ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -นอกเหนือจากเรื่องการ FACE OFF สลับร่างกันระหว่าง “พระธัมมชโย” กับ “พระทัตตฺชีโว” ในเก้าอี้ “เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย” แล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันนั่นก็คือการวินิจฉัยตีความ ม.7 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ของคณะกรรมการกฤษฎีกา เกี่ยวกับประเด็นการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ว่า โดยข้อเท็จจริงตามกฎหมายแล้ว “อำนาจ” อยู่ที่ใคร ระหว่าง “มหาเถรสมาคม(มส.)” องค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย กับ “นายกรัฐมนตรี” ในฐานะผู้ที่จะต้องนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการ
กำลังเป็นประเด็นที่ 2 ฝ่ายกำลังนำไปขยายผล โดยเฉพาะฝ่ายกองหนุนสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ นำโดย “เจ้าคุณประสาร(พระเมธีธรรมาจารย์)” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ในฐานะเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย และฝ่ายคัดค้านนำโดย “นายไพบูลย์ นิติตะวัน” กับ “นพ.มโน เลาหวณิช”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าคุณประสารที่ดูเหมือนจะเต้นแร้งเต้นกาเป็น “องครักษ์พิทักษ์สมเด็จช่วง” อย่างสุดลิ่มทิ่มประตูถึงขั้นข่มขู่ว่าจะปลุกม็อบขึ้นมาเคลื่อนไหวภายใน 7 วันหากไม่มีการนำรายชื่อ “สมเด็จช่วง” ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช
ทั้งนี้ เรื่องของเรื่องเป็นผลมาจากการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมียื่นตีความว่าการเสนอนามสมเด็จพระสังฆราชของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ตามมติของมหาเถรสมาคม (มส.) ชอบหรือไม่ ซึ่งกฤษฎีกาก็มีคำวินิจฉัยออกมาชัดเจนว่า สิ่งที่ พศ.ดำเนินการตามมติของ มส.นั้น เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย กล่าวคือก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเสนอนามสมเด็จพระสังฆราชต้องได้รับความเห็นชอบจาก มส.ก่อน และต้องเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะที่อาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ซึ่งตามกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าการเสนอรายชื่อนั้นจำเป็นต้องริเริ่มจากนายกฯ ดังนั้น การส่งความเห็นมส.มา จึงไม่ขัดกับมาตรา 7
ทว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ดูเหมือนจะไม่เออออห่อหมกกับการตีความของกฤษฎีกา โดยประกาศชัดเจนว่า “ไม่ได้ว่าอะไร อำนาจใครก็อำนาจใคร ผมมีหน้าที่อะไร มีหน้าที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วผมทูลเกล้าฯ ในสิ่งที่มีปัญหาได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ก็จบ”
นั่นหมายความว่า ตราบใดที่คดีความและข้อกล่าวหาของสมเด็จวัดปากน้ำยังไม่จบสิ้น การนำรายชื่อของสมเด็จวัดปากน้ำขึ้นทูลเกล้าฯ จะไม่เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด
เฉกเช่นเดียวกับ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายที่ให้ความเห็นเอาไวชัดเจนเช่นกันว่า “สื่อหลายสำนัก ทีวีหลายช่องไปออกข่าวทำนองว่ากฤษฎีกาวินิจฉัยแล้วว่าเป็นอำนาจของ มส. ผมฟังแล้วมันไม่ผิดหรอก แต่มันก็ไม่ถูก เพราะความจริงแล้วเป็นอำนาจของ มส.ที่จะพิจารณาเริ่มเรื่องได้ แต่เมื่อส่งมาที่นายกฯ แล้วก็ถือว่าเป็นอำนาจของนายกฯ เรื่องอยู่ที่ใคร คนนั้นก็มีอำนาจ ดังนั้น ขณะนี้เป็นเรื่องระหว่างนายกฯ กับสำนักราชเลขาธิการฯ เท่านั้น ไม่มีอะไรที่ต้องกลับไปที่ มส.อีกแล้ว จบหน้าที่ของ มส.แล้ว”
เมื่อเป็นเช่นนั้น ฝ่ายกองเชียร์สมเด็จช่วงนำโดยพระเมธีธรรมาจารย์เจ้าเก่าที่เคยจัดม็อบพระที่พุทธมณฑลจนเกิดภาพ “พระล๊อกคอทหาร” มาแล้ว และเคลื่อนไหวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวัดพระธรรมกายในเรื่องการผลักดันให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ จึงออกโรงกดดันรัฐบาลให้ พล.อ.ประยุทธ์เร่งดำเนินการเพราะเรื่องยืดเยื้อเรื้อรังมานาน โดยข่มขู่ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “หากไม่ดำเนินการดังกล่าว องค์กรพุทธพร้อมภาคีเครือข่ายจะรอดูท่าทั้งหมดของผู้เกี่ยวข้องภายใน 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะกำหนดท่าทีร่วมกันในการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ ทั่วประเทศ”
และนั่นนำมาสู่คะประกาศกร้าวของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า ถ้าออกมาโดยจับยัดคุกแน่ๆ
“ตกลงประเทศไทยเป็นรัฐของใคร ก็ออกมา กฎหมายเขามีหรือเปล่า คำสั่ง คสช.เขาว่าอย่างไร ชุมนุมเกิน 5 คนได้หรือเปล่า อยากเคลื่อนไหวก็ออกมา จับวันนี้ไม่ได้ก็พรุ่งนี้ ไม่ว่าจะใครทั้งนั้น ผมไม่ได้พุดแค่ผู้ที่ถูกกล่าวชื่ออย่างเดียว ทั้งหมดนั่นแหละ ผิดกฎหมาย ผมไม่ปล่อยปละละเลย มายื่นคำขาดกับผมอย่างนี้ได้หรือ ผมควรจะเป็นคนยื่นคำขาดมากกว่า แต่ผมยังไม่ทำเลย” พล.ประยุทธ์กล่าวอย่างมีอารมณ์ฉุนเฉียว
งานนี้ ดุเดือดเลือดพล่านชนิดที่เจ้าคุณประสารยังต้องถอยกรูดไม่เป็นขบวนเลยทีเดียว
ที่สำคัญคือ ถ้าหากพินิจพิเคราะห์ท่าทีของผู้มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์โดยตรงอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ก็จะเห็นได้ชัดและฟันธงไปเลยได้ว่า “สมเด็จช่วงวืดเก้าอี้สมเด็จพระสังฆราช 100%” ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะ พล.อ.ประยุทธ์หรือผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงในฐานะผู้นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ
ส่วนคนที่กำลังถูกจับตาไม่แพ้เจ้าคุณประสารก็คือ “นายสุวพันธ์ ตันยุวรรณธนะ” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เจอข้อหา “หนอนบ่อนไส้” เนื่องจากแถลงผลการตีความของกฤษฎีกาแบบ “กั๊กๆ” ไม่นับรวม “นายพนม ศรศิลป์” ผู้อำนวยการ พศ.ที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า เลือกยืนอยู่ฝ่ายไหน
กระนั้นก็ดี นอกเหนือจากคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์แล้ว สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยเฉพาะ “นายรักษเกชา แฉ่ฉาย” เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะพบว่า มี “ประเด็น” ที่จำต้องถอดความอยู่ไม่น้อย
เนื่องเพราะวรรค 2 ของมาตรา 4 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า “ต้องทูลเกล้าฯ สมเด็จพระราชาคณะที่อาวุโสสูงสุด ซึ่งสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้” ซึ่งคำว่าสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้กินความหมายที่กว้างขวางยิ่งนัก เพราะอยู่ที่ดุลยพินิจของนายกฯ ว่ารายชื่อสมเด็จพระราชาคณะที่ มส.เสนอขึ้นมานั้นจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่
นี่คือโจทย์ใหญ่ที่เจ้าคุณประสารต้องขบคิดให้แตกก่อนที่พ่ายแพ้ในการต่อสู้ชนิดที่ยากจะกลับมาถามหาชัยชนะได้อีกเลย
แต่เชื่อเถอะว่า งานนี้ เจ้าคุณประสารคงกำลังคิดหากระบวนท่าในการเคลื่อนทัพอยู่ เพราะถ้าไม่ทำอะไรเลย ก็เห็นอนาคตแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพียงแต่ว่า จะทำอย่างไรเท่านั้น
และห้วงเวลานี้ ก็เป็นห้วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กำลังเจอศึกสองด้านในเวลาเดียวกัน ด้านหนึ่งคือ การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเครือข่ายรัฐไทยใหม่ก่อหวอดอย่างต่อเนื่อง ทั้งหัวโจกเสื้อแดง ทั้งเครือข่ายนักวิชาการและนักศึกษาที่จุดชนวนความวุ่นวายก่อนลงประชามติ 7 สิงหาคมนี้
ส่วนศึกอีกด้านคือ การตั้งสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเครือข่ายพระเสื้อแดงกำลังเคลื่อนตัวระรอกใหม่ และพร้อมจะประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐธรรมกายที่พรั่งพร้อมไปด้วยสรรพกำลังในทุกรูปแบบ ทั้งกำลังคน กำลังทรัพย์และกำลังศรัทธาที่ท่องคาถาเดียวในหัวใจว่า “เราเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของหลวงพ่อธัมมชโย”
ถ้าแก้ว 3 ประการของรัฐไทยใหม่หลอมหลวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐธรรมกายได้ลงตัวเมื่อไหร่ รับรองว่า ยุ่งแน่ เพราะถ้าพวกเขาสามารถล้มรัฐบาลได้ นั่นเท่ากับ set zero ทุกอย่างในบ้านนี้เมืองนี้จะกลับมาเริ่มต้นใหม่กันอีกครั้ง
และนั่นคือโอกาสหนึ่งเดียวของนักโทษชายหนีคดีและต้นธาตุต้นธรรมของชาวธรรมกาย