“กระทรวงพลังงาน” เร่งรณรงค์คนไทยร่วมประหยัดไฟผ่านกิจกรรม “ปิด ปรับ ปลด เปลี่ยน” 1 ชั่วโมงช่วงเวลา 14.00-15.00 น. เป็นเวลา 2 เดือนตั้งแต่ 20 มี.ค.-20 พ.ค.นี้ หวังลดพีก พร้อมประสาน กฟน.ให้ดูแลระบบไฟฟ้าหลังระบบจ่ายไฟของแอร์พอร์ต เรลลิงก์เกิดขัดข้อง ส่วนกรณีสร้างคลังแอลเอ็นจีให้กรมเชื้อเพลิงเร่งสรุปและให้ ปตท.และ กฟผ.เจรจา
วันนี้ (21 มี.ค.) พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมรณรงค์ “รวมพลังคนไทย ลดพีกไฟฟ้า” ซึ่งจัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ว่า ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ของประเทศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นปีละ 600 เมกะวัตต์ซึ่งพีกปีนี้ได้ประมาณการไว้จะอยู่ที่ระดับ 29,018 เมกะวัตต์ สูงกว่าที่เกิดขึ้นจริงของปีที่แล้ว (ปี 2558) ซึ่งอยู่ที่ระดับ 27,346 เมกะวัตต์ (เพิ่มขึ้น 6%) จึงขอความร่วมมือประชาชน ภาคอุตสาหกรรม และเอกชน ช่วยกันประหยัดไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนเป็นพิเศษ เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าโดยรวม ผ่านกิจกรรมรณรงค์ “รวมพลังคนไทย ลดพีกไฟฟ้า” ด้วยการ “ปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน” วันละ 1 ชั่วโมง ตั้งแต่บ่าย 2 โมงถึงบ่าย 3 โมง (14.00-15.00 น.) เป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่ 20 มีนาคม - 20 พฤษภาคม 2559
“พีกจะเกิดช่วง 14.00-15.00น.จึงขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ ปรับลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศมาอยู่ที่ระดับ 26 องศาเซลเซียส ปลดปลั๊กที่ไม่ใช้งาน และเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ที่ประหยัดไฟซึ่งมีสถิติว่าอุณหภูมิที่เพิ่มทุก 1 องศาเซลเซียสจะมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 350 เมกะวัตต์” รมว.พลังงานกล่าว
รมว.พลังงานยังกล่าวถึงกรณีที่รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ต้องหยุดบริการช่วงเช้าวันนี้ (21 มี.ค.) เนื่องจากระบบจ่ายไฟขัดข้องที่สถานีรามคำแหงทำให้รถไฟฟ้าล่าช้าทั้งระบบว่า ล่าสุดได้มีการประสานไปยังการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ให้ดูแลเรื่องดังกล่าวแล้ว ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาเชิงเทคนิค แต่ในภาพรวมแล้วปริมาณไฟฟ้าของไทยไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด
ส่วนความคืบหน้าการสร้างคลังแอลเอ็นจีแห่งใหม่ได้มอบให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติไปสรุปแนวทางโดยเร็วจากที่กรมฯ ได้ขอเวลาไว้ 3 เดือน ซึ่งทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เองก็พร้อมที่จะดำเนินการ เช่นเดียวกับ บมจ.ปตท.ดังนั้นจึงเห็นว่าทั้งสองหน่วยงานเป็นรัฐวิสาหกิจควรจะไปเจรจาน่าจะเกิดประโยชน์สูงสุด
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานยังมีภาคความร่วมมือเพื่อลดการใช้ไฟฟ้าในอีกหลายด้าน เช่น การช่วยเหลืออุดหนุนด้านการเงินเพื่อเร่งให้มีการตัดสินใจลงทุนเปลี่ยนอุปกรณ์และเกิดการบริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งมีกลไกภาคบังคับ เช่น การกำกับอาคารควบคุมและโรงงานควบคุมตาม พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 การกำหนดมาตรฐาน การใช้พลังงานในอาคารใหม่ (Building Energy Code) การกำหนดติดฉลากแสดงประสิทธิภาพการใช้พลังงานกับอุปกรณ์ไฟฟ้า
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากการรณรงค์ตลอดระยะเวลา 2 เดือนนี้จะทำให้ประชาชน ภาคอุตสาหกรรม และเอกชน เกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญที่ต้องใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า ทำให้ Peak ปี 2559 ในช่วงฤดูร้อนอยู่ที่ระดับ 28,500 เมกะวัตต์ ต่ำกว่า 29,018 เมกะวัตต์