จับตาการประชุม กพช. เดือน มี.ค. เตรียมเสนอวาระแนวทางปฏิบัติรับซื้อไฟโซลาร์ฟาร์มราชการฯ หลัง คสช.ใช้ ม.44 ปลดล็อกผังเมือง เอกชน 400 รายหวังลุ้นผ่านคุณสมบัติใหม่ แต่อุปสรรคใหญ่ยังอยู่ที่ PPP แนะหารือทุกฝ่ายแก้ไขก่อนจะล้มโครงการ
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต้นเดือน มี.ค. 59 จะเสนอผลการหารือร่วมกับเอกชนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร เพื่อออกระเบียบปฏิบัติหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจ ม.44 ยกเว้นบังคับผังเมืองรวมสำหรับกิจการไฟฟ้า ดังนั้นการจับสลากเพื่อเดินหน้าโซลาร์ฟาร์มราชการฯ จึงต้องเลื่อนออกไปจนกว่าจะมีความชัดเจนจากมติ กพช.
“ขณะนี้สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กำลังหารือกับเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะจัดทำวาระเสนอ กพช.เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติ โดยเฉพาะจะทำให้กติกาที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีความชัดเจนขึ้น เพราะก่อนหน้านั้นมีปัญหาเรื่องผังเมืองทำให้เกิดการร้องเรียนและต้องพิจารณาคุณสมบัติใหม่ แต่เมื่อมี ม.44 ปลดล็อกก็จะทำให้ต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่เคยตกไปราว 400 โครงการใหม่ด้วย ดังนั้นการพิจารณาคุณสมบัติรอบใหม่ของ กกพ.ก็ต้องรอหลังมติ กพช. และการกำหนดวันจับสลากก็คงต้องมาว่าภายหลัง” แหล่งข่าวกล่าว
นอกจากนี้ มติ กพช.เดิมยังกำหนดให้โครงการโซลาร์ฟาร์มราชการฯ กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบ หรือ COD ภายใน 30 ก.ย. 59 ก็จะต้องเสนอ กพช.ให้มีการเลื่อนออกไปเพราะคาดว่าการดำเนินงานอาจไม่ทันแต่จะเลื่อนไปถึงระดับใดขณะนี้ สนพ.กำลังรวบรวมข้อเสนอจากทุกฝ่ายอยู่ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าโครงการดังกล่าวล่าสุดขณะนี้มีทั้งฝ่ายที่ต้องการอยากให้ล้มเลิกโครงการนี้และเดินหน้าต่อ โดยฝ่ายต้องการล้มเพราะเห็นว่ามีอุปสรรคสำคัญในส่วนของโซลาร์ฟาร์มราชการฯ ที่มีปัญหาต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ที่ขณะนี้ยังหาทางออกไม่ได้หากเดินหน้าไปอาจเกิดการฟ้องร้องมากมาย
นายดุสิต เครืองาม นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย กล่าวว่า เมื่อ คสช.มีคำสั่ง ม.44 ปลดล็อกผังเมือง กกพ.ควรจะต้องนำผู้ที่เคยเสนอขายไฟในโครงการโซลาร์ฟาร์มราชการฯ แต่ไม่ผ่านคุณสมบัติราว 400 รายมาพิจารณาใหม่ ซึ่งคงจะต้องรอมติ กพช.ถึงแนวทางปฏิบัติอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ปัญหาอุปสรรคสำคัญคือกรณีโซลาร์ฟาร์มราชการที่ยังติดปัญหาต้องเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ที่ขณะนี้ยังถกเถียงกันอยู่นั้น เรื่องดังกล่าวเห็นว่ารองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจและ รมว.พลังงาน รวมถึง กกพ.ควรจะหารือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะโครงการนี้จะมีการผลิตไฟเฟสแรก 600 เมกะวัตต์ เกิดการลงทุนถึง 3 หมื่นกว่าล้านบาท เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ