“ดุสิตโพล” เปิดเผลสำรวจชาวบ้านส่วนใหญ่ 82% อยากรู้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับเพื่อตัดสินใจในการลงประชามติ จี้ กกต.กระตุ้นประชาชนให้ออกมาใช้สิทธิ 80% ระบุใช้วิจารณาณของตัวเองในการตัดสินใจลงประชามติ
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,304 คน ระหว่างวันที่ 18-22 ก.ค.ที่ผ่านมา เรื่อง “โค้งสุดท้ายประชามติร่างรัฐธรรมนูญ” ผลสำรวจถึงเหตุผลของการจะทำประชามติที่มีความขัดแย้งกัน พบว่าประชาชนร้อยละ 77.45 เห็นว่ามาจากมุมมองความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน เห็นต่างกัน จึงทำให้มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 72.39 มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องโดยเฉพาะการเมือง ร้อยละ 61.86 กระบวนการขั้นตอนต่างๆ ยังไม่ชัดเจน ร้อยละ 58.28 ประชาชนยังขาดความเข้าใจในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ และร้อยละ 45.86 มีการสร้างกระแส ใส่ร้ายป้ายสี บิดเบือนข้อมูลข้อเท็จจริง
สำหรับสิ่งที่ประชาชนอยากรู้เพื่อตัดสินใจลงประชามตินั้น พบว่าประชาชนร้อยละ 82.75 ระบุว่าสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ประชาชนจะได้รับ ร้อยละ 78.14 ระบุว่าอยากรู้เนื้อหารายละเอียดสำคัญหลักๆ ของร่างรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 74 อยากรู้ทิศทางการดำเนินงานหลังจากการลงประชามติเสร็จสิ้นลง ร้อยละ 59.97 อยากรู้เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับบทลงโทษผู้กระทำผิดทางการเมืองและทุจริตคอร์รัปชั่น ร้อยละ 55.29 ผลดี-ผลเสียในการจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
ส่วนสิ่งที่ประชาชนอยากให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประชาสัมพันธ์เรื่องอะไรบ้างเกี่ยวกับการทำประชามติครั้งนี้ พบว่า ประชาชนร้อยละ 74.85 อยากให้กระตุ้นเชิญชวนให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิในครั้งนี้ ร้อยละ 68.94 อยากให้ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 66.79 อยากให้ประชาสัมพันธ์วิธีการและขั้นตอนการลงประชามติที่ถูกต้อง ร้อยละ 63.11 อยากให้ประชาสัมพันธ์บริเวณหรือสถานที่ออกไปใช้สิทธิลงประชามติ ร้อยละ 53.6 อยากให้ประชาสัมพันธ์ช่องทางในการติดต่อ สอบถาม หรือแจ้งเบาะแสต่างๆ เกี่ยวกับการลงประชามติ
เมื่อถามว่าการที่จะตัดสินใจรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการลงประชามติมีอะไรบ้าง พบว่า ประชาชนร้อยละ 80.29 ระบุว่าใช้วิจารณญาณของตัวเองในการตัดสินใจ ร้อยละ 67.48 เห็นว่าพิจารณาจากเนื้อหา ครอบคลุม ชัดเจน เป็นธรรม ร้อยละ 59.1 พิจารณาจากกระบวนการในการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร้อยละ 57.13 ฟังจากกระแสสังคม เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของบุคคลที่น่าเชื่อถือ ร้อยละ 54.6 ศึกษาข้อมูล เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย