xs
xsm
sm
md
lg

หยุด “ค่าโง่โซลาร์ฟาร์ม” 12,400 ล้านบาท! / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์  :  โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับปัจจุบันหรือพีดีพี 2015 ได้กำหนดว่าภายในปี 2579 ประเทศไทยมีเป้าหมายจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์จำนวน 6,000 เมกะวัตต์ จากข้อมูลล่าสุดของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พบว่าจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2559 ประเทศไทยได้ติดตั้งไปแล้วจำนวน 1,692.63 เมกะวัตต์


แม้เอกสารของกรมฯ ไม่ได้จำแนกออกมาว่า เป็นประเภทติดตั้งบนหลังคา (Solar Roof) ซึ่งมักจะเป็นขนาดเล็ก หรือเป็นโซลาร์ฟาร์มซึ่งเป็นขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นหลายไร่ แต่จากข้อมูลอื่นๆ ทำให้เราทราบว่า กว่าร้อยละ 99.99 ของกำลังผลิตดังกล่าวเป็นโซลาร์ฟาร์มครับ


และจากข้อมูลที่ผมค้นได้พบว่า มีบริษัทหนึ่งซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีกำลังผลิตแบบโซลาร์ฟาร์มกว่า 520 เมกะวัตต์ ด้วยข้อมูลเพียงแค่นี้ก็ทำให้เราเห็นถึงเค้าลางของปัญหาได้บ้างแล้วนะครับ


ปัญหาที่ชัดเจนก็คือ รัฐบาลไทย โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้กำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับโซลาร์ฟาร์มตั้งแต่ปี 2557 ไว้ในอัตรา 5.66 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นอัตราที่สูงเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศเยอรมนี และอีกหลายประเทศในยุโรปซึ่งมีศักยภาพของแสงแดดต่อหน่วยพื้นที่น้อยกว่าประเทศไทย อัตรารับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้นาน 25 ปี รวมถึงรายใหม่ที่จะเข้ามาอีกจนกว่าจะครบ 6 พันเมกะวัตต์ หากไม่มีการปรับลดลงมา


ในขณะที่เมื่อเดือนมกราคม 2557 ประเทศเยอรมนีได้รับซื้อไฟฟ้ากรณีโซลาร์ฟาร์มที่มีขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ในอัตรา 9.47 เซนต์ยูโร หรือ 3.70 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 39.065 บาท ต่อ 1 ยูโร) โดยที่อัตราดังกล่าวจะลดลง 1% ต่อเดือน และในเดือนกรกฎาคม 2557 เท่ากับ 8.92 เซนต์ยูโร หรือ 3.48 บาทต่อหน่วย (ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Feed-in_tariff#Germany )


ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับผลการศึกษาของ Fraunhofer Institute for Solar Energy Systems ISE ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านระบบพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศเยอรมนีและใหญ่ที่สุดของยุโรป พบว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้า (หรือ Feed in tariff) สำหรับโซลาร์ฟาร์มในปี 2558 เท่ากับ 8.7 เซนต์ยูโร หรือ 3.40 เท่านั้น โดยได้ลดลงมาจากปี 2548 ที่ 16.80 บาท สรุปในช่วง 10 ปี อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มของเยอรมนีได้ลดลงแล้ว 80% ดังแสดงในภาพ
 

 
อัตราการลดลงของราคาไฟฟ้าดังกล่าว ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปและทั่วโลกแล้วว่า เป็นเพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและจำนวนการผลิตที่มากขึ้น (Economy of scale) แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ทำไม คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ของรัฐบาลไทย จึงตามเรื่องนี้ไม่ทัน ยังคงรับซื้อในอัตรา 5.66 บาทตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา


ในขณะที่ค่าไฟฟ้าสำหรับผู้อยู่อาศัยประเภท 1.2 ของประเทศไทยที่ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 350 หน่วย (ช่วง พ.ค.- ส.ค. 59) เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเฉลี่ยหน่วยละ 3.83 บาทเท่านั้น นั่นคือ ทางการไทยได้จ่ายให้ผู้ผลิตจากโซลาร์ฟาร์มสูงกว่าค่าไฟฟ้าจริงถึง 1.83 บาทต่อหน่วย


ท่านผู้อ่านอาจจะแย้งว่า ก็ในเมื่อรัฐบาลต้องการจะส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ก็จำเป็นต้องรับซื้อในราคาสูงเพื่อให้เกิดแรงจูงใจ เหตุผลนี้ผมไม่เถียงครับ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ควรจะรับซื้อให้สูงกว่าสักเท่าใดจึงจะเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่สูงจนเอื้อประโยชน์ที่มากเกินไปให้กับผู้ผลิตบางราย


ถ้าเทียบกับประเทศเยอรมนี ทั้งๆ ที่ค่าไฟฟ้าของประเทศนี้สูงกว่าประเทศไทย และมีค่าครองชีพ ค่าแรงงานสูงกว่าประเทศไทยหลายเท่า แต่เขารับซื้อจากโซลาร์ฟาร์มในปี 2558 ในราคา 3.40 บาทต่อหน่วยเท่านั้น


ประเทศอิตาลีซึ่งได้รับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มาตั้งแต่ปี 2548 และนับตั้งแต่กลางปี 2555 อัตรารับซื้อเท่ากับ 3.35 บาทต่อหน่วย แต่ก็ได้ยกเลิกนโยบายดังกล่าวไปตั้งแต่กลางปี 2556 โดยที่หลังจากได้ยกเลิกนโยบายดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมาเสียอีก


จากข้อมูลพบว่า ในแต่ละ 1 กิโลวัตต์ประเทศอิตาลีสามารถผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยได้เพียง 1,208 หน่วยเท่านั้น ในขณะที่ประเทศไทยได้ประมาณ 1,450 หน่วย ปัจจุบันประเทศอิตาลีผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้ถึง 8.7% ของไฟฟ้าที่ใช้ทั้งประเทศ ประเทศสเปนและประเทศโปรตุเกสซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน ก็ได้ยกเลิกนโยบายดังกล่าวไปก่อนแล้ว


เหตุผลในการยกเลิกนโยบายดังกล่าวคืออะไร จากผลการศึกษาของธนาคาร Deutsche ของเยอรมนีได้สรุปไว้ในรายงานปี 2556 ว่าเป็นเพราะต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เท่ากับค่าไฟฟ้าที่ซื้อจากสายส่ง (Grid Parity) ของการไฟฟ้าฯ แล้ว


ลองมาพิจารณามูลค่าไฟฟ้าที่ทางรัฐบาลไทยได้จ่ายให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มตั้งแต่ต้นปี 2558 เป็นต้นมา โดยคิดเฉพาะส่วนที่แพงกว่าอัตราการรับซื้อของประเทศเยอรมนีที่อัตรา 3.40 บาทต่อหน่วย แต่ประเทศไทยเรารับซื้อที่ 5.66 บาทต่อหน่วย นั่นคือประเทศไทยซื้อแพงกว่าหรือเสีย “ค่าโง่” 2.26 บาทต่อหน่วย


สมมติว่า โซลาร์เซลล์ 1 กิโลวัตต์สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1,450 หน่วย เราสามารถประมาณการได้ว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2558 จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2559 มูลค่าไฟฟ้าที่คนไทยต้องจ่าย “ค่าโง่”ไปเมื่อเทียบกับประเทศเยอรมนีเท่ากับ 620 ล้านบาท (ดังตาราง)
 

 
นี่เป็นการประมาณการเฉพาะในช่วง 15 เดือนแรกของสัญญาซึ่งยาวนานถึง 25 ปี แต่ถ้าคิดตลอดทั้ง 25 ปีก็จะเป็นเงิน (เฉพาะส่วนที่เป็นค่าโง่หรือส่วนที่แพงกว่าของประเทศเยอรมนี) ประมาณ 12,400 ล้านบาทครับ


มันไม่น้อยเลยใช่ไหมครับ


สิ่งที่ผมขอเสนอต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คือ ให้หยุดโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มทั้งหมด ในทันที (ยกเว้นที่ได้ซื้อไปแล้ว) และขอให้รับซื้อไฟฟ้าจากหลังคาบ้าน หลังคาอาคารโดยไม่จำกัดจำนวน และโดยที่ทางการไฟฟ้าฯ ไม่จำเป็นต้องรับซื้อในราคาที่แพงกว่าค่าไฟฟ้าที่ผู้บริโภคต้องจ่ายโดยปกติ แม้แต่สตางค์แดงเดียว


ผมมีผลงานวิชาการที่จะสนับสนุนข้อเสนอข้างต้นเพิ่มเติมอีก 2 ประการ เพื่อให้ท่านนายกรัฐมนตรีและท่านผู้อ่านที่สนใจ ดังนี้ครับ


หนึ่ง ผลการศึกษาของ Fraunhofer ISE (อ้างแล้ว) พบว่า ต้นทุนเฉลี่ยของค่าไฟฟ้า (Levelized Cost of Electricity, LCOE) ตลอดอายุการใช้งานของโซลาร์ฟาร์ม ในปี 2558 และ ในปี 2568 จะมีค่าอยู่ระหว่าง 2.50 ถึง 3.28 บาทต่อหน่วยไฟฟ้า และ 1.84 ถึง 2.62 บาทต่อหน่วยไฟฟ้า ตามลำดับ และจะถูกลงกว่านี้อีกในอนาคตถัดไป


เห็นแล้วหรือยังครับว่า ต้นทุนเฉลี่ยมันต่ำกว่า 5.66 บาทตั้งเยอะ


และสำหรับการติดตั้งบนหลังคาบ้าน เท่าที่ผมได้สอบถามข้อมูลจากผู้ที่ติดตั้งแล้วพบว่า ในปัจจุบัน ถ้าต้นทุนต่อกิโลวัตต์อยู่ระหว่าง 5.5 ถึง 6.5 หมื่นบาท แล้ว ต้นทุนเฉลี่ยของค่าไฟฟ้าต่อหน่วยจะอยู่ระหว่าง 1.52 ถึง 1.79 บาทต่อหน่วยเท่านั้น ต่ำกว่าของกรณีโซลาร์ฟาร์มเสียอีก


ถ้าพูดถึงระยะเวลาคุ้มทุนก็ประมาณ 7 ถึง 9 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับค่าไฟฟ้าจากสายส่งที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วย


สอง ผลการศึกษาวิจัยการตลาดของ Deutsche Bank ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อการลงทุน (เผยแพร่ ก.พ.2558) ธนาคารนี้พยากรณ์ว่า


“ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์จะเท่ากับค่าไฟฟ้าขายปลีกจากสายส่งของการไฟฟ้าฯ ในขอบเขต 80% ของตลาดไฟฟ้าทั่วโลก ทั้งนี้ภายในสิ้นปี 2560” 


สำหรับกรณีของประเทศไทยเรา รายงานการศึกษานี้พบว่า ต้นทุนเฉลี่ยของค่าไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ (LCOE) ในปี 2558 เท่ากับ $0.13 (หรือ 4.60 บาท) ต่อหน่วย ในขณะที่ค่าไฟฟ้าที่ผู้บริโภคจ่ายเฉลี่ย $0.11 (หรือ 3.92 บาท) ต่อหน่วย


ผลการศึกษานี้ ในเรื่องค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (LCOE) จากโซลาร์เซลล์ในประเทศไทยซึ่งเท่ากับ 4.60 บาทนั้น ผมเห็นว่าเป็นต้นทุนที่สูงเกินไป ตัวเลขที่ผมได้นำเสนอไปแล้วอยู่ระหว่าง 1.52 ถึง 1.79 บาทต่อหน่วย (โดยไม่คิดดอกเบี้ย)


ดังนั้น ประเทศไทยเราได้ถึงเวลาที่เป็น Grid Parity สำหรับโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านมานานแล้ว แต่ทางราชการไทยก็ยังไม่อนุญาตให้คนไทยได้ใช้ แต่กลับไปสนับสนุนโซลาร์ฟาร์มจำนวนมากและในราคาสูงเป็นพิเศษหรือเสียค่าโง่ดังที่กล่าวแล้ว


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ หลายครั้งว่า ใครอยากจะผลิตไฟฟ้าบนหลังคาเพื่อใช้เองก็สามารถทำได้อยู่แล้ว แต่ในเชิงเทคนิคมันทำไม่ได้ครับท่าน เพราะตอนที่มีแสงแดดและผลิตไฟฟ้าได้ เจ้าของบ้านส่วนใหญ่ไม่อยู่บ้าน เมื่อกลับมาถึงบ้านแสงแดดก็หมดแล้ว แล้วจะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้ ครั้นจะใช้แบตเตอรี่ก็จะเป็นการลงทุนที่ไม่จำเป็น


ทางออกง่ายๆ มีครับ แต่ทางราชการที่รับผิดชอบไม่ยอม คือ การฝากไฟฟ้าที่ผลิตได้ในตอนกลางวันไว้ในสายส่ง แล้วพอถึงตอนกลางคืนก็เอาไฟฟ้านั้นกลับมาใช้ เขาเรียกว่าเป็น Net Metering ครับ การไฟฟ้าฯ ก็ไม่เสียประโยชน์ โลกก็ได้ประโยชน์จากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ชุมชนก็ไม่ได้รับผลกระทบ


หรือถ้าทางการไฟฟ้าฯ จะคิดค่าบริการค่าฝากสัก 10 ถึง 15% ของไฟฟ้าที่ฝากไว้ ผมก็คิดว่าน่าจะเป็นได้ ต้องขอศึกษาในรายละเอียดก่อน


แต่ตอนนี้ผมมีข้อเสนอสำหรับอาคารเอกชนที่ใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวันมาก ว่าควรรีบติดตั้งครับ คุ้มทุนแน่นอน ทั้งในแง่การลงทุนและจิตใจ แต่ผมจะไม่ขอเรียกร้องไปที่สถาบันการศึกษาซึ่งควรจะเป็นผู้ชี้นำสังคม ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย โรงเรียน และส่วนราชการ เพราะผู้บริหารองค์กรเหล่านี้มักจะไม่ค่อยคิดอะไรมาก นอกจากอยู่ไปวันๆ เดี๋ยวก็หมดวาระเท่านั้นเอง


เอ๊ะ มาสรุปลงตรงนี้ได้อย่างไร!
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น