xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.ชี้ใช้ก๊าซสุดเสี่ยง วอนเปิดใจรับถ่านหิน สร้างโรงไฟฟ้ากระบี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-กฟผ.ยกตัวอย่างคุณภาพก๊าซฯ JDA ปริมาณคาร์บอนด์ไดออกไซต์เพิ่มขึ้น ประสาน ปตท. แก้ไขด่วน หวั่นกระทบแผนผลิตไฟฟ้าจะนะ 1,400 เมกะวัตต์ ย้ำเป็นความเสี่ยงของการพึ่งก๊าซฯ มากไป ระบุถ่านหินยังเป็นทางรอด หวังโรงไฟฟ้ากระบี่เกิดตามแผนปี 62 สนพ.วอนคนไทยเปิดใจกว้างยอมรับ เพื่อลดความเสี่ยงการใช้ไฟฟ้าภาคใต้ ด้านสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตาค้านสุดตัว หวั่นได้ไม่คุ้มเสีย

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยในงาน เสวนา "คนไทยกลัวอะไร ถ้ามีโรงไฟฟ้าถ่านหิน" จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ วานนี้ (23 ก.ย.) ว่า ขณะนี้แหล่งก๊าซธรรมชาติพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) มีสัดส่วนของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพิ่มขึ้นจากเดิมไม่เกิน 19% เพิ่มเป็น 23% ทำให้เริ่มส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าจะนะ 2 แห่ง กำลังผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์แล้ว ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้ประสานไปยัง บมจ.ปตท.ในการเร่งแก้ไขปัญหาเร่งด่วน

"คุณภาพก๊าซฯ ที่ลดลง ก็จะกระทบต่อการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ หากต้องเดินต่อเนื่องไปอย่างนี้เรื่อยๆ ซึ่งประสานไปยังปตท. แล้ว คงจะมีการติดตั้งเครื่องปรับคุณภาพCO2 ซึ่งปริมาณก๊าซฯ ที่ใช้แหล่งนี้ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของความเสี่ยงการใช้ก๊าซฯ แต่ภาพรวม เราใช้ก๊าซฯ ผลิตไฟสูงถึง 70% ทำให้ทุกฝ่ายร่วมกันทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือPDP2015เพื่อลดความเสี่ยงด้วยการกระจายเชื้อเพลิงไปเพิ่มสัดส่วนถ่านหินและพลังงานทดแทน พร้อมกับคำนึงถึงการลดภาวะโลกร้อน"นายสุนชัยกล่าว

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำหนดเข้าระบบม.ค.2562 กฟผ.ก็พยายามที่จะดำเนินการทุกด้านให้เป็นไปตามแผนงานนี้เพื่อที่จะลดความเสี่ยงด้านไฟฟ้าภาคใต้ เพราะหากต้องเลื่อนออกไป ก็จะกระทบต่อคุณภาพไฟฟ้าที่ลดลง เพราะการผลิตจะไม่สอดคล้องกับความต้องการ ขณะที่บางฝ่ายเสนอให้กระบี่ทำพลังงานทดแทนทั้งหมด ก็ไม่ได้มีการห้าม กฟผ. พร้อมส่งเสริมเต็มที่ แต่ถามว่า แล้วจะเอาความมั่นคงหรือไม่ เพราะโรงไฟฟ้าเหล่านี้ ต้องอาศัยธรรมชาติ หากแสงแดดไม่มา มีเงินก็ซื้อไม่ได้ ฝนแล้งพืชมีปริมาณลดลง เหล่านี้เศรษฐกิจจะมีความเสี่ยงไม่ได้ เพราะไฟที่ดับทุก 1 หน่วย จะกระทบต่อเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 80 บาทต่อหน่วย

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า อยากให้คนไทยเปิดใจกว้าง เอาข้อมูลอดีตมาคิดวิเคราะห์และมองในอนาคต จะเห็นว่าอดีตนั้น ก็มีการคัดค้านการวางท่อก๊าซฯ เมียนมาร์ และท่อJDAแต่ถ้ามองมุมกลับ วันนี้ไม่มีท่อก๊าซฯ ไทยจะผลิตไฟฟ้าจากอะไร และจะมั่นคงเช่นทุกวันนี้หรือไม่ เช่นเดียวกัน หากในปี 2562-2563 ไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่เลย จะเกิดปัญหาด้านคุณภาพไฟฟ้า ต้นทุนแพงขึ้น และหากใน20 ปี ไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่เลยจะเป็นอย่างไร และที่สำคัญที่ภาคใต้ อยากจะส่งเสริมการท่องเที่ยว จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ก็ต้องมีโรงไฟฟ้าให้เพียงพอ เพราะจากตัวเลขสถิติการใช้ไฟฟ้า นักท่องเที่ยว 1 คนใช้ไฟฟ้ามากกว่า คนท้องถิ่น 4 คน

นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอดีตสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ปัญหาในขณะนี้ไม่ใช้ไม่เชื่อมั่นเรื่องเทคโนโลยี แต่เป็นการไม่เชื่อในคน ทำอย่างไรให้เกิดข้อมูลที่สร้างความน่าเชื่อถือ โดยรัฐบาลควรจะจัดตั้งศูนย์ข้อมูลด้านพลังงานแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการยอมรับในข้อมูลเดียวกัน

"เห็นด้วยนะว่าควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะถ้าการท่องเที่ยวเติบโต เราก็ต้องมองในเรื่องการใช้ให้สอดคล้อง แต่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันดูแลด้านสิ่งแวดล้อม อยากเห็นการจัดการที่มากกว่าแผนรายงานผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อมหรือ EHIA"นายธรณ์กล่าว

นายสวาสดิ์ เถาว์กลอย กรรมการอิสลาม จังหวัดกระบี่ กล่าวว่า อยากเห็นโรงไฟฟ้ากระบี่เกิดขึ้น และรัฐบาลควรจะหาหน่วยงานหรือศูนย์กลางให้เกิดความเข้าใจทุกฝ่าย ผ่านวิกฤติความคิด โดยอยากเห็นการสร้างผลประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่มากกว่า

นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา กล่าวว่า ขอคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เพราะเกรงจะกระทบต่อภาวะโลกร้อนที่นักท่องเที่ยวให้ความใส่ใจ และกระทบต่อการท่องเที่ยวในที่สุด รวมทั้งเกรงเรื่องผลกระทบต่อปะการังจากการขนส่งถ่านหิน โดยจังหวัดกระบี่มีการใช้ไฟฟ้า 120 เมกะวัตต์ มีโรงงานปาล์ม 30 โรง หากส่งเสริมให้ใช้พลังงานชีวมวลทดแทนใข้ในกระบี่ก็เพียงพอแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น