xs
xsm
sm
md
lg

อบก. ยก “ซีพีเอฟ” แบบอย่างนำประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์
ประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ในการร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 ที่ 20-25% อบก.ขานรับหนุนให้ภาคธุรกิจร่วมขับเคลื่อน ชูซีพีเอฟ เป็นตัวอย่างนำผลิตภัณฑ์ขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนฟุตพรินท์มากกว่า 50% ของกลุ่มอาหาร
ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ในฐานะองค์กรการมหาชนที่มีภาครัฐกำกับดูแล กล่าวว่า อบก.ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนและผลักดันการดำเนินงานด้านลดก๊าซเรือนกระจกตามนโยบายระดับประเทศ เพื่อดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำที่ยั่งยืน โดยเฉพาะภาคเอกชนถือว่ามีบทบาทสำคัญในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศร่วมกันกับเรา และสามารถสร้างการรับรู้ไปถึงผู้บริโภคโดยตรงอีกด้วย
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบประกาศนียบัตรแก่ วุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ นำสถานประกอบการซีพีเอฟ 58 แห่ง เข้าร่วมโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme: LESS) ผ่านการดำเนินโครงการรักษ์นิเวศ และโครงการฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (ฉลากลดโลกร้อน) จากผลิตภัณฑ์บะหมี่เกี๊ยวกุ้ง เกี๊ยวกุ้ง และไก่สดอนามัย ในงาน “ร้อยดวงใจ ร่วมใจลดโลกร้อน” ประจำปี 2558 จัดโดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้
"ที่ผ่านมามีบริษัทชั้นนำหลากหลายกลุ่มธุรกิจได้สมัครใจเข้าร่วมโครงการต่างๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับทาง อบก. หนึ่งในองค์กรเอกชนที่ร่วมโครงการกับเรามาตลอด อย่างเช่น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ที่ได้ร่วมดำเนินโครงการคาร์บอนฟุตพรินท์ โดยจัดทำเครื่องมือแสดงถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมนั้นๆ ต้องชื่นชมในความตั้งใจของซีพีเอฟในการนำผลิตภัณฑ์ขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนฟุตพรินท์มากกว่า 50% ของกลุ่มอาหาร นอกจากนั้นยังมีบริษัทชั้นนำในกลุ่มคมนาคม ธุรกิจอาหารเครื่องดื่ม รวมไปถึงธุรกิจด้านความงามและอื่นๆ ที่มุ่งมั่นดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกับ อบก. ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการนำประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อร่วมสร้างเส้นทางพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน" ดร.พงษ์วิภา กล่าว

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพรินท์ของผลิตภัณฑ์ของ อบก.แล้ว 1,744 ผลิตภัณฑ์จาก 405 บริษัท และผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนฉลากลดโลกร้อน 122 ผลิตภัณฑ์จาก 32 บริษัท ซึ่งปัจจุบันฉลากลดโลกร้อนสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 877,893 ตัน นอกจากนี้ อบก.ยังมีโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism) โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศ (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme: LESS) เป็นต้น

ดร.พงษ์วิภา บอกว่า อบก.มีความมั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมายในปี 2030 ด้วยความพยายามและทุ่มเทของทุกภาคส่วนดำเนินการสอดคล้องกับนโยบายต่างๆ ที่ส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกประเทศ อีกทั้งประเทศไทยมีศักยภาพในการใช้ "พลังงานหมุนเวียน" โดยเฉพาะพลังงานก๊าซชีวภาพทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับต้นๆ อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน
หากว่าทุกภาคส่วนมีความตั้งใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยนำต้นแบบจากการดำเนินกิจการของภาคเอกชนชั้นนำผนึกกำลังร่วมมือกับภาครัฐนำมาปฏิบัติ สิ่งที่สะท้อนกลับมามีค่ามหาศาล ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำในการผลิตอาหารเพื่อตอบสนองประชากรทั่วโลก ที่มีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ดังนั้นการร่วมมือกันนำไทยสู่สังคมสีเขียวจะนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม นำประเทศไทยก้าวสู่ "ประเทศคาร์บอนต่ำ" ที่ยั่งยืน
ในส่วนของประเทศไทยนั้น คงต้องบอกว่าการรณรงค์เพื่อร่วมกันลดภาวะโลกร้อนนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะถือเป็นสิ่งที่องค์กรภาครัฐและภาคเอกชนได้จับมือกันเพื่อดำเนินโครงการนำประเทศไทยสู่ "สังคมคาร์บอนต่ำ" ที่หลากหลายและต่อเนื่อง

ไทยร่วมตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 20-25%
ด้วยภาวะโลกร้อนที่ได้ทวีความรุนแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลนานาประเทศและองค์กรเอกชนชั้นนำระดับโลก ต่างหันมาให้ความสำคัญต่อการรณรงค์เพื่อลดภาวะโลกร้อน ล่าสุดในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change-UNFCCC) สมัยที่ 21 (COP 21) และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 11 (CMP 11) ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
สำหรับประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ในการร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 ที่ 20-25%
จากจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกนำมาใช้มากขึ้น ส่งผลให้ระบบนิเวศมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังจะเห็นได้จากสภาพลมฟ้าอากาศที่แปรปรวนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะภัยแล้ง หรือน้ำท่วม จากข้อมูลปี 2011 ทั่วโลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ประมาณ 45,913 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2) โดยประเทศที่มีการปล่อยมากที่สุด คือ ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย และรัสเซียตามลำดับ ขณะที่ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 350 MtCO2 คิดเป็นร้อย 1 ของทั่วโลก และมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขยายเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3 ในทุกๆ ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น