xs
xsm
sm
md
lg

“คปพ.” ยื่น ก.พลังงานค้านร่างกฎกระทรวง 3 ฉบับ ชี้ทำระบบ PSC เพี้ยนเอื้อรายเก่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คปพ.ตบเท้ายื่นหนังสือถึงกระทรวงพลังงานคัดค้านร่างกฎกระทรวง 3 ฉบับ เผยขัดต่อบทบัญญัติภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่หลายข้อโดยเฉพาะการเปิดรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์ที่ประชาชนทั่วไปเข้าไม่ถึง แถมระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC ถูกเขียนให้มีลักษณะเป็นระบบสัมปทานเดิมเอื้อให้ผู้ผลิตรายเดิม



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (25 พ.ค.) เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม พร้อมด้วยเครือข่ายประชาชนได้เข้ายื่นหนังสือพร้อมรายชื่อประชาชนที่ลงชื่อร่วมคัดค้านร่างกฎกระทรวง 3 ฉบับของกระทรวงพลังงานที่เปิดรับฟังความเห็นของประชาชนผ่านกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งนายธีระศักดิ์ จรัสศรีวิสิษฐ์ ผู้ช่วยปลัดพลังงานเป็นตัวแทน รมว.พลังงานมารับหนังสือ

นายปานเทพ กล่าวว่า การมายื่นหนังสือคัดค้านครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิตามขั้นตอนภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่ง คปพ.เห็นว่ามีความไม่ชอบหลายเรื่องโดยเฉพาะการออกกฎหมายลูกของกรมเชื้อเพลิงรองรับการเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและบงกชภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.....และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ....แต่ร่างกฎหมายปิโตรเลียมทั้งสองฉบับยังไม่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ถือเป็นการเร่งรีบและขัดหลักการหรือไม่

นอกจากนี้ กฎกระทรวง 3 ฉบับที่เปิดให้ประชาชนรับฟังความเห็นกฎกระทรวงผ่านเว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่ www.dmf.go.th ตั้งแต่ 11 พ.ค. และสิ้นสุดวันที่ 26 พ.ค.นี้อาจจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติหลายข้อภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ เพราะอาจเป็นการปิดกั้น ลิดรอน และละเมิดสิทธิของประชาชนที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีอินเทอร์เน็ต หรือไม่รู้วิธีการหรือไม่สะดวกในการเข้าไปในเว็บไซต์ และยังเปิดช่องทางให้รับฟังความเห็นผ่าน http://hearing.dmf.go.th/?cat=4 เท่านั้น

ขณะเดียวกัน ร่างกฎกระทรวง 3 ฉบับโดยเฉพาะร่างกฎกระทรวงที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. ..มีเนื้อหาที่ไม่ต่างจากระบบสัมปทานเดิมหรือเป็นระบบสัมปทานจำแลงที่ คปพ.ได้ทักท้วงมาตลอด ซึ่งขณะนี้เนื้อหาที่ถูกเขียนไว้ก็เป็นไปตามที่ทักท้วง ซึ่งทั้งหมดนี้อาจมิได้นำไปสู่การประมูลตามระบบแบ่งปันผลผลิตที่แท้จริงโดยยึดเอาผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน

อีกทั้งยังทำให้ระบบแบ่งปันผลผลิตมีลักษณะเนื้อหาเหมือนกับระบบสัมปทานเดิม โดยอำนาจในการบริหารและขายปิโตรเลียมตกเป็นของเอกชนคู่สัญญา ตลอดจนยังมิได้แก้ไขปัญหาหรือช่องโหว่ที่อาจทำให้เกิดการรั่วไหลหรืออาจทำให้เกิดการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงตามรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งได้ลงมติเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2558

“สิ่งที่เราห่วงที่สุดคือการจัดฉากทำให้ร่างกฎกระทรวงที่อ้างว่าเป็น PSC เป็นระบบสัมปทานเพียงจะเอื้อให้กับผู้ผลิตแหล่งเอราวัณและบงกชรายเดิมที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานซึ่งไม่สามารถต่ออายุสัมปทานได้อีก ซึ่งต้องมาประมูลใหม่แล้วมาใช้ระบบ PSC ที่มีเนื้อหาเหมือนระบบสัมปทานเดิม เราเล็งเห็นอาจเป็นการเข้าข่ายการกระทำที่มิชอบ และเรื่องนี้หากไม่ได้รับการแก้ไขตามที่ท้วงติงก็อาจนำไปสู่การดำเนินความตามคดีอาญาได้” นายปานเทพกล่าว



รายละเอียดหนังสือ คปพ.ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน



ด่วนที่สุด


เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย
๒๖๖ ซอยเพชรเกษม ๖๓/๒แขวงหลักสอง
เขตบางแค กรุงเทพฯ ๑๐๑๖๐



ที่ คปพ. ๑๐๗/๔๒-๒๕๖๐


วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๐



เรื่อง คัดค้านร่างกฎกระทรวงทั้ง ๓ ฉบับของกระทรวงพลังงานที่เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทางเว็บไซต์ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน


ภายหลังจากที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสียงข้างมากได้มีมติเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๐ เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... นั้น ปรากฏว่า เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๐ เว็บไซต์ศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center) ได้รายงานข่าวในหัวข้อ “เปิดร่างกฎกระทรวง ๓ ฉบับเกี่ยวกับสัญญาแบ่งปันผลผลิตเพื่อรับฟังความเห็นทางเว็บไซต์” ระบุว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเปิดร่างกฎกระทรวง ๓ ฉบับ ที่ออกตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๐ที่ผ่านมา เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทางเว็บไซต์ www.dmf.go.th ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามลำดับ นั้น
แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๗๗ วรรคสอง บัญญัติเอาไว้ว่า

"ก่อนตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน ...”

โดยกฎกระทรวงก็คือกฎหมายที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามมาตรา ๗๗ วรรคสองอย่างเคร่งครัดด้วย

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงมีความห่วงใยใน ๒ เรื่องดังต่อไปนี้

เรื่องที่ ๑
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีความเห็นว่า ข่าวที่ปรากฏข้างต้น อาจจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา ๔ มาตรา ๕ มาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง และวรรคสาม และมาตรา ๕๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ทั้งนี้เพราะลักษณะวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนดังกล่าว อาจเป็นการปิดกั้น ลิดรอน และละเมิดสิทธิของประชาชนที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีอินเตอร์เน็ต หรือไม่รู้วิธีการหรือไม่สะดวกในการเข้าไปในเว็บไซต์ www.dmf.go.th ถือเป็นการกระทำที่ทำให้บุคคลไม่เสมอกันในกฎหมาย ไม่มีสิทธิเสรีภาพและไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลในเรื่องภาษา อายุ ความพิการ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม การศึกษาอบรม ย่อมเป็นการขัดต่อหลักการบริหารบ้านเมืองที่ดี และอาจเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการละเมิดสิทธิของประชาชนตามมาตรา ๒๑๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐

เหตุผลดังกล่าวข้างต้นยังทำให้ประชาชนไม่สามารถทำหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติและ สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามบทบัญญัติมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐

เรื่องที่ ๒ การที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ประกาศทางเว็บไซต์ของตนว่า มีร่างกฎกระทรวงที่อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยได้แจ้งช่องทางการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน คือต้องแสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ทาง URL http://hearing.dmf.go.th/?cat=4 โดยมีร่างกฎกระทรวง จำนวน ๓ ฉบับ คือ

๑.ร่างกฎกระทรวงหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาในการนำส่งค่าภาคหลวงให้แก่รัฐ สำหรับผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. .... (ระยะเวลารับฟังความคิดเห็น ตั้งแต่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ถึง ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐)

๒.ร่างกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. .... (ระยะเวลารับฟังความคิดเห็น ตั้งแต่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ถึง ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐)

๓.ร่างกฎกระทรวง กำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. .... (ระยะเวลารับฟังความคิดเห็น ตั้งแต่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ถึง ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐)

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้พิจารณาแล้ว ขอทักท้วงร่างกฎกระทรวงทั้ง ๓ ฉบับด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

๑.ร่างกฎกระทรวงหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาในการนำส่งค่าภาคหลวงให้แก่รัฐ สำหรับผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. ....


โดยร่างกฎกระทรวงข้างต้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติให้ข้อมูลว่ามี หลักการ กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไข และระยะเวลาในการนำส่งค่าภาคหลวงให้แก่รัฐ สำหรับผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต โดยมีสาระสำคัญ ๕ ข้อ ปรากฏตามเว็บไซต์ที่เปิดรับฟังความคิดเห็น คือ

ข้อ ๑ กำหนดให้ผู้รับสัญญาเป็นผู้นำส่งค่าภาคหลวง

ข้อ ๒ อัตราค่าภาคหลวงร้อยละ ๑๐ ของผลผลิต รวมปิโตรเลียมที่ขายหรือจำหน่ายในเดือนนั้น

ข้อ ๓ ให้ชำระค่าภาคหลวงเป็นรายเดือน โดยค่าภาคหลวงสำหรับปิโตรเลียมที่ขายหรือจาหน่ายในเดือนใด ให้นำส่งภายในเดือนถัดไป

ข้อ ๔ ให้ชำระค่าภาคหลวงเป็นเงินบาท

ข้อ ๕ ให้ผู้รับสัญญายื่นแบบรายการนำส่งค่าภาคหลวงตามแบบที่อธิบดีกำหนด

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อทักท้วงในทุกข้อ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ “กำหนดให้ผู้รับสัญญาเป็นผู้นำส่งค่าภาคหลวง”

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อทักท้วง
คือ ระบบแบ่งปันผลผลิต ค่าภาคหลวงจะได้รับเป็นปิโตรเลียม โดยหน่วยงานของรัฐที่เป็นคู่สัญญากับเอกชนเป็นผู้นำส่งค่าภาคหลวงให้แก่ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ระบบแบ่งปันผลผลิตปิโตรเลียมเป็นของรัฐทั้งจำนวน โดยจะเป็นของเอกชน เมื่อหน่วยงานของรัฐที่เป็นคู่สัญญาแบ่งให้ตามสัญญา)

ข้อ ๒ “อัตราค่าภาคหลวงร้อยละ ๑๐ ของผลผลิต รวมปิโตรเลียมที่ขายหรือจำหน่ายในเดือนนั้น”

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อทักท้วง
คือ การใช้คำว่า “ปิโตรเลียมที่ขายหรือจำหน่ายในเดือน” ขัดเจตนารมณ์ของกฎหมายในระบบแบ่งปันผลผลิตกฎกระทรวงข้อนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากค่าภาคหลวงระบบแบ่งปันผลผลิต เป็นปิโตรเลียมส่วนหนึ่งโดยถูกหักไว้โดยหน่วยงานของรัฐที่เป็นคู่สัญญากับเอกชน โดยรัฐจะสำรองปิโตรเลียมนั้นไว้ หรือขายก็ได้ ปิโตรเลียมส่วนที่เป็นค่าภาคหลวงของรัฐนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการขายปิโตรเลียมส่วนของเอกชน การกำหนดให้เอกชนนำปิโตรเลียมไปขายแล้วมาจ่ายเงินค่าภาคหลวงให้กับรัฐในภายหลังเป็นการลอกแบบมาจากสัมปทานจึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ทำให้รัฐไม่มีทางเลือกในการจัดการปิโตรเลียมของรัฐ นอกจากให้เอกชนนำไปขายเท่านั้น

ข้อ ๓ “ให้ชำระค่าภาคหลวงเป็นรายเดือน โดยค่าภาคหลวงสำหรับปิโตรเลียมที่ขายหรือจำหน่ายในเดือนใด ให้นำส่งภายในเดือนถัดไป”

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อทักท้วง
คือ การชำระค่าภาคหลวงเป็นรายเดือนเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่เป็นคู่สัญญากับเอกชน กรณี รัฐมีคำสั่งให้ขายปิโตรเลียมในส่วนนี้

ข้อ ๔. “ให้ชำระค่าภาคหลวงเป็นเงินบาท”

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อทักท้วง
คือ การให้ชำระค่าภาคหลวงเป็นเงินบาท เป็นข้อกำหนดของระบบสัมปทาน ไม่ใช้ข้อกำหนดของระบบแบ่งปันผลิตเพราะรัฐจะต้องได้จะต้องได้ค่าภาคหลวงเป็นปิโตรเลียมที่จะขายหรือไม่ก็ได้
ข้อ ๕. “ให้ผู้รับสัญญายื่นแบบรายการนำส่งค่าภาคหลวงตามแบบที่อธิบดีกำหนด”

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อทักท้วง
คือ หน่วยงานของรัฐที่เป็นคู่สัญญากับเอกชนเป็นผู้ยื่นแบบการเสียค่าภาคหลวง

จากข้อกำหนดทั้ง ๕ ข้อ ในระบบแบ่งปันผลผลิต กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในฐานะ Regulator จึงเป็นคู่สัญญากับเอกชนไม่ได้ เพราะจะขัดหลักการตรวจสอบและถ่วงดุล และขัดหลัก ธรรมาภิบาล

๒.ร่างกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. ....

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อทักท้วงในสาระสำคัญในข้อต่อไปนี้

ข้อ ๒ (๓) “มีหลักฐานแสดงว่ามีทุนเครื่องจักรเครื่องมืออุปกรณ์และผู้เชี่ยวชาญเพียงพอที่จะสำรวจผลิตขายและจำหน่ายปิโตรเลียมโดยมีสถาบันที่เชื่อถือได้ออกหนังสือรับรองว่าเป็นความจริง”

ข้อ (๓) “กรณีที่ไม่มีทุนเครื่องจักรเครื่องมือเพียงพอสามารถให้บริษัทอื่นที่รัฐบาลเชื่อถือรับรองได้”

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อทักท้วง
คือ ข้อกำหนดข้อ ๒ (๓) และข้อ (๓) ทั้งสองข้อนี้ โดยมิได้ระบุว่าบริษัทที่มาขอรับสิทธิ์จะต้องมีประสบการณ์ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแต่อย่างใด อีกทั้ง หากบริษัทไม่มี ทุนเครื่องจักรเครื่องมืออุปกรณ์และผู้เชี่ยวชาญเพียงพอ ก็สามารถผ่านเกณฑ์ได้โดยให้สถาบันที่เชื่อถือออกหนังสือรับรองได้ ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวจึงมีช่องโหว่ที่ทำให้เกิดบริษัทตั้งขึ้นใหม่เพื่อมาขอรับสิทธิ์แล้ว ทำตัวเสมือนเป็นนายหน้าเร่ขายสิทธิที่ได้มาเพื่อหาผลกำไรระยะสั้นโดยมิได้มีเจตนาเข้าทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจริง เป็นการจับเสือมือเปล่าที่ส่งผลเสียต่อประเทศเพราะเกิดความล่าช้าในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ข้อกฎหมายนี้ไม่เป็นการไม่รักษาผลประโยชน์ของชาติ ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วในหลายกรณีในระบบสัมปทาน ร่างกฎกระทรวง ข้อ ๒ (๓) และข้อ (๓) เป็นเจตนาลอกข้อความ มาตรา ๒๔ ของระบบสัมปทานที่มีข้อบกพร่องมาใช้

ตามหลักสากล บริษัทผู้มาขอรับสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ในการสำรวจและผลิตเป็นที่ประจักษ์ เพื่อเป็นหลักประกันความสำเร็จ หากบริษัทไม่มีประสบการณ์จะต้องทำการร่วมทุนกับบริษัทที่มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมาแล้ว โดยบริษัทที่มีประสบการณ์จะต้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๕ โดยจะต้องมีหนังสือรับรองจากประเทศที่เคยให้สิทธิ์

คำคัดค้าน ข้อกำหนดเรื่องมีประสบการณ์การขายนั้น มิใช่สิ่งจำเป็นที่บริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เนื่องจากว่าบริษัทอาจขายปิโตรเลียมให้รัฐทั้งจำนวน จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีข้อจำกัดว่าจะต้องมีประสบการณ์ในการขายปิโตรเลียมแต่อย่างใด เป็นการกำหนดสเปคที่สูงเกินจำเป็นจึงเป็นการกีดกันบริษัทที่มีความสามารถเฉพาะทางในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

ข้อ ๔ “ผู้ขอสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตต้องเสนอข้อผูกพันในด้านปริมาณเงินและปริมาณงานสำหรับโครงการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแต่ละแปลง พร้อมทั้งเหตุผลทางธรณีวิทยาที่สนับสนุนโดยสังเขป โดยระบุวิธีการ และกำหนดเวลาที่จะดำเนินการ ตลอดจนประมาณการค่าใช้จ่ายในการนั้นๆ ด้วย”

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อทักท้วง คือ
ตามหลักสากล รัฐจะเป็นผู้ตั้งข้อผูกพันด้านปริมาณงานขั้นต่ำในการสำรวจ เพื่อให้ผู้รับสัญญาปฏิบัติในแต่ละแปลงปิโตรเลียม การที่กฎกระทรวงไปกำหนดว่า ให้ผู้รับสิทธิ์ไปกำหนดปริมาณงานขึ้นมาเองนั้น ไม่มีความเหมาะสม เกิดความลักลั่นในข้อเสนอและในที่สุดกรมเชื้อเพลิงก็อาจใช้เสนอข้อนี้เพื่อใช้ในการตัดสินคัดเลือกผู้รับสัญญาโดยใช้ดุลพินิจให้คะแนน อันไม่เป็นหลักประกันว่าประเทศจะได้ผลประโยชน์สูงสุดจริงหรือไม่

เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๖๔ กำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม ดังนั้น การคัดเลือกที่สอดคล้องกับมาตราดังกล่าวจึงต้องใช้วิธีประมูลแข่งขันการให้ผลประโยชน์ต่อรัฐอย่างโปร่งใส เงื่อนไขในข้อ ๔ จึงควรมีข้อความที่ชัดเจนว่า ข้อผูกพันที่เสนอ จะไม่ใช้ประกอบการประมูลแข่งขัน แต่จะเป็นเงื่อนไขขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนด minimum. Requirement ไม่ได้ใช้ตัดสินผู้ชนะการประมูล

ข้อ ๕ “เมื่อกระทรวงพลังงานโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เห็นควรให้มีการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงใด ให้ผู้ขอสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต ต้องยื่นคำขอสิทธิ หลักฐาน โครงการ และข้อเสนอให้ผลประโยชน์พิเศษตามที่จะระบุไว้ในประกาศกระทรวงพลังงาน”

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อทักท้วง คือ
ไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดให้ใช้การประมูลการให้ส่วนแบ่งปิโตรเลียมสูงสุดให้แก่รัฐ ตามแนวทางสากล จึงเป็นไปได้ว่ากระทรวงพลังงานมีเจตนาใช้ระบบการประกวดปริมาณงานการสำรวจเช่นเดียวกับระบบสัมปทานซึ่งไม่เป็นธรรมและไม่โปร่งใสเนื่องจากเป็นการใช้ดุลพินิจของกลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งเท่านั้น

เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๖๔ กำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม ดังนั้น การคัดเลือกที่สอดคล้องกับมาตราดังกล่าวจึงต้องใช้วิธีประมูลแข่งขันอย่างโปร่งใส เงื่อนไขในข้อ ๕ จึงควรมีข้อความที่ชัดเจนว่าการคัดเลือกจะใช้วิธีประมูลโปร่งใส และคำขอและโครงการตามข้อ ๕ จะไม่ใช้เป็นตัวแปรในการคัดเลือกผู้ได้รับสิทธิ แต่จะนำมาใช้ประกอบรายละเอียดของสัญญาหลังจากทราบผลการประมูลแล้วเท่านั้น

๓. ร่างกฎกระทรวง กำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. ....

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อทักท้วงสาระสำคัญในข้อต่อไปนี้

ข้อ ๒ “การกำหนดระยะเวลาและการคืนพื้นที่ สาระสำคัญ


•สัญญามีระยะเวลาไม่เกิน ๓๙ ปี โดยแบ่งเป็น
•ระยะเวลาสำรวจไม่เกิน ๖ ปี ต่อได้อีกไม่เกิน ๓ ปี
•ระยะเวลาผลิตไม่เกิน ๒๐ ปี ต่อได้ ๑ ครั้ง ไม่เกิน ๑๐ ปี
ทั้งนี้ การอนุมัติให้ต่อระยะเวลาเป็นอำนาจของรัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี โดยคำแนะนาของคณะกรรมการปิโตรเลียม”

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อทักท้วง คือ กรณี หลุมผลิตที่มีอยู่เดิมซึ่งมีศักยภาพผลผลิตในอนาคตเพียงพอที่จะทำการผลิตต่อไป (โดยมีความเสี่ยงต่ำมาก) ภายหลังสัมปทานปัจจุบันหมดอายุนั้น ไม่จำเป็นต้องมีการสำรวจ จึงสมควรใช้ระบบจ้างผลิต เพราะหากใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต รัฐก็จะต้องแบ่งปันผลผลิตปิโตรเลียมให้แก่ภาคเอกชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น และจะไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๖๔ ซึ่งกำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม จึงสมควรจะใช้แต่เฉพาะระบบจ้างบริการ เงื่อนไขข้อ ๒ เกี่ยวกับระยะเวลาสำรวจจึงควรระบุให้ชัดเจนว่า เป็นกรณีที่ผู้รับสัญญาจะต้องทำการเจาะหลุมสำรวจใหม่เท่านั้น

ข้อ ๓ “แผนงานและงบประมาณสาหรับกิจการปิโตรเลียม”

“๔. เพื่อประโยชน์ของประเทศ กรมอาจขอให้ผู้รับสัญญาพัฒนาแหล่งที่ผู้รับสัญญาไม่ประสงค์จะดำเนินการเนื่องจากไม่คุ้มค่าในการพัฒนา หรือไม่ได้อยู่ภายใต้แผนการสำรวจและประเมินผลซึ่งกำลังดำเนินการ หรือกรมอาจขอให้ผู้รับสัญญาทำงานเฉพาะใดๆ โดยกรมเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย และผู้รับผลประโยชน์ จากการนั้น (กรมอาจขอสงวนสิทธิในการดำเนินงานเองได้)”

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อทักท้วง คือ เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๖๔ กำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม ดังนั้น การคัดเลือกที่สอดคล้องกับมาตราดังกล่าวจึงต้องใช้วิธีประมูลแข่งขันอย่างโปร่งใส ซึ่งรวมไปถึงพื้นที่ที่ข้อ ๓ ข้อย่อย ๔ ระบุว่ากรมอาจขอให้ผู้รับสัญญาพัฒนา ควรเปลี่ยนจากการเจรจาเป็นการประมูลโปร่งใสด้วย

ข้อ ๔ “การจัดการกิจการ”

“๕.รัฐเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ข้อมูลปิโตรเลียมทั้งหมด ผู้รับสัญญาจะเปิดเผยได้ต้องรับอนุมัติจากกรม”

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อทักท้วง คือ เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๕๐ บัญญัติให้บุคคลมีหน้าที่ป้องกันผลประโยชน์ของชาติ และมาตรา ๕๙ บัญญัติให้รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ และมาตรา ๗๘ บัญญัติให้รัฐพึงส่งเสริมการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ กรมจึงต้องทำการเปิดเผยการดำเนินการตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตทั้งหมดให้ประชาชนรับทราบและสามารถติดตามตรวจสอบได้ จึงควรมีการระบุเรื่องนี้ไว้

ข้อ ๕ “การหักค่าใช้จ่าย การกำหนดค่าภาคหลวง และการกำหนดส่วนแบ่งกำไร”
“ในแต่ละไตรมาสให้จัดสรรผลผลิตรวมปิโตรเลียม (ที่ขายและจำหน่าย) ดังนี้
•ค่าภาคหลวงร้อยละ ๑๐ ของผลผลิตรวม
•ค่าใช้จ่ายให้หักได้เท่าที่จ่ายจริงตามแผนงานและงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ แต่ ไม่เกินร้อยละ ๕๐ ของผลผลิตรวม ส่วนที่เกิน ให้นำไปหักในไตรมาสถัดไปได้
•ส่วนที่เหลือเรียกว่าปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไรจัดสรรให้ผู้รับสัญญาไม่เกินอัตราร้อยละ ๕๐”

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อทักท้วง คือ การใช้คำว่า “ปิโตรเลียมที่ขายหรือจำหน่ายในเดือน” ขัดเจตนารมณ์ของกฎหมายในระบบแบ่งปันผลผลิต เนื่องจาก ค่าภาคหลวงระบบแบ่งปันผลผลิตจะเป็นอัตราส่วนของปิโตรเลียมที่ผลิตได้ กฎกระทรวงข้อนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข้อกำหนดขาดความชัดเจน โดยสากลจะกำหนดว่า ค่าใช้จ่ายของผู้รับสัญญาที่นำมาหักเป็นปิโตรเลียม จะต้องระบุให้ชัดเจนตามหลักสากลว่า เป็นค่าใช้จ่ายในการสำรวจและผลิตเท่านั้น (ไม่รวมค่าใช้จ่าย สำนักงานใหญ่ การบริหาร และการขาย)

ข้อกำหนดขาดความชัดเจน โดยสากลจะกำหนดว่า การจัดสรรปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไร หน่วยงานของรัฐที่เป็นคู่สัญญากับเอกชนเป็นผู้จัดสรรตามผลการประมูล โดยเป็นขั้นบันไดตามอัตราการไหลของปิโตรเลียม โดยไม่เกินอัตราร้อยละ ๕๐

เนื่องจาก พ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... มาตรา ๕๓/๓ กำหนดให้ค่าใช้จ่ายต้องเป็นไปตามวิธีการ หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติทางบัญชีที่ใช้อยู่เป็นปกติในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม จึงจำเป็นต้องระบุว่ามาตรฐานดังกล่าวอ้างอิงที่ใด และกรณีมีข้อพิพาท องค์กรใดจะเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ ๖ “การจัดการผลผลิตน้ามันดิบ”

“๒.ให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงกันในเรื่อง การบริหารจัดการน้ำมันดิบ เช่น การลำเลียงขนส่ง วิธีการกำหนดจำนวนน้ำมันดิบและสถานที่ขายหรือจำหน่าย”

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อทักท้วง คือ
ระบบแบ่งปันผลผลิตมีความชัดเจนในความเป็นเจ้าของผลผลิตปิโตรเลียม หน่วยงานของรัฐที่เป็นคู่สัญญากับเอกชน ต่างมีอิสระต่อกันในการจัดการปิโตรเลียมส่วนของตน การกำหนดในกฎกระทรวงเช่นนี้จึงเป็นการผูกมัดฝ่ายรัฐให้จำต้องขายปิโตรเลียมเท่านั้น ไม่สามารถเก็บเป็นปิโตรเลียมสำรองของชาติได้ ข้อกำหนดนี้จึงไม่เป็นประโยชน์ต่อชาติสูงที่สุด

“๓. กรมหรือตัวแทนของกรมมีสิทธิเรียกรับน้ามัน ดิบในสัดส่วนของรัฐ

กรมและผู้รับสัญญามีสิทธิขายน้ำมันดิบในส่วนของตน โดยกรมอาจมอบหมายให้ผู้รับสัญญาเป็นผู้ขายหรือจาหน่ายแทนก็ได้”

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อทักท้วง คือ
ระบบแบ่งปันผลผลิต ปิโตรเลียมที่ผลิตได้เป็นของรัฐอยู่แล้ว จึงไม่ใช้หน้าที่ของกรมเชื้อเพลิงไปเรียกรับน้ำมันดิบหรือไม่ แต่เป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่เป็นคู่สัญญากับเอกชนที่จะต้องดูแลรักษาน้ำมันส่วนของรัฐ ส่วนกรมเชื้อเพลิงมีหน้าที่เป็น Regulator เท่านั้น

การกำหนด “กรมมีสิทธิขายน้ำมันดิบในส่วนของตน” เป็นข้อกำหนดที่ขัดหลักธรรมา ภิบาล กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีหน้าที่เป็น Regulator ที่ตรวจสอบทั้งปริมาณและราคาปิโตรเลียม จึงไม่เหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้ขายน้ำมันดิบเสียเอง หรือมอบหมายให้ผู้รับสัญญาเป็นผู้ขาย อีกทั้ง ข้อกฎหมายนี้ก็ขัดกับหลักบัญชีที่กรมไม่สามารถนำน้ำมันดิบของชาติไปลงบัญชีของกรมได้ เนื่องจากจำเป็นต้องมีการตรวจสอบเกี่ยวกับการขายปิโตรเลียมในส่วนของรัฐอย่างรอบคอบรัดกุม กรมจึงไม่สมควรจะมอบหมายให้ผู้รับสัญญารายที่ไม่มีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ขาย และควรระบุเช่นนี้ไว้ในกฎกระทรวง

“๔.หน้าที่ของผู้รับสัญญาในการขายหรือจำหน่ายน้ามันดิบ ต้องให้สิทธิพิเศษแก่โรงกลั่นในประเทศเป็นอันดับแรก”

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อทักท้วง คือ
ข้อกำหนดนี้ขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๕๐ บัญญัติให้บุคคลมีหน้าที่ป้องกันผลประโยชน์ของชาติ จึงควรแก้ไขให้ใช้ระบบการประมูลซื้อปิโตรเลียมที่มีความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อประเทศ เพราะโรงกลั่นเหล่านี้เป็นของเอกชน แม้ได้น้ำมันดิบราคาถูกจากในประเทศ เมื่อกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปก็นำมาขายคนไทยในราคานำเข้าจากสิงคโปร์ตามที่ กบง. กำหนดไว้ ข้อกำหนดนี้จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้โรงกลั่นเกินสมควรและไม่เป็นธรรม

“๕.หากมีความจำเป็นต้องเผาน้ามันดิบทิ้ง ให้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบ”

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อทักท้วง คือ
ข้อกำหนดนี้หย่อนยานไม่เป็นการอนุรักษ์พลังงาน จึงต้องกำหนดให้ชัดเจนในกรณีเดียวในการเผาน้ามันดิบของชาติทิ้ง คือเพื่อความปลอดภัยเท่านั้น

“๘. หลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าน้ามันดิบเพื่อใช้ในการประเมินค่าภาคหลวง ค่าใช้จ่ายที่ยินยอมให้หัก และปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไร”

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อทักท้วง คือ
เนื่องจากค่าภาคหลวงระบบแบ่งปันผลผลิต จะเป็นปิโตรเลียมจึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับราคาปิโตรเลียมแต่อย่างใด การกำหนดราคาน้ำมันเป็นเพียงเพื่อใช้ในการหักค่าใช้จ่ายในการสำรวจและผลิตที่เป็นปริมาณปิโตรเลียมเท่านั้น จึงควรกำหนดให้ใช้ราคาตลาดโลกตามคุณภาพน้ำมันในแต่ละแหล่ง โดยคิดราคา ณ แหล่งผลิต(ไม่ใช่ ณ จุดขายหรือจำหน่าย เพราะไม่ใช่ระบบสัมปทาน)

ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะให้ข้าราชการ หรือเอกชนเป็นผู้กำหนดราคาน้ำมัน แต่จะต้องใช้ราคาตลาดโลกตามคุณภาพน้ำมันในแต่ละแหล่งเพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรม

ข้อ ๗ “การจัดการผลผลิตก๊าซธรรมชาติ”

“๒. การเผาหรือระบายก๊าซธรรมชาติทิ้ง”

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อทักท้วง คือ
การเผาหรือระบายก๊าซธรรมชาติทิ้งไม่เป็นการอนุรักษ์พลังงาน จึงต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า จะเผาก๊าซได้ในกรณีเพื่อความปลอดภัยเท่านั้น หากมีการเผาในกรณีอื่นจะมีค่าปรับเท่าใด

“๓.กรมและผู้รับสัญญา จะร่วมกันเจรจาขายก๊าซธรรมชาติ โดยทั้งสองฝ่ายสามารถช่วยกันหาตลาดได้”

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อทักท้วง คือ
กรมเชื้อเพลิงอยู่ในฐานะ Regulator จึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้เจรจาขายก๊าซธรรมชาติ เพราะจะขัดหลักการตรวจสอบและถ่วงดุล และขัดหลักธรรมาภิบาล

“๔.เพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนาตลาดตามที่รัฐเห็นสมควร

•กรมอาจขอให้ผู้รับสัญญาเข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนา
•ผู้รับสัญญาต้องให้คำตอบภายใน ๓ เดือน”

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อทักท้วง คือ เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๖๔ กำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม ดังนั้น วิธีการขายซึ่งสอดคล้องกับมาตราดังกล่าว จึงต้องเป็นการเสนอขายโดยวิธีประมูลโปร่งใสเท่านั้น กฎกระทรวงจึงไม่สามารถระบุว่าจะมีการขายปิโตรเลียมในส่วนของรัฐโดยวิธีการเจรจา หรือโดยวิธีการร่วมพัฒนาตลาดซึ่งมิใช่การประมูลโปร่งใส

ข้อ ๘ “การชำระเงิน และสกุลเงินตรา”

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อทักท้วง คือ
ข้อกำหนดนี้ ขัดกับระบบแบ่งปันผลผลิต ที่ค่าภาคหลวงจะเป็นปิโตรเลียม

ข้อ ๑๐ “การจัดหาอุปกรณ์ สิ่งอานวยความสะดวก สินค้า วัสดุ ของใช้ และบริการ”

“๗.การจัดซื้อ/จัดจ้าง ด้วยการประมูล

๘.ในการจัดซื้อ/จัดจ้าง กรณีไม่มีการประมูล”

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อทักท้วง คือ
ต้องกำหนดให้มีราคากลาง เพราะที่ผ่านมากฎหมายไม่เคยกำหนดให้มีราคากลางจึงเป็นช่องทางรั่วไหลไม่รักษาผลประโยชน์ของชาติ เช่น กรณี โรลส์รอยซ์ ที่ยังหาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้

ข้อ ๑๗ “การสิ้นสุดของสัญญา”

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อทักท้วง คือ
ไม่มีข้อกำหนดให้เจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่เพื่อรับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อรับโอนแหล่งปิโตรเลียมคืนรัฐ จะทำให้เกิดปัญหาการผลิตไม่ต่อเนื่อง และเป็นเงื่อนไขที่บีบบังคับให้รัฐต้องต่อสัญญารายเดิม เช่นเดียวกับที่กรมเคยเสนอในแหล่งบงกชและเอราวัณ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อชาติ

ข้อ ๒๕ “แถลงการณ์ต่อสาธารณะ”

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อทักท้วง คือ
ไม่มีข้อกำหนดให้กรมและคู่สัญญาของรัฐเปิดเผยสัญญานี้ต่อสาธารณะทั้งที่ปิโตรเลียมเป็นสมบัติของส่วนรวม เมื่อการจัดการปิโตรเลียมมีความโปร่งใส จึงควรกำหนดให้เปิดเผยสัญญานี้ต่อสาธารณะโดยไม่มีเงื่อนไข

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เห็นว่า ร่างกฎกระทรวงทั้ง ๓ ฉบับดังกล่าว อาจมิได้นำไปสู่การประมูลตามระบบแบ่งปันผลผลิตที่แท้จริงโดยยึดเอาผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน อีกทั้งยังทำให้ระบบแบ่งปันผลผลิตมีลักษณะเนื้อหาเหมือนกับระบบสัมปทานเดิม โดยอำนาจในการบริหารและขายปิโตรเลียมตกเป็นของเอกชนคู่สัญญา ตลอดจนยังมิได้แก้ไขปัญหาหรือช่องโหว่ที่อาจทำให้เกิดการรั่วไหลหรืออาจทำให้เกิดการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงตามรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งได้ลงมติเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๘ อีกทั้งขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับรายงานเรื่องปฏิรูปกฎหมายปิโตรเลียมเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ของอนุกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๘ รวมทั้งขัดแย้งกับการคัดค้านและทักท้วงจากประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๙ และยังขัดแย้งกับมติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ อีกด้วย

ด้วยเหตุผลข้างต้น ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวยังอาจขาดความรอบคอบไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชนส่วนรวม อาจไม่ยึดถือและไม่ปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และไม่สร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม ไม่ผาสุก และไม่สามัคคีปรองดองกัน อันเป็นการกระทำที่อาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๖๔ (๑) (๓) และ (๔) อีกทั้งอาจเป็นการกระทำที่มิได้ยึดหลักนิติธรรมเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม อันเป็นการกระทำที่อาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๓

เนื่องจากร่างกฎกระทรวงทั้ง ๓ ฉบับของกระทรวงพลังงานอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ หลายมาตรา ได้แก่ มาตรา ๓ มาตรา ๔ มาตรา ๕ มาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง และวรรคสาม มาตรา ๕๐ มาตรา ๕๙ มาตรา ๑๖๔ (๑) (๓) และ (๔) เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงขอคัดค้านร่างกฎกระทรวงดังกล่าวที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอยู่ในปัจจุบัน และขอให้ท่านมีนโยบายสั่งการดำเนินการทบทวนและแก้ไขให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ และตามรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามรายงานเรื่องปฏิรูปกฎหมายปิโตรเลียมเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ของอนุกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ และแก้ไขให้เป็นไปตามข้อสังเกตของประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และมติของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) พร้อมด้วยรายชื่อประชาชนที่แนบท้ายมานี้ขอให้ท่านได้ดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าว แล้วนำข้อเรียกร้องในหนังสือฉบับนี้พร้อมด้วยผลการวิเคราะห์มาประกอบการพิจารณาร่างกฎกระทรวงทั้ง ๓ ฉบับ และเมื่อดำเนินการดังกล่าวแล้วขอให้ท่านนำผลการแก้ไขและการวิเคราะห์มาเผยแพร่ให้ประชาชนได้ทราบโดยทั่วกัน แล้วจึงนำผลการสรุปความคิดเห็นพร้อมผลการวิเคราะห์นี้มาประกอบการพิจารณาในทุกขั้นตอนของกระบวนการตรากฎหมาย ตามบทบัญญัติมาตรา ๗๗ วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ด้วย

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)












กำลังโหลดความคิดเห็น