xs
xsm
sm
md
lg

ส.เซลล์แสงอาทิตย์ไทยชงแก้ระเบียบ “ปลดล็อกโซลาร์รูฟฯ เสรี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สมาคมอุตฯ เซลล์แสงอาทิตย์ไทยเตรียมผลักดันรัฐแก้ไขระเบียบข้อห้ามโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรีที่ห้ามขายไฟเข้าระบบ ห้ามสำรองไฟในแบตเตอรี่ ห้ามเชื่อมระบบไฟกับรายอื่น เพื่อเปิดทางรัฐซื้อไฟเข้าระบบได้ในอนาคตอย่างเสรีแท้จริง หลังโครงการนำร่อง 100 เมกะวัตต์รัฐปิดกั้นซื้อไฟทั้งหมด


นายดุสิต เครืองาม ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้สมาคมฯ จะผลักดันแนวการปฏิรูปพลังงานเพื่อรองรับโครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) เสรี ต่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้านพลังงาน เพื่อเปิดโอกาสให้อนาคตไฟฟ้าที่ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย อาคารโรงงานสามารถขายไฟฟ้าให้กับระบบได้ ซึ่งประกอบด้วยข้อเสนอ 3 แนวทางในการปรับปรุงระเบียบกฎหมาย ได้แก่ 1. อนุญาตให้มีการซื้อไฟฟ้าไหลย้อนกลับเข้าสู่ระบบโดยให้รัฐรับซื้อในอัตราที่เหมาะสม 2. อนุญาตให้สามารถนำไฟที่ผลิตได้บรรจุลงในแบตเตอรี่ และ 3. ไฟที่เหลือจากการผลิตเพื่อใช้เองสามารถลากระบบส่งพ่วงเพื่อจำหน่ายกับใครก็ได้แต่ให้ผ่านมาตรฐานจากการไฟฟ้าฯ

“ขณะนี้ระเบียบของรัฐมีข้อห้ามหมด คือห้ามขายไฟย้อนกลับหรือย้อนกลับได้แต่ไม่จ่ายค่าไฟให้ ห้ามเก็บไฟสำรองในแบตเตอรี่และห้ามขายไฟส่วนเกินให้ใคร 3 ข้อห้ามนี้เราจะเสนอให้แก้เป็นอนุญาตให้หมด เพราะหากระเบียบนี้คงไว้การเปิดเสรีโซลาร์รูฟท็อปก็จะไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง” นายดุสิตกล่าว

ปัจจุบันรัฐกำหนดให้มีโครงการนำร่องรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปเสรีจำนวน 100 เมกะวัตต์ ซึ่งล่าสุดทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) ได้เปิดรับฟังความเห็นเสร็จเรียบร้อยแล้วและคาดว่าจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าได้สิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม ความเห็นของสมาคมฯ ยังคงยันยันแนวทางเดิมที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเนื่องจากไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าจากประชาชน โดยข้อเสนอที่ผ่านมาสมาคมฯ และ สปท.เองต้องการให้รัฐกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าที่ไม่ก่อภาระต่อประชาชน (ระบบ Net-metering)

“โครงการนำร่องดังกล่าวจะต้องใช้เวลาศึกษาถึง 1 ปี ซึ่งเราเห็นว่าระบบ Net-metering นั้นต่างประเทศเขาก็ใช้กันแล้ว และเห็นว่ามีวิธีคำนวณค่าไฟได้โดยไม่เป็นภาระของรัฐ กล่าวคือให้ไฟไหลย้อนเข้าระบบ และเมื่อมีการใช้ไฟจากการไฟฟ้าผู้ที่ติดตั้งโซลาร์ฯ บนหลังคาก็มีการหักลบกันไปแต่เมื่อถึงสิ้นเดือนจะต้องไม่ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่เมื่อรัฐต้องการศึกษาก็คงทำอะไรไม่ได้ และก็เชื่อว่าจะมีคนมายื่นพอสมควรในโครงการนำร่อง เพราะมีการมองว่าถ้ารัฐเปิดรับซื้อหลังจากนำร่องไปแล้วผู้ที่จะได้สิทธิจ่ายไฟเข้าระบบก่อนก็คือผู้ที่นำร่อง นี่จึงเป็นสิ่งที่สมาคมฯ ได้เตือนไว้ว่าหากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่” นายดุสิตกล่าว

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า โครงการนำร่องโซลาร์รูฟท็อปเสรี จำนวน 100 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการดำเนินการของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 50 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (พีอีเอ) 50 เมกะวัตต์ โดยทั้งสองการไฟฟ้ากำหนดแบ่งโควตาให้ภาคครัวเรือน 10 เมกะวัตต์ และอาคารธุรกิจ 40 เมกะวัตต์ คาดจะมีการเสนอหลักเกณฑ์โครงการนำร่องโซลาร์รูฟท็อปเสรีเข้าสู่ที่ประชุม กกพ.ในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ จากนั้นจะประกาศรับซื้อระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค. และติดตั้งแผงโซลาร์เสร็จภายในเดือน ม.ค. 2560 จากนั้นจะสรุปแนวทางทั้งหมดให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ก่อนตัดสินใจว่าจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป

“กกพ.ทำตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องศึกษาแนวทางการรับซื้อให้เหมาะสมในอนาคตเพื่อไม่ให้มีปัญหาระบบภาพรวมที่ไฟอาจไหลย้อนมากไป โดยโครงการนำร่องให้ไฟไหลเข้าระบบได้แต่รัฐยังไม่รับซื้อ” นายวีระพลกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น