xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานแนะให้ดูอดีตค้านท่อก๊าซฯ หวังเปิดใจรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจเปิดเวทีเสวนา “คนไทยกลัวอะไร ถ้ามีโรงไฟฟ้าถ่านหิน” กระทรวงพลังงานอ้อนอยากให้เปิดใจกว้างมองย้อนอดีตท่อก๊าซฯ พม่า-JDA ล้วนถูกต้าน แต่ถ้าวันนี้ไม่เกิดไทยคงลำบาก “ถ่านหิน” อนาคตจำเป็นเพื่อลดความเสี่ยงก๊าซฯ ขณะที่นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตาค้านไม่ต้องการถ่านหิน

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยในงานเสวนาเรื่อง “คนไทยกลัวอะไร ถ้ามีโรงไฟฟ้าถ่านหิน” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า อยากให้คนไทยเปิดใจกว้างเอาข้อมูลอดีตมาคิดวิเคราะห์และมองในอนาคต จะเห็นว่าอดีตนั้นก็มีการคัดค้านการวางท่อก๊าซฯ พม่า และท่อ JDA แต่ถ้ามองมุมกลับวันนี้ไม่มีท่อฯ ไทยจะผลิตไฟฟ้าจากอะไรและจะมั่นคงเช่นทุกวันนี้หรือไม่ เช่นเดียวกัน หากในปี 2562-2563 ไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่เลยจะเกิดปัญหาด้านคุณภาพไฟฟ้า ต้นทุนแพงขึ้น และหากใน 20 ปีไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่เลยจะเป็นอย่างไร และที่สำคัญที่ภาคใต้อยากจะส่งเสริมการท่องเที่ยว จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ก็ต้องมีโรงไฟฟ้าให้เพียงพอ เพราะจากตัวเลขสถิติการใช้ไฟฟ้า นักท่องเที่ยว 1 คนใช้ไฟฟ้ามากกว่าคนท้องถิ่น 4 คน

“เมื่อนึกถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินเราก็จะนึกถึงแม่เมาะ อดีตที่มีบทเรียนแต่ตอนนั้นเทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้า ผมเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ระบบการจัดการของเราดีขึ้นมากแล้ว เราทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือ PDP 2015 คำนึงถึงความมั่นคงด้วยการลดความเสี่ยงพึ่งพิงก๊าซผลิตไฟที่สูงถึง 70% มาใช้ถ่านหิน พลังงานทดแทนเพิ่ม และคำนึงถึงค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดแผน 4 บาทกว่าๆ” นายทวารัฐกล่าว

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่กำหนดเข้าระบบ ม.ค. 2562 กฟผ.ก็พยายามที่จะดำเนินการทุกด้านให้เป็นไปตามแผนงานนี้เพื่อที่จะลดความเสี่ยงด้านไฟฟ้าภาคใต้ เพราะหากต้องเลื่อนออกไปก็จะกระทบต่อคุณภาพไฟฟ้าที่ลดลงเพราะการผลิตจะไม่สอดคล้องกับความต้องการ ขณะที่บางฝ่ายเสนอให้กระบี่ทำพลังงานทดแทนทั้งหมดก็ไม่ได้มีการห้าม กฟผ.ก็ส่งเสริมเต็มที่ แต่ถามว่าแล้วจะเอาความมั่นคงหรือไม่เพราะโรงไฟฟ้าเหล่านี้ต้องอาศัยธรรมชาติหากแสงแดดไม่มามีเงินก็ซื้อไม่ได้ ฝนแล้งพืชก็มีปริมาณลดลง เหล่านี้เศรษฐกิจจะมีความเสี่ยงไม่ได้เพราะไฟที่ดับทุก 1 หน่วยจะกระทบต่อเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 80 บาทต่อหน่วย

นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ปัญหาในขณะนี้ไม่ใช่ไม่เชื่อมั่นเรื่องเทคโนโลยี แต่เป็นการไม่เชื่อในคน ทำอย่างไรให้เกิดข้อมูลที่สร้างความน่าเชื่อถือ โดยรัฐบาลควรจะจัดตั้งศูนย์ข้อมูลด้านพลังงานแห่งชาติเพื่อให้เกิดการยอมรับในข้อมูลเดียวกัน

“เห็นด้วยนะว่าควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะถ้าการท่องเที่ยวเติบโตเราก็ต้องมองในเรื่องการใช้ให้สอดคล้อง แต่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันดูแลด้านสิ่งแวดล้อม อยากเห็นการจัดการที่มากกว่าแผนรายงานผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ EHIA” นายธรณ์กล่าว

นายสวาสดิ์ เถาว์กลอย กรรมการอิสลาม จังหวัดกระบี่ ระบุ อยากเห็นโรงไฟฟ้ากระบี่เกิดขึ้น และรัฐบาลควรจะหาหน่วยงานหรือศูนย์กลางให้เกิดความเข้าใจทุกฝ่าย ผ่านวิกฤตความคิด โดยอยากเห็นการสร้างผลประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่มากกว่า
นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เพราะเกรงจะกระทบต่อภาวะโลกร้อนที่นักท่องเที่ยวให้ความใส่ใจ และกระทบต่อการท่องเที่ยวในที่สุด รวมทั้งเกรงเรื่องผลกระทบต่อปะการังจากการขนส่งถ่านหิน โดยจังหวัดกระบี่มีการใช้ไฟฟ้า 120 เมกะวัตต์ มีโรงงานปาล์ม 30 โรง หากส่งเสริมให้ใช้พลังงานชีวมวลทดแทนใข้ในกระบี่ก็เพียงพอแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น