นำเสนอข้อมูลความสำเร็จ จากการดำเนินงานลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตไฟฟ้า ตามกรอบความร่วมมือกับ อบก. โดยในปี 2556 และ 2557 กฟผ. สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 7 เท่า และตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมมุ่งเป้าเป็นองค์กรผู้นำในการผลิตไฟฟ้าควบคู่กับการเป็นองค์กรสังคมคาร์บอนต่ำ
วราภรณ์ คุณาวนากิจ วิศวกรระดับ 11 สังกัดผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ เป็นผู้แทน กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศของโลก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของคนในสังคม กฟผ. จึงได้ร่วมมือกับ อบก. ในการพัฒนาแนวทางการประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจก โดยได้ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับ กฟผ. เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559
โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการบูรณาการวิธีการและกระบวนการติดตามประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการภายใต้แผนการดำเนินงานของ กฟผ. ตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 7 ถึง 20 ในภาคพลังงานและภาคขนส่ง เมื่อเทียบกับระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานตามปกติ หรือ BAU (Business as Usual) ภายในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ตามหนังสือแสดงเจตจำนงการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ หรือ NAMAs (Nationally Appropriate Mitigation Actions) ต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC (United Nations Framework Convention on Climate Change) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557
สำหรับการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกของ กฟผ. ในปี 2556 ลดได้เป็นจำนวน 422,551 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี มาจากมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานไฟฟ้า ของ กฟผ. และในปี 2557 ลดได้เป็นจำนวน 3,229,064 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี จากมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานไฟฟ้า ของ กฟผ. และมาตรการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน
“เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ตาม NAMAs ในปี 2563 นั้น กฟผ. ตั้งเป้าหมายที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ ประมาณ 4,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยมีมาตรการการลดก๊าซเรือนกระจก 4 มาตรการ ได้แก่ มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานไฟฟ้า ของ กฟผ. มาตรการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน มาตรการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีสะอาด และมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เกณฑ์มาตรฐาน และติดฉลากอุปกรณ์ไฟฟ้า ทั้งนี้ เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำของภาคผลิตไฟฟ้าของประเทศ และนำพา กฟผ. มุ่งสู่การเป็นองค์กรสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ภายในปี 2563” วราภรณ์ กล่าวในที่สุด