอ แถมยังเปิดช่องทางให้ผู้ทำความผิดมีโอกาสมากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดที่ถูกตัดสินโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาทางการเมืองสามารถอุทธรณ์ ผู้ให้เหตุผลแบบนี้มองว่าจะทำให้คณะกรรมการ ปปช. ที่เป็นต้นเรื่องในการฟ้องผู้กระทำผิด และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาทางการเมืองมีความอ่อนแอลงไป ทั้งยังชี้ว่าผู้ต้องหาคดีจำนำข้าวอาจเป็นกลุ่มแรกที่จะใช้สิทธินี้หากรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติ

เหตุผลข้อนี้เป็นการหยิบยกขึ้นมาโดย คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นการหยิบประเด็นที่ผมคิดว่ามีความฉลาดทางการเมืองของเขา เพราะเรื่องการปราบปรามและจัดการกับนักการเมืองที่ทุจริตอย่างเด็ดขาดเป็นเรื่องหลักของกลุ่ม กปปส. คุณอภิสิทธิ์ ตั้งใจสื่อสารไปยังกลุ่มนี้ว่าตนเองสนับสนุนและให้ความสำคัญกับการปราบปรามการทุจริต แต่กลับพบว่าร่างรัฐธรรมนูญมีข้อบกพร่อง ซึ่งทำให้นักการเมืองที่ทุจริตมีโอกาสรอดพ้นความผิดสูง ตัวเขาจึงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

การชี้ประเด็นว่าร่างรัฐธรรมนูญหย่อนยานต่อคนโกงของคุณอภิสิทธิ์ เปรียบเสมือนเป็นการโยนระบิดลูกใหญ่ลงบนใจกลางวาทกรรมหลักของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่คณะกรรมการร่างฯได้พยายามโฆษณาต่อสังคม และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อแกนนำของ กปปส.อย่าง คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีเลิศ สามารถปราบการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังส่งผลกระทบต่อความคิดและการตัดสินใจของประชาชนกลุ่ม กปปส. ไม่น้อย

การทิ้งระเบิดลูกใหญ่ทางความคิดของคุณอภิสิทธิ์ มีผลต่อทำลายล้างความเชื่อเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการปราบโกงของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ลงไปอย่างสิ้นเชิง และแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนกลุ่มใหญ่ที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะ “รับ” หรือ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ซึ่งมีอยู่ประมานร้อยละ ๖๐ ของผู้มีสิทธิลงประชามติ (จากการสำรวจของนิด้าโพล) ผมประเมินว่า คนที่ไม่ตัดสินใจส่วนใหญ่จะคล้อยตามเหตุผลของคุณอภิสิทธิ์ และพวกเขามีแนวโน้มที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ยังมีเหตุผลที่ดูแปลกพิสดารอีกประการหนึ่งของผู้ที่ประกาศว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญคือ ต้องการให้รัฐบาลและ คสช. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยตนเอง โดยกำหนดเนื้อหาในลักษณะที่สามารถทำให้กลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบันและเครือข่ายสามารถดำรงอำนาจต่อไป เพื่อรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านบางอย่างของประเทศไทย กลุ่มนี้เชื่อว่านักการเมืองและประชาชนไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์เปลี่ยนผ่านได้อย่างมีประสิทธิผล และอาจทำให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายได้ในช่วงดังกล่าว พวกเขาเห็นว่ามีแต่รัฐบาลปัจจุบันและ คสช. เท่านั้นที่จะสามารถจัดการกับช่วงการเปลี่ยนผ่านประเทศได้อย่างราบรื่น

การลงประชามติในส่วนของประชาชนอาจไม่เข้มข้นมากนักเพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทราบเนื้อหารัฐธรรมนูญ และอาจตัดสินลงมติรับหรือไม่รับโดยใช้เหตุผลที่อิงกับเนื้อหาเพียงบางส่วน อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจความต้องการทางการเมืองของตนเองและตัดสินใจตามความรู้สึกและการตีความของตนเองเป็นหลัก

ผมคิดว่าผู้ที่ตั้งใจรับร่างรัฐธรรมนูญจำนวนไม่น้อยตีความว่า “การรับร่างรัฐธรรม” เป็นการแสดงออกทางการเมืองเพื่อสนับสนุน รักษาหน้า และสร้างความชอบธรรมให้กับพลเอกประยุทธ จันท์โอชานายกรัฐมนตรี ที่พวกเขาชื่นชม ขณะที่บางส่วนเชื่อว่ารัฐธรรมนูญนี้สามารถปราบทุจริตได้จริงตามการโฆษณาของคณกรรมการร่างฯ และบางส่วนอาจรับเพราะคิดว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน จะทำให้กลุ่มการเมืองที่พวกเขาไม่ชอบนำไปเป็นประเด็นในการสร้างความวุ่นวายแก่บ้านเมืองได้

ในสายตาผม การเมืองเรื่องการรับหรือไม่รับร่างเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับศึกษาความคิดทางการเมืองของสังคมไทย และหลัง 7 สิงหาคม ผมประเมินว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะทวีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติ หรือ ผ่านแบบชนะอย่างเฉียดฉิว สถานการณ์การเมืองมีแนวโน้มจะร้อนขึ้นครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น