xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.วิตกหากใช้ไฟพุ่งติดต่อ 2-3 ปี ฉุดสำรองไฟอาจไม่พอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กฟผ.” เกาะติดปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องส่งผลให้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเฉลี่ยกว่า 2,000 เมกะวัตต์แล้วหากเกิดเช่นนี้ต่อเนื่องอีก 2-3 ปีอาจกระทบสำรองไฟให้ลดลงจนไฟไม่พอได้หากช่วงนั้นไม่มีไฟฟ้าใหม่เข้าระบบเพิ่ม



  นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยในครบรอบ 47 ปี กฟผ.ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2512 ว่าปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ที่ทำลายสถิติรายวันและขยับมาสู่ระดับ 29,403.7 เมกะวัตต์นั้นเป็นการเพิ่มขึ้นจากพีกสูงสุดของปีที่แล้วเฉลี่ยกว่า 2,000 เมกะวัตต์ซึ่งหากพีคยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตราดังกล่าวอีก 2-3 ปี กฟผ.มีความเป็นห่วงถึงปริมาณไฟฟ้าสำรองที่อาจไม่เพียงพอได้หากไม่มีโรงไฟฟ้าเข้าระบบเพิ่มขึ้นในช่วงดังกล่าว

“กฟผ.คาดการณ์ว่าพีกไฟฟ้าปีนี้จะเกิดขึ้นที่ 28,500-29,000 เมกะวัตต์ เราคงจะไม่มีการปรับตัวเลขคาดการณ์ใหม่แม้ว่าพีกล่าสุดจะสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อยและพีกอาจเกิดขึ้นได้อีกแต่คงจะไม่เกินไปจากปัจจุบันมากนักเพราะเริ่มมีฝนมาบ้างแล้ว เราจะติดตามวันต่อวันมากกว่า แต่สิ่งที่กังวล คือ พีกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2,000 เมกะวัตต์ หากเป็นอย่างนี้ 2-3 ปี เฉลี่ยก็จะสูงกว่า 6,000 เมกะวัตต์ ขณะที่สำรองพร้อมจ่ายปัจจุบัน 32,000 เมกวัตต์ แม้จะสูงอยู่แต่หากไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่เข้ามาเพิ่มก็น่าเป็นห่วง” นายสุนชัยกล่าว

นอกจากนี้ พีกที่ภาคใต้เมื่อ 28 เม.ย.ยังทำสิถิติใหม่ที่ 2,690 เมกะวัตต์ และเป็นการเกิดพีกภาคใต้รวมแล้ว 12 ครั้งในปีนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน ดังนั้น แผนการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ PDP2015 จึงวางแผนให้เกิดรงไฟฟ้าใหม่ที่จำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงที่แตกต่างไปจากเชื้อเพลิงปัจจุบันเพื่อลดความเสี่ยงลงโดยเฉพาะการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องดำเนินการต่อไปแม้จะมีอุปสรรคบ้างแต่ก็ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้ได้เพราะ กฟผ.ไม่ต้องการให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ

“ช่วง 3 ปี (2559-2561) กฟผ.ต้องใช้งบลงทุน 301,101 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการลงทุนในระบบผลิต 186,544 ล้านบาท และการลงทุนในระบบส่ง 114,557 ล้านบาท เพื่อให้สอดรับกับแผน PDP เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศในอนาคตระยะยาวให้มั่นคงตลอดไป” นายสุนชัยกล่าว

ทั้งนี้ ตลอด 47 ปีที่ผ่านมา กฟผ.ได้พัฒนาองค์กรทุกด้าน จากกำลังผลิตติดตั้ง 907 เมกะวัตต์ในปี 2512 จนถึงวันนี้ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งประเทศ 38,838 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าของ กฟผ. 15,548 เมกะวัตต์ คิดเป็น 40% ของกำลังผลิตรวมทั้งประเทศ พัฒนาสายส่งไฟฟ้าของ กฟผ.มีความยาวทั้งสิ้น 32,993.68 วงจร-กิโลเมตร สถานีไฟฟ้าแรงสูงรวม 213 สถานีตลอดจนเดินหน้ามุ่งสู่การเป็นองค์กรระดับโลก ตามแผนวิสาหกิจ กฟผ. ฉบับปี พ.ศ. 2559-2569 โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นองค์การชั้นนำในกิจการไฟฟ้าในระดับสากล ที่เป็นเลิศในการดำเนินงานทุกด้านมีความสามารถอยู่ในกลุ่มระดับยอดเยี่ยม (Top Quartile) เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าอื่นๆ ในโลก

นอกจากนื้ กฟผ.ยังมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ 12.47 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในปี 2573 ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าใหม่ การปรับปรุงอุปกรณ์โรงไฟฟ้าปัจจุบัน การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า รวมถึงการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนตามเจตจำนงของประเทศไทยในการลดก๊าซเรือนกระจก (Intended Nationally Determined Contributions - INDCs) ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP21) เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2558
กำลังโหลดความคิดเห็น