โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงพระราชบัญญัติธุรกิจ รปภ. คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน ไม่มีเจตนาสร้างความลำบากแก่ผู้ประกอบการ แจงระยะแรกอาจมีความยุ่งยากบ้าง แต่ต้องการยกระดับมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับ และส่งเสริมให้อาชีพพนักงาน รปภ. มีเกียรติและศักดิ์ศรี
วันนี้ (13 มี.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่กลุ่มสหพันธ์ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ยื่นเรื่องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้ชะลอการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลตามกฎหมายเมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่ผ่านมา ว่า เหตุผลที่ประกาศใช้กฎหมายนี้ เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย (รปภ.) จำนวนมาก แต่มีมาตรฐานที่ต่างกัน และธุรกิจให้บริการ รปภ. มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับประชาชน ทั้งในด้านความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน รวมทั้งส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานของบริษัท และเสริมสร้างศักยภาพของพนักงาน รปภ. ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้บริการและสังคมโดยรวม โดยที่ไม่รวม รปภ. ขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก
ทั้งนี้ กฎหมายนี้คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก ไม่มีเจตนาสร้างความลำบากแก่ผู้ประกอบการ หรือพนักงาน รปภ. แต่อยากขอความร่วมมือจากบริษัทต่าง ๆ ในฐานะที่เป็นองค์กรธุรกิจ มีรายได้ เพิ่มการลงทุนอีกจำนวนหนึ่งเพื่อประโยชน์ในระยะยาว โดยจดทะเบียนเป็นบริษัทให้ถูกต้อง ยื่นขอรับใบอนุญาต และปฏิบัติตามมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย พร้อมทั้งให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่นั้น ๆ
ส่วนผู้ที่จะเป็นพนักงาน รปภ. ได้ จะต้องมีสัญชาติไทย จบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับที่กฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้ว เพื่อให้เป็นผู้ที่มีความรู้ในระดับที่เหมาะสม รู้เท่าทันเหตุการณ์ จะได้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งต้องได้รับใบอนุญาต และมีหนังสือรับรองการฝึกอบรมหลักสูตร รปภ. ตามกฎหมาย โดยยื่นเรื่องที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) หรือ กองบัญชาการตำรวจภูธรจังหวัด (บภ.จว.) และไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่น ไม่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือติดยาเสพติด ไม่วิกลจริต ไม่เคยถูกจำคุกในคดีร้ายแรง เป็นต้น
“ทุกวันนี้พนักงาน รปภ. อยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนมากกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะประจำอยู่ทั้งในสถานที่ทำงาน และที่พักอาศัย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดกฎเกณฑ์มาตรฐานของทั้งบริษัทต้นสังกัดและตัวพนักงาน เพื่อให้เกิดความสบายใจแก่ผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกผู้ประกอบธุรกิจ และพนักงานอาจมีความยุ่งยากบ้าง เพราะจะต้องจดทะเบียนบริษัท ยื่นขอรับใบอนุญาต หรือเข้ารับการฝึกอบรม แต่ขอให้คำนึงถึงประโยชน์ในระยะต่อไปด้วย” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
ทั้งนี้ กฎหมายได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่เป็นพนักงาน รปภ. ก่อนวันที่ 5 มี.ค. และต้องการปฏิบัติหน้าที่ต่อ สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตได้ภายใน 90 วัน รวมทั้งยังได้รับยกเว้นไม่ต้องผ่านการฝึกอบรมเป็นเวลา 3 ปี แต่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการฝึกอบรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ส.ต.ช.) หากต้องการเป็น พนักงาน รปภ. ต่อไป
“นายกฯ ห่วงใยพี่น้องพนักงาน รปภ. และผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย ไม่อยากให้เข้าใจผิดในเจตนารมณ์ของรัฐบาล เพียงแต่ต้องการยกระดับมาตรฐานการประกอบธุรกิจให้เป็นที่ยอมรับ และส่งเสริมให้อาชีพพนักงาน รปภ. มีเกียรติและศักดิ์ศรี เป็นที่พึ่งของประชาชน โดยคาดหวังให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและตำรวจ ในการป้องกันอาชญากรรมได้อีกทางหนึ่ง” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว