xs
xsm
sm
md
lg

“สนพ.” เล็งนัดเคลียร์ปม SPP หมดสัญญาขายไฟป้อนนิคมฯ เร็วๆ นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สนพ.” เตรียมเรียกหารือผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กป้อนในนิคมอุตสาหกรรมที่ทยอยจะหมดสัญญาช่วงปี 2560-68 หลังการหารือหลายนัดยังไร้ข้อสรุป ผู้ประกอบการย้ำเจรจา กกพ.ยุติแล้วแต่ไม่เข้าใจเหตุใดเรื่องไม่คืบหน้า จี้ให้สรุปชัดเจน 1-2 เดือน เหตุการก่อสร้างเริ่มไม่ทันแล้ว 3 แห่งที่เหลือจะทยอยเข้ามาอีก

แหล่งข่าวจากสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้จะนัดหารือกับผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้ารายเล็ก หรือ SPP ระบบ Cogeneration ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาขายไฟในปี 2560-2568 โดยเฉพาะกลุ่มที่จะหมดอายุสัญญาช่วงปี 2560-63 จำนวน 25 เมกะวัตต์ กำลังการผลิต 1,787 เมกะวัตต์ ซึ่งกลุ่มนี้มีการผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับนิคมอุตสาหกรรมเป็นหลักว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปหลังจากล่าสุดได้มีข้อเสนอจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้สามารถขายไฟฟ้าได้ 45 เมกะวัตต์จากเดิม 18 เมกะวัตต์

“มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 กำหนดรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ที่จะหมดอายุเพียง 20% ของสัญญาขายไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 18 เมกะวัตต์ แต่ทางเอกชนก็ร้องเรียนและเสนอให้ปรับเปลี่ยนก็มีการเจรจาบ่อยครั้งและทราบว่ามีการหารือกับ กกพ.ที่จะปลี่ยนมาเป็น 45 เมกะวัตต์ โดยเรื่องนี้ต้องขอดูรายละเอียดทั้งหมดก่อนว่าเป็นอย่างไร” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สนพ.ได้เสนอให้กลุ่มที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาภายในปี 2560-2561 ให้ได้รับการต่ออายุสัญญาเดิมออกไปอีก 3-5 ปี โดยรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการขายให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในปริมาณที่น้อยสุด ด้วยสัญญาที่เหมาะสมและเป็นธรรมและปรับปรุงค่าไฟให้เหมาะสมเพราะที่ผ่านมาค่าไฟแพงกว่าผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ หรือ IPP

นายไพทูร ไพศาลสุขวิทยา อุปนายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน กล่าวว่า การหารือกับ กกพ.ที่ผ่านมาได้ข้อสรุปที่จะเดินคนละครึ่งทางแล้วและมีการส่งเรื่องนี้ไปยัง สนพ.แล้ว และทาง พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ได้เห็นชอบตามแนวทางดังกล่าว ซึ่ง สนพ.เดิมได้นัดหารือกันในวันที่ 29 ก.พ. แต่ล่าสุดก็แจ้งเลื่อนออกไปอีก โดยเรื่องดังกล่าวต้องการให้เร่งสรุปโดยเร็วภายใน 1-2 เดือนนี้เพราะการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนใหม่จะต้องใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี

ปัจจุบัน SPP กลุ่มแรกที่จะหมดอายุสัญญาในปี 2560 มีจำนวน 3 โรง กำลังการผลิตรวม 500-600 เมกะวัตต์ โดยขายไฟฟ้าให้ กฟผ. 270 เมกะวัตต์ และอีกส่วนหนึ่งจะขายให้ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบทันทีเพราะคงไม่สามารถก่อสร้างได้ทันแล้ว ส่วนที่กังวลคือปี 2562 ที่จะทยอยหมดอายุสัญญาค่อนข้างมากที่หากรัฐไม่ได้ข้อสรุปก็จะไม่สามารถเดินหน้าก่อสร้างได้ทันการบริการไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมจะเกิดปัญหาได้ ซึ่งขณะนี้ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมเริ่มมีความกังวลมากขึ้น

“คุณจะเปรียบเทียบค่าไฟ SPP ที่เป็นรายเล็กกับรายใหญ่ว่าให้เท่ากันจะเป็นไปได้ไงแล้วถ้าย้อนว่าทำไมยังซื้อไฟจากแสงอาทิตย์แพงได้ทั้งที่ SPP ถูกกว่า และ SPP ยังผลิตไอน้ำได้อีก และถ้าไม่มีไฟนอกนิคมฯ จะตกๆ ดับๆ คนในพื้นที่รอบนิคมฯ จะลำบาก” นายไพทูรกล่าว

ทั้งนี้ โครงการรับซื้อไฟจาก SPP ในนิคมอุตสาหกรรมนั้นมีทั้งสิ้น 3 เฟส คือ เฟสแรก 1,787 เมกะวัตต์ จะเริ่มหมดอายุตั้งแต่ปี 2560 สัญญา 21 ปี เฟสสอง 800 เมกะวัตต์ เริ่มหมดอายุปี 2567 และเฟสสาม 3,500 เมกะวัตต์ เริ่มหมดอายุปี 2568 คิดค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 3.40 บาทต่อหน่วย
กำลังโหลดความคิดเห็น