คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แถลงข่าวการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาอาคารเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองขนาด 15 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลกที่ติดตั้งภายในมหาวิทยาลัย ข่าวดังกล่าวได้รับความสนใจจากสื่อหลายสำนัก และถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างดีๆ ที่สถาบันการศึกษาแห่งนี้ได้ออกมาชี้นำสังคมด้วยการลงมือปฏิบัติจริง ทั้งในด้านการสร้างจิตสำนึกของนักศึกษา และการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นต้นเหตุของสภาวะโลกร้อนที่เป็นปัญหาสำคัญที่สุดของโลก
บทความนี้จะประมวลสาระสำคัญของโครงการดังกล่าวตามที่ปรากฏในสื่อ พร้อมกันนี้ ผมได้เสนอทางเลือกอื่นในด้านการลงทุน ทั้งนี้ ก็เพื่อให้สถาบันอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย โรงเรียน ส่วนราชการ รวมทั้งอาคารเอกชนต่างๆ ได้ใช้ประกอบในการตัดสินใจ
หนึ่ง สาระสำคัญของโครงการโซลาร์เซลล์
โครงการนี้เป็นการติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาด 15 เมกะวัตต์ บนหลังคาอาคารต่างๆ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยใช้เงินลงทุน 50 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ รวม 750 ล้านบาท จากข่าวซึ่งมาจากคำสัมภาษณ์ของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ทราบว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้ใช้ไฟฟ้าปีละประมาณ 70 ล้านหน่วย หรือวันละ 1.9 แสนหน่วย คาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้วันละ 75,000 หน่วย หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ถึง 40 ของความต้องการใช้ในแต่ละวัน
เงินลงทุนดังกล่าวมาจากบริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) โดยทำสัญญา 21 ปี แบ่งรายได้ฝ่ายละครึ่งจากเม็ดเงินการประหยัดพลังงานจากโครงการนี้ ผมไม่ทราบรายละเอียดที่มากกว่านี้ครับ ไม่ทราบอัตราการเรียกเงินลงทุนคืน รวมทั้งประสิทธิภาพของแผ่น และอุปกรณ์ต่างๆ ที่นำมาใช้ ผมได้สรุปสาระสำคัญเอาไว้ในแผ่นภาพข้างล่างนี้
สอง คำอธิบายเชิงเทคนิค
เมื่อได้อ่านจากข่าวแล้ว ผมเข้าใจว่าโครงการนี้ไม่ได้ขายไฟฟ้าที่ผลิตได้เข้าสู่ระบบสายส่งของการไฟฟ้าเหมือนกับที่หลายประเทศเขานิยมทำกัน (ที่เรียกว่าระบบ Net Metering เช่น 40 รัฐในสหรัฐอเมริกา และอาคารรัฐสภาของประเทศปากีสถาน เป็นต้น) แต่ติดตั้งขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองในตอนกลางวันซึ่งมีแสงแดด เป็นการลดพลังงานไฟฟ้าจากสายส่ง (วันละ 1.9 แสนหน่วย) และเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัย (ไฟฟ้า 1 หน่วย ถ้าผลิตจากถ่านหินจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 0.98 กิโลกรัม - ข้อมูลจาก U.S. Energy Information Administration)
ด้วยศักดาไฟฟ้าที่ผลิตได้ 230 โวลต์ซึ่งสูงกว่าศักดาไฟฟ้าจากสายส่ง (220 โวลต์ หรือน้อยกว่า) ดังนั้น ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากหลังคาจะถูกนำมาใช้ก่อนไฟฟ้าจากสายส่ง เมื่อไม่พอใช้ไฟฟ้าจากสายส่งจึงไหลเข้ามาเสริม และในตอนกลางคืนก็ต้องใช้ไฟฟ้าจากสายส่งทั้งหมดเพราะไม่มีแบตเตอรี่เก็บ การติดตั้งโซลาร์เซลล์ดังกล่าวจึงเป็นการลดพลังงานไฟฟ้าจากสายส่งในช่วงกลางวันเท่านั้น
ในวันหยุดราชการ การใช้ไฟฟ้าของมหาวิทยาลัยจะน้อยกว่าในวันทำงาน ดังนั้น ไฟฟ้าที่ผลิตได้วันละ 75,000 หน่วย ก็จะเหลือใช้และไหลออกไปผ่านมิเตอร์ไฟฟ้าไปสู่สายส่งภายนอกมหาวิทยาลัย แต่ทางการไฟฟ้าฯ จะรับไฟฟ้าส่วนนี้ไปขายต่อให้แก่ผู้ใช้รายอื่นโดยไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่มหาวิทยาลัย นี่คือความไม่เป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นวันหยุดราชการ แต่มหาวิทยาลัยก็ยังมีอุปกรณ์ไฟฟ้าบางส่วนที่ต้องใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา คนบางส่วนก็ยังคงมาทำงาน จากประสบการณ์ของผมเองผมเชื่อว่า ไฟฟ้าที่ผลิตได้ในวันหยุดราชการก็น่าจะถูกใช้ไปประมาณ 1 ใน 5 เรียกว่าไม่เสียไปทั้งหมดหรอก ผมลองคำนวณคร่าวๆ แล้วพบว่า ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ทางการไฟฟ้าฯ จะรับไฟฟ้าไปฟรีๆ ประมาณ 15% ของปริมาณที่มหาวิทยาลัยผลิตได้ทั้งหมด
อนึ่ง จากข้อมูลที่ผมได้รวบรวมจากผู้ติดตั้งมาแล้ว พบว่า แต่ละ 1 กิโลวัตต์จะผลิตไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 1,400 หน่วย ดังนั้น ถ้าติดตั้ง 15 เมกะวัตต์ ก็น่าจะผลิตได้ปีละ 21 ล้านหน่วย หรือวันละ 57,530 หน่วยเท่านั้น แต่ก็นั่นแหละครับ ผมไม่ทราบรายละเอียดของประสิทธิภาพของอุปกรณ์ซึ่งอาจจะสูงขึ้นมากแล้ว
สาม กู้เงินสหกรณ์ออมทรัพย์มาลงทุนคือทางเลือกที่น่าสนใจ
นอกจากการให้บริษัทมาลงทุนแล้ว ผมขอเสนอทางเลือกใหม่ คือ ให้มหาวิทยาลัยกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งผมทราบว่าแต่ละสหกรณ์มีเงินเหลือเป็นจำนวนมาก หลายแห่งจึงต้องนำไปฝากเครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น ดังที่เป็นข่าวน่าหวาดเสียวมาหลายปีแล้ว ผมลองเข้าไปดูอัตราดอกเบี้ยพบว่า น่าจะไม่ใช่เรื่องยากที่จะขอกู้ในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี เพราะบางสหกรณ์ปล่อยกู้ในโครงการซื้อบ้านด้วยอัตราดอกเบี้ย 4.85% เท่านั้น
ความเป็นไปได้ของการลงทุนในเรื่องโซลาร์เซลล์ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยสำคัญ คือ (1) ต้นทุนและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (2) ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่อปี และ (3) ราคาไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฯ ขายให้แก่ผู้ใช้ ถ้าราคายิ่งแพง ระยะเวลาคุ้มทุนจากการติดโซลาร์เซลล์ก็จะเร็วขึ้น ถ้าราคาไฟฟ้าถูกลงระยะเวลาคุ้มทุนก็จะนานขึ้น
ในที่นี้ขอคิดว่ามีการลงทุนเท่าเดิมคือ 750 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1,400 หน่วยต่อกิโลวัตต์ (น้อยกว่าที่โครงการนี้คาดไว้ที่ 1,875 หน่วยต่อกิโลวัตต์) หรือ 21 ล้านหน่วยทั้งโครงการ และอัตราค่าไฟฟ้าประเภท 6.1 (องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งมีแรงดันต่ำ 12 กิโลโวลต์) เท่ากับ 3.84 บาทต่อหน่วย (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และคงที่ตลอด 25 ปี)
ดังนั้น ในแต่ละปีจะมีรายได้จากค่าไฟฟ้าเท่ากับ 80.64 ล้านบาท ผมแบ่งเงินรายได้ก้อนนี้ออกเป็น 2 ก้อน ก้อนแรกนำไปใช้หนี้พร้อมดอกเบี้ย (จำนวน 75.60 ล้านบาทต่อปี) อีกก้อนหนึ่งคือ 5.04 ล้านบาท เป็นรายได้ของมหาวิทาลัย ผลการคำนวณผมได้แสดงเอาไว้ในแผ่นภาพข้างล่างครับ
คือมหาวิทยาลัยสามารถใช้หนี้ทั้งหมดเมื่อสิ้นปีที่ 16 โดยในแต่ละปีจะมีรายรับ 5.04 ล้านบาท ในปีที่ 17 ถึง 25 จะมีรายได้ปีละ 80.64 ล้านบาท สหกรณ์ออมทรัพย์ก็มีแหล่งปล่อยกู้ที่มั่นคง และไม่มีความเสี่ยงด้วย
สี่ ถ้าต้นทุนต่ำลงมาเป็น 40 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์
เนื่องจากราคาระบบโซลาร์เซลล์ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 8% ต่อปี (ตัวอย่างจากเยอรมนีในช่วง 2005-2015) ดังนั้น ผมจึงได้ลองคำนวณกรณีที่ต้นทุนการติดตั้งเท่ากับ 40 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ หรือรวมทั้งโครงการ 15 เมกะวัตต์ เป็นเงิน 600 ล้านบาท และสมมติว่าอย่างอื่นเหมือนเดิมทุกประการ พบว่า เมื่อสิ้นปีที่ 12 การใช้หนี้จะหมดลง และมหาวิทยาลัยจะมีรายรับรวมตลอด 25 ปี เท่ากับ 1,317 ล้านบาทหรือเฉลี่ยปีละ 52 ล้านบาท เงินก้อนนี้สามารถนำไปทำอะไรที่ดีๆ ได้เยอะ แม้แต่เงินเดือนพนักงานนับร้อยคน
คราวนี้ผมลองคิดว่า ถ้าอัตราค่าไฟฟ้าลดลงมาเหลือ 3.33 บาทต่อหน่วย (เกิดขึ้นกับองค์กรที่มีสถานีไฟฟ้าย่อยที่มีแรงดัน 69 กิโลโวลต์เป็นของตนเอง) เราจะพบว่า เมื่อสิ้นปีที่ 14 ก็จะสามารถใช้หนี้ได้หมด และองค์กรจะมีรายได้ส่วนที่เหลือรวม 993 ล้านบาท
สำหรับภาพสุดท้ายเป็นราคาการติดตั้งในปี 2015 (ไม่รวมภาษี) ของประเทศเยอรมนี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส
ข้อมูลเมื่อเดือนพฤษภาคม 2016 ประเทศเยอรมนีใช้วิธีการประมูล พบว่า ผู้ชนะการประมูลได้เสนอขายไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มขนาด 128 เมกะวัตต์ ในราคา 2.90 บาทต่อหน่วยตลอด 20 ปีทั้งๆ ที่แดดในเยอรมนีสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณปีละ 800-900 หน่วยต่อกิโลวัตต์เท่านั้น ในขณะที่เมืองดูไบ (ซึ่งมีแดดดีกว่าไทย) ผู้ชนะการประมูลด้วยราคา 1.05 บาทเท่านั้น (RED, Renewable Policy Updated, Issue 10, 31 May 2016)
สรุป
จากผลการคำนวณที่ได้กล่าวมาแล้ว พบว่า ทุกการลงทุนที่ได้กล่าวมาแล้วมีความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐศาสตร์ทุกกรณี ทั้งๆ ที่ไฟฟ้าที่ผลิตได้ ได้ไหลเข้าสู่ระบบสายส่งโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ ถึงประมาณ15%
อ้อ ผมลืมไปอย่างหนึ่งครับ คือ ในการแถลงข่าวครั้งนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แนะนำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตทบทวนโครงการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน เพราะถ่านหินก่อให้เปิดปัญหาโลกร้อนที่ก่อภัยพิบัติทางธรรมชาติไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ นับเป็นบทบาทของมหาวิทยาลัยที่ประชาชนภูมิใจ
อย่างไรก็ตาม การที่กระทรวงพลังงานของประเทศไทยไม่รับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ด้วยระบบ Net Metering หรือไม่ยอมจ่ายเงินที่รับไฟฟ้าจำนวนประมาณ 15% ของที่ผลิตเองได้ไปฟรีๆ ก็เป็นปัญหาสำคัญอีกปัญหาหนึ่ง หากสามารถแก้ปัญหานี้ได้ ปัญหาโลกร้อนก็จะลดลงไปได้เยอะ
มาร่วมกันทำความจริงให้ปรากฏ และร่วมกันผลักดันต่อไปครับ ผมนึกถึงเพลงปลุกใจที่อดีตนักศึกษาธรรมศาสตร์คนหนึ่งเป็นผู้แต่ง...สู้เข้าไป อย่าได้ถอย มวลชนเองก็อย่าอยู่เฉย ต้องลงมือร่วมสู้ด้วย ไม่ใช่คอยแต่เอาใจช่วยอย่างเดียวเท่านั้น