ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เคาต์ดาวน์นับถอยหลังอีกไม่ถึง 2 เดือนก็จะถึงวันเปิดคูหากาบัตรประชามติรับ/ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมคำถามพ่วง ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 แล้วก็ไม่ผิดคาดที่เวลางวดเข้าใกล้ไปเท่าไร กระแสความขัดแย้ง-เห็นต่างก็ยิ่งขยายไปในวงกว้างมาก
จากทั้งเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่ดูจะไม่เป็นที่ยอมรับ มีตำหนิให้ติติงกันในหลายจุด ถึงแม้ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะพยายามป่าวประกาศว่าเป็นกฎหมายสูงสุดฉบับที่เข้ากับสถานการณ์ของประเทศในยามนี้มากที่สุด ครบเครื่องทั้งการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และเป็ย “ยาแรง” ที่เหล่านักการเมือง-ข้าราชการต้องสะดุ้ง หากมีการบังคับใช้จริง
แต่ในทางกลับกัน “ร่างมีชัย” ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ ทั้งการครอบงำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจนอาจเข้าข่าย “เป็ดง่อย” การเพิ่มกลไกย้อนยุคปั้น “รัฐข้าราชการ” ขึ้นมาใหม่ และที่ดูจะร้ายแรงที่สุดคงเป็นการปูทาง “สืบทอดอำนาจ” ให้แก่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้นยังมีเรื่องที่ทำท่าจะ “บานปลาย” จากกรณีที่ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติส่งเรื่องต่อไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยประเด็น มาตรา 61 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ว่าขัดกับมาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่ใช้อยู่ขณะนี้หรือไม่ ในประเด็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเกินความจำเป็น และกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ ตามที่เครือข่ายนักวิชาการนำโดย จอน อึ๊งภากรณ์ ยื่นเรื่องเข้ามา
โดยล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีคำสั่งรับคำร้องของ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว และได้เริ่มกระบวนการเรียกเอกสารจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผู้ทำคลอด “พ.ร.บ.ประชามติฯ” และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะผู้ควบคุมการใช้บทบัญญัติมาตรา 61 ซึ่งก็ต้องลุ้นกันอีกทีว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยชี้ขาดออกมาเมื่อใด ซึ่งหากออกมาขัดรัฐธรรมนูญ “โรดแมป คสช.” ก็ต้องสะดุดทันที หรือหากตีความว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็เดินหน้าไปวัดดวงกันที่คูหาประชามติ
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในอารมณ์ “ดักคอ” ที่ว่า การวินิจฉัยประเด็นมาตรา 61 ของกฎหมายประชามติ ขัดกับรัฐธรรมนูญ เป็น “แผนบี” ของรัฐบาล คสช.ที่อาจตัดสินใจ “ตัดช่องน้อยแต่พอตัว” ไม่ไปเสี่ยงวัดดวงในคูหาประชามติ หากมีแนวโน้มว่า “ร่างมีชัย” จะแท้งถูกเสียงโหวตประชามติคว่ำกลางอากาศ
พูดง่ายๆคือมีการมองว่า คสช.จ้องที่จะ “ล้มประชามติ” นั่นเอง โดยเฉพาะทางฝ่าย “พรรคเพื่อไทย - คนเสื้อแดง” ที่กำลังเล่นประเด็นนี้อย่างเมามัน ยิ่งเมื่อ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทำการเปิดตัว "ศูนย์ปราบโกงประชามติ" ก็ยิ่งขับสถานการณ์ประชามติรัฐธรรมนูญ ให้กลายเป็นการเผชิญหน้าของ “รัฐบาล คสช.” กับ “ระบอบทักษิณ” แจ่มชัดมากยิ่งขึ้น
ขณะที่อีกฟากฝั่งยังมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกิดขึ้นเมื่อ เหล่าบุคคลมีชื่อเสียง “บิ๊กเนม - เซเลบการเมือง” ผนึกกำลังกันก่อตั้ง สมัชชาประชาชนปฏิรูปประเทศ (สปป.) ขึ้น โดยมี มีภารกิจในการผลักดันการปฏิรูปประเทศไทยทั้งหมด 18 ด้าน ซึ่งสะท้อนถึงความล้มเหลวของการดำเนินงาน “ด้านการปฏิรูป” ที่ คสช.ชูเป็น “ธงนำ” ในการบริหารบ้านเมืองมา 2 ปีย่างเข้าสู่ปีที่ 3 อย่างชัดเจนเช่นกัน
สภาพการณ์ตอนนี้จึงบีบให้ “รัฐบาล คสช.” ถูกตรึงอยู่ตรงกลาง โดยด้านหนึ่งมี “ระบอบทักษิณ” ใช้ประเด็นประชามติร่างรัฐธรรมนูญให้การเจาะยางและวางเป้าหมายไปถึงโค่น “รัฐบาลทหาร”
ขณะที่อีกด้านก็ถูก “ตีขนาบ” โดยกลุ่มที่เรียกได้ว่าเป็นแนวร่วมของ คสช.เอง แต่จำต้องออกมาขยับ หลังพบว่า “รัฐบาล คสช.” ไม่ได้เดินไปในแนวทางที่ถูกที่ควรในเรื่องการปฏิรูปประเทศอย่างที่ประกาศเอาไว้
สปป.รวมพลคนอึดอัด-เดินหน้าปฏิรูป
การจัดตั้ง สมัชชาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (สปป.) ที่นำโดย “เดอะซัน” ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานรัฐสภา และอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ต้องจับตามอง เพราะเป็นการขยับหลังจากที่พยายามชี้แนะ-ทวงถามเรื่องการปฏิรูปไปถึง คสช. และรัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นเวลาพอสมควร แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ
อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นแล้วว่า นอกเหนือจากความขัดแย้งของคนในชาติแล้ว อีกประเด็นที่ คสช.ใช้เป็นเหตุผลในการเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล “น้องปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีเรื่องการปฏิรูปประเทศเป็นหัวข้อสำคัญด้วย แต่ 2 ปีผ่านหลายเรื่องที่ประชาชนคาดหวังกลับไปไม่ถึงไหน และทำท่าจะแป้ก จนเลยเถิดไปถึง “เสียของ” ด้วยซ้ำ
แน่นอนว่า ที่ผ่านมาคสช.และรัฐบาลยืนยันว่า ได้ดำเนินการไปแล้วหลายเรื่อง บางเรื่องไม่สามารถทำให้ทันใจใครได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะมีความเชื่อมโยงกับหลายเรื่อง จนไม่สามารถทำอะไรได้ในระยะเวลาที่จำกัดต่อให้เป็นเทวดาก็ยากที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศที่หมักหมมมาเป็นหลายสิบปีให้หมดในเวลาภายไม่กี่ปีได้ แต่ก็ย้อนแยงกับความเป็นจริงอยู่พอสมควร
เพราะแม้ว่า “บิ๊กตู่” เองก็ไม่ใช่ทศกัณฐ์ที่มีสิบมือจะหยิบจับอะไรได้พร้อมๆกัน แต่ด้วยอำนาจ “รัฏฐาธิปัตย์” ทั้งในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหาร ต่อเนื่องมาถึงอำนาจเบ็ดเสร็จตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ 2557 ก็มีเครื่องหมายคำถามขึ้นมาว่า คสช. “ทำอะไรไม่ได้” หรือ “ไม่ได้ทำอะไร” กันแน่
สิ่งที่เกิดขึ้นก่อตัวเป็น “ความอึดอัด” ว่า เหตุใดรัฐบาลจึงไม่เลือกที่จะปฏิรูปเรื่องสำคัญๆ ที่สังคมอยากเห็นเสียก่อน ตลอดจนความสงสัยว่า เป็นเพราะ “รัฐบาล คสช.” เรียงลำดับความสำคัญไม่เป็น หรือเป็นเพราะจงใจที่จะยังไม่ทำเสียเอง
หลายเรื่องที่ควรใช้มาตรา 44 กลับไม่ใช้ แต่ไปเลือกใช้อำนาจในเรื่องไม่เรื่อง
ทำให้วันนี้บรรดา “แนวร่วม” คนที่เคยหนุนหลังคสช.และรัฐบาลหายหรือห่างออกไปจำนวนมากไม่เหมือนเดิมกับตอน 22 พฤษภาคม 2557 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรื่องการปฏิรูปที่หลายคนผิดหวังหลังจากตั้งความหวังเอาไว้สูงลิ่ว โดยเฉพาะสิ่งที่คนอยากเห็นมากที่สุดอย่างการ “ปฏิรูปองค์กรตำรวจ” ที่ประชาชนไม่เชื่อมั่นรู้สึกหวาดกลัวมากกว่าอุ่นใจเมื่ออยู่ใกล้ หรือการ “ปฏิรูปพลังงาน” ที่วันนี้ผลประโยชน์มหาศาลตกอยู่ในมือของกลุ่มคนบางกลุ่ม มากกว่าประชาชนในประเทศ แม้แต่การปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือ “ปราบโกง” ที่แม้จะเป็น “วาระแห่งชาติ” แต่กลับมีข่าวว่า คนในรัฐบาลไปพัวพันอย่างต่อเนื่อง
สิ่งเหล่านี้ถูกผลักไปให้ “รัฐบาลหน้า” ในขณะที่ปัจจุบัน คสช.และรัฐบาล แม้จะทำเรื่องนี้ แต่เลือกทำเฉพาะสิ่งที่ไม่ส่งผลกระทบต่อตนเองหรือคนที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง อย่างเรื่องตำรวจที่ยังคงมีข่าวฉาวเรื่องการวิ่งเต้นโผล่ออกมาเสมอ การแทรกแซงจากฝ่ายอำนาจในการวางตัวบุคคล หรือการไม่ยอมแยกพนักงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้มีความเป็นอิสระ ทั้งที่มีการศึกษามาแล้วจากผู้เกี่ยวข้องไว้แบบแทบจะสำเร็จรูปแล้ว
การก่อตัวของ “สปป.” จึงน่าสนใจกว่าการก่อตั้งกลุ่มธรรมดาๆ ทั้งช่วงเวลาของการขยับ และกับองคาพยพในครั้งนี้ที่เป็นการรวมตัวของ “ตัวละคร” ที่น่าสนใจหลายคนที่มาบรรจบกัน ตั้งแต่หัวขบวนอย่าง “ดร.อาทิตย์” ที่กลับมามีบทบาทอีกครั้ง หลังเฟดตัวจากการเมือง ไปลุยงานด้านการศึกษามาแล้วเป็นสิบๆปี
“วิชา มหาคุณ” อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มือปราบทุจริตจำนำข้าว ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนจำนวนไม่น้อยในเรื่องการปราบปรามเหลือบไรประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังต้องการเห็นกลไกในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเฉียบขาดกว่านี้
ขณะเดียวกัน ยังออกมาคัดค้านกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันที่มี “บิ๊กกุ้ย” พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธาน ร่วมกันลงมติว่า ป.ป.ช.มีอำนาจถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ท่ามกลางความสงสัยของสังคมที่มีต่อตัว “บิ๊กกุ้ย” กับผู้เรืองอำนาจในปัจจุบันอย่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ว่า เกี่ยวพันกับเรื่องนี้หรือไม่ เพราะจำเลยสำคัญใน “คดี 7 ตุลาฯ” มีชื่อน้องในไส้อย่าง “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) รวมอยู่ด้วย
“บิ๊กตุ้ม” พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษ และคนสนิท “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นหัวเรือสำคัญในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่เดินหน้าสนับสนุนการปฏิรูปตำรวจครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการแยกพนักงานสอบสวนออกจาก สตช. ก่อนที่จะถูก สตช. ดำเนินคดีกรณีออกมาเปิดเผยถึงการซื้อ - ขาย เก้าอี้ตำรวจ รายแรก ก่อนที่ สตช.จะถอยกราวรูด หลังกระแสสังคมปกป้อง “บิ๊กตุ้ม” กระหึ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อปรากฏข่าวว่า “ป๋าเปรม” ให้กำลังใจ “บิ๊กตุ้ม” ในการต่อสู้คดีกับตำรวจ
“สังศิต พิริยะรังสรรค์” คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ศึกษาเกี่ยวกับการปฏิรูปมาโดยตลอดตั้งแต่ยุคก่อน คสช. จนถูกนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ฟ้องร้องดำเนินคดี เนื่องจากไม่พอใจที่มาแตะต้องขุมทรัพย์ อีกทั้งยังเป็นนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการศึกษาปัญหาการพนันและสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมทั้งปัญหาหวยใต้ดิน ที่สำคัญ ปัจจุบันยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ที่มี “บิ๊กตู่” เป็นประธาน
“ต่อตระกูล ยมนาค” อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ปัจจุบันเป็นอนุกรรมการใน คตช. เคยออกมาคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ หรือแม้แต่ “สุริยะใส ตกะศิลา” รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นเลขาธิการ สปป. ในครั้งนี้ ก็พยายามทวงถามเรื่องการปฏิรูปมาโดยตลอด
ที่น่าจับตาอีกจุดคือ การผนึกกำลังกับ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ที่เคลื่อนไหวให้มีการปฏิรูปพลังงานมาตลอด และล่าสุดคัดค้านกรณีที่รัฐจะเจรจากับผู้รับสัมปทานเก่าในแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกช โดยเสนอให้มีการเปิดประมูลเพื่อความโปร่งใส และให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ซึ่งมีประโยชน์ต่อประเทศมากกว่า นำโดย “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” อดีตโฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ “รสนา โตสิตระกูล” อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตกรรมาธิการพลังงาน สปช. “วีระ สมความคิด” เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) และ “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีต รมว.คลังในรัฐบาลเพื่อไทย
การรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลที่อาจจะเรียกได้ว่า “ทีมคนดี” เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นผู้ที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปเรื่องสำคัญๆ อย่างเรื่องพลังงานและตำรวจก่อน เพราะสามารถทำได้เลย โดยไม่ต้องรอส่งต่อให้รัฐบาลชุดหน้า แต่ไม่ได้รับการขานรับจากฝ่ายอำนาจ หนำซ้ำ บางครั้งยังถูกตอบโต้และดำเนินคดี
การปรากฏตัวและรวมกลุ่มในช่วงที่สังคมกำลังอึดอัดกับแนวทางปฏิรูปของ คสช.และรัฐบาล จึงไม่อาจละสายตาได้ เพราะภายหลังการเปิดตัวไม่นานกลับมีเสียงขานรับและสนับสนุนอย่างมาก ซึ่งนั่นอาจเป็นสัญญาณบอกไปถึงรัฐบาลว่า ทุกคนไม่ได้โอเคกับแนวทางที่ คสช.และรัฐบาลกำลังเดินอยู่ แต่ก็เจือไปด้วย “ความหวังดี”
ยิ่งการขับเคลื่อนของ “สปป.” เป็นไปในสิ่งที่สังคมอยากเห็นมากเท่าไร สุดท้ายจะเป็นรัฐบาลที่ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก
เพราะวันนี้มีของมาเปรียบเทียบให้เห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังเดินอยู่มัน “ผิดทิศ”
นปช.รีบขยับก่อนเข้ามุมอับ
อีกความเคลื่อนไหวเป็นฟากฝั่ง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ชัดเจนตั้งแต่วันแรกที่ คสช.เข้ามายำอำนาจ “รัฐบาลปู” ว่าต้องการโค่นล้ม “รัฐบาลทหาร” ให้จงได้ แต่ที่ผ่านมา 2 ปียังขยับได้ไม่เต็มที่ เพราะถูกคำสั่ง คสช. - กฎหมาย - คดีความ กดทับอยู่
แต่ก็มีความจำเป็นที่ต้อง “กัดฟัน” ฮึดขึ้นสู้ หลังประเมินแล้วว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ.ผ่านไปได้ จะทำให้ “ระบอบทักษิณ - พรรคเพื่อไทย - คนเสื้อแดง” ตกที่นั่งลำบาก ปิดประตูตายที่จะพลิกเกมมาเป็น “ฝ่ายอำนาจ” ได้อีกครั้ง
การตั้ง “ศูนย์ปราบโกงประชามติ” ขึ้นจึงเป็นส่งสัญญาณให้ “สมุนแม้ว-มวลชนแดง” เริ่มขยับตัว สะกิดให้บรรดาลิ่วล้อกลับมาชีวิตชีวา และแม้ภารกิจจะระบุว่าแค่ “ขอมีส่วนร่วม” ในการตรวจสอบการทำประชามติ ที่เน้นสโลแกนว่า “ไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า” แต่ลึกๆแล้วก็รู้กันดีว่า เป้าหมายจริงแล้วมีไว้เพื่อ “ดิสเครดิต” รัฐบาล คสช. หรือหากเป็นไปได้ก็อยากจะโค่นให้ลงจากอำนาจไปเลย
การตั้งศูนย์ปราบโกงฯ ยังถือเป็นการ “เล่นสองหน้า” ของ “ตุ๊ดตู่” นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ที่นำทีม นปช.ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ กรนธ.ตั้งแต่รัฐธรรมนูญร่างแรกถูกทำคลอดออกมา ทางหนึ่งอาจจะไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญจริง แต่จุดประสงค์หลักเพื่อรักษา “มวลชนแดง” ที่ชอบอ้างว่ารักประชาธิปไตยเอาไว้ เมื่อไทม์มิ่งของรัฐธรรมนูญเดินมาถึงขั้นตอนการทำประชามติ ก็ปรับแผนใหม่ ระยะหลังปั่นกระแสว่า คสช.เตรียม “ล้มประชามติ” มาโดยตลอด แต่ในขณะเดียวกันก็ตั้งศูนย์ปราบโกงฯขึ้นมาเหมือนคิดว่าจะยังมีการทำประชามติ
อย่างไรก็ตามการตั้ง “ศูนย์ปราบโกงประชามติ” ถือว่าเป็นการเดินเกมที่ได้ผลพอสมควร โดยโหนกระแสประชามติ เปิดช่องทางไว้ “ตีกิน” ไปได้เป็นรายวัน โดยที่ฝ่ายรัฐไม่กล้าที่จะไปเบรกหากยังไม่มีประเด็นล่อแหลม เกรงจะเข้าข่ายการปิดกั้น-ละเมิดสิทธิเสรีภาพไปอีก ในส่วนของการชิงพื้นที่สื่อ ก็ประสบความสำเร็จตั้งแต่เปิดตัว สื่อแทบทุกแขนงต่างนำเสนอข่าวกัน จนขัดหูขัดตา “บิ๊ก คสช.” ที่บอกว่า ไม่สนใจศูนย์ปราบโกงฯของ นปช. เป็นแค่ “อากาศธาตุ” เท่านั้น
แต่ปรากฏว่า ทั้ง “บิ๊กตู่ - บิ๊กป้อม” รวมทั้ง “บิ๊กป็อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ออกมาดาหน้าซัด นปช. อย่าตุกติกเล่นนอกเกม
กลเกมการตั้งศูนย์ปราบโกงฯมีการซ่อนเงื่อนไว้แน่นอน อยู่ที่ว่า “คสช.-หน่วยงานความมั่นคง” จะจับได้ไล่ทันหรือเปล่าเท่านั้น อย่างน้อยๆก็เป็นการเช็คเสียงของมวลชนแดงว่าจะพร้อมยืนเคียงบ่าเคียงไหล่มากแค่ไหน วัดกันได้จากการประกาศตั้งศูนย์ปราบโกงฯทุกพื้นที่ทั้งเรดโซน-กรีนโซน
เพียงแค่เริ่มต้นความคึกคักของ “มวลชนแดง - นักการเมือง - หัวคะแนน” ในพื้นที่ก็กลับมาอีกครั้ง หลังอดอยากปากแห้งกันมา 2 ปี อีเว้นต์นี้เป็นโอกาสในการจัดแถวตรวจขบวนโชว์พลังให้ “นายใหญ่-นายหญิง” ได้เห็นว่ามีมวลชนอยู่ในมือมากน้อยแค่ไหน
เจตนาแกล้ง “ทำดี” ตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติของ นปช.ดูผิวเผินจึงมองกันว่าดี แต่กลเกมแล้วแฝงไปด้วยหมากแยบยล ต่างฝ่ายต่างอ่านเกมกันออกว่าจะมาไม้ไหน เพราะมี “กุนซือ” ที่เชี่ยวชาญทั้งเกมใต้ดินบนดินเหมือนกัน โดยเฉพาะบรรดา “นายทหารแก่” ที่ยังอยากเข้ามามีอำนาจครองเมืองคอยให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลังหลายนาย หนำซ้ำยังคอยส่งข่าวอินไซด์วงลึก-ถกลับให้ประเมินสถานการณ์อยู่เสมอ
และก็เป็น “นายทหารแก่” นี่เองที่ยุให้มีการตั้งศูนย์ปราบโกงฯขึ้นมา
จนถึงตอนนี้ยังยากที่จะฟันธงได้ว่า “บิ๊กตู่ - บิ๊กป้อม” จะตัดสินใจเดินเกมประชามติต่ออย่างไร หรือจะขอให้เบรคไว้ก่อน เพราะยังมีปัจจัยที่อยู่เหนือความคาดเดาอยู่พอสมควร โดยเฉพาะอาการ “หนาว” ที่ “บิ๊กตู่” หล่นวาจาออกมาถูกตีความไปต่างๆนานา เกมประชามติจึงยังรอการตัดสินใจนาทีสุดท้าย
ตรงกันข้ามกับนปช.ที่แม้ปากของ “จตุพร” จะบอกว่าไม่เชื่อว่าจะมีการลงคะแนนเสียงประชามติ แต่กลับเตรียมการวางแผนทุกอย่างไว้อย่างดี เหมือนกับแทงหวยแล้วว่าประเทศไทยจะมีวันที่ 7 สิงหาคม เพื่อลงประชามติ
แผนนี้อ่านไม่ยาก นปช.ก็แค่อาศัยวาระ “ปราบโกงประชามติ” ในการเคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาล คสช. ในทุกประเด็นเกี่ยวร่างรัฐธรรมนูญนั่นเอง.