*ชู "ฉลากคาร์บอน" เครื่องมือทางการตลาด
*ดึงผู้ประกอบการภาคเอกชนร่วมลดก๊าซเรือนกระจก
*หนุนผู้ผลิต/ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าที่มีฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ ฉลากลดโลกร้อน คูลโหมด
*ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจ/สังคมคาร์บอนต่ำ
อุณหภูมิที่สูงขึ้นทุกวัน ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้น หลายประเทศทั่วโลกพยายามที่จะแก้ปัญหาด้วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่จะต้องหาทางรับมือและช่วยลดปัญหาดังกล่าวนี้ให้ประสบความสำเร็จ
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรืออบก. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง จึงเดินหน้ารณรงค์ให้ภาคส่วนต่างๆ ตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์อย่างต่อเนื่อง ทั้งการใช้พลังงาน การเกษตรกรรม การพัฒนาและการขยายตัวภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง การตัดไม้ทำลายป่า หรือแม้กระทั่งการจัดงานอีเวนต์ที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งส่วนของการจัดงานและการพักแรม การเดินทางของผู้เข้าร่วมงาน การใช้พลังงานในการปรุงอาหาร สิ่งเหลือทิ้งจากการจัดงาน ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อน
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมหาศาลจากกิจกรรมของมนุษย์ นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ภาวะเศรษฐกิจและสังคมในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร แหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนการปรับตัวต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากผลเสียหายที่เกิดขึ้นจากพิบัติภัยทางธรรมชาติ
ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 24 ล้านตัน
กระทรวงทรัพยากรฯ จึงตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 24 ล้านตัน โดยจะดึงผู้ประกอบการภาคธุรกิจและภาคส่วนต่างๆ ร่วมกัน ช่วยให้ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้สำเร็จ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรืออบก.กล่าวว่า อบก.ตระหนักถึงความสำคัญของมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงได้พัฒนาเครื่องมือที่ช่วยให้ภาคธุรกิจและภาคส่วนอื่นๆ สามารถบริหารจัดการและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตัวเองให้ได้ จึงได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร เพื่อกำหนดแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และต่อยอดให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านการทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอน และเชื่อมโยงไปสู่การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรมฉลากคาร์บอน
ปัจจุบันนานาประเทศได้ตระหนักถึงนวัตกรรมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโลก ดังนั้น อบก.จึงได้สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่การผลิต และภาคประชาชนในการเลือกบริโภคสินค้า เพราะสองภาคส่วนนี้มีความสำคัญต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยพัฒนานวัตกรรมการตลาด "ฉลากคาร์บอน" 3 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.คาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ คือปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ 2.ฉลากลดโลกร้อน คือฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ และ 3.คูลโหมด คือ เสื้อผ้าสวมใส่ลดโลกร้อน ซึ่งผลการดำเนินงานของฉลากคาร์บอนทั้ง 3 รูปแบบ เริ่มตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบัน ส่งเสริมให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 121,475 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จาก 29 ผลิตภัณฑ์ จำนวน 112 บริษัท
หนุนฉลาก CARBON OFFSET
นอกจากนี้ อบก.ยังสนับสนุนฉลาก CARBON OFFSET เป็นฉลากที่สนับสนุนการซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรลดลง และฉลาก CARBON NEUTRAL เป็นฉลากในการซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรเท่ากับศูนย์ ซึ่งผลจากการดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มปี 2553 จนถึงปัจจุบันมีผู้ผ่านการรับรองประเภทองค์กร 12 แห่ง ประเภทผลิตภัณฑ์ 10 ผลิตภัณฑ์ จาก 6 บริษัท ประเภทอีเวนต์ 13 งาน และประเภทกิจกรรมส่วนบุคคล 320 คน โดยมีการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อมาชดเชยจำนวน 11,825 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ขณะที่ดร.รัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มนอกภาคผนวกที่ 1 ซึ่งไม่มีพันธกรณีในการลดก๊าซเรือนกระจก แต่ต้องจัดทำรายงานแห่งชาติ ซึ่งมีข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย ดังนั้น ประเทศไทยจึงได้จัดทำรายงงานแห่งชาติครั้งแรกส่ง UNFCCC เมื่อปี 2543 และครั้งที่ 2 เมื่อปี 2554 เพื่อให้ประเทศไทยมีข้อมูลก๊าซเรือนกระจกอ้างอิงอย่างต่อเนื่อง สามารถวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งเพื่อประโยชน์ต่อการวางแผนการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย
อบก.จึงได้จัดทำรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นการคำนวณปริมาณการปล่อยและการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกระหว่างปี ตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบัน ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยปีละประมาณ 335 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ส่วนใหญ่มาจาก 4 ภาคส่วนหลัก คือภาคการใช้พลังงาน 70% ภาคเกษตร ป่าไม้ การใช้ประโยชน์ที่ดิน 20% ภาคการใช้ของเสีย 10% และภาคอุตสาหกรรมการผลิต 7% ซึ่งมีแนวทางการทำงานต้องสร้างความเข้าใจ รับรู้ถึงประโยชน์และโทษให้ไปในทิศทางเดียวกัน ช่วยกันลดพลังงานให้เป็นไปตามเป้าที่ 24 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในอีก 5 ปี ตามที่ไทยได้ประกาศในการประชุมประชาคมโลก แม้ตัวเลขดังกล่าวถือว่าค่อนข้างมาก แต่หากได้รับความร่วมมือทุกภาคส่วนมั่นใจว่าจะเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้
สำหรับในปีนี้ อบก.มีนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ จึงได้จัดโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme : LESS) มีแนวคิดในการพัฒนารูปแบบการดำเนินกิจกรรม เพื่อสร้างความตระหนักให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยกย่องผู้ทำความดีโดยการมอบใบประกาศเกียรติคุณ เพื่อให้ได้รับการยอมรับโดยผ่านกระบวนการวิเคราะห์และประเมินทางเทคนิควิชาการ และนำมาผนวกกับแนวคิดการให้การสนับสนุนจาก "ผู้ให้" ในภาคองค์กรไปสู่ "ผู้รับ" ในสังคม ทำให้เกิดเป็น LESS ซึ่งผลปรากฏว่าในปี 2558 ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย กิจกรรมป่าไม้และพื้นที่สีเขียว 157 กิจกรรม ประเภทเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 192 กิจกรรม ประเภทพลังงานหมุนเวียน 34 กิจกรรม และประเภทการจัดการขยะของเสีย 30 กิจกรรม รวมทั้งสิ้น 413 กิจกรรม สามารถลดหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 184,369,108.2 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
“ทุกวันนี้กระแสของโลกยังคงให้ความสำคัญเรื่องการรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยส่งออกไปขายยังกลุ่มประเทศยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้นั้น จะให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องกีดกันทางการค้า ซึ่งอบก.มั่นใจถึงนโยบาย "ฉลากคาร์บอน" ที่นับเป็นเครื่องมือทางการตลาดประเภทหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก ผลก็คือ ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และไทยประเทศเดียวในอาเซียนที่มีระบบการรับรองสอดคล้องตามหลักสากล ซึ่งได้ผลการตอบรับอย่างดีจากผู้ประกอบการไทย และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมั่นใจ” ดร.ณัฐริกากล่าว
ทางด้านผู้ที่ได้รับรางวัลประเภทผู้บริหารจากองค์กรที่เข้าร่วมโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก อาทิ กรุงเทพมหานคร โดยนางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีโรงเรียนในสังกัดทั้งสิ้น 438 โรงเรียน ในเบื้องต้นได้สร้างเครือข่ายจาก 30 โรงเรียน เพื่อจัดทำกิจกรรมลดปริมาณขยะหรือลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี โดยให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งในอนาคตจะต้องขยายกิจกรรมไปให้ครบอีกกว่า 400 โรงเรียน รวมทั้งขยายไปยังอาคารสำนักงานต่างๆ ของกรุงเทพมหานครกว่า 600 อาคาร จากจำนวนเจ้าหน้าที่ในสังกัดกทม.ประมาณแสนคน ให้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง