“...คำว่า “ ศาสนา” ตามที่ใช้ทุกวันนี้ เป็นที่เข้าใจกันว่าใช้ตรงกับคำ Religion ในภาษาอังกฤษ ซึ่งหมายถึงคำสั่งสอนที่มาจากเบื้องบน ส่วนวิธีการสั่งสอนก็คือ “ สั่ง” และ “ สอน” ให้ปฏิบัติ โดยถือว่าคำสั่งสอนนั้นมาจากเบื้องบน ยุติได้ว่าถูกต้องเที่ยงแท้แล้ว จึงทำตามได้ทีเดียว
ถ้าว่าตามนี้ พระพุทธศาสนาก็ไม่เข้าหลักเป็นศาสนา เพราะเนื้อหาสาระและกฎเกณฑ์ของพระพุทธศาสนา เกิดขึ้นจากการค้นหาความจริงของชีวิตด้วยปัญญามนุษย์ พระพุทธศาสนาแสดงความจริงของชีวิต แสดงทางปฏิบัติที่จะให้บรรลุความสุขสูงสุดของชีวิต มีวิธีการสั่งสอนที่ยึดหลักเหตุและผล ว่าทุกสิ่งเกิดจากเหตุ ผู้ใดประกอบเหตุอย่างไรเพียงใด ก็ได้ผลอย่างนั้นเพียงนั้น
หากจะถามว่า พระพุทธศาสนาเป็นอะไร ก็ต้องตอบว่า โดยเนื้อหาที่เป็นเรื่องความจริงของชีวิต พระพุทธศาสนาเป็นปรัชญา โดยวิธีการสอนที่ยึดหลักเหตุผล พระพุทธศาสนาเป็นศาสตร์ หรือพูดให้ชัดลงไปอีกก็เป็นวิทยาศาสตร์
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่า การสอนพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง คือการสอนให้คนสามารถพิจารณาขุดค้นหาหลักธรรมะจากชีวิต และนำหลักธรรมะนั้นมาปฏิบัติให้เป็นประโยชน์...”
(พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานในการเสด็จพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยฯ วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๓)
พระราชดำรัสองค์นี้มีนัยยะแห่งธรรมที่ควรนำมาขยายให้เกิดผลต่อการดำเนินชีวิตไปสู่เป้าหมายที่ปรารถนา ซึ่งมีอรรถาธิบายได้ดังนี้
“เนื้อหาสาระและกฎเกณฑ์ของพระพุทธศาสนา เกิดขึ้นจากการค้นหาความจริงของชีวิตด้วยปัญญามนุษย์” พระราชดำรัสนี้ นำให้ระลึกถึงพุทธประวัติตอนออกบวช ที่มีพรรณนาไว้ว่า
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช ทรงหยั่งเห็นความแก่ ความเจ็บ ความตาย ครอบงำมหาชนอยู่ทุกคน ไม่ล่วงพ้นไปได้ เพราะโทษที่ได้ฟังคำสอนของนักปราชญ์ เห็นผู้อื่นแก่ เจ็บ ตาย ย่อมเบื่อหน่ายเกลียดชัง ไม่คิดถึงตัวว่า จะต้องเป็นเหมือนอย่างนั้นบ้าง เมาอยู่ในวัย ในความไม่มีโรค และในชีวิต เหมือนหนึ่งเป็นคนจะไม่ต้องแก่ เจ็บ ตาย มีแต่ขวนขวายหาของอันมีสภาวะเช่นนั้น ไม่คิดอุบายเครื่องพ้นบ้างเลย ถึงพระองค์ก็มีอย่างนั้นเป็นธรรมดา แต่จะเกลียดเบื่อหน่ายเหมือนอย่างเขา ไม่สมควรแก่พระองค์เลย
เมื่อทรงดำริอย่างนี้แล้ว ก็ทรงบรรเทา ความเมา ๓ ประการ คือ เมาในวัย เมาในความไม่มีโรค และเมาในชีวิต กับทั้งความเพลิดเพลินในกามสมบัติเสียได้
จึงทรงดำริต่อไปว่า ธรรมดาสภาวะทั้งปวง ย่อมมีของที่เป็นข้าศึกแก่กัน เช่น มีร้อนก็มีเย็นแก้ มีมืดก็มีสว่างแก้ บางทีจะมีอุบายแก้ทุกข์ ๓ อย่างนั้นได้บ้างกระมัง
ก็แต่ว่าการที่จะแสวงหาอุบายแก้ทุกข์ ๓ อย่างนั้น เป็นการยากอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ยังอยู่ในฆราวาสวิสัย จะแสวงหาไม่ได้ เพราะฆราวาสนี้เป็นที่คับแคบนัก และเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์อันทำใจให้เศร้าหมอง เหตุความรัก ความชัง ความหลง ดุจเป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นช่องว่าง พอเป็นที่แสวงหาอุบายนั้นได้ ทรงดำริอย่างนี้แล้ว ก็มีพระอัธยาศัยน้อมไปในบรรพชา ไม่ยินดีในฆราวาสสมบัติ
ต่อมาพระองค์ได้เสด็จออกบรรพชาแสวงหาสัจธรรม ความจริงที่ทำให้หลุดพ้นจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย ด้วยการเข้าศึกษาในสำนักของผู้รู้ที่ยิ่งใหญ่ในสมัยนั้น คืออาฬารดาบสและอุทกดาบส
เมื่อศึกษาจนหมดความรู้ของอาจารย์ทั้งสอง ทรงพบว่า ความรู้เหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ทรงปรารถนา พระองค์จึงเสด็จไปแสวงหาที่สงบในอุรุเวลาเสนานิคม แล้วปฏิบัติตามความเชื่อของคนในครั้งนั้นว่า เป็นแนวทางแห่งการได้พบอมตธรรม ซึ่งการปฏิบัตินี้ถูกเรียกในปัจจุบันว่า “ทุกรกิริยา”
ทรงทำทุกรกิริยาไปอย่างมีสติจนถึงที่สุด เจียนตายแล้ว ทรงพบว่า นี่ไม่ใช่แนวทางแห่งอมตธรรม พระองค์จึงทรงวิเคราะห์เหตุผลในความรู้ที่ได้ศึกษามา ปฏิบัติมา แล้วทดลองปฏิบัติตามแนวทางที่ทรงเห็นว่าถูกต้องอย่างมั่นใจ จนสามารถตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ในที่สุด
รวมระยะเวลาที่ใช้ในการแสวงหาอมตธรรม หรือความจริงของชีวิต ๖ ปี ต่อมาพระพุทธองค์ได้ทรงเผยแผ่ความรู้ที่ทรงค้นพบนั้น และมีผู้เลื่อมใสปฏิบัติตาม จนกลายมาเป็นพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน
จากพุทธประวัติที่นำมาแสดงนี้ เมื่อพิจารณาให้ดี ย่อมจะพบเห็นแนวทางการปฏิบัติที่ควรแก่ชีวิตที่ปรารถนาความสำเร็จในเป้าหมายที่ปรารถนา
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงพบเทวทูตทั้ง ๔ พระองค์ไม่ได้ทรงดำริว่า ทำไมมนุษย์ต้องพบกับเทวทูตทั้ง ๔ ? แต่ทรงดำริว่า ทำอย่างไรจึงจะพ้นไปจากเทวทูตทั้ง ๔ ?
แล้วเสด็จออกบวชบำเพ็ญกิจ เพื่อบรรลุความสำเร็จในการแสวงหาอุบายที่พ้นจากทุกข์ อันเกิดจากเทวทูตทั้ง ๔ ซึ่งทรงทำสำเร็จได้ในที่สุด
ในชีวิตของคนเรา คนที่มัวแต่คิดว่า
ทำไมชีวิตของฉันจึงเป็นเช่นนี้?
ทำไมสิ่งนี้จึงต้องเกิดกับฉัน?
ชีวิตที่มีแต่คำถามว่า “ทำไม ๆๆๆ” ย่อมเป็นชีวิตที่ท้อแท้ หมดหวัง ยากที่จะประสบความสำเร็จที่ปรารถนาได้
คนที่สามารถคิดได้ว่า ทำอย่างไรจึงจะก้าวพ้นปัญหาและอุปสรรคที่กำลังประสบอยู่ แล้วศึกษาแสวงหาแนวทางแก้ไข นำมาปฏิบัติจนสามารถพ้นปัญหาและอุปสรรคนั้นไปได้ แล้วดำเนินชีวิตเช่นนี้อยู่เสมอ เขาย่อมบรรลุถึงเป้าหมายชีวิตที่พึงปรารถนาได้ในที่สุด เหมือนกับเจ้าชายสิทธัตถะที่ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ด้วยพระปัญญาแห่งความเป็นมนุษย์ของพระพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงเผยแผ่หลักการของสิ่งที่ค้นพบ ในสภาวะที่คนฟังสามารถรับรู้ เข้าใจ และนำไปปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงความจริงของชีวิตตามภูมิปัญญาของตน จนมีผู้เลื่อมใสปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์อย่างแพร่หลาย จนกลายเป็นพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน
นี่จึงเป็นไปตามพระราชดำรัสที่ตรัสว่า เนื้อหาสาระและกฎเกณฑ์ของพระพุทธศาสนา เกิดขึ้นจากการค้นหาความจริงของชีวิตด้วยปัญญามนุษย์
“พระพุทธศาสนาแสดงความจริงของชีวิต แสดงทางปฏิบัติที่จะให้บรรลุความสุขสูงสุดของชีวิต มีวิธีการสั่งสอนที่ยึดหลักเหตุและผล”
พระราชดำรัสนี้นำให้คิดถึงหลักการที่ทำให้คนเราสามารถประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนาได้เสมอ ซึ่งสามารถพบได้ในการบำเพ็ญกิจ เพื่อการตรัสรู้ของเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า เป็นกระบวนการสร้างบารมีเพื่อการตรัสรู้ บารมีคือการสร้างสมความดีเพื่อทำตนให้บรรลุถึงเป้าหมาย ในพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้ ๑๐ ประการ อย่างมีเหตุผลที่เกี่ยวเนื่องกันดังนี้
๑. อธิษฐานบารมี การมีความตั้งใจมั่นที่จะสร้างสมความดีเพื่อเป้าหมายที่ปรารถนา
เจ้าชายสิทธัตถะมีความตั้งใจมั่นคงที่จะแสวงหาความจริงของชีวิต เพื่อทำตนให้พ้นไปจากทุกข์ที่เกิดจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความตั้งใจของเจ้าชายสิทธัตถะมั่นคงในพระหฤทัยตั้งแต่ออกบวชจนถึงการตรัสรู้
นี่สามารถแสดงให้ผู้ที่ประสงค์จะมีความสำเร็จในชีวิตได้ทราบว่า ควรจะมีเป้าหมายชีวิตที่พึงประสงค์อย่างชัดเจน แล้วก็ต้องมีความตั้งใจอย่างมั่นคง ที่จะดำเนินชีวิตของตนให้บรรลุถึงเป้าหมายนั้น
ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลผู้มีความสำเร็จในชีวิต ล้วนแต่เป็นคนที่มีความตั้งใจมั่นคงนี้ทั้งสิ้น
๒. ปัญญาบารมี การมีความรู้ที่จะสร้างสมความดีเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ปรารถนา
เจ้าชายสิทธัตถะเมื่อออกบวช พระองค์ไม่มีความรู้ใดๆเลย ที่สามารถทำให้ได้บรรลุผลที่ทรงประสงค์ จึงทรงเข้าศึกษาในสำนักของอาฬารดาบสและอุทกดาบส จนมีความรู้ตามภูมิปัญญาของอาจารย์ และได้รับความรู้ที่เป็นความเชื่อว่า เป็นแนวทางแห่งการหลุดพ้นจากทุกข์ที่ทรงปรารถนา
ทรงพัฒนาปรับประยุกต์ความรู้ที่ได้รับอยู่เสมอ ไม่ยึดมั่นตายตัวในความรู้ของตน ทำให้พระองค์ทรงมีพัฒนาการแห่งความรู้อย่างต่อเนื่อง จนสามารถตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ในที่สุด
๓. เนกขัมมบารมี การสร้างสมความดีด้วยความปลีกตัวปลีกใจจากกาม อันเป็นข้าศึกต่อการบรรลุถึงเป้าหมายที่ปรารถนา
พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องกามไว้มากมายในพระไตรปิฎก แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงนิวรณ์ ที่เป็นเครื่องขัดขวางการสร้างสมความดี ที่เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุถึงเป้าหมายที่ปรารถนา ซึ่งมีอยู่ ๕ ประการคือ ๑. กามฉันทะ ความพอใจในกาม ๒. พยาบาท ความขัดเคืองแค้นใจ ๓. ถีนมิทธะ คือ ความหดหู่และเซื่องซึม ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่านและเดือดร้อนใจ ๕. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย
บุคคลที่ไม่ประสบผลสำเร็จในเป้าหมายที่ปรารถนา ก็เพราะทำตนให้มีนิวรณ์อยู่ในจิตใจ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาความรู้ได้อย่างต่อเนื่อง ละความตั้งใจมั่นที่จะบรรลุถึงเป้าหมายที่ปรารถนา การปลีกตัวปลีกใจออกจากกาม จึงเป็นการสร้างสมความดีที่สำคัญประการหนึ่ง
๔. ศีล การสร้างสมความดีด้วยมีความประพฤติดีงามถูกต้องตามระเบียบวินัย
๕. ขันติ การสร้างสมความดี ด้วยความสามารถใช้สติปัญญาควบคุมตนให้อยู่ในอำนาจเหตุผล และแนวทางความประพฤติ ที่ตั้งไว้เพื่อจุดหมายอันชอบ ไม่ลุอำนาจกิเลส
๖. สัจจะ การสร้างสมความดีด้วยความจริงใจ
๗. วิริยะ การสร้างสมความดี ด้วยความพยายามบากบั่นอุตสาหะ ก้าวหน้าเรื่อยไป ไม่ทอดทิ้งธุระหน้าที่ ไม่เกรงกลัวอุปสรรค คุณธรรมทั้ง ๔ ประการเป็นข้อปฏิบัติ เพื่อนำตนให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ปรารถนา การสร้างระเบียบวินัยในการดำเนินชีวิต ด้วยความอดทน ความจริงใจ และความบากบั่นไม่ท้อถอย ย่อมเป็นการป้องกันตนไม่หลงติดไปในกาม
๘. เมตตา การสร้างสมความดีด้วยความปรารถนาดี มีไมตรี คิดเกื้อกูลให้ผู้อื่น และเพื่อนร่วมโลกทั้งปวง มีความสุขความเจริญ
๙. ทาน การสร้างสมความดีด้วยการให้ การเสียสละสิ่งของของตนเพื่อผู้อื่น คุณธรรมทั้ง ๒ ประการ จะช่วยให้มีกัลยาณมิตรในการดำเนินชีวิตไปสู่เป้าหมายที่ปรารถนา
๑๐. อุเบกขา การสร้างสมความดีด้วยความวางใจเป็นกลาง สงบราบเรียบสม่ำเสมอ เที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงไปด้วยความยินดียินร้ายหรือชอบฟัง เพื่อให้ดำเนินชีวิตไปสู่เป้าหมายที่ปรารถนาได้อย่างต่อเนื่อง
เมื่อเริ่มสร้างบารมี คุณธรรมทั้ง ๑๐ ประการก็จะถูกปฏิบัติไปพร้อมกันอย่างต่อเนื่อง จนบรรลุถึงความสำเร็จที่ปรารถนาได้ในที่สุด
เพื่อความเข้าใจในบารมีทั้ง ๑๐ ประการนี้ พึงศึกษาจากพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณีกิจมากมาย เพื่อให้บรรลุถึงพระราชสัจจาธิษฐาน ที่เป็นพระปฐมบรมราชโองการว่า
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
พระองค์ทรงปฏิบัติบารมีธรรมนี้มาโดยตลอด ทำให้พระองค์สามารถบรรลุในแนวทางที่ทรงปรารถนาได้อยู่เสมอ นี่ก็เป็นจริงดังที่ทรงตรัสว่า “พระพุทธศาสนาแสดงความจริงของชีวิต แสดงทางปฏิบัติที่จะให้บรรลุความสุขสูงสุดของชีวิต มีวิธีการสั่งสอนที่ยึดหลักเหตุและผล”
พระพุทธศาสนามีคำสอนมากมาย ที่จะเป็นประดุจน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตของมนุษย์ การเลือกสรรธรรมที่เหมาะแก่การดำเนินชีวิตไปสู่เป้าหมายที่ปรารถนา ย่อมทำให้ชีวิตสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำให้บรรลุผลได้ในที่สุด
วันนี้ถ้าเราสามารถตระหนักรู้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเพื่อชีวิตของเรา แล้วน้อมนำตนให้ศึกษาพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา แล้วนำมาประพฤติปฏิบัติในการดำเนินชีวิต เราก็สามารถบรรลุถึงเป้าหมายชีวิตที่พึงปรารถนาได้ในที่สุด
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 163 กรกฎาคม 2557 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)