xs
xsm
sm
md
lg

TSE ลุยโซลาร์ฟาร์มหน่วยงานรัฐ-สหกรณ์ จ่อศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าที่ลาว-เขมรเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จ่อยื่นเสนอโครงการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มหน่วยงานราชการและสหกรณ์ 50-60 เมกะวัตต์ หลังทยอยเซ็นเอ็มโอยูกับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ 10-12 แห่ง พร้อมลุยโรงไฟฟ้าไบโอแมสภาคใต้ 1-2 โครงการ หากรัฐเปิดประมูลมั่นใจสิ้นปีนี้ญี่ปุ่นได้ครบ 50 เมกะวัตต์ จ่อขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าไปยังลาว และเขมรเพิ่มเติม

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (TSE) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมที่จะยื่นเสนอเข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร เฟสแรก 600 เมกะวัตต์ โดยบริษัทฯ ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (เอ็มโอยู) กับหน่วยงานราชการ และสหกรณ์การเกษตรแล้ว 10-12 แห่ง หรือคิดเป็นกำลังการผลิตไฟ 50-60 เมกะวัตต์ แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวคาดว่าจะมีผู้ยื่นข้อเสนอมากทำให้ต้องคัดเลือกโดยใช้วิธีจับฉลาก บริษัทฯ คาดว่าจะได้ประมาณ 20-30 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมความพร้อมโครงการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร เฟส 2 ที่เหลืออีก 200 เมกะวัตต์ โดยบริษัทได้ลงนามเอ็มโอยูกับกลุ่มสหกรณ์การเกษตรในหลายพื้นที่มาก่อนหน้านี้ แต่ไม่สามารถเข้ายื่นได้ในเฟสแรกเพราะไม่อยู่พื้นที่เป้าหมายในการรับซื้อไฟ คงต้องรอว่าเฟส 2 ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) จะเปิดรับซื้อไฟในพื้นที่ใด

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า บริษัทฯ ยังสนใจลงทุนธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนนอกเหนือจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยล่าสุดบริษัทฯ ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลจากเปลือกไม้ (ไบโอแมส) ที่ภาคใต้ 1-2 โรง โรงละ 6-8 เมกะวัตต์ หากรัฐเปิดให้ภาคเอกชนยื่นประมูลเสนอขายไฟจากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล บริษัทก็พร้อมยื่นประมูลได้ทันที

โดยโครงการนี้บริษัทลดความเสี่ยงด้านวัตถุดิบ โดยจับมือกับพันธมิตรท้องถิ่นที่มีวัตถุดิบเพียงพอป้อนโครงการ และต้นทุนค่าไฟต่อหน่วยไม่แพงจนเกินไป

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ยังค้างท่อ ซึ่งเดิมบริษัทฯ มีแผนจะเข้าไปใบอนุญาตจากผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าฯ อยู่ประมาณ 20-30 เมกะวัตต์นั้น บริษัทฯ ตัดสินใจไม่เข้าไปลงทุนแล้ว เนื่องจากมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงเพราะรัฐไม่มีนโยบายที่จะเลื่อนการจ่ายไฟจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ค้างท่อในสิ้นปีนี้ ซึ่งมีระยะเวลาเหลือไม่ถึง 3 เดือน อีกทั้งดีลการเจรจากับเจ้าของใบอนุญาตฯ ก็ยืดเยื้อด้วย

แหล่งข่าวกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รูปแบบโซลาร์ฟาร์มที่ประเทศญี่ปุ่น ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาโรงไฟฟ้าดังกล่าวรวม 30เมกะวัตต์ ซึ่งมีบางโครงการเริ่มทยอยจ่ายไฟแล้ว ขณะเดียวกันก็จะลงทุนโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่นเพิ่มเติม คาดว่าสิ้นปีนี้บริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่นได้ตามเป้าหมาย 50 เมกะวัตต์ โดยจะจ่ายไฟเข้าระบบได้ทั้งหมดในปลายปี 2559

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังจับมือกับพันธมิตรญี่ปุ่นเพื่อแสวงหาโอกาสการลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่นเพิ่มเติมด้วย คาดว่าจะเพิ่มได้อีก 50 เมกะวัตต์ในปีหน้า รวมทั้งสิ้นเป็น 100 เมกะวัตต์ โดยโครงการเหล่านี้ทางบริษัทฯ จะถือหุ้นใหญ่ 90%

นอกเหนือจากญี่ปุ่นแล้ว บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานทดแทนอื่นๆ ในประเทศเพื่อนบ้านด้วย เช่น กัมพูชา และ สปป.ลาว คาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆ นี้ เนื่องจากต้องรอนโยบายภาครัฐที่จะสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน รวมทั้งกฎระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าที่จะออกมาด้วย

สำหรับแหล่งเงินลงทุนเพื่อใช้ขยายงานในอนาคตนั้น บริษัทฯ ยังมีเม็ดเงินที่เหลือจากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) อีกประมาณพันล้านบาท รวมทั้งต้นปี 2559 บริษัทฯ จะออกหุ้นกู้สกุลเงินบาท วงเงินไม่เกิน 3 พันล้านบาทเพื่อใช้ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในอนาคต รวมทั้งกู้ยืมจากสถาบันการเงินเพิ่มเติมได้อีก


*** GPSC ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นายโกวิท จึงเสถียรทรัพย์ ผู้จัดการฝ่ายแผนงานองค์กร บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ซึ่งดำเนินธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. กล่าวว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้รับรองปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างปี 2557-2558 แก่โรงผลิตสาธารณูปการ แห่งที่ 2 ของ GPSC ตั้งอยู่ที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ที่เข้าร่วมในโครงการ T-VER นั้น สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 40,013 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

สอดคล้องกับนโยบายของกลุ่ม ปตท.ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังแสดงเจตจำนงของประเทศไทยในการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 7-20 จากการดำเนินงานปกติของภาคพลังงานและภาคการขนส่ง ภายในปี พ.ศ. 2563 เสนอต่อที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP20) เมื่อเดือนธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น