xs
xsm
sm
md
lg

สังคายนาครั้งที่ 3 : โมเดลแก้ปัญหาธัมมชโย

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ท่านผู้อ่านที่เป็นชาวพุทธหรือมิใช่ชาวพุทธ แต่สนใจและศึกษาวิชาศาสนาเปรียบเทียบ ก็คงจะได้พบเห็นหรือได้ยินได้ฟังคำว่า สังคายนาพระธรรมวินัย ซึ่งปรากฏในประวัติความเป็นมาของพุทธศาสนา

สังคายนาคืออะไร และเกี่ยวกับการสืบทอดคำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างไร?

เกี่ยวกับความหมายของคำว่า สังคายนา อาจารย์สุชีพ ปุญญาสุภาพ ผู้เป็นปราชญ์ในทางพุทธศาสนาได้เขียนไว้ในหนังสือ พระไตรปิฎกฉบับประชาชนว่า “ส่วนการทำสังคายนานั้น แปลตามรูปศัพท์ว่าการร้อยกรองคือ การประชุมสงฆ์จัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะ แล้วรับทราบทั่วกันในที่ประชุมนั้นว่า ตกลงกันอย่างนี้แล้ว ก็มีการท่องจำนำสืบต่อๆ กันมาในชั้นเดิม การสังคายนาปรารภเหตุความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา จึงจัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะไว้ ในครั้งต่อๆ มา ปรากฏมีการถือผิด ตีความหมายผิด ก็มีการชำระวินิจฉัยข้อที่ถือผิด ตีความหมายผิดนั้น ชี้ขาดว่าที่ถูกควรเป็นอย่างไร แล้วก็ทำสังคายนาโดยการทบทวนระเบียบเดิมบ้าง เพิ่มเติมของใหม่ ทำนองบันทึกเหตุการณ์บ้าง จัดระเบียบใหม่ในบางข้อบ้าง ในชั้นหลังๆ เพียงการจารึกลงในใบลาน การสอนทวนข้อผิดในใบลานก็เรียกกันว่า สังคายนา”

โดยนัยแห่งการให้คำนิยามคำว่า สังคายนาดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าสังคายนาในแต่ละครั้งมีมูลเหตุจูงใจในรูปแบบแตกต่างกัน แต่มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ เพื่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้จากการทำสังคายนาครั้งที่ 1-3 ซึ่งมีประเด็นสำคัญสรุปได้ดังนี้

สังคายนาครั้งที่ 1

สังคายนาครั้งนี้ กระทำกันที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างภูเขาเวภารบรรพต ประเทศอินเดีย โดยพระมหากัสสปเถระ เป็นประธาน และมีพระอรหันต์เข้าร่วมประชุม 500 รูป และมีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นผู้อุปถัมภ์เหตุปรารภ หรือมูลเหตุจูงใจให้มีการทำสังคายนาในครั้งนี้ก็คือ คำพูดของภิกษุชื่อ สุภัททะ ผู้บวชเมื่อแก่ที่พูดเมื่อได้ทราบข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า และได้เห็นภิกษุทั้งหลายร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ โดยบอกว่าจะร้องไห้เสียใจไปทำไม เพราะว่าต่อจากนี้ไปจะทำอะไรก็ทำได้ตามใจแล้ว ไม่ต้องมีใครมาชี้ว่า นี่ผิด นี่ถูก นี่ควร นี่ไม่ควร และจากคำพูดนี้เอง ทำให้มหากัสสปะฟังแล้วสลดใจ เสนอที่ประชุมสงฆ์ทำสังคายนา

สังคายนาครั้งที่ 2

สังคายนาครั้งนี้ กระทำที่วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี โดยมีพระยสกากัณฑกบุตรเป็นผู้ริเริ่ม เนื่องจากมีเหตุจูงใจคือ ข้อปฏิบัติย่อหย่อนทางพระวินัย 10 ประการของภิกษุวัชชีบุตร เช่นถือว่าการเก็บเกลือไว้ในเขนง (เขาสัตว์) เพื่อเอาไว้ฉันได้ ตะวันชายเดินเที่ยงไปแล้ว 2 นิ้ว ควรฉันอาหารได้ ควรรับเงิน และทองได้ เป็นต้น

สังคายนาครั้งที่ 3

สังคายนาครั้งนี้ กระทำกันที่อโศการาม กรุงปาฏลีบุตร ประเทศอินเดีย พระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ เป็นประธาน โดยมีเหตุจูงใจคือ มีพวกเดียรถีย์หรือนักบวชนอกศาสนามาปลอมบวชแล้วแสดงลัทธิ และความเห็นของตนว่าเป็นของพระพุทธศาสนา พระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ ได้ขอความอุปถัมถ์จากพระเจ้าอโศกมหาราช ชำระสอบสวน กำจัดเดียรถีย์เหล่านั้นจากพระธรรมวินัย แล้วจึงทำสังคายนา

ต่อมาได้มีการทำสังคายนาอีก 6 ครั้ง แต่เป็นการทำนอกประเทศอินเดีย และส่วนใหญ่เป็นการชำระคำสอน และรวบรวมเป็นหมวดหมู่

แต่โดยรวมแล้ว สังคายนาครั้งที่ 1-3 ซึ่งกระทำในประเทศอินเดีย และเป็นการปรารภเหตุหรือมีมูลเหตุจูงใจนอกเหนือไปจากการมุ่งชำระพระธรรมวินัย และรวบรวมเป็นหมวดหมู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครั้งที่ 3 ที่มุ่งเน้นการปรับปรุงแก้ไของค์กรสงฆ์ โดยการกำจัดพวกนักบวชจอมปลอมให้หมดไป

ในขณะนี้วงการสงฆ์ในประเทศไทย มีภิกษุจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคารพพระธรรมวินัย จะเห็นได้จากการที่ข่าวเกี่ยวกับพระเสพยาบ้า ค้ายาบ้า และตั้งตนเป็นผู้วิเศษอวดอุตริมนุสธรรมแสวงลาภสักการะในทางที่ไม่ถูกไม่ควร เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเสื่อมจนกลายเป็นข่าวอื้อฉาว และที่ยิ่งกว่านี้ก็คือล่วงละเมิดทั้งพระวินัย และผิดทั้งกฎหมายบ้านเมือง

หนึ่งจำนวนภิกษุที่ประพฤติตนย่อหย่อนทางพระวินัย และล่วงละเมิดกฎหมายบ้านเมือง ก็พระธัมมชโย แห่งวัดพระธรรมกาย ซึ่งถูกโจทย์ด้วยอนุวาทาธิกรณ์ คือการโจทย์ฟ้อง 3 กระทงคือ

1. ด้วยศีลวิบัติอันได้แก่ ความเสียหายเกี่ยวกับศีล

2. ด้วยอาจารวิบัติอันได้แก่ ความเสียหายเกี่ยวกับความประพฤติ

3. ด้วยทิฏฐิวิบัติอันได้แก่ ความเสียหายเกี่ยวกับความเห็น

4. ด้วยอาชีววิบัติอันได้แก่ ความเสียหายเกี่ยวกับการเลี้ยงชีพ

ในจำนวนอนุวาทาธิกรณ์ 4 ข้อหรือ 4 กระทงข้างต้น การกระทำของพระธัมมชโย เท่าที่ประมวลได้จากข่าวที่ปรากฏออกมาทางสื่อ จากอดีตจนถึงปัจจุบันน่าจะเข้าข่ายการถูกโจทย์ด้วยอนุวาทาธิกรณ์ 3 ประการดังต่อไปนี้

1. ด้วยศีลวิบัติ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ายักยอกที่ดินของวัดมาเป็นของตน และอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน จะเห็นได้จากการบอกว่าได้ไปยังนรก และขึ้นไปบนสวรรค์พบคนนั้น เห็นคนนี้ แต่ที่เห็นว่าเข้าข่าวอวดอุตริมนุสธรรมมากที่สุดก็คือ การบอกว่าได้ไปพบพระพุทธเจ้าบนสวรรค์ เนื่องจากขัดแย้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า พระพุทธเจ้ารวมไปถึงอรหันตสาวก เมื่อดับขันธ์หรือที่ถึงอนุปาทิเสสนิพพานแล้ว จะไม่กลับมาเกิดอีก ไม่ว่าในโลกไหนๆ

ดังนั้น ใครก็ตามที่กล่าวอ้างเช่นนี้ จึงเข้าข่ายอวดอ้างคุณวิเศษที่ไม่มีในตน และเป็นการล่วงละเมิดอาบัติปาราชิก ข้อที่ 4 มีโทษถึงขั้นต้องขาดจากความเป็นภิกษุ และจะบวชอีกไม่ได้ตลอดชีวิต

2. ทิฏฐิวิบัติ จะเห็นได้จากพฤติกรรมในการสอนซึ่งผิดแผกไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้า เช่น นิพพานเป็นอัตตา และการทำบุญด้วยเงินจำนวนมากได้ขึ้นสวรรค์ชั้นสูง ซึ่งขัดแย้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า การทำบุญจะได้บุญมากก็ต่อเมื่อการทำบุญด้วยการให้ทาน ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ประการคือ

2.1 ปฏิคาหกหรือผู้รับเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์

2.2 ทายกหรือผู้ให้มีศรัทธา ก่อนให้ กำลังให้ และให้แล้วมีใจเบิกบาน

2.3 วัตถุทานหรือสิ่งที่ให้เป็นของบริสุทธิ์ ไม่ได้ลักขโมยหรือโกงใครมา

3. ด้วยอาชีววิบัติ จะเห็นได้จากพฤติกรรมในการแสวงหา เช่น มีการให้กู้เงินมาทำบุญ และการขายค้อนเพื่อเบิกทางไปสวรรค์ เป็นต้น

นอกจากมีพฤติกรรมเข้าข่ายต้องอนุวาทาธิกรณ์ดังกล่าวแล้วข้างต้น ในขณะนี้พระธัมมชโยยังถูกออกหมายจับในข้อหาร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร ซึ่งถ้านำเอามหาปเทส 4 ข้อที่ว่า สิ่งใดที่ไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควร

จากนัยแห่งมหาปเทส 4 ข้อดังกล่าวข้างต้น อนุโลมได้ว่าการร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร ซึ่งไม่เคยอนุญาตไว้ว่าควรแต่เข้ากันได้กับการลักขโมย ซึ่งเป็นข้อห้ามไว้ จึงไม่ควรคือเข้าข่ายลักขโมยนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ ทางฝ่ายองค์กรปกครองสงฆ์จะปฏิเสธว่าไม่ใช่เรื่องของสงฆ์ จึงไม่น่าจะถูกต้องนัก

ทางที่ดี มส.ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสงฆ์ควรดำเนินการตามขั้นตอนพระวินัยควบคู่ไปกับฝ่ายบ้านเมือง แต่ทำให้ดีกว่านี้ควรจัดการให้เรียบร้อยก่อนที่บ้านเมืองจะเข้ามาจัดการ จึงจะได้ชื่อว่ามีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และถ้าเพิกเฉยไม่ดำเนินการอาจมีตามมาตรา 157 เนื่องจาก มส.เป็นเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.ปกครองสงฆ์ 2505
กำลังโหลดความคิดเห็น