xs
xsm
sm
md
lg

คปพ.ยื่นเอาผิดนายกฯ และพวกไม่คืนท่อก๊าซฯ ปตท. พร้อมส่งศาลทุจริตฟัน จนท.ปกปิดข้อมูล-ให้การเท็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คปพ.รุกยื่น คตง.ศุกร์นี้ ดำเนินคดีนายกฯ รมว.คลัง-พลังงาน บอร์ด ปตท.ไม่ทำตามมติให้ส่งมอบท่อก๊าซฯ พร้อมยื่นศาลทุจริตฟัน จนท.ปกปิดข้อมูลคำท้วงติงของ สตง.และให้การเท็จต่อศาลปกครอง ตามด้วยยื่นค้าน 3 ร่างกฎกระทรวงพลังงานส่อขัดรัฐธรรมนูญ ยื่น กก.ข้อมูลข่าวสารขอเปิดชื่อผู้ถือหุ้นอุปการคุณ ปตท.


วันนี้ (24 พ.ค.) ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) โดยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ น.ส.รสนา โตสิตระกูล น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ร่วมกันแถลงข่าว และอ่านแถลงการณ์ คปพ.ฉบับที่ 3/2560 เรื่องข้อมูลใหม่และความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลต่อการดำเนินการด้านปิโตรเลียม 3 เรื่อง โดยระบุว่า

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) พบข้อมูลล่าสุดว่า มีกรณีความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลได้เกิดขึ้นทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน อันอาจเกิดความเสียหายไปแล้ว หรืออาจจะเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงในอนาคต ในฐานะประชาชนซึ่งมีหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในการป้องกันประเทศ ผลประโยชน์ของชาติ และสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เห็นว่ามีความจำเป็นต้องมีมาตรการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน 3 เรื่องดังต่อไปนี้

เรื่องที่ 1 การดำเนินคดีความผู้กระทำความผิดกรณีการคืนท่อก๊าซธรรมชาติ โดยยื่นคำร้องอันเป็นเท็จต่อศาลปกครองสูงสุด

โดย คปพ.จะยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ให้ดำเนินคดีความกับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ตามมาตรา 17, 63, และ 64 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 เพราะไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาตรา 44 ที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีมติให้ส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติให้ครบถ้วน และยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้มีการบังคับคดีที่ถูกต้องครบถ้วนภายใน 60 วัน ซึ่งปัจจุบันเวลาได้ผ่านไปแล้วถึง 273 วันก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ให้ถูกต้อง การกระทำความผิดดังกล่าวจึงได้สำเร็จไปแล้ว โดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จะไปยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ในวันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม 2560 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ถนนพระรามที่ 6 เขตพญาไท กทม.

นอกจากนี้ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รวมถึงอัยการสูงสุด เพื่อเรียกร้องให้ส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติให้ครบถ้วน แล้วยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้มีการบังคับคดีที่ถูกต้องครบถ้วนตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 และตามมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่ได้ยื่นต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 มิใช่ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดโดยอ้างว่าศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยไม่ชัดเจน หรือมีกรณีข้อเท็จจริงใหม่ หรือใช้วิธียื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อถ่วงเวลา อันมีความเสี่ยงที่จะทำให้คดีหมดอายุความในวันที่ 18 ธันวาคม 2560 โดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ยื่นหนังสือดังกล่าวถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

และอาศัยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เห็นควรสนับสนุนดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อเอาผิดทางอาญากับเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้ดำเนินการปกปิดข้อมูลการทักท้วงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และยื่นคำร้องอันเป็นเท็จต่อศาลปกครองสูงสุด โดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล และพวก ณ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซอยสีคาม ถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กทม. โดยเร็วที่สุด ซึ่งวันเวลาที่จะยื่นฟ้องจะแจ้งให้ทราบในเร็ววัน

เรื่องที่ 2 การทวงสิทธิของประชาชนในความเสมอภาคและเท่าเทียมกันตลอดจน การรักษาประโยชน์ของชาติสูงสุด กรณีการตรากฎกระทรวงพลังงาน 3 ฉบับ ได้แก่ กฎกระทรวง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลา ในการนำส่งค่าภาคหลวง ให้แก่รัฐสำหรับผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. ..., ร่างกฎกระทรวง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การขอและการได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. ... และร่างกฎกระทรวง กำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. … ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทางเว็บไซต์ www.dmf.go.th ระหว่างวันที่ 11-26 พฤษภาคม 2560 ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามลำดับ ที่ขัดต่อบทบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้เพราะลักษณะวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนดังกล่าว อาจเป็นการปิดกั้น ลิดรอน และละเมิดสิทธิของประชาชนที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีอินเทอร์เน็ต หรือไม่รู้วิธีการหรือไม่สะดวกในการเข้าไปในเว็บไซต์ ถือเป็นการกระทำที่ทำให้บุคคลไม่เสมอกันในกฎหมาย ไม่มีสิทธิเสรีภาพและไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ คปพ.พบว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมิได้นำไปสู่การประมูลตามระบบแบ่งปันผลผลิตที่แท้จริงโดยยึดเอาผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน อีกทั้งยังทำให้ระบบแบ่งปันผลผลิตมีลักษณะเนื้อหาเหมือนกับระบบสัมปทานเดิม โดยอำนาจในการบริหารและขายปิโตรเลียมตกเป็นของเอกชนคู่สัญญา ตลอดจนยังมิได้แก้ไขปัญหาหรือช่องโหว่ที่อาจทำให้เกิดการรั่วไหลหรืออาจทำให้เกิดการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวจึงขาดความรอบคอบไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชนส่วนรวม ไม่ยึดถือและไม่ปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และไม่สร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม ไม่ผาสุก และไม่สามัคคีปรองดองกัน

เนื่องจากร่างกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับของกระทรวงพลังงานอาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม มาตรา 50 มาตรา 59 มาตรา 164 (1) (3) และ (4) อันเป็นการไม่รักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงขอเชิญชวน พี่น้องประชาชนได้ไปแสดงตนพร้อมสำเนาบัตรประชาชนร่วมกันเข้าชื่อคัดค้านร่างกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับของกระทรวงพลังงาน ตามร่างหนังสือคัดค้านของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ที่จะยื่นต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในวันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม 2560 เวลา 10.00 น. ณ กระทรวงพลังงาน ศูนย์เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ อาคารบี เลขที่ 555/2 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กทม.

เรื่องที่ 3 เรียกร้องการเปิดเผยข้อมูลรายชื่อผู้ที่ได้ซื้อหุ้นในโควตาผู้มีอุปการคุณ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จากการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2544 อาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 41 (1) และ มาตรา 59 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีมติเห็นสมควรให้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 เพื่อให้เปิดเผยข้อมูลรายชื่อผู้ได้สิทธิโควตาในการซื้อหุ้นผู้มีอุปการคุณของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ดังกล่าวแก่ประชาชน โดยจะยื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ในวันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม 2560 จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่สนใจร่วมลงชื่อ เวลา 09.00น. ณ โรงอาหาร สำนักงาน ก.พ.ร. (ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์) และในเวลา 10.00 น. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จะเดินทางไปยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อประชาชน ณ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล กทม.

รายละเอียด
แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย
ฉบับที่ ๓/๒๕๖๐
เรื่อง ข้อมูลใหม่และความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลต่อการดำเนินการด้านปิโตรเลียม ๓ เรื่อง


เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) พบข้อมูลล่าสุดว่ามีกรณีความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลได้เกิดขึ้นทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน อันอาจเกิดความเสียหายไปแล้ว หรืออาจจะเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงในอนาคต ในฐานะประชาชนซึ่งมีหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๕๐ (๒) ในการป้องกันประเทศ ผลประโยชน์ของชาติ และสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เห็นว่ามีความจำเป็นต้องมีมาตรการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ดังต่อไปนี้

เรื่องที่ ๑ การดำเนินคดีความผู้กระทำความผิดกรณีการคืนท่อก๊าซธรรมชาติ โดยยื่นคำร้องอันเป็นเท็จต่อศาลปกครองสูงสุด

จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ ๘๐๐/๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๗ เรื่องการคืนท่อก๊าซธรรมชาติความว่า

“เรื่องการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องที่หน่วยงานราชการต้องไปว่ากล่าวกันเอง โดยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยงานทั้งหลาย” คำสั่งดังกล่าวข้างต้นมีความชัดเจนว่าการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีนั้น เป็นเรื่องหน่วยงานของรัฐต้องไปจัดการว่ากล่าวกันเอง เพราะต่างมีสถานภาพเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาคณะรัฐมนตรีทั้งสิ้น ซึ่งก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับศาลปกครองสูงสุดแล้ว

หลังจากพบว่าคณะรัฐมนตรีไม่ได้มีการว่ากล่าวหน่วยงานผู้ใต้บังคับบัญชาใดๆ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วยนางสาวรสนา โตสิตระกูล นางสาวบุญยืน ศิริธรรม นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา กับพวก ได้ไปยื่นคำร้องต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้คณะรัฐมนตรีดำเนินตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๘๐๐/๒๕๕๗ เพราะท่อก๊าซธรรมชาติทั้งหมดเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผลปรากฏว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ได้มีมติแล้วแจ้งให้คณะรัฐมนตรีรับทราบเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๙ ดังนี้

“๑. ท่อก๊าซธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพราะได้มาจากการประกอบกิจการและใช้เพื่อกิจการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๒๑ ก่อนมีการแปรรูปและส่งมอบให้บริษัท ปตท.

๒. อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. กับพวกฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีและมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ขาดไปคิดเป็นเงิน ๓๒,๐๐๐ ล้านบาทเศษ และทำให้รัฐขาดประโยชน์จากค่าเช่าที่พึงได้รับ

นอกจากนี้ยังยื่นคำร้องอันเป็นเท็จต่อศาลปกครองสูงสุดว่ามีการส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติครบถ้วนแล้ว โดยไม่รอผลการตรวจสอบและรับรองจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๐ และ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๔ ก่อน

๓. ให้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาดำเนินคดีอาญากับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.กับพวก เนื่องจากมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ทั้งให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยและความรับผิดชอบทางละเมิดด้วย

๔. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๔, ๔๖, และ ๑๕ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ ขอให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. กับผู้เกี่ยวข้องดำเนินการให้มีการส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติที่ขาดไปคิดเป็นเงิน ๓๒,๐๐๐ ล้านบาทเศษแก่กระทรวงการคลัง และให้คณะรัฐมนตรียื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้มีการบังคับคดีที่ถูกต้องครบถ้วนต่อไปภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มิฉะนั้นคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จะดำเนินการตามมาตรา ๑๗, ๖๓, และ ๖๔ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ และ พ.ร.บ.ความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๑ ต่อไป"


ภายใต้คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๘๐๐/๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๗ และหนังสือที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) แจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๙ นั้น นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จึงต้องดำเนินการ ๒ ขั้นตอนให้เสร็จสิ้นภายใน ๖๐ วัน คือ

ขั้นตอนที่ ๑ส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติที่ขาดไปคิดเป็นเงิน ๓๒,๐๐๐ ล้านบาทเศษแก่กระทรวงการคลัง

ขั้นตอนที่ ๒ให้คณะรัฐมนตรียื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้มีการบังคับคดีที่ถูกต้องครบถ้วน

เมื่อปรากฏต่อมาว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติให้สำนักงานอัยการสูงสุดยื่นขอให้ศาลปกครองพิจารณาตามมาตรา ๗๕ แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีศาลปกครอง โดยอ้างว่ามีกรณีที่คำวินิจฉัยไม่ชัดเจน หรือมีกรณีข้อเท็จจริงใหม่ โดยคำแนะนำของอัยการ โดยไม่มีการดำเนินการตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๘๐๐/๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๗ ที่ให้ฝ่ายบริหารว่ากล่าวกันเอง และหนังสือที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) แจ้งให้คณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๙ ให้ดำเนินการส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้มีการบังคับคดีที่ถูกต้องครบถ้วน ภายใน ๖๐ วัน แต่ปัจจุบันปรากฏว่าเวลาได้ผ่านไปแล้ว ๒๗๓ วัน ก็ยังไม่ได้มีการปฏิบัติตามแต่ประการใด อันเป็นเจตนาฝืนมติคำสั่งศาลปกครองสูงสุดและมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)

การกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าคณะรัฐมนตรีมีเจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และทำให้ประเทศชาติเสียหาย โดยเลือกที่จะเป็น “คนกลาง” แทนการเป็นผู้เสียหาย ทั้งๆ ที่ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ระบุชัดเจนว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐรายงานอันเป็นเท็จต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่รักษาสมบัติของชาติ และยังมีพฤติการณ์ที่น่าเคลือบแคลงสงสัยว่าคณะรัฐมนตรีใช้วิธีหลบเลี่ยงความผิดของตนเอง ด้วยการรีบสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ชุดใหม่ ซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบอิสระตามรัฐธรรมนูญเพียงองค์กรเดียวในประเทศไทย ที่เร่งรีบในการคัดสรรคณะกรรมการชุดใหม่โดยปราศจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในเรื่องคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จริงหรือไม่?

นอกจากนี้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้พบข้อมูลว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐบางคนได้มีส่วนร่วมในการปกปิดข้อมูลของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ได้ทักท้วงในเรื่องการคืนท่อก๊าซธรรมชาติไม่ครบถ้วน ต่อศาลปกครองสูงสุดอีกด้วย

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงมีมติดังนี้

๑.๑ให้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ให้ดำเนินคดีความกับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตามมาตรา ๑๗, ๖๓, และ ๖๔ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ และพ.ร.บ.ความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๑ เพราะไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๔ ที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีมติให้ส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติให้ครบถ้วน และยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้มีการบังคับคดีที่ถูกต้องครบถ้วนภายใน ๖๐ วัน ซึ่งปัจจุบันเวลาได้ผ่านไปแล้วถึง ๒๗๓ วันก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ให้ถูกต้อง การกระทำความผิดดังกล่าวจึงได้สำเร็จไปแล้ว โดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จะไปยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ในวันศุกร์ที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ถนนพระรามที่ ๖ เขตพญาไท กทม.

๑.๒ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รวมถึงอัยการสูงสุด เพื่อเรียกร้องให้ส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติให้ครบถ้วน แล้วยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้มีการบังคับคดีที่ถูกต้องครบถ้วนตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๘๐๐/๒๕๕๗ และตามมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)ที่ได้ยื่นต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๙ มิใช่ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดโดยอ้างว่าศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยไม่ชัดเจน หรือมีกรณีข้อเท็จจริงใหม่ หรือใช้วิธียื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อถ่วงเวลา อันมีความเสี่ยงที่จะทำให้คดีหมดอายุความในวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๐ โดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ยื่นหนังสือดังกล่าวถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

๑.๓ อาศัยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ๒๕๕๙ เครือข่ายประชาชนปฎิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เห็นควรสนับสนุนดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อเอาผิดทางอาญากับเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้ดำเนินการปกปิดข้อมูลการทักท้วงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และยื่นคำร้องอันเป็นเท็จต่อศาลปกครองสูงสุด โดยนางสาวรสนา โตสิตระกูล และพวก ณ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซอยสีคาม ถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กทม. โดยเร็วที่สุด ซึ่งวันเวลาที่จะยื่นฟ้องจะแจ้งให้ทราบในเร็ววัน

เรื่องที่ ๒ การทวงสิทธิของประชาชนในความเสมอภาคและเท่าเทียมกันตลอดจน การรักษาประโยชน์ของชาติสูงสุด กรณีการตรากฎกระทรวงพลังงาน ๓ ฉบับ


ภายหลังจากที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสียงข้างมากได้มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๐ แล้ว ปรากฏว่า กระทรวงพลังงานได้เดินหน้าตรากฎกระทรวงของกระทรวงพลังงานทั้งหมด ๓ ฉบับ ดังนี้

๑.ร่างกฎกระทรวง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลา ในการนำส่งค่าภาคหลวง ให้แก่รัฐสำหรับผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. ....

๒.ร่างกฎกระทรวง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การขอและการได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. ....

๓.ร่างกฎกระทรวง กำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. .…

ทั้งนี้ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๗๗ วรรคสอง บัญญัติเอาไว้ว่า

"ก่อนตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน ...”

ทั้งนี้ กฎกระทรวงก็คือกฎหมายที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามมาตรา ๗๗ วรรคสองอย่างเคร่งครัดด้วย เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีความห่วงใยในประเด็นดังต่อไปนี้

๒.๑ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๐ เว็บไซต์ศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center) ในหัวข้อข่าว “เปิดร่างกฎกระทรวง ๓ ฉบับเกี่ยวกับสัญญาแบ่งปันผลผลิตเพื่อรับฟังความเห็นทางเว็บไซต์” ระบุว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเปิดร่างกฎกระทรวง ๓ ฉบับ ที่ออกตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทางเว็บไซต์ www.dmf.go.th ระหว่างวันที่ ๑๑ – ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามลำดับนั้น

ข่าวที่ปรากฏข้างต้น แสดงให้เห็นว่า มีการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา ๔ มาตรา ๕ มาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง และวรรคสาม และมาตรา ๕๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ทั้งนี้เพราะลักษณะวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนดังกล่าว อาจเป็นการปิดกั้น ลิดรอน และละเมิดสิทธิของประชาชนที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีอินเตอร์เน็ต หรือไม่รู้วิธีการหรือไม่สะดวกในการเข้าไปในเว็บไซต์ www.dmf.go.th ถือเป็นการกระทำที่ทำให้บุคคลไม่เสมอกันในกฎหมาย ไม่มีสิทธิเสรีภาพและไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลในเรื่องภาษา อายุ ความพิการ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม การศึกษาอบรม ย่อมเป็นการขัดต่อหลักการบริหารบ้านเมืองที่ดี และอาจเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการละเมิดสิทธิของประชาชนตามมาตรา ๒๑๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐

เหตุผลดังกล่าวข้างต้นยังทำให้ประชาชนไม่สามารถทำหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติและ สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามบทบัญญัติมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐

๒.๒ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) พบว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว มิได้นำไปสู่การประมูลตามระบบแบ่งปันผลผลิตที่แท้จริงโดยยึดเอาผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน อีกทั้งยังทำให้ระบบแบ่งปันผลผลิตมีลักษณะเนื้อหาเหมือนกับระบบสัมปทานเดิม โดยอำนาจในการบริหารและขายปิโตรเลียมตกเป็นของเอกชนคู่สัญญา ตลอดจนยังมิได้แก้ไขปัญหาหรือช่องโหว่ที่อาจทำให้เกิดการรั่วไหลหรืออาจทำให้เกิดการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงตามรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งได้ลงมติเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๘ อีกทั้งขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับรายงานปฏิรูปกฎหมายปิโตรเลียมเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ของอนุกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๘ รวมทั้งขัดแย้งกับการคัดค้านและทักท้วงจากประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๙ และยังขัดแย้งกับมติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ อีกด้วย

ด้วยเหตุนี้การร่างกฎกระทรวงดังกล่าวจึงขาดความรอบคอบไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชนส่วนรวม ไม่ยึดถือและไม่ปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และไม่สร้างเสริมให้ ทุกภาคส่วนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม ไม่ผาสุก และไม่สามัคคีปรองดองกัน อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๖๔ (๑) (๓) และ (๔) อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่มิได้ยึดหลักนิติธรรมเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๓

เนื่องจากร่างกฎกระทรวงทั้ง ๓ ฉบับของกระทรวงพลังงานอาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๓ มาตรา ๔ มาตรา ๕ มาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง และวรรคสาม มาตรา ๕๐ มาตรา ๕๙ มาตรา ๑๖๔ (๑) (๓) และ (๔) อันเป็นการไม่รักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงขอเชิญชวน พี่น้องประชาชนได้ไปแสดงตนพร้อมสำเนาบัตรประชาชนร่วมกันเข้าชื่อคัดค้านร่างกฎกระทรวงทั้ง ๓ ฉบับของกระทรวงพลังงาน ตามร่างหนังสือคัดค้านของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ที่จะยื่นต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ กระทรวงพลังงาน ศูนย์เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ อาคารบี เลขที่ ๕๕๕/๒ ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กทม.

เรื่องที่ ๓ เรียกร้องการเปิดเผยข้อมูลรายชื่อผู้ที่ได้ซื้อหุ้นในโควตาผู้มีอุปการคุณ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จากการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔


ตามที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้มีหนังสือถึงประธานกรรมการและกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เรื่อง ขอให้ตรวจสอบธรรมาภิบาลในการให้โควตา “ผู้มีอุปการคุณ” จองซื้อหุ้นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งปรากฏในหนังสือชี้ชวนการขายหุ้นว่ามีการจัดสรรให้ผู้มีอุปการคุณ จำนวน ๒๕ ล้านหุ้น โดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้มีหนังสือเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ซึ่งในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๐ นายปรีชา ส่งสัมพันธ์ จากสำนักงานกฎหมาย คนึง แอนด์ พาร์ทเนอร์ส จำกัด ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือตอบกลับมายังเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ว่า “รายชื่อผู้ที่ได้ซื้อหุ้นในโควตาผู้มีอุปการคุณที่ท่านต้องการให้เปิดเผยเป็นข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้

อย่างไรก็ตามเนื่องจากหุ้นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นั้น มาจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเดิมในนาม การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งรัฐถือหุ้นอยู่ทั้งหมดร้อยละ ๑๐๐ ดังนั้น หุ้นของบริษัท ปตท. จึงย่อมเป็นทรัพย์สินของรัฐแต่เดิม ประกอบกับหนังสือชี้ชวนการขายหุ้นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังปรากฏวิธีการจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้มีอุปการคุณโดยระบุว่า

“การจัดสรรสิทธิในการจองซื้อหุ้นให้แก่ผู้มีอุปการคุณ ให้อยู่ในดุลพินิจของ บมจ. ปตท.

เมื่อในขณะที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังไม่ได้กระจายหุ้นย่อมถือเป็นองค์กรของรัฐและหน่วยงานของรัฐอย่างชัดเจน จึงย่อมต้องมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลรายชื่อผู้มีอุปการคุณที่ได้รับโควตาซื้อหุ้นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อันเป็นทรัพย์สินของรัฐที่ต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ ตามหลักการบริหารธรรมาภิบาลที่ดี ประกอบกับหุ้นในส่วนอื่นก็มีการเปิดเผยรายชื่อมาแล้วก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย หรือผู้ถือหุ้นสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงไม่มีเหตุผลที่เพียงพอที่จะปกปิดรายการผู้มีอุปการคุณเพียงกรณีเดียว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนังสือชี้ชวนการขายหุ้นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ระบุความหมายของผู้มีอุปการคุณว่าหมายถึง “ผู้มีอุปการคุณของ บมจ. ปตท. ซึ่งจะจองหุ้นผ่านผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย” ซึ่งย่อมหมายถึงการให้คำนิยามเชิงบวก ไม่เป็นผลร้ายต่อบุคคลนั้นๆ ถ้าเป็นความจริง

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๔๑ (๑) บัญญัติไว้ว่า

“บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะโดยครอบครองของหน่วยงานของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ”

และมาตรา ๕๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ บัญญัติไว้ว่า

“รัฐต้องเปิดเผยข้อมูล หรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้โดยสะดวก”

อาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๔๑ (๑) และ มาตรา ๕๙ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีมติเห็นสมควรให้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.๒๕๔๐ เพื่อให้เปิดเผยข้อมูลรายชื่อผู้ได้สิทธิโควตาในการซื้อหุ้นผู้มีอุปการคุณของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดังกล่าวแก่ประชาชน โดยจะยื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ในวันจันทร์ที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐ จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่สนใจร่วมลงชื่อ เวลา ๙.๐๐น. ณ โรงอาหาร สำนักงาน ก.พ.ร. (ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์) และในเวลา ๑๐.๐๐ น. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จะเดินทางไปยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อประชาชน ณ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล กทม.

จากข้อเรียกร้องของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น ขอให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของรัฐบาลได้มีคำสั่งเพื่อดำเนินการสร้างบรรทัดฐานในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อยึดหลักความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล และยึดหลักผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนโดยทันที อันเป็นไปตามข้อความการเกษียณหนังสือด้วยลายมือของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๘ ที่ได้มอบให้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ความว่า “ทราบ/ เห็นชอบ/ ให้ประชาชนเชื่อมั่นในความโปร่งใส/ เป็นธรรม”

ด้วยจิตคารวะ
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)
อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา
วันพุธที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๐








กำลังโหลดความคิดเห็น