xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“รถถังจีน” ซื้อแล้วดีจัง “เรือดำน้ำจีน” ซื้อเถอะคุ้ม กับดรามาจี๊ดหัวใจ “พี่ตูน” ช่วยรพ.รัฐถังแตกด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ระหว่าง “พักการซื้อขาย” (ชั่วคราว) สำหรับการจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” มูลค่า 36,000 ล้านบาทจากจีน กองทัพบก กระทรวงกลาโหมของ “รองนายกฯ ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ชงเรื่องการจัดซื้อ “รถถัง” จากจีน เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ก็อนุมัติเปรี้ยงลงมาเป็นที่เรียบร้อย

มูลค่าการจัดซื้อรถถัง VT-4 เที่ยวนี้ “จิ๊บๆ” แค่ประมาณ 2,000 ล้านบาทเท่านั้น

แต่ช้าก่อน นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะกองทัพบกเคยจัดซื้อรถถัง VT-4 จากจีนมาแล้วจำนวน 28 คัน ด้วยงบประมาณ 4,900 ล้านบาท ในสมัย บิ๊กหมู-พล.อ.ธีรชัย นาควานิช เป็นผู้บัญชาการทหารบก ส่วนล็อตที่ 2 พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบันเสนอจัดซื้อต่อเนื่องจำนวน 10 คัน และจะทยอยซื้อต่อไปในล็อตที่ 3 เพื่อให้ครบ 1 กองพันโดยผูกพันงบประมาณ 3 ปี

นั่นหมายความว่า จะต้องมีการซื้อเพิ่มอีก 11 คันเพราะโดยปกติแล้วรถถัง 1 กองพันมีจำนวน 49 คัน

นายกฯ ลุงตู่อธิบายเอาไว้ว่า หากจำเป็นก็ต้องซื้อ และเมื่อซื้อก็ต้องอยู่ในแผนการพัฒนากองทัพในช่วง 10-20 ปี เพราะรถถังหนึ่งคันใช้งานได้ไม่ต่ำกว่า 20-30 ปี และที่ผ่านมารถถังของกองทัพบกรุ่นเก่าก็ทยอยปลดประจำการไปหลายสิบปีแล้ว ดังนั้น จึงต้องจัดหาเพื่อทดแทน โดยต้องดูว่าจะต้องเปลี่ยนกี่กองพัน

“หากซื้อจากประเทศตะวันตกในราคา 3 เท่า ส่วนประเทศตะวันออกราคาเท่าเดียว แล้วเราจะซื้อใคร” พล.อ.ประยุทธ์อธิบายให้เหตุผลถึงการตัดสินใจซื้อรถถังจากจีน

กระนั้นก็ดี เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดก็ทำให้สามารถคาดเดาไปได้ว่า 1 กองพันรถถังจากจีนเป็นเพียง “กองพันรถถังแรก” เท่านั้น และจะต้องมีการจัดซื้อเพิ่มเติมอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการกำหนดอัตรากำลังของกองทัพนั้น รถถังหนึ่งกองพันต่อทหารหนึ่งกรม

คำนวณคร่าว 1 กองพันรถถังมี 49 คัน ใช้วงเงินจัดซื้อรวมทั้งสิ้นประมาณ 9,000 ล้านบาท ถ้าซื้อ 3 กองพัน ราว 150 คัน ก็ 27,000 ล้านบาท แต่ถ้าซื้อ 5 กองพัน ราว 250 คัน ก็แค่ 45,000 ล้านบาทเท่านั้น

และมีกระแสข่าวแว่วๆ ออกมาแล้วว่า อาจจะมีการจัดซื้ออยู่ที่จำนวนประมาณ 150-200 คัน

กล่าวสำหรับการจัดซื้อรถถังจากจีนเที่ยวนี้ถือเป็นวาระปกติตามที่ พล.อ.ประยุทธ์อธิบาย เนื่องจากต้องยอมรับว่า รถถังที่ประจำการอยู่ในกองทัพบกไทยนั้น “เก่า” จริงๆ เพราะรุ่นที่ใช้คือ M-41 “เวอร์กเคอร์ บุลด็อก” (Walker Bulldog) ประจำการในกองทัพมาตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม และทยอยปลดประจำการไปเป็นระยะๆ ขณะที่รถถัง T48(Oplot) ของยูเครนจำนวน 49 คันที่จัดซื้อมาในยุค พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ.มูลค่า 241 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็มีปัญหามาอย่างต่อเนื่องจนสุดท้ายก็ต้องยกเลิกสัญญา เนื่องจากบริษัทแมรีเชฟแห่งยูเครนส่งมอบได้แค่เพียง 20 คันเท่านั้น

เพียงแต่การจัดซื้อรถถังจากจีนทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย เพราะยังคงติดตาตรึงใจกับเรื่องราวเก่าๆ เมื่อครั้งที่กองทัพบกเคยจัดซื้อรถถัง Type69 จากจีนเมื่อราว 20 ปีก่อนจำนวน 100 คัน และใช้งานไปได้พักหนึ่งก็จอดตายทั้งกองพันและบางส่วนถูกนำไปทำเป็นปะการังเทียม

ขณะที่เมื่อซื้อมาแล้วจะได้ใช้หรือคุ้มกับรูปแบบสงครามในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ ไม่ทราบ

ส่วนการจัดซื้อ “เรือดำน้ำรุ่น Yuan Clsaa S26T” ของกองทัพเรือมูลค่า 36,000 ล้านบาทที่ยังคงเป็นแม่สายบัวรอเก้อ ไม่มีการนำเสนอให้ ครม.อนุมัตินั้น มีข้อมูลยืนยันว่า เป็นเพราะมีเสียงค้านดังขรมทั้งแผ่นดิน โดยเฉพาะเสียงค้านที่มีผลต่อการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีจน “ไม่กล้า” หักด้ามพร้าด้วยเข่า และจำต้อง “เลื่อน” ออกไป

กระนั้นก็ดีเมื่อฟังจากสุ้มเสียงที่ “นายกรัฐมนตรี” ออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ครม.อนุมัติจัดซื้อรถถังจากจีนในล็อตที่ 2 ก็จะเห็นว่า ความพยายามในการผลักดันยังคงมีต่อไป เพราะย้ำนักย้ำหนาว่า “หากมีความจำเป็นก็ต้องจัดหา โดยคุณภาพจะต้องเป็นไปตามความเหมาะสม”

ขณะเดียวกันก็มีสัญญาณบางประการที่ทำให้จับใจความได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์กำลังเปิดศึกต่อสู้กับ “ใครบางคน” หรือไม่ ไม่เช่นนั้นคงไม่กล่าวชัดๆ และดังๆ ออกมาว่า “วันนี้มีคนโจมตีเรื่องนี้ตามเว็บไซต์ต่างๆ โดยมีอดีตทหารด้วย คิดว่าคนเหล่านี้ใช้ไม่ได้ ถือว่าทำลายระบบกองทัพ เพราะเขียนในสิ่งที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม วันนี้กองทัพมีความมั่นคง เพราะคนเก่าๆ ที่ไม่ดีออกไปแล้ว”

ใครคืออดีตทหารที่ขัดขวางการจัดซื้อเรือดำน้ำ?

แต่ที่แน่ๆ คือเมื่อตรวจสอบอดีตทหารที่วิพากษ์วิจารณ์การจัดซื้อเรือดำน้ำ แบบออกนอกหน้าก็มีเพียง 2 คนเท่านั้น

คนแรกเป็นอดีตทหารอากาศ
คนที่สองเป็นอดีตทหารเรือ

และทั้งสองคนก็เป็นเครือข่ายของกลุ่มอำนาจที่ พล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตรไม่อาจมองข้ามได้

กระนั้นก็ดีขบวนการ “หนุน” ซื้อเรือดำน้ำก็ทำงานอย่างขะมักเขม้น โดยเฉพาะกองทัพเรือที่กระโดดลงมาเล่นเองแบบเนียนๆ ผ่านการจัดการประชุมทางวิชาการของกองทัพเรือ ครั้งที่ 9 เรื่อง “สมุทราภิบาลและเศรษฐกิจทางทะเลของไทยกับบทบาทของกองทัพเรือ” เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา

แต่ก็งงๆ อยู่ว่า ทำไมถึงมีผู้ร่วมเสวนาเพียงแค่ 2 คนเท่านั้นคือ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และพล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ หัวหน้าคณะฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา แล้วผลก็ออกดังที่คาด เพราะทั้ง 2 คนก็ล้วนแล้วแต่ยกเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องซื้อเรือดำน้ำมาแสดงทั้งสิ้น

นอกจากนั้น กรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำ การจัดซื้อรถถังจากจีน ยัง กลายเป็น ประเด็น “ดรามาทางการเมือง” อย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อมีการหยิบโยงมาผสมโรงกับเรื่อง “18 โรงพยาบาลรัฐ” ประสบภาวะ “ถังแตก” ซึ่งถูกปล่อยผ่านออกมาจากเพจเฟซบุ๊กสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป จนสามารถสร้าง “แนวร่วม” ผสมโรงด่ารัฐบาลกันบานตะไท ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ที่สังคมจะเกิดอารมณ์ร่วมในลักษณะนั้น

ที่สำคัญคือมีการลาก “อาทิวราห์ คงมาลัย” หรือ “พี่ตูน บอดี้แสลม” ให้เข้ามาช่วย “วิ่ง” เพื่อหาเงินให้กับโรงพยาบาลเหล่านั้นอีกต่างหาก เพราะก่อนหน้านี้ตูน บอดี้แสลมเคยประสบความสำเร็จในการวิ่งการกุศลเพื่อหาเงินช่วยโรงพยาบาลหัวสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และโรงพยาบาลศิริราชมาแล้ว

แถม “พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ” รองเลขาธิการแพทยสภา ยังออกโรงด้วยตัวเองโดยโพสต์ขอความช่วยเหลือว่า “พี่ตูน...ช่วยด้วย!!! เปิดรายชื่อ 18 รพ.สธ.โคม่า พิษติดลบต่อเนื่อง”

18 โรงพยาบาลรัฐประสบปัญหาทางการเงินจริงหรือไม่

ก็ต้องตอบว่าจริง

อ้าว แล้วทำไมรัฐถึงไม่ใช้งบประมาณในการจัดซื้อรถถัง หรือที่กำลังจะจัดซื้อเรือดำน้ำ ไปช่วยเหลือโรงพยาบาลเหล่านั้นก่อน เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว การ จัดซื้ออาวุธมิได้มีความจำเป็นเร่งด่วนเมื่อเทียบกับความเจ็บไข้ได้ป่วยของประชาชน

รัฐบาลซื้ออาวุธเพื่อไปรบกับใคร?

นี่คือคำถามที่ดังกระหึ่มในโลกออนไลน์ซึ่งรัฐบาลจะต้องตระหนักให้มาก เพราะบั่นทอนศรัทธาที่มีต่อรัฐบาลอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่า ปัญหา 18 โรงพยาบาลรัฐประสบภาวะทางการเงินที่ถูกโหมกระพือขึ้นมาในช่วงเวลาเดียวกันนั้น แฝงกลิ่นอายทางการเมืองภายในกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาร่วมด้วย

ฝ่ายรัฐ ฝ่ายกระทรวงสาธารณสุขอธิบายว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเก่า เพราะปัญหาได้คลี่คลายลงไปมากแล้ว ทว่า ก็ยอมรับว่า มีปัญหาจริง และผู้ที่ออกมายอมรับก็ไม่ใช่ใครอื่นหากแต่เป็น ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เอง

“ปัญหาโรงพยาบาลขาดทุนไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่มีมานานแล้ว และได้รับการแก้ไขมาโดยตลอด ด้วยการบริหารจัดการงบประมาณให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ขณะนี้โรงพยาบาลสังกัด สธ.ไม่ได้ขาดทุนมากเหมือนกับที่มีการนำเสนอ ส่วนที่เห็นตัวเลขติดลบตัวแดงของโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.)นั้น เป็นบัญชีเงินบำรุงคงเหลือ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากได้รับเงินเหมาจ่ายรายหัวบัตรทองลดลง เนื่องจากแบ่งไปให้โรงพยาบาลที่มีจำนวนประชากรน้อย และเกิดจากการลงทุนสร้างตึก ซื้ออุปกรณ์ ซื้อยาต่างๆ เพื่อบริการดูแลประชาชน แต่จะบอกว่าเป็นการขาดทุนคงไม่ได้ เพราะอย่างยาก็ถือว่าเป็นทุนในมือของโรงพยาบาล หรือการสร้างตึกใหม่ในอนาคตก็จะช่วยให้โรงพยาบาลมีรายได้กลับมา นอกจากนี้ การดำเนินงานก็ยังมีทุนหมุนเวียนอีก การจะดูว่าขาดทุนหรือไม่นั้นจึงต้องดูที่ทุนสำรองสุทธิ ไม่ใช่เงินบำรุงคงเหลือ”

ทั้งนี้ สังคมไม่ได้สนใจหรอกว่า อะไรคือปัญหาที่แท้จริงของโรงพยาบาลทั้ง 18 แห่ง เป็นเพราะการบริหารจัดการไร้ประสิทธิภาพหรือการจัดการงบประมาณรายหัวให้กับโรงพยาบาลไม่เพียงพอ หรือเป็นเพราะอะไรกันแน่ หากสนใจแต่เพียงว่า ในขณะที่โรงพยาบาลไม่มีเงิน แต่รัฐกลับใช้เงินก้อนมหาศาลจัดซื้ออาวุธ

ต้องยอมรับว่า ณ เวลานี้ เสถียรภาพของรัฐบาลกำลังสั่นคลอนอย่างหนักจากปมปัญหาหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ ซึ่งพร้อมจะถูกหยิบยกมาสร้างสถานการณ์ทางการเมืองได้ต้องเวลา และรัฐบาล คสช.ต้องไม่ลืมว่า การบริหารอารมณ์ของผู้คนในสังคมนั้นไม่อาจชะล่าใจได้เลยแม้แต่วินาทีเดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น