xs
xsm
sm
md
lg

“กกพ.” จ่อเปิดยื่นโซลาร์รูฟฯ เสรีนำร่อง ส.ค.นี้ รับ “เสรี” ยังมีข้อจำกัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กกพ.” เตรียมร่างประกาศรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปเสรีนำร่อง 100 เมกะวัตต์ คาดเปิดให้ยื่นเสนอขายไฟได้ภายใน ส.ค.นี้ จากนั้นจะใช้เวลาศึกษา 6 เดือนหรือภายใน มิ.ย. 60 เพื่อสรุปแนวทางเปิดเสรีเสนอรัฐ ยอมรับเสรีไม่ 100% ยังมีข้อจำกัดระบบหม้อแปลง “ดุสิต” ยื่นให้ขายไฟที่เหลือเข้าระบบได้แต่ใช้วิธีหักลบมิเตอร์

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการนำร่องผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาบ้าน (โซลาร์รูฟท็อป) แบบเสรีว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติหลักการรับซื้อไฟนำร่องเพื่อทดลอง 100 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 50 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 50 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างระเบียบหลักเกณฑ์การดำเนินงาน คาดว่าจะออกระเบียบภายใน มิ.ย.-ก.ค. หลังจากนั้นจะให้สองการไฟฟ้าเปิดให้ผู้สนใจยื่นเสนอขายไฟภายในเดือน ส.ค.นี้

“ธ.ค.นี้คงจะลงนามซื้อขายไฟได้ จากนั้นเราจะใช้เวลาในการศึกษาและติดตามผลว่ามีข้อขัดข้องอย่างไร 6 เดือน ซึ่ง มิ.ย. 2560 คงจะสรุปแนวทางเสนอกระทรวงพลังงานเพื่อกำหนดนโยบายการเปิดรับซื้อเสรีต่อไป” นายวีระพลกล่าว

สำหรับโครงการนำร่องซื้อไฟแห่งละ 50 เมกะวัตต์ ภายใน 50 เมกะวัตต์เป็นการซื้อไฟจากหลังคาบ้าน 10 เมกะวัตต์ โดยการซื้อไฟแต่ละหลังคาบ้านไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ (KW) ส่วนที่เหลืออีก 40 เมกะวัตต์ซื้อจากหลังคาอาคารโรงงานซึ่งจะซื้อไม่เกินแห่งละ 1 เมกะวัตต์ ซึ่งหลักการจะเป็นการซื้อไฟเข้าระบบหรือ Net-metering โดยการไฟฟ้าจะออกค่ามิเตอร์ให้ เขาจะมีการคัดเลือกกลุ่มบ้านและอาคารที่มีการใช้ไฟกลางวันเป็นหลัก โดยดูข้อมูลย้อนหลัง 12 เดือน บ้านใดใช้ไฟใกล้เกณฑ์ที่กำหนดก็จะคัดเลือกบ้านนั้นก่อน ถ้าผลิตเกินขายไม่รับซื้อแต่เข้าระบบได้โดยไม่มีการจ่ายเงิน เพราะกระทรวงพลังงานต้องการศึกษาก่อนเพราะอาจกระทบระบบส่งที่จะมีไฟไหลย้อนมามากเกินไปเพราะไฟฟ้าโซลาร์จะผลิตเฉพาะกลางวัน

“ต้องเข้าใจว่าสองการไฟฟ้าจำหน่ายได้ตั้งกติการะเบียบเชื่อมโยงไฟระบบโซลาร์เอาไว้อยู่แล้วว่าจะติดตั้งได้ไม่เกิน 15% ของระบบหม้อแปลงที่เป็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่ง 15% เขาตรวจวัดมาจากที่เฉลี่ยคนกรุงเทพฯ บ้าน 100 หลังคากลางวันจะใช้ไฟประมาณ 15% เพราะส่วนใหญ่ไม่อยู่บ้าน ถ้าไฟมากเกินก็จะย้อนไหลเข้าระบบเวลาติดตั้ง ก็ต้องขอการไฟฟ้าเสรีไม่ใช่ 100% อยู่แล้วเพียงแต่ไม่ได้กำหนดเป้าหมายว่าจะซื้อเท่านั้นเท่านี้ เราติดตั้งใช้เองได้อยู่แล้วแต่ห้ามเชื่อมระบบกับการไฟฟ้าเสรีมันเลยยังมีข้อจำกัดในเรื่องหม้อแปลง” นายวีระพลกล่าว

นายดุสิต เครืองาม นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย กล่าวว่า จริงๆ แล้วโครงการนำร่องไม่มีความจำเป็นเพราะความตั้งใจของสภาปฏิรูปแห่งชาติ คำว่า เสรี คือการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปไม่ต้องมาเปิด ปิดรับสมัครการซื้อขายไฟให้ยื่นเสนอได้เลยและไม่จำกัดพื้นที่ และใช้เองเป็นหลักก่อนเหลือจึงขาย แต่หากมีปัญหาเรื่องระบบหม้อแปลงของการไหลย้อนกลับก็มีกติกาของการไฟฟ้ากำหนดไว้ชัดเจน ซึ่งเชื่อว่าระบบส่งที่กำลังขยายอนาคตอีก 2-3 ปีก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาใด ดังนั้นเมื่อรัฐต้องการศึกษาก็ขอให้ดำเนินการสรุปโดยเร็วที่สุด

“ผมได้ทำหนังสือไปเมื่อเดือน มี.ค.นี้ถึง รมว.พลังงานเพื่อชี้แจงเรื่องดังกล่าวแล้ว ขอให้ทำระบบ Net-metering มาใช้โดยเน้นใช้ไฟเองเป็นหลัก หากเหลือไฟไหลย้อนกลับได้แล้วหักคืนบางส่วนคือคิดแบบมิเตอร์ถอยหลังแล้วเมื่อใช้ไฟกลางวันก็คืนกลับ แบบนี้ก็จะไม่เป็นภาระรัฐในการซื้อไฟเพราะการไฟฟ้าไม่ต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มโดยจะต้องคุมแต่ละเดือนไปเลยว่าต้องไม่ให้ค่าไฟติดลบกับการไฟฟ้า” นายดุสิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น