98 สหกรณ์การเกษตร ผู้ผ่านคุณสมบัติตามโครงการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มราชการ ตบเท้ายื่นหนังสือถามรัฐบาล - ก.พลังงาน จี้ขอความชัดเจน หลังมีกระแสข่าว ทั้งล้มและไม่ล้มโครงการ ซัดกลุ่มเอกชนอกหัก อวดบารมี ใช้อำนาจอวดอ้างเพื่อล้มโครงการนี้ ย้ำถือว่าเห็นแก่ตัวมาก ประสาน “สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย” ขอความชัดเจน จาก “บิ๊กตู่” เร็ว ๆ นี้
วันนี้ (19 ก.พ.) มีรายงานว่า ที่อาคารสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ถ.พิชัย กทม. กลุ่มผู้บริหารสหกรณ์ และภาคเอกชนผู้สนับสนุนสหกรณ์ภาคการเกษตร จำนวน 98 แห่ง ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อเข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร (โซลาร์ฟาร์มราชการ) 219 โครงการ ส่วนที่ 1 (ส่วนของสหกรณ์ 300 MV) ได้ร่วมตัวกันเพื่อลงนามในหนังสือแถลงการณ์เพื่อยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ผ่าน พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อสอบความชัดเจนของโครงการนี้ หากรัฐบาลจะล้มเลิกโครงการไป
ทั้งนี้ ผู้แทนและผู้สนับสนุนจาก 98 สหกรณ์ ได้ระดมความเห็นว่า สมควรจะเคลื่อนไหวเพื่อรักษาสิทธิแห่งการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎระเบียบของโครงการ และสิทธิที่จะไม่รับผลตอบแทนจากโครงการหากโครงการถูกล้มไป
มีรายงานว่า ในหนังสือที่ยื่นต่อ กกพ. และ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ตั้งข้อสังเกตถึงกรณีผู้บัญชาการหน่วยทหารในสังกัด ได้มีหนังสือแจ้งไปยัง กกพ. เพื่อถอนตัวจากการเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งกรมการปกครองก็มีหนังสือไปยังต้นสังกัด องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่มีคุณสมบัติที่จะเสนอตัว โดยอ้างว่า ไม่ใช่หน้าที่ที่ อปท. ต้องปฏิบัติ โดยตอนหนึ่งระบุว่า อปท. ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะการออกประกาศจะต้องเป็นภารกิจที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่นโดยตรง แต่โครงการนี้ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่เป็นช่องทางหารายได้ของ อปท.
นอกจากนี้ แม้จะมีคำสั่ง มาตรา 44 เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2559 เรื่อง ปลดล็อกผังเมือง 1 ปี แต่ก็ไม่มีผลย้อนหลัง ขณะที่ กกพ. (ฝ่ายปฏิบัติฯโครงการยังคงเดินหน้าตามระเบียบเดิมได้เริ่มกระบวนการปิดรับสมัคร และตรวจสอบคุณสมบัติ และเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 58 กกพ. ได้กำหนดจะคัดกรองผู้ยื่นคำขอที่ผ่านคุณสมบัติด้วยวิธีจับสลาก เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้า ในเฟสแรก จำนวน 600 เมกะวัตต์ แต่ก็ได้ประกาศเลื่อนพิธีจับสลากออกไปเป็นวันที่ 22 ธ.ค. 58 อีก และล่าสุด 29 ม.ค. ที่ผ่านมา ก็ไม่มีการจับสลาก
“เรื่องนี้เราได้มีการประสานงานกันมานานแล้ว เพื่อความถูกต้องของโครงการ จึงต้องมีการเคลื่อนไหว และให้เป็นไปตามระเบียบของ กกพ. ดังนั้น หากมาอวดบารมี ใช้อำนาจอวดอ้างเพื่อล้มโครงการนี้ ก็ถือว่าเห็นแก่ตัวมาก” ตัวแทนสหกรณ์ท่านหนึ่งแสดงความเห็น
ทั้งนี้ 98 สหกรณ์ได้นำเอกชนผู้สนับสนุนโครงการมาร่วมลงชื่อด้วย โดยระบุว่า เป็นเอกชนคนละกลุ่มที่อาจจะไม่ได้ประโยชน์ต่อโครงการนี้ หรือพยายามล้มเลิกโครงการ
มีรายงานว่า ในช่วงเย็นกลุ่มได้เดินทางไปยังกระทรวงพลังงาน เพื่อยื่นหนังสือยังสำนักงาน กกพ. และสำนักงาน สนพ. ด้วย นอกจากนี้ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ก็เตรียมประสานงานเพื่อให้สมาชิกได้พบกับนายกรัฐมนตรีด้วย
นายวินัย คุ้มมักคุ้ม ตัวแทนสหกรณ์ ใน จ.สุพรรณบุรี ที่ผ่านคุณสมบัติ กล่าวว่า การยื่นหนังสือต่อรัฐบาลในครั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทุกประเด็น หากจะยกเลิกก็ต้องมีคำตอบ หรือจะเดินหน้าต่อ ก็ต้องมีคำตอบที่ชัดเจน เพราะพวกเราเดินหน้าศึกษากฎระเบียบอย่างถูกต้อง
นายรัฐโรจน์ พณิชย์จุติ ผู้สนับสนุนภาคเอกชนของสหกรณ์ไก่ไข่ธนบุรี และสหกรณ์นิคมชุมแสง กล่าวว่า เราศึกษาและผลักดันเรื่องนี้ตามขั้นตอน ในเรื่องของกฎระเบียบก็มีการศึกษา แต่กลับเป็นว่า กกพ.ไม่ชัดเจน ทั้งเรื่องคุณสมบัติของ อบต. ที่ปล่อยให้ส่งเข้ามาได้อย่างไร หรือประเด็นก่อนหน้านี้มีความพยายามผลักดันให้ออกประกาศว่า การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่น เพื่อให้ อปท. สามารถเข้าร่วมโครงการได้โดยไม่ผ่านขั้นตอนตาม พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) เพราะกฎหมายพีพีพี ระบุว่า ถ้าเป็นเรื่องที่หน่วยงานดำเนินการตามปกติสามารถดำเนินการได้ แต่กลับมีการยกเลิก โดยเฉพาะมาตรา 44 ที่ปลดล็อกผังเมือง 1 ปี แต่ก็ไม่มีผลย้อนหลัง