xs
xsm
sm
md
lg

ส.เซลล์แสงอาทิตย์ไทยชงแก้ระเบียบ ปลดล็อครับเปิดโซลาร์รูฟท็อปเสรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360- สมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย เตรียมผลักดันรัฐแก้ไขระเบียบข้อห้ามโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรีที่ห้ามขายไฟเข้าระบบ ห้ามสำรองไฟในแบตเตอรี่ ห้ามเชื่อมระบบไฟกับรายอื่น เพื่อเปิดทางรัฐซื้อไฟเข้าระบบได้ในอนาคตอย่างเสรีแท้จริง หลังโครงการนำร่อง100เมกะวัตต์ รัฐปิดกั้นซื้อไฟทั้งหมด

นายดุสิต เครืองาม ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ สมาคมฯ จะผลักดันแนวทางการปฏิรูปพลังงาน เพื่อรองรับโครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) เสรี ต่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ด้านพลังงาน เพื่อเปิดโอกาสให้อนาคตไฟฟ้าที่ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย อาคารโรงงาน สามารถขายไฟฟ้าให้กับระบบได้ ซึ่งประกอบด้วยข้อเสนอ 3 แนวทางในการปรับปรุงระเบียบกฏหมาย ได้แก่ 1.อนุญาตให้มีการซื้อไฟฟ้าไหลย้อนกลับเข้าสู่ระบบโดยให้รัฐรับซื้อในอัตราที่เหมาะสม 2.อนุญาตให้สามารถนำไฟที่ผลิตได้บรรจุลงในแบตเตอรี่ และ3.ไฟที่เหลือจากการผลิตเพื่อใช้เองสามารถลากระบบส่งพ่วง เพื่อจำหน่ายกับใครก็ได้ แต่ให้ผ่านมาตรฐานจากการไฟฟ้า

"ขณะนี้ระเบียบของรัฐ มีข้อห้ามหมด คือ ห้ามขายไฟย้อนกลับหรือย้อนกลับได้ แต่ไม่จ่ายค่าไฟให้ ห้ามเก็บไฟสำรองในแบตเตอรี่ และห้ามขายไฟส่วนเกินให้ใคร 3 ข้อห้ามนี้ เราจะเสนอให้แก้เป็นอนุญาตให้หมด เพราะหากคงระเบียบนี้ไว้ การเปิดเสรีโซลาร์รูฟท็อป ก็จะไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง"นายดุสิตกล่าว

นายดุสิตกล่าวว่า ปัจจุบันรัฐกำหนดให้มีโครงการนำร่องรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปเสรีจำนวน 100 เมกะวัตต์ ซึ่งล่าสุดทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) ได้เปิดรับฟังความเห็นเสร็จเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าในจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าได้สิ้นปีนี้ แต่ความเห็นของสมาคมฯ ยังคงยันยันแนวทางเดิมที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เนื่องจากไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าจากประชาชน โดยข้อเสนอที่ผ่านมาสมาคมฯ และ สปท. เอง ต้องการให้รัฐกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าที่ไม่ก่อภาระต่อประชาชน (ระบบ Net-metering)

"โครงการนำร่องดังกล่าว จะต้องใช้เวลาศึกษาถึง 1 ปี ซึ่งเราเห็นว่าระบบ Net-metering นั้น ต่างประเทศเขาก็ใช้กันแล้วและเห็นว่ามีวิธีคำนวณค่าไฟได้โดยไม่เป็นภาระของรัฐ กล่าวคือ ให้ไฟไหลย้อนเข้าระบบ และเมื่อมีการใช้ไฟจากการไฟฟ้า ผู้ที่ติดตั้งโซลาร์ฯ บนหลังคา ก็มีการหักลบกันไป แต่เมื่อถึงสิ้นเดือน จะต้องไม่ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่เมื่อรัฐต้องการศึกษา ก็คงทำอะไรไม่ได้ และก็เชื่อว่าจะมีคนมายื่นพอสมควรในโครงการนำร่อง เพราะมีการมองว่า ถ้ารัฐเปิดรับซื้อหลังจากนำร่องไปแล้ว ผู้ที่จะได้สิทธิจ่ายไฟเข้าระบบก่อน ก็คือ ผู้ที่นำร่อง จึงเป็นสิ่งที่สมาคมฯ ได้เตือนไว้ว่าหากเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับเป็นการเลือกปฏิบัติ"นายดุสิตกล่าว

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า โครงการนำร่องโซลาร์รูฟท็อปเสรี จำนวน 100 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการดำเนินการของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 50 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (พีอีเอ) 50 เมกะวัตต์ โดยทั้งสองการไฟฟ้ากำหนดแบ่งโควตาให้ภาคครัวเรือน10 เมกะวัตต์ และอาคารธุรกิจ 40 เมกะวัตต์ คาดจะมีการเสนอหลักเกณฑ์โครงการนำร่องโซลาร์รูฟท๊อปเสรีเข้าสู่ที่ประชุม กกพ. ในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ จากนั้นจะประกาศรับซื้อระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค. และติดตั้งแผงโซลาร์เสร็จภายในเดือนม.ค.2560 จากนั้นจะสรุปแนวทางทั้งหมดให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ก่อนตัดสินใจว่าจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป

"กกพ. ทำตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องศึกษาแนวทางการรับซื้อให้เหมาะสมในอนาคต เพื่อไม่ให้มีปัญหาระบบภาพรวมที่ไฟอาจไหลย้อนมากไป โดยโครงการนำร่องให้ไฟไหลเข้าระบบได้ แต่รัฐยังไม่รับซื้อ"นายวีระพลกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น