xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.รับ “อภิสิทธิ์” ร่วมลงชื่อผลักดันรัฐเปิดพื้นที่แสดงความเห็นร่าง รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สาธิต ปิตุเตชะ
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับ “อภิสิทธิ์” ร่วมลงชื่อกลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย เสนอรัฐเปิดพื้นที่แสดงความเห็นร่าง รธน.ก่อนทำประชามติ กำหนดทางเลือกให้ประชาชนหากร่าง รธน.ไม่ผ่าน ระบุหากยังปิดกั้นประชาชนจะลงคะแนนตามคำแนะนำของผู้มีอำนาจในพื้นที่

นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ได้ร่วมลงชื่อในคำแถลงว่าด้วยการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคม 2559 ฉบับที่ 2 ของกลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใยว่า ตนได้ร่วมลงชื่อตั้งแต่คำแถลงครั้งแรกที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559 โดยเห็นว่าการทำประชามติควรจะให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่หลากหลายเป็นธรรมชาติเพื่อให้บรรยากาศการทำประชามติมีผลในการเรียนรู้และทำให้ประชามติเป็นของส่วนรวม ตนได้สัมผัสกับประชาชนในพื้นที่พบว่าคนไม่ให้ความสำคัญต่อการทำประชามติเพราะกฎหมายห้ามหลายอย่างจนไม่กล้าทำอะไร กลายเป็นการไม่สนใจทำให้ไม่มีข้อมูลรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเอง เมื่อจะลงคะแนนก็ไม่มีความรู้แต่ใช้วิธีการสอบถามความเห็นจากคนที่ตัวเองไว้ใจว่าควรลงคะแนนอย่างไร กลายเป็นการออกเสียงประชามติตามความเชื่อและเป็นไปตามระบบอุปถัมภ์หรือการชี้นำของกลไกรัฐ

ดังนั้น จึงเห็นด้วยต่อหลักการของกลุ่มนี้ที่เสนอให้รัฐปรับบทบาทและแนวคิดใหม่ให้นำไปสู่การทำประชามติที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งยังทำได้ในเวลาที่เหลืออยู่และทำให้เงินสามพันล้านไม่สูญเปล่าโดยสิ้นเชิง

นายสาธิตกล่าวด้วยว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่วมลงชื่อกับกลุ่มนี้ก่อนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ โดยเป็นการลงชื่อกับองค์กรที่หวังดีต่อประเทศเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการลงประชามติและหวังให้ผู้มีอำนาจปรับปรุงวิธีการ ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาเกี่ยวกับการพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องนี้ต้องดูหลายมิติทั้งเรื่องเนื้อหา สถานการณ์ทางการเมือง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายของประเทศในการเดินไปพร้อมกัน ไม่ใช่เป็นประชามติที่ฝ่ายหนึ่งต้องการชนะส่วนอีกฝ่ายต้องการดิสเครดิตโดยไม่มีเหตุผลต่อต้องการเอาชนะเพื่อแย่งชิงอำนาจ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจต้องคิดวิธีที่เกิดความสมดุลย์ด้วยการปรับทัศนคติของตัวเอง สำหรับจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไรให้รอดูหลังจากวันที่ 25 ก.ค. 2559 ซึ่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะเดินทางกลับประเทศไทยในคืนวันที่ 24 ก.ค. 2559

สำหรับเนื้อหาในคำแถลงว่าด้วยการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคม 2559 ของกลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย มีสาระสำคัญคือ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายในสังคมร่วมกันผลักดันให้ข้อเสนอ 5 ข้อ เกิดขึ้นได้จริง คือ 1. เคารพในสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยต้องเปิดให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยได้ถกแถลงด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนและรอบด้าน เอื้อให้มีพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยสำหรับทุกฝ่ายเพื่อการแสดงความเห็นอย่างสร้างสรรค์

2. ต้องมีการเสนอทางเลือกที่ชัดเจนให้กับประชาชน ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ว่ามีการกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรต่อไป 3. ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ ควรมีกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากฉันทามติผ่านกลไกทุกกลุ่มทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการออกแบบกระบวนการและกำหนดหลักการสำคัญในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตย เป็นไปตามกรอบเวลาที่มีการประกาศไว้ในโร๊ดแมพ สู่การเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

4. หากหลักการตามข้อเรียกร้อง ข้อ 1-3 ที่กล่าวมาข้างต้นเกิดขึ้นจริง ทุกกลุ่มทุกฝ่ายควรยอมรับในผลของการทำประชามติ โดยร่วมกันส่งเสริมให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพในสังคม และ 5. รัฐธรรมนูญที่จะได้มานั้นควรมีหลักการสำคัญ อาทิ การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิของประชาชนในด้านต่างๆ ที่ไม่ถดถอยไปจากเดิม การตรวจสอบการถ่วงดุลการใช้อำนาจอธิปไตยของกลไกทางการเมืองที่มีความสมดุลย์ การกำหนดให้มีการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรม การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่มีความพร้อมในการจัดการตนเอง การกำหนดมาตรการในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น และมาตรการในการป้องกันความขัดแย้งไม่ให้ขยายผลไปสู่การใช้ความรุนแรง รวมทั้งมีบทบัญญัติที่เอื้อให้สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ยากเกินไป เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงของสังคมตามความจำเป็นและตามกรอบของกฎหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น