xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มซื้อไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จากชาวบ้าน นักวิชาการปิ๊งไอเดียหนุนชุมชนบ้านมั่นคงผลิตขาย กฟน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แผงโซล่าร์เซลล์
โครงการรับซื้อกระแสไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เดินหน้า กฟน. เริ่มรับซื้อกระแสไฟที่ผลิตจากบ้านเรือนแล้ว 364 ราย ในอัตรายูนิตละ 6.85 บาท ขณะที่บ้านมั่นคงในกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ เข้าร่วมโครงการรวม 40 หลัง ขายไฟให้แก่ กฟน. เพิ่มรายได้ประมาณเดือนละ 2,500 บาท และนำรายได้ 10 เปอร์เซ็นต์เข้ากองทุนสวัสดิการชุมชน ด้านนักวิชาการไทย และอเมริกัน หนุนชุมชนริมคลองเป็นต้นแบบในการผลิตพลังงานสะอาด เสนอรัฐมีมาตรการสนับสนุนชาวบ้านผลิตโซลาร์เซลล์ขายและใช้เอง

ตามที่รัฐบาลและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีนโยบายสนับสนุนให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) จากบ้านเรือนและธุรกิจขนาดเล็ก โดยเฉพาะการผลิตโซลาร์เซลล์จากบ้านอยู่อาศัย (ขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์) ซึ่งการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้เปิดให้ผู้ที่สนใจยื่นเรื่องเพื่อจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ กฟน. เป็นระยะเวลา 25 ปี ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2556 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันมีผู้ที่สนใจได้ทำสัญญาขายไฟกับ กฟน. ไปแล้ว รวม 364 ราย (เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล) กำลังการผลิตรวม 40 เมกะวัตต์ ในอัตรายูนิตละ 6.85 บาท ซึ่งในจำนวนนี้มีชาวชุมชนในโครงการบ้านมั่นคงที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ให้การสนับสนุนเข้าร่วมผลิตโซลาร์เซลล์ด้วยรวม 40 หลัง

พันโท สมชาย จินต์ประยูร ประธานชุมชนบางบัวเชิงสะพานไม้ 1 ริมคลองบางบัว เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า ตนได้นำแนวคิดเรื่องการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และขายเข้าระบบไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้านครหลวงมาใช้ในชุมชนตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในชุมชนบางบัวฯ มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ทั้งหมดจำนวน 4 หลัง ขนาดกำลังการผลิตหลังละ 3 กิโลวัตต์ และเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้เริ่มขายกระแสไฟฟ้าให้แก่ กฟน. แล้ว ในอัตราเฉลี่ยยูนิตละ 6 บาท 85 สตางค์ ซึ่งในแต่ละวันแผงโซลาร์เซลล์ 1 หลัง จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้เต็มที่ประมาณ 5 ชั่วโมง จำนวน 12 ยูนิต คิดเป็นมูลค่าวันละ 82.20 บาท หรือประมาณเดือนละ 2,500 บาท รวมปีละ 30,000 บาท

“ถ้ามีแสงแดดจัดตลอดทั้งวันก็จะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากว่า 12 ยูนิต ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีก หรือลงทุนประมาณ 7 ปีเศษก็จะคุ้มทุน และระยะเวลาที่เหลืออีก 18 ปี ก็จะเป็นกำไรล้วน ๆ ที่สำคัญ ก็คือ ทำให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการผลิตพลังงานสะอาดให้แก่สังคม ไม่เกิดปัญหามลพิษเหมือนกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือชีวมวล” ประธานชุมชนบางบัวเชิงสะพานไม้ 1 กล่าว

สำหรับค่าใช้จ่ายในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 3 กิโลวัตต์ ราคาประมาณ 220,000 บาท ประกอบด้วย แผงโซลาร์เซลล์ ตู้เก็บกระแสไฟ - จ่ายไฟ เบรกเกอร์ อุปกรณ์ต่อพ่วง ฯลฯ และค่าติดตั้ง โดยได้รับการสนับสนุนเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) รายละ 180,000 บาท ระยะเวลาผ่อนส่ง 15 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อปี โดยผ่อนส่งเป็นรายเดือน ๆ ละ 1,080 บาท หลังจากที่ขายไฟได้แล้ว

ส่วนอายุการใช้งานแผงโซลาร์เซลล์นานประมาณ 25 ปี ซึ่งบริษัทที่จำหน่ายและติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์จะรับประกันและซ่อมบำรุงรักษาตลอด 25 ปี ทั้งนี้ ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผลิตและขายให้แก่ กฟน. นี้ คิดเฉลี่ยเพียง 75% ของกำลังการผลิตทั้งหมด หากมีแสงแดดจัดตลอดทั้งปีก็จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่าวันละ 12 ยูนิต นอกจากนี้ หากจะผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองในครัวเรือนก็สามารถใช้เครื่องไฟฟ้าได้ตามปกติ แต่ควรจะเพิ่มขนาดเป็น 5 กิโลวัตต์ และจะต้องมีแบตเตอรี่สำหรับเก็บกระแสไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ต่างหากเพื่อใช้ไฟในตอนกลางคืน

ด้านการบริหารจัดการนั้น พันโท สมชาย กล่าวว่า เดิมชุมชนได้ทำเรื่องขายไฟให้แก่ กฟน. ในนามสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงชุมชนบางบัวฯ แต่มีข้อติดขัดเรื่องพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 หมวด 2 เรื่องวัตถุประสงค์และอำนาจกระทำการที่ไม่เปิดช่องให้สหกรณ์ฯ ขายไฟ ดังนั้น ชุมชนจึงต้องทำเรื่องขายไฟในนามบุคคล อย่างไรก็ตาม สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการได้ตกลงกันว่าจะนำรายได้จากการขายไฟฟ้าเดือนละ 10% ต่อหลัง หรือประมาณหลังละ 250 บาท มาเป็นสวัสดิการช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชน ซึ่งจะทำให้ชุมชนมีกองทุนสวัสดิการเดือนละ 1,000 บาท หรือปีละ 12,000 บาท หากคิดตลอดระยะเวลาที่ขายไฟฟ้า 25 ปี ก็จะมีเงินเข้ากองทุนไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท

พันโท สมชาย กล่าวด้วยว่า นอกจากชุมชนบางบัวเชิงสะพานไม้ 1 ที่ผลิตโซลาร์เซลล์ขายให้แก่ กฟน. จำนวน 4 หลังแล้ว ยังมีชุมชนในโครงการบ้านมั่นคงที่ พอช. สนับสนุนเข้าร่วมโครงการนี้อีก 3 ชุมชนอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ คือ ชุมชนบ้านมั่นคงแพรกษาใหม่ 15 หลัง, บางพลีน้อย 14 หลัง และแหลมฟ้าผ่า 7 หลัง รวมทั้งหมด 40 หลัง ซึ่งหาก กฟน. เปิดรับซื้อไฟฟ้าอีก และ พอช. หรือหน่วยงานรัฐให้การสนับสนุนเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำก็จะมีชาวชุมชนเข้าร่วมโครงการผลิตโซลาร์เซลล์อีกเป็นจำนวนมาก

นายยรรยง บุญ-หลง นักวิจัยอิสระ ที่ปรึกษาเครือข่ายชุมชนริมคลองลาดพร้าว กล่าวว่า ตนได้ศึกษาเรื่องการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ในชุมชนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้แก่ กฟน. แล้ว เห็นว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะสนับสนุนให้ชาวบ้านผลิตกระแสไฟฟ้าขาย โดยเฉพาะชุมชนริมคลองลาดพร้าวที่กำลังจะมีการรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมของ กทม. และจะต้องสร้างบ้านใหม่ประมาณ 1,200 หลัง ซึ่งชาวบ้านจะต้องมีภาระในการกู้ยืมและผ่อนชำระค่าก่อสร้างบ้านจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. เฉลี่ยประมาณหลังละ 2,000 บาทต่อเดือน หากชาวบ้านมีรายได้เพิ่มจากการผลิตกระแสไฟฟ้าขายก็สามารถจะช่วยแบ่งเบาภาระจากการผ่อนชำระค่าเงินกู้ได้

นายยรรยง กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในการก่อสร้างบ้านใหม่หากมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ก็สามารถนำแผงโซลาร์เซลล์มาใช้แทนหลังคาบ้านได้ เพราะแผงโซลาร์เซลล์เป็นวัสดุที่แข็งแกร่ง มีความทนทาน ทำให้ลดค่าก่อสร้างลงได้ แต่ชุมชนที่จะติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ควรจะติดตั้งขนาด 5 กิโลวัตต์ เพื่อครอบคลุมทั้งหลังคา ส่วนการลงทุนก็จะเพิ่มขึ้นเป็นหลังละประมาณ 300,000 บาทเศษ แต่รายได้ก็จะเพิ่มขึ้น คือประมาณหลังละ 5,000 บาทต่อเดือนเช่นกัน หากรวมระยะเวลา 25 ปี ก็จะขายกระแสไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้าน 5 แสนบาท นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีผู้ผลิตและจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งก็จะทำให้ต้นทุนในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ลดลงอีก

อย่างไรก็ตาม การผลิตกระแสไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์นี้ หากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนชาวบ้านทั้งในเรื่องของเงินกู้เพื่อลงทุนระยะยาว ดอกเบี้ยต่ำ การฝึกอบรมให้มีความรู้เรื่องการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ฯลฯ ก็จะทำให้นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาลเป็นจริง เพราะชาวบ้านยังขาดแคลนเรื่องเงินทุน และการติดตั้งก็ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูง หากชาวบ้านมีความรู้เรื่องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ก็สามารถทำเป็นอาชีพได้ นอกจากนี้ กฟน. ก็จะต้องสนับสนุนชุมชนด้วยการเพิ่มปริมาณการรับซื้อกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากโซล่าร์เซลล์ด้วย

“การผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้แก่ กฟน.ของชาวบ้านหลายชุมชนในครั้งนี้ ถือว่าเป็นแห่งแรกในประเทศไทย หรือเป็นแห่งแรกของอาเซียนก็ได้ที่ชุมชนเมืองสามารถสร้างรายได้จากการผลิตไฟฟ้าขาย และถือว่า เป็นพลังงานสะอาดที่ได้จากธรรมชาติ ไม่ต้องสร้างเขื่อน หรือใช้พลังงานจากถ่านหิน ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะให้การสนับสนุนชาวบ้าน โดยเฉพาะในชุมชนริมคลองลาดพร้าวที่กำลังจะสร้างบ้านใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนประมาณ 1,200 หลัง หากสนับสนุนให้ชุมชนเหล่านี้ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ก็จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น และยังช่วยผลิตพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น อีกทั้งขณะนี้ประเทศจีนที่เป็นผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์รายใหญ่ของโลกได้มาตั้งโรงงานในเมืองไทยแล้ว ซึ่งก็จะทำให้ต้นทุนในการผลิตแผงโซล่าร์เซลล์ลดลง” นายยรรยงกล่าว

นายโนอาห์ คิทเธอร์ นักวิชาการด้านพลังงานจากมหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยเข้ามาทำงานวิจัยเรื่องพลังงานทดแทนในเมืองไทยและได้เข้ามาเยี่ยมชุมชนบางบัวฯ กล่าวว่า ตนสนับสนุนให้ชาวบ้านผลิตพลังงานสะอาดเพื่อทดแทนพลังงานจากถ่านหิน หรือชีวมวล เพราะพลังงานจากแสงอาทิตย์จะไม่มีวันหมด หรือหากใช้ร่วมกับพลังงานลมก็จะทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการใช้พลังงาน ไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากเขื่อน หรือถ่านหินเพียงอย่างเดียว ซึ่งในขณะนี้กองทัพสหรัฐฯ ได้เพิ่มปริมาณการผลิตและใช้ไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์ในกองทัพแล้ว เพราะหากเกิดสงครามหรือมีการทำลายโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว กองทัพก็ยังมีโซลาร์เซลล์ใช้ โดยติดตั้งแผงโซล่าร์บนรถบรรทุก สามารถเคลื่อนที่หรือหลบหลีกอาวุธได้

“ส่วนในเมืองไทยนั้น หากมีการผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ หรือมีอุปกรณ์เก็บกระแสไฟฟ้าเพื่อสำรองไฟเอาไว้ใช้ในตอนกลางคืน หรือใช้ในตอนที่ไฟฟ้าดับแล้ว ก็จะช่วยให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองด้านพลังงานได้” นายโนอาห์ กล่าวในตอนท้าย
พ.ท.สมชายและตู้แปลงกระแสไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์ขายเข้าสู่ระบบของกฟน.
นายโนอาห์และ พ.ท.สมชาย
นักวิจัยจากอเมริกาและแผงโซล่าร์เซลล์บนหลังคา
ใต้แผงโซล่าร์เซลล์
กำลังโหลดความคิดเห็น