xs
xsm
sm
md
lg

ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ถอนกฎหมายปิโตรเลียมสัมปทานจำแลง 2 ฉบับ ออกจาก สนช. ก่อนลงประชามติรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ใครจะคิดก่อนล่วงหน้าว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ที่ถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์เต็มจะออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 40/2559 เพื่อให้ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 48/2557 เรื่องการสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่าง ส่งผลทำให้ความขัดแย้งในเรื่องการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินที่กำลังมีปัญหายัดเยียดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้รับรองผลให้ได้ทั้งที่มีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติมาก่อนหน้านี้ต้องยุติลงไปโดยปริยาย

ไม่ใช่ครั้งแรกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เปลี่ยนแปลงคำสั่งที่อาจสร้างปัญหา แต่มีอีกหลายกรณีก่อนหน้านี้ด้วย เช่นการออกคำสั่งห้ามคนบุกรุกป่าแต่ก็ปรับปรุงคำสั่งต่อมาว่าไม่ให้กระทบชาวบ้านและคนยากจนที่อยู่แต่เดิม หรือการตั้งเงื่อนไขในเรื่องห้ามโรงไฟฟ้าขยะตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำดิบหรือน้ำประปาซึ่งส่งผลทำให้โรงไฟฟ้าขยะบางแห่งต้องยุติลงไปโดยปริยาย ฯลฯ

ดังนั้นไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะไม่อยากเห็นหน้าหรือพาดพิงภาคประชาชนกลุ่มไหนเพียงใดก็ตาม แต่ก็ควรจะทราบเอาไว้ด้วยว่าเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ยังคงฝากความหวังการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในความคิดเห็นเรื่องปิโตรเลียมที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) กับ กระทรวงพลังงานเอาไว้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาอยู่

และไม่ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะตัดสินใจที่จะเพิกเฉย หรือดำเนินการถอนร่างกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับออกจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือไม่ แต่การตัดสินใจนั้นจะไม่เพียงแต่มีผลต่อการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 เท่านั้น แต่จะมีผลต่อ “ศรัทธา” ที่มีต่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงความเชื่อมั่นในการปฏิรูปประเทศภายหลังจากวันที่ 7 สิงหาคม 2559 อีกด้วยไม่มากก็น้อย อันสืบเนื่องมาจาก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมดังนี้

ประการแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไปตั้งแต่ปีที่แล้ว ก็เพราะภาคประชาชนเรียกร้องว่าจำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จนเป็นเหตุทำให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งผ่านการรับฟังความเห็นของประชาชนมาแล้ว แต่พอถึงเวลาจริงกฎหมายปิโตรเลียมที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติกลับไม่แก้ไขในหลักการสำคัญให้ครบถ้วนตามผลการศึกษาดังกล่าว แล้วจะมีความชอบธรรมได้อย่างไร?

ประการที่สอง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ได้บัญญัติให้มีการต่ออายุสัมปทานได้อีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อแหล่งบงกชและเอราวัณได้รับการต่อสัญญามาแล้ว 1 ครั้ง ดังนั้นจึงไม่สามารถต่ออายุสัมปทานได้อีกตามกฎหมาย และควรจะนำแหล่งปิโตรเลียมทั้ง 2 แห่งนั้นกลับคืนมาเป็นของรัฐไทยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่กลับปรากฏว่ามีการแก้ไขกฎหมายให้เพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิตที่เลียนแบบระบบสัมปทานกล่าวคือ การยกเอกสิทธิ์การบริหารและการขายปิโตรเลียมไปให้กับเอกชน โดยรัฐไม่จัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติให้ขึ้นมาถือครองกรรมสิทธิ์ บริหาร และขายปิโตรเลียมของรัฐ จึงเสมือนเป็นการเลี่ยงถ้อยคำการต่ออายุสัมปทาน ให้กลายเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตที่ใช้หลักการเดียวกับสัมปทาน ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมามีความพยายามจะใช้วิธีเจรจายกให้กับเอกชนผู้รับสัมปทานรายเดิม จริงหรือไม่ และจะมีความชอบธรรมได้อย่างไร?

โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งปิโตรเลียมบงกช และเอราวัณนั้นถือเป็นแหล่งปิโตรเลียมที่มีขนาดใหญ่ที่สุด หากพลาดโอกาสครั้งนี้อธิปไตยปิโตรเลียมไทยใน 2 แหล่งสำคัญจะถูกทำลายและหลุดลอยไปอีก 39 ปี จนพวกเราทั้งหมดก็คงจะไม่มีชีวิตเรียกร้องอยู่ถึงวันนั้นอีกแล้ว อีกทั้งหลังจากนี้ทุกรัฐบาลก็คงจะอ้างบรรทัดฐานจากแหล่งบงกชและเอราวัณไปทำแบบเดียวกันกับแหล่งปิโตรเลียมที่จะทยอยหมดอายุลงไปเรื่อยๆอีก สรุปก็คือประเทศไทยจะสูญเสียอธิปไตยปิโตรเลียมไทยไปชั่วลูกชั่วหลานอีกตราบนานเท่านาน

ประการที่สาม ปัญหารอยต่อการผลิตปิโตรเลียมเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการประมูลแบบให้คะแนนเพื่อประเคนแหล่งปิโตรเลียมบงกชและเอราวัณนั้นไม่สามารถฟังขึ้นได้เลย ด้วยเหตุผลคือ ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว LNG มีราคาลดลงอย่างต่อเนื่องและมีราคาต่ำกว่าก๊าซธรรมชาติใน ประเทศไทยด้วยจึงย่อมสามารถนำมาทดแทนได้อยู่แล้ว และยังมีวิธีการบริหารจัดการอีกมากที่สามารถหาพลังงานทดแทนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลยังมีเครื่องมือการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 มาตรา 52 ทวิ ที่เอกชนผู้รับสัมปทานรายเดิมต้องยังคงกำลังการผลิตต่อเนื่องหรือมากขึ้นตามที่รัฐบาลต้องการเพื่อรักษาสิทธิมิให้ถูกยกเลิกสัมปทาน ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือต่อรองให้ผู้ชนะประมูลรายอื่นสามารถเข้าพื้นที่แหล่งสัมปทานเพื่อผลิตปิโตรเลียมก่อนล่วงหน้าได้ ดังนั้นจะอ้างเรื่องความต่อเนื่องเพื่อล็อกสเปกการประมูลโดยการใช้ดุลพินิจให้คะแนนโดยคณะกรรมการเพียงไม่กี่คนแทนการประมูลผลตอบแทนเป็นสัดส่วนปริมาณปิโตรเลียมแก่รัฐสูงสุดไม่ได้ ซึ่ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมที่มีการแก้ไขครั้งนี้ก็ไม่ได้มีความชัดเจนในเรื่องวิธีการประมูลว่าจะมีหลักประกันเพื่อความโปร่งใสและการแข่งขันผลตอบแทนแก่รัฐอย่างชัดเจนแต่ประการใด และอาจกลายเป็นรากฐานที่สร้างช่องโหว่ให้กับนักการเมืองในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนในวันข้างหน้าได้อีกด้วย

ปัญหาทั้งสามประการข้างต้นเป็นปัญหา “หลักการ” ดังนั้นเมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เห็นชอบกับหลักการในวาระที่ 1 ไปแล้ว ก็ไม่สามารถแก้ไขให้หลักการสำคัญเปลี่ยนแปลงได้อีก ไม่ว่าจะแก้ไขในคณะกรรมาธิการวิสามัญในรายละเอียดปลีกย่อยอย่างไรก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหลักการข้างต้นดังกล่าวได้เลย สายการผลิตกฎหมายจึงเดินหน้าต่อไปบนหลักการที่มีความขัดแย้งกับประชาชนอย่างสิ้นเชิง จึงไม่มีทางที่จะหาข้อยุติได้ด้วยกระบวนการสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นสภาฝักถั่วยกมือตามความต้องการของรัฐบาลในที่สุด

และไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจนำเสนอกฎหมายปิโตรเลียมที่มีความขัดแย้งกับภาคประชาชนเข้าไปสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติในช่วงก่อนทำประชามติรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ก็ย่อมเป็นหมากบังคับที่ทำให้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จำเป็นต้องเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านกฎหมายดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะความหมายของการลงประชามติรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่จะส่งถ่ายอำนาจของตัวเองผ่านสมาชิกวุฒิสภาไปผสมกับอำนาจนักการเมืองที่มาจากการเลือกนั้น จะมีความชอบธรรมหรือไม่ก็จะถูกพิสูจน์ได้ว่าจะใช้อำนาจนั้นเพื่อกลุ่มทุนพลังงานหรือเพื่อประชาชนกันแน่? และประชาชนควรจะไว้วางใจหรือพึ่งหวังในสืบทอดอำนาจนั้นหรือไม่?

และคำถามที่ตามมา คือการเกิดวิกฤติทางการเมืองที่ผ่านมานั้นแท้จริงแล้วมาจากรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ หรือปัญหาที่แท้จริงนั้นเกิดจากการกระทำของนักการเมืองและข้าราชการที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงไม่ฟังเสียงของประชาชนหรือไม่ และถ้าประชาชน “เห็นชอบ” กับประชามติพร้อมคำถามพ่วงแล้ว บรรยากาศที่ “อำนาจทหารที่ต้องไปผสมกลมกลืนกับนักเลือกตั้ง” นั้นก็จะเกิดคำถามมาอย่างมากมายหลายประเด็น เช่นว่า

จะสามารถปฏิรูปประเทศหลังเลือกตั้งได้จริงหรือ?

และก่อนเลือกตั้งจะปฏิรูปได้อย่างไร เมื่อข้าราชการจะใส่เกียร์ว่างรอวันหลังเลือกตั้ง?

ขนาดมีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์เต็มมือยังผลิตกฎหมายปิโตรเลียมที่ไม่น่าไว้วางใจแบบนี้ แล้วถ้าใช้อำนาจทหารที่ผสมไปกับนักการเลือกตั้งจะทำกันแบบไหน?

ยังไม่รวมถึงปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาเรื่องวัดธรรมกาย ปัญหาการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ปัญหานักการเมืองทุจริต ปัญหาการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ ฯลฯ จะทำได้หลังเลือกตั้งจริงๆหรือ?

และคำถามที่อาจทำให้หลายคนอาจต้องเจ็บปวดตามมาก็คือ ถ้าการปฏิรูปไม่สามารถเกิดขึ้นหลังลงประชามติได้แล้ว แปลว่าตกลง “ทหารและนักเลือกตั้งประนีประนอมกันลงตัว”แล้วใช่หรือไม่?

แต่ถ้าประชามติและคำถามพ่วงไม่ผ่านนั้นน่าสนใจกว่าว่า...

ประชาชนที่ลงประชามติไม่เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญนั้นเขาเกลียดทหารจึงต้องการทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลทหารเพื่อจะได้หาทางขับไล่หรือโค่นล้มรัฐบาลได้มากขึ้น

หรือลงประชามติไม่เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญเพราะอยากให้ทหารอยู่ต่อนานขึ้นโดยไม่ต้องเลือกตั้ง?

ประชาชนฝ่ายไหนมากกว่าก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของรัฐบาลเองก่อนลงประชามติว่าทำเพื่อประชาชนหรือทำเพื่อผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจและกลุ่มทุนสามานย์เพียงไม่กี่คนกันแน่ ?

ดังนั้นก่อนวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ถ้าหากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ใช้มาตรา 44 ตัดสินใจถอนร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่มีปัญหาในขณะนี้ออกจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แล้วตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ทั้งรัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และภาคประชาชนมาร่วมร่างกฎหมายเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนกันใหม่ รับรองได้ว่านอกจากจะจะสามารถหยุดการเคลื่อนไหวของประชาชนที่คัดค้านกฎหมายและนโยบายด้านปิโตรเลียมทั้งประเทศ 77 จังหวัดแล้ว ยังจะมีผลเปลี่ยนแปลงต่อความนึกคิดของประชาชนต่อการตัดสินใจลงประชามติและการสนับสนุนรัฐบาลทหารต่อไปหรือไม่อย่างแน่นอน

และที่สำคัญถ้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจใช้อำนาจถอนร่างกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับออกจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติเหมือนกับหลายเรื่องที่ทำมาก่อนหน้านี้แล้ว เชื่อได้ว่าจะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่จะสามารถครองใจประชาชนที่รักชาติให้มารวมพลังสามัคคีในการปฏิรูปประเทศเพื่อผลประโยชน์องประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น