xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดปูม! ซุกเสือใต้พรม วัดป่า “หลวงตาจันทร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กรณีเสือโคร่งกับปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรมของ วัดป่าหลวงตามมหาบัว ญาณสัมปันโน (วัดเสือ) อ.ไทรโยค จ.กาญจบุรี ซึ่งมี หลวงตาจันทร์ หรือ พระวิสุทธิสารเถร (ภูสิต ขันติธโร) เป็นเจ้าอาวาสฯ จนแล้วจนรอดก็ถูกรื้อออกมาสะสาง โดยปฏิบัติการพิเศษนำโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)

อย่างไรก็ตาม วัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน อริยสงฆ์แห่งวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี เพียงแต่มีการขอนำชื่อท่านมาใช้ โดยย้อนกลับไปประมาณปี 2535 มีผู้ถวายที่ดินเปล่า 300 ไร่เศษ ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดเสือในปัจจุบันให้กับ หลวงมหาตาบัว ต่อมาท่านมอบหมายให้ หลวงตาจันทร์ พระอุปัฏฐากหรือพระเลขาดำเนินการสร้างวัดในตอนนั้น

ปฏิบัติการครั้งนี้ นำโดย กรมอุทยานฯ ประสานขอกำลังจากฝ่ายปกครองและทหาร รวมทั้งจัดทีมสัตวแพทย์ ทีมสัตวบาล เข้าปฏิบัติการบุกเข้าตรวจค้นตามหมายศาล เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พร้อมทำการขนย้ายเสือโคร่งของกลาง 137 ตัว ซึ่งจะนำไปไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน อ.จอมบึง จ.ราชบุรี พร้อมทำการตรวจสอบดีเอ็นเอเพื่อนำผลไปพิสูจน์ไปใช้ในกระบวนการสืบสวนต่อไป

ทั้งนี้ พบหลักฐานว่าทางวัดเชื่อมโยงกับตลาดมืดค้าสัตว์ป่า อาทิ ซากลูกเสือโคร่งแรกเกิด 40 ซาก, ตะกรุดหนังเสือกว่า 1,000 ชิ้น, หนังเสือโคร่งผืนใหญ่, ซากหมีควาย 1 ซาก, ซากเสือดาว 2 ซาก ฯลฯ รวมถึงการกระผิดกฎหมายลักลอบเลี้ยงสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดอื่นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต อาทิ นกเงือก 6 ตัว สิงโต 1 ตัว และจะดำเนินคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องขั้นเด็ดขาด ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ามาตรา 19, 20, 47, 55 และ 59

โดยก่อนหน้านี้ กรมอุทยานฯ ทำการขนย้ายเสือโคร่งออกจากวัดเสือมาแล้วรอบหนึ่ง จำนวน 10 ตัว ซึ่งอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูสัญชาตญาณ ซึ่งภารกิจครั้งนี้มีเป้าหมายใหญ่ คือ ต้องการเพิ่มประชากรเสือโคร่งในผืนป่าเมืองไทย เนื่องจากเสือโคร่งถือเป็นกลไกชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า เพราะเป็นสัตว์ที่อยู่ในลำดับบนสุดของห่วงโซ่อาหาร

เป้าหมายของภารกิจคืนเสือสู่ผืนป่า เป็นเพียงปฏิบัติการเร่ขายฝันของกรมอุทยานฯ หรือไม่ ตามข้อมูลเปิดเผยว่า เสือโคร่งของกลางที่ยึดจากวัดเสือนั้นค่อนข้างมีอุปนิสัยเชื่อง การปล่อยคืนสู่ธรรมชาติจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ได้เสียก่อน ซึ่งประเด็นสำคัญทางมูลนิธิฯ แจ้งว่า เสือทั้งหมดเป็นพันธุ์เบงกอล ซึ่งเสือพันธุ์นี้ไม่ได้มีถิ่นฐานในแถบประเทศไทย ดังนั้น ทางวิชาการฟันธงว่าไม่สามารถปล่อยพวกมันคืนสู่ป่า เพราะอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร และระบบนิเวศจนเป็นปัญหาในอนาคต ฉะนั้น หลังจากพิสูจน์ดีเอ็นเอเสือโคร่งทั้งหมดและพบว่าเป็นพันธุ์เบงกอล ทางการจำเป็นต้องเลี้ยงจนสิ้นอายุขัย

ย้อนกลับไปเมื่อ ปี 2544 กรมอุทยานฯ นำเสือของกลางไปฝากทางวัดเลี้ยงครั้งแรก จำนวน 7 ตัว หลังจากนั้นปี 2550 พบว่าตัวเลขเสือเพิ่มเป็น 18 ตัว และล่าสุดปี 2559 จำนวนเสือของกลางมีตัวเลขที่ 147 ตัว และมีการเจรจาและขนย้ายเสือของกลางเป็นระยะๆ จนสามารถย้ายไปได้ส่วนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ทางวัดมีการดำเนินการขอเปิดเป็นสวนสัตว์ โดย บริษัท ไทเกอร์ เทมเพิล จำกัด ซึ่งที่ผ่านมาทางวัดมีรายได้จากการเก็บค่าเข้าชมหลังเที่ยงวัน คนไทย 300 บาท และชาวต่างชาติ 600 บาทต่อคน รวมทั้งกิจกรรมจากโชว์เสือ เช่น การป้อนนม, การถ่ายรูป ฯลฯ ทางวัดจึงประวิงเวลาให้เสือที่เหลืออยู่ 137 ตัว ยังคงอยู่ในความดูแลของวัดต่อ และเข้าสู่ปฏิบัติบุกตรวจค้นและเคลื่อนย้ายเสือของกรมอุทยานฯ ในเวลาถัดมา

หลักฐานที่ตรวจพบถูกขยายประเด็นไปหลายทิศทาง โดยเฉพาะเรื่องการค้าสัตว์ข้ามชาติที่มีข้อมูลจากหลายสมทบเข้ามา จริงเท็จอย่างไรคงต้องติดตามผลการสืบสวนกันต่อไป ขณะที่ของกลางที่ตรวจพบ อย่าง ซากลูกเสือจำนวนมากที่ถูกดองและแช่แข็งพร้อมกับสัตว์ป่าสงวนหลายชนิด หนังเสือโคร่ง 2 ผืน เขากระทิง เขี้ยวเสือโคร่ง แม้กระทั่ง เครื่องรางของขลังตะกรุดหางเสือ กว่า 1,000 ชิ้น กลายเป็นมลทินที่ทางวัดยากที่จะหลบเลี่ยง

อ้างอิงรายายงานข่าวมูลนิธิโลกสีเขียว ปี 2551 มีเนื้อหาความว่า วัดอาจพัวพันกับตลาดมืดเสือโคร่ง โดยอ้างอิงรายงานจากองค์การแคร์ฟอร์เดอะไวลด์อินเตอร์เนชันแนล หรือซีดับเบิลยูไอ (CWI : Care for the Wild International) องค์กรอนุรักษ์แห่งสหราชอาณาจักร ระบุว่า วัดไม่ได้มีการอนุรักษ์เสือใกล้สูญพันธุ์ และทางวัดได้มีการค้าขายสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายกับฟาร์มเสือโคร่งในลาวอีกด้วย ซึ่งองค์กรดังกล่าวสืบเรื่องนี้ด้วยตัวเอง

ในประเด็น พระจักรกฤษณ์ อภิสุทธิพงษากุล พระเลขาเจ้าอาวาสฯ เคยให้สัมภาษณ์ยอมรับ เจ้าอาวาสมีการแลกเปลี่ยนสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้ระหว่างประเทศจริง ระหว่างเจ้าอาวาสกับฟาร์มเสือ ประเทศลาว ในปี 2548 จริง เท่ากับว่า การกระทำดังกล่าวย้อนแย้งกับกฎหมาย ว่าการค้าขายหรือแลกเปลี่ยนสัตว์ใกล้สูญพันธุ์นั้นละเมิดทั้งอนุสัญญาไซเตส และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าไทย รวมถึงการเพาะเลี้ยงเสือก็เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของรัฐบาล

เยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนว่าวัดอาจเข้าข่ายลักลอบค้าเสือ ซึ่งเป็นสัตว์ป่า อย่างผิดกฎหมาย และอาจกระทำมานานแล้ว ด้วยวิธีการเปลี่ยนชื่อเพื่อสวมรอยเสือตัวเก่าแล้วนำตัวใหม่มาแทน

“วิธีการนี้จึงไม่เคยพบเสือหายไปจากวัด กระทั่งช่วงระยะเวลาหนึ่งที่เกิดความขัดแย้งขึ้น เนื่องจากตรวจสอบว่ามีเสือหายไป 3 ตัว หน่วยงานต่างๆ จึงเข้าไปจับตากระบวนการมากยิ่งขึ้น โดยหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าวัดมีการเพาะเลี้ยงเสือหรือไม่ เนื่องจากเกือบ 15 ปี ที่เสือของกลางถูกนำมาไว้ที่วัดนี้ เสือจะผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ 3 ปี และแต่ละปีจะสามารถมีลูกได้ถึง 2 ครั้ง ดังนั้นเสือตัวเมียแต่ละตัวจะสามารถมีลูกได้ถึงปีละ 7-8 ตัว หรืออย่างต่ำ 3 - 4 ตัว ตลอดเวลา 3 ปี ซึ่งถ้าเป็นไปตามธรรมชาติ จำนวนเสือที่วัดแห่งนี้จะต้องเพิ่มขึ้นกว่านี้จำนวนมาก จึงถูกตั้งคำถามว่า มีเสือหายไปหรือเข้าสู่กระบวนการค้าเสือหรือไม่”


ปี 2558 เสือโคร่งหายไปจากวัดเสือ 3 ตัว หายออกไปจากกรงขังภายในบริเวณวัดอย่างไร้ร่องรอย เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2558โดยการเปิดเผยของ น.สพ.สมชัย วิเศษมงคลชัย สัตวแพทย์ผู้ดูแลเสือ ก่อนจะลาออกในเวลาถัดมา แม้จะมีข้อมูลและหลักฐานค่อนข้างชัดเจนถึงความไม่ชอบมาพากลของวัดเสือ แต่เมื่อต้นปี 2559 วัดเสือกลับได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานฯ ให้มีสถานะเป็นสวนสัตว์อย่างเป็นทางการ

ในส่วนของมูลค่านั้น มีรายงานว่า เสือ 1 ตัวราคาตายจากต้นทางในเมืองไทยอยู่ที่ 600,000 - 800, 000บาท เมื่อไปถึงประเทศจีน ราคาจะอยู่ที่ 1.5 ล้านบาท ส่วนหนังเสือราคาตกผืนละ 200,000บาท ขณะที่เขี้ยวถูกทำเป็นยาหรือเครื่องประดับราคาหลายหมื่นบาท เช่นเดียวกัน กระดูกเสือก็นำไปทำยาอัดเม็ดหรือยาดองเหล้า และอวัยวะเพศของเสือตัวผู้มีราคาสูงถึง 200,000 - 3000,000 บาท มีสรรพคุณบำรุงกำลัง

ข้อมูลดังกล่าวจึงย้อนกลับมาที่ของกลางที่ถูกตรวจพบในวัดเสือ ซากศพลูกเสือที่ถูกดองและแช่แข็งไว้ภายในบริเวณวัด มีการนำไปแสวงหาผลประโยชน์หรือไม่

หากตรวจผลสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่ามีการนำซากลูก หนังเสือ ตะกรุดและเขี้ยว ไปใช้เชิงพุทธพาณิชย์ จะมีการดำเนินคดีต่อพระสงฆ์ผู้เกี่ยวข้อง เพราะเข้าข่ายกระทำผิดประกาศคณะสงฆ์ เรื่องห้ามภิกษุสามเณรเรียกเงินค่าเวทมนตร์ และห้ามทดลองของขลัง พ.ศ.2495 และประกาศห้ามไม่ให้ภิกษุเป็นหมอเสน่ห์ยาแฝด อาถรรพณ์ ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า พ.ศ. 2476

รวมทั้งประเด็นการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินของทางวัด หากตรวจสอบว่าใช้ผิดวัตถุประสงค์ อาจต้องพิจารณาย้ายพื้นที่วัดและคืนที่ให้กับ สำนักงานการปฎิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.)

สำหรับงบประมาณค่าเลี้ยงดูเสือโคร่ง 147 ตัว อธิบดีกรมอุทยานฯ ธัญญา เนติธรรมกุล เปิดเผยว่า เฉพาะค่าอาหารคงต้องใช้งบประมาณ จำนวน 10 ล้านบาทต่อปี ไม่รวมเรื่องค่าเวชภัณฑ์ และการรักษาถ้าหากเจ็บป่วย เฉลี่ยมีส่วนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเสือต่อตัวสูงถึง 200,000 บาทต่อปี ขณะที่องค์กรอนุรักษ์จากต่างประเทศแสดงความจำนงเข้าร่วมสนับสนุนในการดูแลเสือทั้งหมดร่วมกับกรมอุทยานฯ

ส่วน หลวงตาจันทร์ เจ้าอาวาสวัดเสือ หลังเงียบหายไปตั้งแต่เกิดเรื่อง ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา มอบหมายให้ ศิริ หวังบุญเกิด อดีต ส.ส.กทม.เขต 1 และนายสายหยุด เพ็งบุญชู ทนาย แถลงข่าวต่อกรณีการบุกตรวจค้นและเคลื่อนย้ายเสือ ของกรมอุทยานฯ โดยปฏิเสธทุกกรณีที่ถูกกล่าวหา ไม่รู้เห็นเป็นใจแม้แต่เรื่องเดียว

ทั้งนี้ ซากสัตว์ที่พบภายในวัดนั้น เป็นการกระทำของสัตวแพทย์คนเก่าที่ลาออกไปแล้ว ส่วนซากลูกเสือในห้องเย็นเป็นการจัดการของคนงานผู้แล ต้องการเก็บหลักฐานการคลอดเพื่อแจ้งไปยัง กรมอุทยานฯ ส่วนตะกรุดหนังเสือรวมถึงเครื่องรางต่างๆ จากกอวัยวะเสือที่ตรวจยึดได้ คนนอกเป็นผู้ลักลอบนำเข้ามาและพยายามหลบหนีขณะเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นจึงถูกจับกุมในที่สุด จึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับทางวัด

อย่างไรก็ดี ชะตากรรมของเสือนับร้อยชีวิตอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อย ส่วนวิบากกรรมของหลวงตาจันทร์จะปิดฉากลงอย่างไร? คงต้องติดตามกันต่อไป!



กำลังโหลดความคิดเห็น