ปัจจุบัน “ไฟฟ้า” กลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตมนุษย์ด้วยเพราะอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ รอบตัวเราล้วนแต่ต้องใช้ไฟฟ้าเกือบทั้งสิ้น “ไฟฟ้า” จึงเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศเพราะต้องป้อนสู่การใช้ในทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือน การเกษตร คมนาคม ภาคอุตสาหกรรม การบริการและการท่องเที่ยว ดังนั้นทุกประเทศต่างต้องบริหารจัดการระบบไฟฟ้าเพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่นคง
“เกาหลีใต้” เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาได้เร็วก็เพราะสามารถบริหารต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ต่ำจนหนุนให้เกิดฐานการผลิตอุตสาหกรรมภายในประเทศจำนวนมากนำมาซึ่งการสร้างรายได้ โดยปี 1960 เกาหลีใต้ยังเป็นประเทศที่ยากจนประชากรมีรายได้ต่อหัวต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 100 เหรียญสหรัฐ ปัจจุบันเฉลี่ยมาอยู่กว่า 30,000 เหรียญฯ ทั้งที่เกาหลีใต้เป็นประเทศที่นำเข้าพลังงานสูงกว่า 95% การทำให้ค่าไฟถูกน่าจะเป็นเรื่องยากแต่เกาหลีใช้หลักการกระจายสัดส่วนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้านั่นเอง
ทั้งนี้ สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเกาหลีใต้ปัจจุบันมาจากถ่านหิน 40% นิวเคลียร์ 30% ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 20% พลังงานทดแทนและอื่นๆ 10% อย่างไรก็ตาม อดีตเกาหลีใต้เริ่มต้นพัฒนาโรงไฟฟ้าโดยคำนึงถึง 3 ปัจจัย คือ 1. ราคาถูก 2. ความปลอดภัย และ 3. ด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากที่ผ่านมาเกาหลียังเป็นประเทศยากจนดังนั้นสิ่งที่เกาหลีเลือกคือโรงไฟฟ้าถ่านหินเพราะตอบโจทย์ค่าไฟถูกสุด และเมื่อมีกำลังทรัพย์เกาหลีก็ค่อยๆ ปรับสู่เชื้อเพลิงอื่นๆ
“เราพูดได้อย่างภูมิใจว่าค่าไฟฟ้าของประเทศเราน่าจะถูกที่สุดในโลกและการที่ประเทศเรามีฐานการผลิตอุตสาหกรรมค่าไฟฟ้าหรือค่าพลังงานจึงต้องราคาถูกด้วย และนี่จึงทำให้เกาหลีพัฒนาเศรษฐกิจได้เร็ว” Dr.Park Kihyun ผู้แทนจาก Korea Energy Economics Institute (KEEI) หรือผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานของเกาหลีใต้กล่าวบรรยายให้แก่สื่อมวลชนระหว่างการเดินทางไปดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินดังจิน ที่เกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 9-11 พ.ค. โดยมีนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นหัวหน้าคณะ
เขากล่าวแสดงให้เห็นว่าค่าไฟเกาหลีใต้ถูกจริง เพราะเฉลี่ยครัวเรือนอยู่ที่เพียง 110 วอนต่อหน่วย หรือราวๆ 3.50 บาทต่อหน่วย ดังนั้นบ้านหลังหนึ่งซึ่งมีผู้อาศัยราว 2-3 คนจะจ่ายค่าไฟเฉลี่ยต่อเดือนเพียง 1,400-1,500 บาทเท่านั้น หากเทียบกับค่าไฟเฉลี่ยของไทยขณะนี้ที่อยู่ระดับ 3.427 บาทต่อหน่วย (งวด พ.ค.-ส.ค. 2559) เห็นแบบนี้แล้วคนไทยก็อดภูมิใจไม่ได้เช่นกันเพราะค่าไฟของไทยไม่ต่างจากเกาหลีใต้สักเท่าใดถือว่าเราเดินมาด้วยดี แต่ถ้ามองภาพรวมเราต้องไม่ลืมว่ารายได้ต่อหัวประชากรของเกาหลีใต้นั้นล่าสุดปีนี้อยู่ที่ 35,277 เหรียญสหรัฐต่อหัวต่อปี (จัดอันดับโดยนิตยสาร U.S. News & World Report) แต่ไทยยังแตะๆ อยู่ที่แค่ 6,000 เหรียญฯ เท่านั้น
ค่าไฟครัวเรือนที่ว่าถูกแล้วยังต้องอึ้ง เพราะ Dr.Park Kihyum ระบุว่า ค่าไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมของเขานั้นถูกกว่าครัวเรือนอีก โดยค่าไฟสำหรับภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยอยู่ที่ 90 วอน หรือราว 2.70 บาทต่อหน่วย คนไทยได้ยินแล้วต้องเงี่ยหูฟังใหม่อีกครั้งเพราะไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ แต่เขาก็ให้เหตุผลว่าเพราะเกาหลีใต้เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ การมีค่าไฟต่ำจะดึงดูดการลงทุน แม้แต่ญี่ปุ่นเองก็จะตัดสินใจมาลงทุนก็มองในจุดนี้ และแน่นอนว่ารัฐไม่ได้ควักเงินอุดหนุนค่าไฟโดยตรงแต่ใช้วิธีเก็บภาษีธุรกิจที่แพงขึ้นแทน
ปัจจัยสำคัญที่ค่าไฟเกาหลีใต้ไม่แพงด้วยเพราะโครงสร้างเชื้อเพลิงที่เกาหลีใต้ใช้ในการผลิตไฟฟ้าถูกวางไว้เพื่อทำให้ต้นทุนรวมออกมาต่ำจากถ่านหิน 40% และนิวเคลียร์ 30% โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของเกาหลีใต้มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 60 วอนต่อหน่วย, ถ่านหินอยู่ที่ประมาณ 70 วอนต่อหน่วย และก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ประมาณ150 วอนต่อหน่วย โดยระยะหลังมานี้เกาหลีใต้พยายามหันมากระจายความเสี่ยงด้วยการใช้ LNG นำเข้าเพื่อความมั่นคงเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 (COP 21) ที่กรุงปารีส จะมุ่งทิศทางไปสู่การลงทุนที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ต้นเหตุสำคัญหนึ่งของสภาวะโลกร้อนซึ่งเกาหลีใต้มีแผนที่จะลดก๊าซเรือนกระจก 37% ขณะที่ไทยมีเป้าหมาย 20-25% เกาหลีใต้จึงมุ่งสู่การเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงานและมีแผนเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 1 เท่าตัวในปี 2578 จากที่มีอยู่ 23 แห่งเพราะเกาหลีใต้มีเทคโนโลยีนิวเคลียร์เป็นของตนเอง รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนมากขึ้น แต่กระนั้นกลับยังไม่มีแผนที่จะลดเชื้อเพลิงถ่านหินลงแต่อย่างใดและยังชี้ให้เห็นว่าแม้แต่ญี่ปุ่นซึ่งเกิดแผ่นดินไหวจนกระทบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ยังหันไปผลิตไฟจากถ่านหินเพิ่มขึ้น
โรงไฟฟ้าถ่านหิน “ดังจิน” บริหารโดยบริษัท East West Power (EWP)จึงสะท้อนนโยบายการคงไว้ซึ่งสัดส่วนการผลิตไฟจากถ่านหินของเกาหลีใต้เป็นอย่างดีเพราะเริ่มต้นการผลิตตั้งแต่ปี 2542 ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 2,000 เมกะวัตต์ (2 ยูนิต) จากเดิมขนาด 4,000 เมกะวัตต์ (8 ยูนิต) ใช้ทั้งถ่านหินลิกไนต์และบิทูมินัสนำเข้าทั้งหมดทำให้โรงไฟฟ้าแห่งนี้กลายเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีกำลังผลิตมากสุดในภูมิภาคเอเชีย และโรงไฟฟ้าส่วนขยายนี้จะใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง คือ Ultra Super Critical - USC ที่ช่วยเพิ่มกำลังการผลิตแต่ใช้เชื้อเพลิงน้อยลง รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงด้วย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยเช่นเดียวกับที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะนำมาใช้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
เมื่อสอบถามว่าโรงไฟฟ้าของเกาหลีใต้โดนประท้วงจากชาวบ้านหรือไม่ คำตอบคือ มี แต่ประชาชนที่คัดค้านจะใช้วิธีแค่ส่งจดหมายให้แก่รัฐบาลและส่วนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น และผู้ที่ประท้วงคือผู้ที่ถูกเวนคืนที่ดินเป็นหลัก ทำให้ภาพรวมประชาชนในดังจินส่วนใหญ่เห็นด้วยเพราะเกาหลีใต้ใช้วิธีการเข้าไปให้ความรู้ว่าถ้ามีแล้วเศรษฐกิจชุมชนจะดีอย่างไร ประเทศจะได้อะไร โดยโรงไฟฟ้าดังจิน เข้ามามีบทบาทในการดูแลสวัสดิการ และระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของชุมชนรอบโรงไฟฟ้า โดยจัดสรรเงินจากค่าไฟฟ้าให้กับกองทุนปีละประมาณ 5,400 ล้านบาท 80% ดูแลประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า และอีก 20% ดูแลทั้งชุมชนของเมืองดังจิน เช่น การส่งเสริมด้านการศึกษา การดูแลสุขภาพอนามัยและการสาธารณสุข การสร้างอาชีพให้ชุมชน
ทั้งนี้ ก่อนที่โรงไฟฟ้าดังจินจะเกิดขึ้นมีประชาชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าไม่ถึง 100 ครัวเรือน แต่ปัจจุบันมีกว่า 400 ครัวเรือนแล้ว และอดีตคนเหล่านี้ก็จะทำอาชีพเกษตรกร และประมง เป็นส่วนใหญ่แต่เมื่อมองไปรอบโรงไฟฟ้าปัจจุบันเราก็ยังคงเห็นวิถีชีวิตของคนในพื้นที่นี้ยังคงมีการทำเกษตรกรรมและได้ขึ้นชื่อว่าเป็นจังหวัดที่ปลูกข้าวพันธุ์ดี และสตรอว์เบอร์รีที่มีชื่อเสียงอีกด้วย จึงเป็นการชี้ให้เห็นว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้หากมีการบริหารจัดการที่ดี
ส่องโรงไฟฟ้าเกาหลีใต้แล้วมองย้อนกลับมาที่ไทย นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงานที่พ่วงตำแหน่งประธานบอร์ด กฟผ. ให้เหตุผลที่เลือกมาดูโรงไฟฟ้าถ่านหินดังจินเพราะไทยเองก็มีแผนที่จะกระจายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือ PDP 2015 (ปี พ.ศ. 2558-2579) โดยมีเป้าหมายลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติที่ขณะนี้สูงถึง 69% ลงมาด้วยการเพิ่มสัดส่วนถ่านหินจากขณะนี้ 18% ซึ่งตาม PDP กำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิงผลิตไฟเมื่อสิ้นสุดปี 2579 ดังนี้ ก๊าซฯ 30-40% ถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดรวมลิกไนต์ 20-25% ซื้อไฟพลังน้ำจากต่างประเทศ 15-20% พลังงานหมุนเวียนรวมพลังงานน้ำ 15-20%
นายอารีพงศ์กล่าวย้ำว่า แม้ว่าไทยจะมีแหล่งก๊าซฯเป็นของตนเอง แต่ปริมาณก๊าซฯ สำรองก็เริ่มลดปริมาณลงเรื่อยๆ ไทยจึงจำเป็นต้องกระจายเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงในอนาคต และสะท้อนไปยังค่าไฟฟ้าตามแผนพีดีพี ซึ่งนายอารีพงศ์ได้เคยย้ำผ่านสื่อเสมอว่า พีดีพีที่จัดขึ้นคำนึงถึงค่าไฟเฉลี่ยตลอดแผน 21 ปีนั้นจะอยู่ที่ 4.58 บาทต่อหน่วย ก็เพื่อให้ศักยภาพของประเทศไทยนั้นแข่งขันได้ ขณะเดียวกัน การเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ได้ขัดแย้งกับกระแส COP21 ที่มุ่งเน้นพลังงานสะอาดลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แต่อย่างใด
เนื่องจากกระทรวงพลังงานได้มุ่งเน้นจัดทำแผนบูรณาการด้านพลังงาน 5 แผนตลอดแผน 20-21 ปีด้วยการมุ่งเน้นลดก๊าซเรือนกระจกควบคู่กันไปอยู่แล้วโดยเฉพาะแผน PDP2015 มีเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหาภาวะโลกร้อน ลงจาก 0.506 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วย ในปี 2556 เหลือเพียง 0.319 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วย ในปี 2579 หรือจะช่วยให้การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ลดลงได้สูงถึง 37% เมื่อเทียบระหว่างต้นแผนกับปลายแผนพีดีพี 2015
ดังนั้น การเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าถ่านหินในไทยซึ่งมีเป้าหมายในการกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ นับเป็นความท้าทายในการตัดสินใจที่ไม่เพียงรัฐบาล กระทรวงพลังงาน แต่หากเป็นคนไทยทุกคนว่าจะเลือกนำพาประเทศให้เดินไปทางใด…