xs
xsm
sm
md
lg

โซลาร์ตรอนพร้อมรับงานโซลาร์ฟาร์ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โซลาร์ตรอน พร้อมรับงานโซลาร์ฟาร์ม ชูจุดเด่นมีโรงงานผลิตแผง และแผ่นเซลล์แสงอาทิตย์ในไทย สินค้าได้คุณภาพรับประกัน 25 ปี มีทีมวิศวกรที่มีความชำนาญในการให้คำแนะนำการออกแบบ ติดตั้ง ด้านหัวเรือใหญ่ SOLAR “ปัทมา วงษ์ถ้วยทอง” เผยผ่านการคัดเลือกรอบแรกแล้ว 100 MW และรับจ้างออกแบบติดตั้ง (EPC) อีก 100 MW

นางปัทมา วงษ์ถ้วยทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) หรือ SOLAR เปิดเผยว่า บริษัทได้รับคัดเลือก และผ่านคุณสมบัติผู้ขอรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร หรือโซลาร์ฟาร์ม จากกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เรียบร้อยแล้ว โดยในวันพรุ่งนี้ (15 ธ.ค.) จะมีการจับสลากเพื่อคัดเลือกให้เหลือ 600 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ บริษัทมีความพร้อมที่จะรับงานดังกล่าว เนื่องจากเป็นผู้ผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีโรงงานอยู่ในประเทศไทย ประกอบกับล่าสุด ได้ขยายกำลังการผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์เฟส 2 จากกำลังการผลิตเดิม 70 เมกะวัตต์ต่อปี เป็น 200 เมกะวัตต์ต่อปี ส่วนเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่ทันสมัยที่สุดของโลก

ขณะเดียวกัน แผงเซลล์แสงอาทิตย์ของบริษัทฯ ยังได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมจากประเทศเยอรมนี สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น รวมทั้งมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ของประเทศไทยด้วย และที่สำคัญบริษัทฯ ยังมีบริการหลังการขายสามารถเปลี่ยนแผงให้ได้ทันทีถ้าสาเหตุเกิดจากความบกพร่องจากผลิตภัณฑ์ของ SOLAR เอง นอกจากนั้น ยังมีทีมวิศวกรที่มีความชำนาญในการให้คำแนะนำการออกแบบ ติดตั้ง บำรุงรักษาโซลาร์ฟาร์ม เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถรับประกันคุณภาพของสินค้าของบริษัทเป็นเวลา 25 ปี

“SOLAR ผ่านคุณสมบัติผู้ขอรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร หรือโซลาร์ฟาร์มเรียบร้อยแล้ว โดยของ SOLAR ขอเอง 100 เมกะวัตต์ และรับเป็นผู้ให้บริการแบบครบวงจรตั้งแต่สำรวจ ออกแบบ และติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Engineering, procurement and Construction: EPC) อีก 100 เมกะวัตต์ ซึ่งในวันพรุ่งนี้จะมีการจับสลาก โดย SOLAR เองก็มีความพร้อมที่จะรับงานโซลาร์ฟาร์ม เพราะมีโรงงานอยู่ในประเทศ มีกำลังการผลิตที่เพียงพอ มีแผง และแผ่นเซลล์แสงอาทิตย์ที่พร้อมรองรับงานดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว” นางปัทมา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น