xs
xsm
sm
md
lg

ปาจิตตีย์สึกทั้งวัด แต่อาบัติปาราชิกยังลอยนวล

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

หนังสือพิมพ์รายวันฉบับวันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม 2559 หลายฉบับได้ลงข่าวหน้า 1 เกี่ยวกับพระเสพยาบ้า และถูกจับสึกทั้งวัดจำนวน 8 รูปกับคฤหัสถ์อีก 2 คน ซึ่งมีเนื้อข่าวสรุปได้ดังนี้

1. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา พ.อ.จักรพงษ์ จันทร์สุทธิประภา ผบ.กกล.รส. จ.อำนาจเจริญ ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่า ที่วัดโพธิ์ศิลา ต.โนนโพธิ์ อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ มีพระประพฤติตนไม่เหมาะสมเกี่ยวกับผู้หญิงและยาเสพติด จึงสั่งการให้ พ.อ.สุรกิจ กาฬเนตร เสธ.กกล.รส.จ.อำนาจเจริญ พ.ท.เกียรติศักดิ์ จารุวัตร ผบ.ชปพท.ร. 6 พัน 2 นำกำลังเจ้าหน้าที่ทหารสนธิกำลังกับ พ.ต.ท.ไมตรี บุญมาศ รอง ผกก.สส.ภ. จ.อำนาจเจริญ นำเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร และฝ่ายปกครองรวม 20 นายเดินทางไปตรวจสอบ

2. เมื่อกำลังเจ้าหน้าที่ไปถึงกระจายกันเข้าตรวจค้นกุฏิต่างๆ ภายในวัด พบพระครูทองคำ มโนรี เจ้าอาวาสอายุ 52 ปี ซ่อนตัวอยู่ด้านหลังกุฏิ จึงได้นิมนต์นำมาตรวจค้นภายในกุฏิ และได้พบอุปกรณ์เสพยาบ้า 1 ชุด ถุงยางอนามัยที่ยังไม่ได้ใช้ 3 อัน ยาบำรุงร่างกาย 3 ขวด จากการสอบถามของเจ้าหน้าที่พระครูทองคำ ได้สารภาพว่า เพิ่งเสพยาบ้ามา และเจ้าหน้าที่ได้ตรวจปัสสาวะพบว่ามีสารเสพติดจริง

3. เจ้าหน้าที่อีกชุดหนึ่งได้ตรวจค้นกุฏิ 6 หลัง และได้นิมนต์พระอีก 8 รูปพร้อมด้วยคฤหัสถ์วัยรุ่น 2 คนมาตรวจปัสสาวะพบว่า ทั้งพระและวัยรุ่นมีสารเสพติดเช่นเดียวกัน ทั้งหมดได้สารภาพว่าเพิ่งเสพยาบ้า จึงได้นำพระทั้งหมดไปทำการสึก และดำเนินคดีต่อไป รวมทั้งวัยรุ่น 2 คนด้วย

พระเสพยาบ้าต้องอาบัติอะไร และร้ายแรงขนาดไหนจึงต้องให้สึก?

ก่อนที่จะตอบปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านย้อนไปดูพระธรรมวินัยในส่วนที่เกี่ยวกับสิ่งเสพติด ก็จะพบว่า มีพระวินัยบัญญัติห้ามดื่มสุรา และเมรัยในสิกขาบทที่ 1 ในสุราปานวรรค ปาจิตตีย์กัณฑ์ความว่า “ห้ามภิกษุดื่มสุรา (น้ำเมาอันเกิดจากการต้มกลั่น) และเมรัย (น้ำเมาอันเกิดจากการหมักดอง) ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด”

จากนัยแห่งวินัยบัญญัติข้างต้น จะเห็นได้ว่ามีเพียงน้ำเมาที่เกิดจากการต้มกลั่นและหมักดอง และภิกษุเสพด้วยการดื่มเข้าไปจึงเกิดปัญหาว่ายาบ้าจะเข้าข่ายวินัยบัญญัติข้อนี้หรือไม่ เกี่ยวกับประเด็นนี้จะต้องย้อนไปดูมหาปเทส 4 คือหลักใหญ่สำหรับอ้างเพื่อสอบสวนเทียบเคียงพระวินัยดังนี้

1. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) สิ่งนั้นไม่ควร

2. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) สิ่งนั้นควร

3. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) สิ่งนั้นควร

4. สิ่งใดที่ไม่ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) สิ่งนั้นควร

จากนัยแห่งมหาปเทส 4 จะเห็นได้ว่าในกรณีของยาบ้าสอดคล้องกับข้อที่ 1 ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1. ในพระวินัยไม่มีข้อห้ามเสพยาบ้า เนื่องจากในพุทธกาลไม่มีสิ่งเสพติดชนิดนี้ แต่เมื่อนำมหาปเทศข้อที่มาเทียบเคียงแล้ว ก็จะเข้าข่ายผิดวินัยสิกขาบทที่ 1 แห่งสุราปานวรรค ปาจิตตีย์กัณฑ์ที่ห้ามภิกษุดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย เนื่องจากว่ายาบ้าทำให้ผู้เสพมึนเมาไร้สติก่อกรรมทำผิดหลายประการ ในทำนองเดียวกับสุราและเมรัย ตามนัยแห่งพุทธพจน์ซึ่งมีที่มาปรากฏในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่มที่ 22 ว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ถูกแล้วแม้เราไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ฟังข้อที่ว่า บุรุษละเว้นเหตุอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท คือ (การดื่ม) น้ำมาคือสุราและเมรัย แล้วถูกพระราชาจับฆ่าหรือจองจำเนรเทศ หรือลงโทษอย่างอื่นตามควรแก่เหตุ เพราะเหตุที่มีเจตนาเว้นจากที่ตั้งแห่งความประมาท คือ (การดื่ม) น้ำเมาคือสุราและเมรัย โดยที่แท้กรรมชั่วของบุรุษนั้นต่างหากที่ประกาศว่า บุรุษนี้ประกอบเนืองๆ ซึ่งที่ตั้งแห่งความประมาทคือ (การดื่ม) น้ำเมาคือ สุราและเมรัย จึงฆ่าหญิงบ้าง ชายบ้าง จึงถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ให้จากบ้านบ้าง จากป่าบ้าง ด้วยอาการแห่งขโมย จึงก้าวล่วงในกิริยาของคนอื่น ในบุตรของผู้อื่น จึงหักรานผลประโยชน์ของคฤหบดีบ้าง บุตรของคฤหบดีบ้าง ด้วยการพูดปด เขาย่อมถูกพระราชาจับฆ่าหรือจองจำ เนรเทศหรือลงโทษอย่างอื่นตามควรแก่เหตุ เพราะเหตุที่ตั้งแห่งความประมาทคือ (การดื่ม) น้ำเมาคือสุรา และเมรัย ท่านทั้งหลายเคยได้เห็น เคยได้ฟังอย่างนี้บ้างหรือเปล่า? ข้าพระองค์ทั้งหลาย เคยได้เห็น เคยได้ฟัง และจักได้ฟังพระเจ้าข้า”

จากเนื้อหาสาระของพุทธพจน์ที่เกี่ยวกับการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย จะนำไปสู่การกระทำความผิดตามมาได้หลายประการ มีตั้งแต่ฆ่าคน ลักทรัพย์ไปจนถึงการโกหก และผิดลูกเมียของผู้อื่น หรือพูดให้จำได้คือ ผู้ที่ล่วงละเมิดศีล 5 ข้องดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย จะเป็นเหตุให้ทำผิดศีล 4 ข้อที่เหลือทุกข้อได้นั่นเอง

2. เนื่องจากยาบ้าทำให้ผู้เสพมึนเมา และเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ขาดสติแล้วนำไปสู่การก่อกรรมทำความผิดอื่นๆ ตามมาในทำนองเดียวกับสุราและเมรัย ทั้งยังอาจก่อความผิดร้ายแรงยิ่งกว่าด้วยซ้ำไป ดังจะเห็นได้จากข่าวเสพยาบ้าแล้วคลุ้มคลั่งฆ่าพ่อแม่ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ เมื่อนักบวชเสพยาบ้าจึงไม่ควรที่จะอยู่ในเพศและภาวะของนักบวชอีกต่อไป ถึงแม้ในทางพระวินัยจะปรับอาบัติแค่ปาจิตตีย์ ซึ่งเป็นอาบัติเบาสามารถแสดงคืนได้ แต่ในทางสังคมเป็นโลกวัชชะคือโลกติเตียน

อย่างไรก็ตาม เมื่อข่าวการจับพระสึกทั้งวัดด้วยข้อหาเสพยาบ้าแพร่ออกไป จึงทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมพระที่ต้องอาบัติร้ายแรงถึงขั้นปาราชิก ซึ่งมีโทษหนักต้องพ้นจากภาวะของบรรพชิตในทันที และจะบวชอีกไม่ได้ เฉกเช่นพระธัมมชโยแห่งวัดพระธรรมกาย ซึ่งถูกโจทย์ด้วยอาบัติปาราชิกตามนัยแห่งพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช ทั้งยังตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจร ยังดื้อแพ่งอยู่ได้ด้วยวิธีการหลบเลี่ยงไม่มารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก และสุดท้ายถูกออกหมายจับ แต่ก็ยังมีกระบวนการหลีกเลี่ยงโดยการอ้างการเจ็บป่วย และการใช้กฎหมู่กดดันเจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการรักษากฎหมาย

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเป็นอยู่ในส่วนที่เกี่ยวกับความเสื่อมศรัทธาในวงการสงฆ์ ทำให้ชาวพุทธเกิดข้อกังขาว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 องค์กรสงฆ์ฝ่ายปกครองทำอะไรอยู่ จึงมองไม่เห็นปัญหานี้
กำลังโหลดความคิดเห็น