xs
xsm
sm
md
lg

ชู 6 มาตรการอนุรักษ์พลังงานภาคอาคาร ตามรอย NAMAs ลดก๊าซเรือนกระจก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.อภิชิต เทอดโยธิน
เปิดแนวทางปฎิบัติการเพื่อจะลดก๊าซเรือนกระจก 7-20% ให้ได้จริง ตามวิธีการ NAMAS ในภาคอาคารของประเทศไทย โดยการปรับอาคารของรัฐให้เป็นมาตรฐานแบบอย่าง พร้อมดัน 6 มาตรการอนุรักษ์พลังงานให้เป็นรูปธรรม

รศ.ดร.อภิชิต เทอดโยธิน คณบดี คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะผู้จัดการโครงการพัฒนาข้อเสนอแผนงานลดก๊าซเรือนกระจกในภาคอาคาร กล่าวว่า วิธีการ NAMAs (Nationally Appropriate Mitigation Action) นั้นเป็นแผนดำเนินการเพื่อให้ลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีลักษณะที่ตรวจวัดได้ รายงานผลได้ และทวนสอบได้ จึงเป็นแนวทางใหม่ที่ประชาคมโลกได้มีข้อสัญญาร่วมกันไว้ และประเทศไทยก็แสดงเจตจำนงที่จะลดก๊าซเรือนกระจก 7-20% ในปี 2020

โครงการอาคารที่กำลังดำเนินการถือว่าได้ต่อยอดจาก 7 % ขึ้นไป จะไปช่วยเสริมแนวทางการอนุรักษ์พลังงานของกระทรวงพลังงาน ซึ่งเชื่อว่าโครงการต่างๆ ที่เป็น NAMAs ถ้าทำกันจริงจังในสิ่งที่ประชาคมโลกยอมรับ ประเทศไทยก็จะมีความพร้อมตามข้อตกลงสำหรับการลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างดีในอนาคต
รศ.ดร.อภิชิต กล่าวถึง “โครงการพัฒนาการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมในภาคอาคารของประเทศไทย” นั้นจะช่วยทั้งในเรื่องประหยัดพลังงาน และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคอาคาร
(ดูแผนภาพประกอบการจัดทำข้อเสนอในภาคอาคาร เพื่อขอการสนับสนุนจาก NAMAs)
จะเห็นว่ากราฟแท่งอาคารธุรกิจ ที่ดำเนินการจะลดลงมาอยู่ที่แท่นสีเทา แม้จะยังดูมากก็ดีกว่าไม่ได้ทำอะไร ส่วนในด้านที่อยู่อาศัย ถ้าหากไม่ทำอะไรเลยจากสีฟ้าก็จะขึ้นเป็นสีแดง หน้าที่ของเราก็คือ ทำให้ลงมาที่แท่งสีเขียว
กิจกรรม NAMAs ที่จะดำเนินการในขณะนี้คือ การจัดทำเกณฑ์มาตรฐานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งอาคารที่ดำเนินการเป็น 2 ประเภท คือ อาคารของรัฐ และอาคารของเอกชน เราจะต้องนำร่องจากอาคารของรัฐ เพื่อเป็นแบบอย่างให้เห็นถึงความคุ้มค่าว่ามีมาตรฐานอย่างไรบ้าง และเมื่อสามารถลดการใช้พลังงานแล้วมีข้อดีต่อการประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายอย่างไร สิ่งเหล่านี้ต้องมีการพัฒนาศักยภาพบุคลากร การสร้างระบบการตรวจวัด รายงานผลและทวนสอบ (MRV)

 
ส่วนภาคเอกชนที่มักคำนึงก่อนว่าทำแล้วจะได้อะไรกลับคืนมา รศ.ดร.อภิชิต บอกว่าการนำร่องจากอาคารของภาครัฐจะทำให้เจ้าของอาคารตระหนักรู้ถึงคุณค่าของอาคารที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ต่ำ ซึ่งจะเกิดผลดีต่อเจ้าอาคารและผู้ใช้อาคารอย่างยั่งยืน หากเขามองเห็นถึงความต้องการของลูกค้าผู้ใช้อาคารก็จะเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้พัฒนาอาคารกล้าตัดสินใจปรับเปลี่ยนสู่อาคารอนุรักษ์พลังงานที่ลดก๊าซเรือนกระจก
เราจึงต้องสร้างกลไกให้มีความต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็นกลไกทางการเงินจากสถาบันทางการเงิน กลไกของ ESCO หรือบริษัทเอกชนที่เข้ามาช่วยให้คำปรึกษา ซึ่ง ESCO ส่วนหนึ่งที่มีเงินทุนอาจทำให้เกิดกระบวนการในภาคเอกชน
 
แผน 3 ขั้น อาคารคาร์บอนต่ำ
สำหรับแนวทางปฏิบัติโครงการฯ ที่จะดำเนินการ คือ
1.การกำหนดกฎเกณฑ์มาตรฐานต่างๆ ต้องกำหนดว่าเมื่อใดจะเป็นอาคารประหยัดพลังงาน เมื่อใดจะเป็นอาคารที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ต่ำ
2. สื่อสารให้สังคมตระหนัก ว่าผู้อยู่อาศัยอยากได้อาคารที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์น้อย เหมือนเช่น ประเทศสิงคโปร์ ดังนั้น สิ่งที่จะทำต่อก็คือการประเมินเป็นอาคารที่ปลดปล่อยพลังงาน
3. สิ่งตอบแทนให้กับสังคมโลกรับรู้ว่าอาคารของเราได้ทำแล้ว สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ได้เท่าไร และถ้าทำครบเครื่องก็จะส่งเสริมให้ไปโชว์นานาประเทศ เพื่อให้รู้ว่าประเทศไทยถึงเป็นประเทศไม่ใหญ่โต แต่ก็สามารถทำได้แล้วด้วยความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ
ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ในภาคอาคาร ได้แบ่งกลุ่มเป้าหมายหลักเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มอาคารธุรกิจ ได้แก่ สำนักงาน โรงพยาบาล โรงแรม ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น 2.บ้านอยู่อาศัย โดยวางเป้าลดใช้พลังงานทั้งสองส่วนรวมกันมากกว่า 6,500 TonCO2 ทั้งนี้ ด้วยแนวทางการอนุรักษ์พลังงานที่สำคัญ 6 มาตรการ ได้แก่
1.ยกเลิก หรือทบทวนการอุดหนุนราคาพลังงานเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ โดยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด
2.ใช้มาตรการทางภาษี
3.การสนับสนุนอุปกรณ์ที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
4.การเร่งรัดการสนับสนุนมาตรการด้านการเงินด้วยเงินให้เปล่าและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้มีการเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง
5.การให้คำปรึกษาในการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
6.การกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานในอาคารและโรงงาน
ดังกล่าวเป็นกิจกรรมความร่วมมือเพื่อจะลดก๊าซเรือนกระจกในภาคอาคาร โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme - UNEP) ร่วมกับสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (giz) ที่จัดสัมมนา “โลกร้อน : วิกฤต หรือโอกาส” เมื่อเร็วๆ นี้
ภายหลังจากที่ไทยได้แสดงเจตจำนงการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (NAMAs Pledge) โดยเสนอตัวเลขศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างร้อยละ 7-20 อย่างเป็นทางการต่ออนุสัญญาสหประชาชาติไปแล้วในการประชุม COP 20 เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ปีที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น