เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย เตรียมยื่นถวายฎีกา หลังกระทรวงการคลัง ส่อเบี้ยวข้อตกลงกับ สตง. ไม่ยอมเสนอ ครม. ให้สั่งการให้ ปตท. ส่งมอบท่อก๊าซ ส่วนที่ยังคืนไม่ครบตามคำพิพากษาศาลปกครองเมื่อปี 57 แต่กลับจะแนะนำ ครม. ให้ออกมติให้ผู้ถูกฟ้องคดียื่นศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง
วันนี้ (29 ม.ค.) เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้จัดแถลงข่าว เรื่อง คปพ. จะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาเรื่องท่อส่งก๊าซ โดยระบุว่า ถ้าหากคณะรัฐมนตรีไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คปพ. ก็จะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา เพื่อร้องเรียนให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนเกิดขึ้นให้ได้
ตามที่ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559 และได้มีข้อตกลงร่วมกันแล้ว ให้เสนอต่อ ครม. เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 ประกอบกับมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) โดยจะเสนอให้ ครม. ออกคำสั่งให้มีการส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด นั้น คปพ. พบว่ากระทรวงการคลังได้แก้ไขเพิ่มเติมมติที่ประชุม โดยจะมีการแนะนำให้ ครม. มีมติให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อมีข้อยุติแทน ทั้งที่แนวทางนี้มิได้มีการตกลงกันในการประชุมดังกล่าว
คปพ. เห็นว่า เรื่อง การแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งดำเนินการในสมัยรัฐบาลของ นายทักษิณ ชินวัตร โดยไม่แบ่งแยกท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกไปก่อนนั้น อาจจะเข้าข่ายเป็นการทุจริตคอร์รัปชันในเชิงนโยบาย ที่ประสงค์จะมอบให้อำนาจผูกขาดในการหาประโยชน์จากระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเดิมเป็นของรัฐ ตกไปอยู่ในมือของบริษัทเอกชน การดำเนินการเช่นนั้น นอกจากจะทำให้รัฐขาดประโยชน์ที่ควรจะได้แล้ว ยังทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอีกด้วย เพราะรายได้ผูกขาดจากระบบท่อก๊าซธรรมชาติที่ตกเป็นของเอกชน ไปเพิ่มต้นทุนค่าไฟฟ้า และพลังงานให้แก่ผู้บริโภค จึงทำให้ประชาชนต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นดังกล่าว แต่บริษัทเอกชนเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์
นอกจากนี้ ถึงแม้ภาคประชาชนจะได้ฟ้องศาลปกครองสูงสุด และศาลจะได้พิพากษาให้โอนสาธารณสมบัติคืนให้กระทรวงการคลังแล้วก็ตาม แต่ก็มีการดำเนินการในลักษณะที่ทำให้มีการโอนท่อส่งก๊าซธรรมชาติแต่เพียงบางส่วนเท่านั้น และแม้แต่ คตง. ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระจะได้พิจารณาและมีมติให้แก้ไขแล้วก็ตาม รัฐบาลก็ยังมิได้ดำเนินการ
คปพ. เห็นว่า การแก้ไขมติที่ประชุมโดยกระทรวงการคลังดังกล่าวข้างต้นนั้น เป็นการส่อเจตนาชัดแจ้งที่จะไม่เสนอ ครม. ให้ปฏิบัติตามความเห็นของ สตง.
คปพ. มีความเห็นว่า ถึงแม้การโอนท่อก๊าซธรรมชาติในการแปรรูปในสมัยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร จะเกิดขึ้นนานแล้วก็ตาม แต่เหตุการณ์ภายหลังจากนั้น ทั้งในรัฐบาลของ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ และในรัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มิได้มีการแก้ไขให้ถูกต้อง กลับปรากฏมีความพยายามที่จะหาทางประวิงเวลาการส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติมาโดยตลอด โดยล่าสุด เลขาธิการสำนักงานกฤษฎีกา ถึงแม้จะมีความเห็นให้มีการแก้ไขเรื่องนี้ แต่แทนที่จะเสนอให้ ครม. ใช้อำนาจสั่งการ กลับเสนอให้กระทรวงการคลัง และ สตง. ร่วมกันเสนอคำร้องกลับไปที่ศาลปกครองอีกครั้งหนึ่ง ทั้งที่ประเด็นและข้อถกเถียงระหว่างหน่วยงานนั้น มีความชัดเจนในเรื่องตัวเลข และข้อเท็จจริงทั้งหมดอยู่แล้ว และ ครม. ก็มีอำนาจและหน้าที่ที่จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้เองอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องประวิงเวลา โดยเสนอข้อร้องเรียนกลับไปที่ศาลแต่อย่างใด
ดังนั้น ถ้าหาก ครม. ไม่ดำเนินการตามที่ สตง. และกระทรวงการคลัง ได้ประชุมกัน และมีข้อตกลงร่วมกันไว้เดิม คปพ. เห็นว่า จะเป็นการแสดงเจตนาที่จะหาทางประวิงเวลา และจำเป็นจะต้องทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อไป เนื่องจากในขณะนี้ประเทศไทยประสบปัญหาภาพพจน์ตกต่ำในเรื่องทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างหนักหลายกรณี ดังมีข่าวออกไปทั่วโลก แต่รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร ดังนั้น คปพ. จึงเห็นว่า การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาจะเป็นวิธีเดียวที่เหลืออยู่ที่จะทำให้ความยุติธรรม และความซื่อสัตย์สุจริตเกิดขึ้นในประเทศในรัชสมัยนี้อย่างแท้จริง
คปพ. ขอย้ำว่า รัฐบาลมีหน้าที่สำคัญที่สุดที่จะต้องปกป้องสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพราะทรัพย์สินที่เกิดขึ้นโดยอาศัยอำนาจมหาชนของรัฐนั้น มีลักษณะไม่ต่างไปจากราชสมบัติที่พระเจ้าแผ่นดินในทุกรัชสมัยที่ผ่านมา ได้ทรงพระกรุณาจัดให้ทำไว้ เพื่อให้เป็นทรัพย์สินที่จะใช้ในการสร้างประโยชน์บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่อาณาประชาราษฎร์ และการคอร์รัปชันฉกฉวยเอาสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปเป็นประโยชน์ส่วนตนนั้น ตรงกับความหมายของคำว่าฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างร้ายแรงที่สุด
ทั้งนี้ การถวายฎีกาเป็นไปตามนิติโบราณราชประเพณี โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงประกาศไว้ว่า “พระมหากษัตริย์ต้องรับฎีการาษฎร จะห้ามมิได้” และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงวางระเบียบในการถวายฎีกาว่าให้กระทำได้กรณีเป็นการกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจกดขี่ข่มเหง ฉ้อราษฎร์บังหลวง ดังนั้น คปพ. จึงเห็นว่าเหมาะสมสำหรับกรณีนี้เป็นอย่างยิ่ง