xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” แถลงไม่รับร่าง รธน.ชี้กลไกปราบทุจริตอ่อนแอ ถ้าผ่านแก๊งจำนำข้าวเฮแน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงจุดยืนโดยผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์
หัวหน้า ปชป.แถลงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ชี้ไม่ตอบโจทย์ที่จะทำให้ประเทศก้าวหน้า ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่แก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ขณะที่การตรวจสอบทุจริต แม้มีการเพิ่มโทษแต่ยกเลิกกระบวนการถอดถอน ทำ ป.ป.ช.อ่อนแอ เปิดช่องคนผิดยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกานักการเมืองได้ง่ายขึ้น เชื่อหาก รธน.ผ่าน จำเลยจำนำข้าวได้ประโยชน์แน่



วันนี้ (27 ก.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเวลา 14.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงจุดยืนของตนในวันนี้แม้ไม่ใช่เป็นมติพรรค เนื่องจากพรรคไม่สามารถประชุมได้ แต่อยู่บนพื้นฐานของอุดมการณ์พรรคที่ประกาศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 ทั้งนี้ตนได้ให้ความสำคัญสูงสุดกับอนาคตของประเทศที่ปัจจุบันตกอยู่ภายใต้วิกฤตมายาวนานกว่าทศวรรษจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเดินหน้าได้ตามศักยภาพ ที่สำคัญทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยจำนวนมากยังตกอยู่ในภาวะยากความยากจน ซึ่งรัฐธรรมนูญที่จะประกาศใช้จะต้องเป็นกติกาถาวรของประเทศที่เอื้อให้ประเทศเดินหน้าก้าวพ้นจากสภาพปัญหาในปัจจุบันได้ โดยมีโจทย์สำคัญ3.ประการคือ ปัญหาทิศทางการพัฒนาประเทศ ปัญหาความขัดแย้งในสังคม และปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น

นายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่า รัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศในปัจจุบันจะต้องอาศัยหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในความหมายที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางประเทศ และได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสวัสดิการเพื่อเป็นหลักประกันว่าคนที่อ่อนแอ ด้อยโอกาสและยากจนที่สุดจะได้รับการยกระดับความเป็นอยู่ซึ่งจะทำให้ประเทศและเศรษฐกิจในภาพรวมมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน มีการกระจายอำนาจ นอกจากนั้นหลักการประชาธิปไตยที่สำคัญคือการมีกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลที่เหมาะสมเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและทางสังคม ป้องกันมิให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใช้อำนาจในทางไม่ชอบ โดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชั่นซึ่งเป็นตัวกัดกร่อนระบบเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของไทย

“แม้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่การออกแบบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่เพียงพอต่อการตอบโจทย์ของประเทศทั้งสามข้อได้” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นบทบัญญัติในหมวดสิทธิเสรีภาพที่ถดถอยไปจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ทั้งยังเพิ่มบทบาทและอำนาจของระบบราชการ ส่งผลให้รัฐบาลในอนาคตไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาของประเทศและประชาชน รวมทั้งขาดความคล่องตัวในการรับมือกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกได้ ในส่วนของปัญหาการตรวจสอบถ่วงดุลและแก้ไขความขัดแย้งในสังคมนั้น การวางน้ำหนักไปที่บทบาทของวุฒิสภาที่มาจากการคัดเลือกหรือแต่งตั้งจะเป็นการเพิ่มคู่ขัดแย้งในระบบการเมืองมากกว่าการแก้ปัญหาดังกล่าว ยิ่งบทบัญญัติที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขได้ยากมากก็จะเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งในอนาคตไม่ต่างจากความขัดแย้งที่ประเทศไทยเคยผ่านมาในอดีต สำหรับการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น

นายอภิสิทธิ์ ยังสนับสนุนการเพิ่มโทษและการเข้มงวดในเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต แต่ชี้ว่ากลไกสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น คือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กลับมีบทบัญญัติที่ทำให้ขาดความเป็นอิสระและอ่อนแอลงโดยเฉพาะการให้อำนาจประธานสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรครัฐบาลใช้ดุลพินิจในกระบวนการตรวจสอบปปช. และการลดเงื่อนไขให้มีการอุทธรณ์ในคดีทุจริตของนักการเมืองได้ง่ายขึ้น โดยการอุทธรณ์นั้นจะมีการดำเนินการโดยองค์คณะใหม่แทนที่จะเป็นที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาเช่นในอดีต โดยคาดว่าผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติใหม่นี้กลุ่มแรกคือจำเลยในคดีจำนำข้าว

“ดังนั้นโจทย์ทั้งสามข้อที่ใช้เป็นเกณฑ์จึงให้คำตอบว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้ ไม่มีประเด็นเรื่องระบบเลือกตั้งหรือพรรคการเมือง แต่ไม่รับเพราะไม่ตอบโจทย์ประเทศ ไม่สามารถเป็นกติกาถาวรให้ประเทศไทยก้าวพ้นปัญหาเดิม ๆ ได้ผมจึงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้ และไม่อาจรับร่างได้เพียงเพราะกลัวว่าจะได้สิ่งที่แย่กว่า ผมมองว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านประเทศมีโอกาส จึงชักชวนให้พิจารณาเนื้อหาสาระไม่ใช่ลงมติเพราะเชียร์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและไม่ยอมให้ใครเอาเงื่อนไขว่ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านแล้วมาสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง ตรงข้ามผมมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ตามโร๊ดแมพที่กำหนดไว้ เพราะเป็นผู้รับผิดชอบบ้านเมือง โดยเสนอให้นำเอารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เป็นหลัก”นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เพราะผ่านการประชามติของประชาชนมาแล้ว และมีบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ดีที่สุด รวมทั้งมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผูกมัดทุกองค์กรไม่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ เช่น กรณีการกู้เงินเพื่อหลีกเลี่ยงระบบงบประมาณ มาเป็นหลัก ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายและทบทวนจุดแข็งจุดอ่อของ ร่างรัฐธรรมนูญสองฉบับที่ผ่านมาโดยยืนยันที่จะสนับสนุนให้มีบทบทบัญญัติที่เข้มข้นขึ้นในเรื่องการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น มีกลไกที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอดีตและนำไปสู่การปฏิรูปที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ให้รัฐธรรมนูญที่ดีกับสังคม ซึ่งโดยต้องตระหนักว่าที่ไม่ผ่านเพราะอะไร ท่านคงไม่เขียนคนเดียวแต่ต้องทบทวนจุดแข็งจุดอ่อนของทุกร่างและฟังเสียงของสังคมโดยไม่ปรับเปลี่ยนเป้าหมายเรื่องการปฏิรูป แก้ขัดแย้งหรือแก้ทุจริต

“การแถลงจุดยืนในครั้งนี้มิได้มีความประสงค์จะให้เกิดความขัดแย้งกับใคร แต่ยึดประโยชน์ส่วนรวมและอนาคตของประเทศเป็นที่ตั้ง ขอให้สังคมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญจากเนี้อหาสาระโดยปราศจากอคติ ไม่ว่าจะเป็นต่อทหาร นักการเมือง องค์กรภาคประชาชนหรือนักวิชาการที่ออกมาแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายและยืนยันว่าผมและพรรคประชาธิปัตย์จะ ไม่มีวันไปสมคบกับกลุ่มนักการเมืองที่เคยโกงชาติหรือคิดที่จะโกงชาติต่อไปในอนาคตโดยเด็ดขาด”นายอภิสิทธิ์ ย้ำ













กำลังโหลดความคิดเห็น