ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -คงต้องบอกกันตรงๆ มีแต่ยุคทหารเป็นใหญ่เท่านั้นราชนาวีไทยถึงจะบรรลุความฝันได้ครอบครองเรือดำน้ำเหมือนบ้านเมืองอื่นเขา และขอบอกเรือ ดำ น้ำซื้อได้เลย ไม่ต้องรอประชาธิปไตย โดยงานนี้ “บิ๊กป้อม” พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงกับออกหน้ามาจ้อกับสื่อ รอบนี้รับประกันความผิดหวังไม่มีแน่ ขอให้มั่นใจได้
“บิ๊กป้อม” ยืนยันว่าได้ซื้อแน่ๆ 3 ลำ ลำละ 1.2 หมื่นล้านบาท รวม 3 ลำ 3.6 หมื่นล้านบาท และเป็นเรือดำน้ำจากจีนไม่มีเปลี่ยนแปลง แถมสำทับด้วยว่า"ผมไม่ใช่เป็นผู้กดดันให้กองทัพเรือเลือกซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน" แต่ภายใต้งบประมาณจำกัด ทำให้ไม่สามารถซื้อเรือดำน้ำที่มีราคาสูงของบางประเทศได้พร้อมกับยกแม่น้ำทั้งห้ามาชวนเชื่อว่าเรือดำน้ำที่ซื้อจากจีนเหมาะสมกับราคา และเทคโนโลยีก็มีการพัฒนาขึ้นมาดีมากขึ้น อีกทั้งมีการรับประกันระยะเวลาการใช้งานและอุปกรณ์ มีการให้อาวุธต่างๆ ครบ ถ้าไปซื้อที่อื่นเราซื้อไม่ได้แบบนี้ เพราะ 1 ลำมีราคามากกว่าของจีนถึง 3 เท่าตัว ถ้าไปซื้อของประเทศอื่นได้ 1 ลำ แต่ของจีนได้ 3 ลำ และใช้งานได้นาน แต่ถ้ามีเงินมากก็ซื้อได้หมด ตนเองก็อยากได้เรือดำน้ำของยุโรป ส่วนที่มีการมองว่าจะเป็นหนูทดลอง เพราะรุ่นที่ซื้อจากจีนนั้นยังไม่มีประเทศใดใช้ ก็ขอบอกเลยว่าจีนเขามีประกัน10-15 ปี มีการรับประกันซ่อมแซม และมีท่าเรือพร้อม ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะนำมาใช้ ถ้าซื้อของจากต่างประเทศเราต้องซื้อของที่ดี
และเพื่อประกันความผิดหวัง เคลื่อนไหวคราวนี้ กองทัพเรือขอให้กลาโหมจัดสรรงบปี2 560 จัดซื้อลำแรกก่อน จากนั้นก็ผูกพันงบไปอีกสิบปี อย่างที่บิ๊กป้อมว่า ค่อยๆ ผ่อนชำระลำแรกก่อน ไม่ใช่ใช้งบประมาณแบบเศรษฐี ต้องใช้แบบคนยากจน
ส่วนคำถามที่ว่า กองทัพเรือเคยมีกองเรือดำน้ำแต่ถูกยุบไปเนื่องจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ชายฝั่งทะเลไทยมีความลึกไม่มาก แต่ทำไมถึงยังมีแผนจัดซื้ออีกในยุคนี้ บิ๊กป้อม ยกเมฆว่า ทรัพยากรธรรมชาติฝั่งอันดามันของเรามีจำนวนมาก อีกทั้งประเทศเพื่อนบ้านเราก็ล้วนแต่มีเรือดำน้ำทั้งหมด พม่ายังมีตั้ง 10 ลำ ซึ่งไม่ได้ซื้อเรือเก่าเลย
คำตอบของบิ๊กป้อม อาจจะปะปนทั้งจริงทั้งมั่วเพื่อให้เห็นถึงความจำเป็นในการมีเรือดำน้ำอย่างยิ่งยวด เป็นเหตุให้ อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการด้านความมั่นคงทางทหารหมายเลขหนึ่งของเมืองไทย สวนกลับแบบนิ่มๆ ตามสไตล์ว่า การจัดหาอาวุธในโครงการใหญ่ของไทยมีการให้ข้อมูลผิดพลาด เช่นบอกว่าประเทศเพื่อนบ้านมีเรือดำน้ำ 10 ลำ ทั้งที่ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะประเทศในภูมิภาคนี้มีเรือดำน้ำที่ประจำการอยู่เวลานี้ไม่ถึง10 ลำ
อันที่จริงแผนการจัดซื้อจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ มีการเตรียมการมานานนับสิบปีแล้ว และเมื่อปี 2558 คณะกรรมการคัดเลือกเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ก็มีมติ 14 เสียง จากกรรมการทั้งหมด 17 คน เลือกเรือดำน้ำจีนจำนวน 3 ลำ โดยใช้งบประมาณในการจัดซื้อ 3.6 หมื่นล้านบาท รวมทั้งการสนับสนุนอาวุธและอะไหล่รวม8 ปี ตลอดการฝึกให้กับกำลังพล
พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 ว่า กองทัพเรือมีคณะกรรมการอำนวยการคัดเลือกแบบเดินทางไปดูเรือดำน้ำ6 ประเทศ เปรียบเทียบทั้งเรือดำน้ำ จีน รัสเซีย ฝรั่งเศส สวีเดน เยอรมนี และเกาหลีใต้ โดยจัดคณะกรรมการที่เป็นคนรุ่นใหม่ จำนวน 17 คน จากกองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ และให้คะแนน ผลปรากฏว่า 14 คนเลือกเรือดำน้ำของประเทศจีน ประเทศเยอรมนี 2 คน และประเทศสวีเดน 1 คน ยืนยันไม่มีใครไปชักนำเรื่องการลงคะแนน เลือกด้วยตัวเองเพราะเป็นเรือในอนาคต การคัดเลือกจึงต้องให้เด็กรุ่นใหม่เลือก
การจัดเลือกเรือของประเทศจีนเป็นการตอบโจทย์เพราะสามารถซื้อได้ถึง3 ลำ แต่ถ้าเป็นของประเทศอื่นจะได้เพียง 2 ลำ และที่สำคัญประเทศจีนเป็นเพียงชาติเดียวที่ให้ระบบเอไอพี Air-Independent Propulsion system เป็นระบบที่ทำให้เรืออยู่ใต้น้ำนานถึง 21 วัน โดยไม่ต้องโผล่ ขณะที่เรือของประเทศเกาหลีใต้ และเยอรมนี ไม่มีระบบเอไอพี อยู่ใต้น้ำได้ 5-6วันก็ต้องโผล่ขึ้นมาซึ่งเรือดำน้ำต้องเงียบ พรางตัวอย่างเดียว ถ้า 4-5 วัน แล้วต้องโผล่ขึ้นผิวน้ำ ดาวเทียมสามารถจับได้หมด
“บางคนบอกว่าซื้อของประเทศจีนแล้วส่ายหัว ความจริงแล้วไม่ใช่ ผมยังไม่อยากอธิบาย เพราะรัฐบาลยังไม่ได้อนุมัติ รอให้อนุมัติก่อนจึงสามารถตอบได้ เพราะผมเดินทางไปดูด้วยตัวเอง แต่ตอนนี้พูดไม่ได้เพราะสื่อก็โจมตี ไม่มีประโยชน์ที่มานั่งทะเลาะกัน” ผบ.ทร.ว่าไว้ตั้งแต่ปีก่อน และกระทั่งปีนี้ สังเกตว่า ผบ.ทร.จะพยายามปิดปากเงียบเมื่อถูกถามถึงเรื่องนี้
การซื้อเรือดำน้ำของราชนาวีไทยในรัฐบาลรัฐประหาร ถูกจับตามองจากสื่อตะวันตก เช่น แวลู วอล์ก (Value Walk) สื่อออนไลน์สหรัฐฯ ที่รายงานว่า ดีลเรือดำน้ำสัญชาติจีน 039B จำนวน 3 ลำสนนราคา1.1 พันล้านดอลลาร์ เพื่อเข้าประจำการเหมือนชาติอื่นๆ นั้น เป็นเรื่องที่น่าจับตา โดยพบว่าก่อนหน้านั้นในวันที่ 24 เมษายน 2558ทางกองทัพเรือไทยได้ยื่นแผนการจัดซื้ออย่างเป็นทางการแล้ว และนับเป็นความสำเร็จของกองทัพเรือไทยที่มีความพยายามจัดหาเรือดำน้ำเข้ามาเสริมเขี้ยวเล็บมาโดยตลอด
ดีลครั้งนี้ ยังถูกมองว่ารัฐบาลทหารมีประสงค์ผูกสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทางการจีนเป็นพิเศษ เพราะนับตั้งแต่หลังการทำรัฐประหาร 1 ปีก่อนหน้านั้น ในขณะที่ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯชาเย็นลง ไทยแสวงหาความยอมรับในระดับสากลมากขึ้น ดีลการซื้อขายเรือดำน้ำจากจีนจึงเสมือนหมุดที่ตอกย้ำลงบนทิศทางที่ไทยได้หันทิศทางไป
เมื่อพิจารณาถึงเรือดำน้ำที่ไทยพิจารณาจะจัดซื้อ พบว่า เป็นเรือดำน้ำสัญชาติจีนรุ่น e041 ที่รู้จักโดยทั่วไป แต่ทว่าตามการระบุที่แท้จริงของจีนแล้ว เรือดำน้ำรุ่นนี้คือ 039B ซึ่งถูกเรียกตามการระบุ NATO ว่า Yuan ซึ่งเรือดำน้ำชั้น Yuan ได้เข้าประจำการประจำกองทัพจีนนับตั้งแต่ปี2006 และมาจนถึงขณะนี้ได้มีการต่อเรือดำน้ำชั้น Yuan แล้วถึง12 ลำ นอกจากไทยที่หมายตาเรือดำน้ำรุ่นนี้จากจีนแล้ว ปากีสถานกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาตกลงซื้อจากจีน
เรือดำน้ำ 039B นั้น มาพร้อมกับระบบอาวุธล้ำสมัย และระบบ Air-Independent Propulsion system (AIP) หรือระบบเครื่องยนต์ที่ไม่ต้องพึ่งอากาศจากผิวน้ำ ที่จะช่วยให้เรือดำน้ำรุ่นนี้อยู่ใต้น้ำได้เป็นเวลานานเมื่อเทียบกับเรือดำน้ำระบบดีเซล- ไฟฟ้าโดยทั่วไป โดยระบบนี้สามารถทำให้เรือดำน้ำรุ่นนี้อยู่ใต้น้ำได้นานถึง 21วัน โดยไม่ต้องโผล่ ซึ่งเทคโนโลยีนี้ทำงานได้เนื่องจากเครื่องยนต์สเตอร์ลิง (Stirling Engine) ที่จีนสั่งนำเข้ามาจากสวีเดนในช่วงยุค 80 นี่เป็นครั้งแรกที่เรือดำน้ำสัญชาติของจีนถูกหมายตาจากชาติอื่นอย่างเปิดเผย ถึงแม้ก่อนหน้านี้เรือดำน้ำของจีนจะได้รับความไว้วางใจจากบังกลาเทศและปากีสถาน แต่ทว่าเป็นการสั่งซื้อทางตรง
สื่อสหรัฐฯ เชื่อว่า เมื่อเรือดำน้ำมาประจำการแล้ว ทางไทยจะกำหนดให้เรือดำน้ำเหล่านี้แล่นตรวจการณ์ในบริเวณอ่าวไทย และจะมีความจำเป็นมากขึ้นโดยเฉพาะหากมีการยกระดับความรุนแรงในเหตุพิพาทบริเวณทะเลจีนใต้และไทยยังสามารถใช้เรือดำน้ำเหล่านี้ป้องกันการล่วงล้ำอ่าวไทยจากข้าศึก รวมไปถึงยังทำให้กองทัพเรือไทยลดการพึ่งพาการใช้ยานรบเหนือน้ำทุกประเภทอีกด้วย
รายงานของ Value Walk ระบุว่า ในย่านเอเชียแปซิฟิก สิงคโปร์มีเรือดำน้ำ เตรียมเข้าประจำการจำนวน 4 ลำ มาเลเซีย มีจำนวน 2 ลำ พร้อมกับแผนการที่จะสั่งซื้อเพิ่มอีก 10 ลำ ในขณะที่เวียดนาม มีจำนวน 4 ลำ และอยู่ในระหว่างการส่งมอบอีก 2 ลำจากรัสเซีย ในขณะที่ฟิลิปปินส์มีแผนจะสั่งซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำ
เมื่อประเทศเพื่อนบ้านต่างมีกองเรือดำน้ำแสดงถึงแสนยานุภาพทางทหารในท้องทะเลกันทั้งนั้น แล้วจะให้กองทัพเรือของไทยนิ่งเฉยอยู่ได้อย่างไร และบอกแล้วว่ากองทัพเรือเตรียมการเรื่องนี้พร้อมสรรพมานานแล้ว คราวนี้เพียงรอคณะรัฐมนตรี อนุมัติให้ผูกพันงบประมาณอย่างเป็นทางการ โดยบรรจุเข้าไว้ในแผนงบประมาณปี 2560 เป็นการนำร่อง จากนั้นก็จัดสรรงบแต่ละปีผ่อนชำระไปจนครบถ้วน36,000 หมื่นล้านบาท นั่นแหละ
เรือดำน้ำจากจีน สำหรับกองทัพเรือย่อมมาแน่นอน แต่สำหรับ “รถถังยูเครน” ที่กองทัพบกสั่งซื้อไปตั้งแต่ปีมะโว้ ยังไม่สามารถการันตีได้ว่าจะสามารถส่งมอบได้ครบถ้วนเมื่อไหร่ จะทำตามคำมั่นสัญญาครั้งล่าสุดว่าจะส่งมอบให้ได้ภายในเดือนมีนาคม 2560 นี้หรือไม่ก็ยังไม่แน่
ข่าวคราวล่าสุด เมื่อทูตยูเครนมาพบ “บิ๊กป้อม” ก็ต้องทำทีทวงถามพร้อมๆ กับออกหน้ารับแทน เพราะจะว่าไปการสั่งซื้อรถถังจากยูเครนนั้นพี่น้องบูรพาพยัฆค์ ต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ เนื่องจากมีการท้วงติงกันตั้งแต่คราวที่กองทัพบกสมัย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. เสนอเรื่องจัดซื้อ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงนามเซ็นอนุมัติกันแล้ว
การพบปะหารือกับพล.อ.ประวิตร ของนายอันดรีย์ เบชตา เอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 มีเรื่องสำคัญคือ การส่งมอบรถถัง T-84 Oplot - M จากประเทศยูเครน ที่กองทัพบกเซ็นสัญญาซื้อ จำนวน 49 คัน ในเดือน กันยายน 2554 มูลค่าราว 7,200 ล้านบาท(240 ล้านดอลลาร์) แต่มีปัญหาส่งมอบล่าช้า ซึ่งพล.อ.ประวิตร ยอมรับโดยดุษฎีก่อนการหารือกันว่า ทางยูเครนยังส่งรถถังที่เหลือให้ไม่ได้ ถ้าส่งได้คงส่งมาแล้ว เพราะยูเครนก็เกิดปัญหาจึงต้องนำรถถังที่ผลิตเองไปใช้งานก่อน แต่เชื่อว่าใช้เวลาอีกสักพักยูเครนคงส่งมาให้ไทยได้
ตามปกติโดยทั่วไปแล้ว สัญญาซื้อขายจะมีโทษปรับด้วยเมื่อมีการส่งมอบล่าช้า แต่ดูเหมือนว่า พล.อ.ประวิตร และกองทัพบกของไทยจะใจดีเหลือประมาณ งานนี้ เมื่อถามว่า จะมีการปรับเงินยูเครน เนื่องจากส่งมอบรถถัง ที-84 Oplot ที่เหลือให้ไทยล่าช้าหรือไม่ พล.อ.ประวิตร ตอบว่า “ไม่ทราบเรื่องรายละเอียด กองทัพบกเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่คิดว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามระเบียบสัญญาที่ได้ลงนามไว้แล้ว”
ทว่า เอาเข้าจริงจนถึงบัดนี้ยังไม่เห็นว่ากองทัพบก จะสั่งปรับยูเครนที่ส่งมอบรถถังให้ล่าช้าแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังมีโครงการฝันเฟื่องร่วมกันอีกว่าทางยูเครนอยากจะมาลงทุนสร้างยานเกราะล้อยางในประเทศไทย ดังที่ พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการพบปะของนายอันดรีย์ กับ พล.อ.ประวิตร ว่า ทูตยูเครนได้มาชี้แจงสถานการณ์ความไม่มั่นคงภายในประเทศของยูเครนทำให้ไม่สามารถผลิตรถถังส่งมอบได้ทันตามกำหนด แต่เวลานี้สถานการณ์ดีขึ้นแล้วสามารถเริ่มดำเนินอุตสาหกรรมป้องกันประเทศต่อได้แล้ว และพร้อมจะผลิตและส่งมอบรถถังให้กับกองทัพบกไทยภายในเดือนมีนาคม 2560
นอกจากนั้น ยูเครนยังสนใจร่วมเป็นหุ้นส่วนด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศกับไทยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการทหาร รวมทั้งแนวคิดการจัดตั้งโรงงานผลิตและซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ประเภทยานเกราะร่วมกับไทยในอนาคต
ถามว่า ที่ผ่านมายูเครนส่งมอบรถถังให้กองทัพบกไทยได้กี่มากน้อย ดูจากรายงานของ Jane's นิตยสารข่าวกลาโหมที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุดและเก่าแก่มากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ รายงานข้อมูลเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 ว่า กองทัพบกไทยได้รับมอบรถถังหลัก Oplot ชุดใหม่เพิ่มเติมจากยูเครนครั้งล่าสุดนับเป็นชุดที่สาม จำนวน 10 คัน จากชุดแรก 5 คัน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์2557 และชุดที่สอง 5คัน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 และมี ซึ่งรถถังหลักOplot ของกองทัพบกไทยถูกนำเข้าประจำการใน กองพันทหารม้าที่๒ กองพลทหารราบที่๒ รักษาพระองค์ฯ
ทั้งกองเรือดำน้ำจากจีนก็จะมา ทั้งรถถังจากจีนและยูเครน ก็จะมา ได้ เวลา กองทัพไทย เปล่งแสนยานุภาพ !!