กฟผ.เผยการใช้ไฟฟ้าสูงสุดทำลายตัวเลขพีกเป็นครั้งที่ 3 ของปี 2559 ที่ 28,475.3 เมกะวัตต์ สาเหตุสำคัญมาจากอากาศที่ร้อนอบอ้าวกว่า 36.6 องศาเซลเซียส ด้าน SPP ถกแก้ปัญหาสัญญาขายไฟทยอยหมดอายุยังไร้ข้อสรุป สนพ.เล่นแง่ขอซื้อส่วนเพิ่มจากมติ กพช.ด้วยวิธีประมูล
นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า วันนี้ (25 เมษายน 2559) เวลา 14.53 น. ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือพีก (Peak) อยู่ที่ 28,475.3 เมกะวัตต์ ทำลายตัวเลขการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปีนี้เป็นครั้งที่ 3 เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่อุณหภูมิ 36.6 องศาเซลเซียส โดยสูงขึ้นจากพีกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 ที่ 28,351.7 เมกะวัตต์ สาเหตุสำคัญมาจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว และเป็นช่วงวันทำงานปกติจึงมีการใช้ไฟฟ้าทั้งภาคอุตสาหกรรม บริการ และบ้านอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม กฟผ.ได้เตรียมกำลังผลิตไฟฟ้าและเชื้อเพลิงเพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้า และขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันประหยัดไฟฟ้าตามมาตรการ “ปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน” วันละ 1 ชั่วโมง ในช่วงเวลา 14.00-15.00 น. เป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่ 20 มีนาคม - 20 พฤษภาคม 2559 โดยปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ ปรับลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศมาอยู่ที่ระดับ 26 องศาเซลเซียส ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน และเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ที่ประหยัดไฟฟ้า ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศได้เป็นอย่างดี
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ และนายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน กล่าวถึงการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยมี รมว.พลังงานเป็นประธาน ว่าได้หารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ที่จะทยอยสิ้นสุดสัญญาซื้อไฟฟ้า 25 สัญญาช่วงปี 2560-65 คิดเป็นกำลังการผลิต 1.75 พันเมกะวัตตต์ การประชุมยังไม่มีข้อสรุปร่วมกันแต่สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เสนอทางเลือกที่จะรับซื้อไฟฟ้าเมื่อสิ้นสุดสัญญาตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) คือ 20% ของปริมาณซื้อไฟเดิมหรือรับซื้อเพียง 18 เมกะวัตต์ส่วนที่เหลือจำการประมูล (Bidding) แทน
“สมาคมฯ จะนำข้อเสนอต่างๆ ไปหารือกับสมาชิกเพื่อเสนอก่อนที่จะประชุม กพช.ในเดือน พ.ค.ซึ่งอาจจะทำให้ปริมาณการเสนอขายไฟเข้าระบบอาจต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่วางไว้ 900 เมกะวัตต์ จากเดิม 1.75 พันเมกะวัตต์” นางปรียนาถกล่าว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สมาคมฯ ได้เสนอที่จะลดปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เสนอขายไฟในระบบจากเดิม 90 เมกะวัตต์/โรง ลง 50% เหลือเพียง 45 เมกะวัตต์/โรง และลดค่าไฟฟ้าลง ทั้ง Capacity Charge ลดลง 30% และ Energy Charge ลด 3% โดยหากเปรียบเทียบกับราคาก๊าซธรรมชาติในปัจจุบัน ค่าไฟฟ้า SPP จะลดลงเหลือ 2.88 บาทต่อหน่วย จากเดิมที่ 3.8 บาท/หน่วย แต่ก็ยังสูงกว่าค่าไฟจากโรงไฟฟ้าไอพีพีที่ระดับ 2 บาทกว่า/หน่วย